Datasets:

Modalities:
Text
Formats:
parquet
Languages:
Thai
Tags:
legal
Libraries:
Datasets
Dask
License:
sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
726890
กฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งรับตกลงกัน ณ เมืองซานฟานซิสโก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1945
กฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งรับตกลงกัน ณ เมืองซานฟานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๔๕ เรา-ประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ตั้งใจมั่น ที่จะช่วยมนุษยชนในรุ่นต่อ ๆ ไป ให้พ้นจากมหันตภัยแห่งสงคราม ซึ่งได้นำทุกขวิปโยคอย่างล้นคณนามาสู่มนุษยชาติถึงสองครั้งแล้ว ในชั่วอายุของเรา และ ที่จะยืนยันให้แน่นแฟ้น ถึงความศรัทธาต่อสิทธิอันเป็นแก่นเค้าทั้งหลายของมนุษย์ต่อเกียรติคุณและคุณค่าแห่งตัวคน ต่อนานาสิทธิเสมอภาค ระหว่างบุรุษและสตรี และระหว่างชาติต่าง ๆ ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก และ ที่จะจัดให้มีสภาพการณ์ต่าง ๆ อันจักให้ความยุติธรรม และจักให้ความเคารพต่อนานาพันธธรรมที่เกิดจากสัญญาต่าง ๆ และจากมูลเหตุอื่น ๆ ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้สามารถธำรงอยู่ และ ที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าแห่งสังคม และทำให้ดีขึ้นซึ่งมาตรฐานแห่งชีวิต ในอิสรภาพที่อุดมกว้างขวาง และเพื่อจุดมุ่งหมายเหล่านี้ จึงจะมีความอดกลั้นผ่อนปรน และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันโดยมีสันติภาพต่อกัน อย่างฉันทปิยมิตรที่ใกล้ชิดกัน และ จะรวมกำลังของเรา เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และ จะรับประกันว่า โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักต่าง ๆ และวิถีการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นจะมิให้มีการใช้กำลังแสนยาวุธ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และ ที่จะใช้เครื่องปัจจัยระหว่างประเทศ เพื่อทำการส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของชาวประชาชนทั่วทั้งหมด เราได้ตกลงร่วมสมานวิริยภาพแห่งเราทั้งหลาย เพื่อบรรลุถึงจุดปรารถนาดั่งกล่าวนั้น กรณีดั่งนี้ รัฐบาลโดยจำเพาะของเรา ซึ่งส่งผู้แทนมาร่วมประชุมกัน ณ นครซานฟรานซิสโก และได้สำแดงสาส์นมอบอำนาจเต็มเป็นการเรียบร้อยดีตามแบบอันควรแล้ว จึงทำความตกลงยินยอมกันรับกฎบัตรแห่งสหประชาชาติฉบับนี้ และด้วยประการฉะนี้ ได้จัดให้มีขึ้นซึ่งองค์การระหว่างประเทศนี้ ใช้ชื่อว่า “สหประชาชาติ” หมวด ๑ ว่าด้วยวัตถุประสงค์และหลัก มาตรา ๑ วัตถุประสงค์แห่งสหประชาชาติ มีดั่งนี้: ๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อการนั้นจะใช้วิธีการร่วมกัน เพื่อป้องกันและปลดเปลื้องมิให้เกิดการคุกคามสันติภาพและเพื่อปราบปรามการกระทำที่รุกรานหรือเป็นการล่วงละเมิดอย่างอื่นต่อสันติภาพและจะใช้สันติวิธีอันชอบด้วยหลักยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้มีการพิจารณาปรับปรุงและจัดระงับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดการล่วงละเมิดสันติภาพ ๒. เพื่อก่อขยายสัมพันธไมตรีในระหว่างชาติต่าง ๆ โดยถือบรรทัดฐานอยู่ที่การเคารพหลักแห่งสิทธิเสมอภาค และหลักกำหนดการปกครองตนเองที่ชนชาวต่าง ๆ มีอยู่ และจะใช้วิธีการอื่นตามสมควรเพื่อให้สันติภาพสากลมีความแน่นแฟ้นมั่นคง ๓. เพื่อก่อให้เกิดซึ่งการร่วมมือระหว่างนานาชาติ โดยการวินิจฉัยแก้ปัญหาระหว่างประเทศเกี่ยวด้วยการเศรษฐกิจ การสังคม การวัฒนธรรม หรือการมนุษยธรรมและโดยการส่งเสริมและจรุงความเคารพต่อสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์และต่ออิสรภาพ อันเป็นแก่นเค้าสำหรับคนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และ ๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการกระทำของนานาชาติ ให้บรรลุจุดความมุ่งหมายอันร่วมกันดั่งกล่าวนี้ มาตรา ๒ เพื่อปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑ องค์การสหประชาชาติและสมาชิกแห่งองค์การนี้ จะต้องกระทำการโดยชอบด้วยหลักดังต่อไปนี้ ๑. องค์การนี้ ถือบรรทัดฐานอยู่ที่ความเสมอภาคในอธิปไตยของสมาชิกทั้งหมดขององค์การ ๒. สมาชิกทั้งหลายพึงปฏิบัติตามพันธธรรมต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ตามกฎบัตรนี้ด้วยความสัตย์สุจริต เพื่อเป็นประกันแก่สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนได้รับจากการมีสมาชิกภาพ ๓. สมาชิกทั้งหลายพึงจัดระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตน โดยสันติวิธีและในลักษณะที่ไม่เสี่ยงภัยแก่สันติภาพ และความมั่นคง และความยุติธรรมระหว่างประเทศ ๔. ในการสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตนนั้น ให้สมาชิกทั้งหลายงดเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังต่อบุรภาพแห่งอาณาจักร หรือต่อความเป็นเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ หรือด้วยอาการใดที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ๕. สมาชิกทั้งหลายต้องให้ความอำนวยช่วยเหลือทุกประการแก่สหประชาชาติ ในการที่องค์การนี้กระการทำใด ๆ โดยชอบด้วยกฎบัตรนี้ และต้องงดเว้นไม่ให้ความอำนวยช่วยเหลือแก่รัฐใด ๆ ที่สหประชาชาติกำลังทำการป้องกันหรือบังคับอยู่ ๖. องค์การนี้พึงต้องรับประกันจะให้รัฐต่าง ๆ ที่มิใช่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามหลักเหล่านี้ เท่าที่จำเป็นแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๗. ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ ได้ให้อำนาจแก่สหประชาติที่จะเข้าแทรกแซงในกรณีต่าง ๆ ที่มีสาระเป็นกรณีในอำนาจภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง และมิให้ถือว่าได้บังคับให้สมาชิกต้องนำกรณีเช่นนั้นมาเสนอเพื่อจัดการตามกฎบัตรนี้ แต่หลักข้อนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงผลแห่งการใช้วิธีบังคับตามที่มีอยู่ในหมวดที่ ๗ หมวด ๒ ว่าด้วยสมาชิกภาพ มาตรา ๓ สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสหประชาชาติย่อมได้แก่รัฐทั้งหลาย ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการประชุมสหประชาชาติ เนื่องในเรื่ององค์การนานาชาติ ณ ซานฟรานซิสโก หรือเป็นรัฐที่ได้ลงนามไว้ก่อนในคำแถลงการณ์สหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๔๒ แล้วมาลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ และให้สัตยาบันแก่กฎบัตรนี้ตามความในมาตรา ๑๑๐ มาตรา ๔ ๑. สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติเป็นสิ่งที่เปิดแก่รัฐอื่นทั้งหลายที่รักสันติภาพซึ่งรับเอาพันธธรรมอันมีอยู่ในกฎบัตรฉบับนี้ และซึ่งองค์การสหประชาชาติพิจารณาเห็นว่ามีความสามารถ และเจตจำนงที่จะปฏิบัติการตามพันธธรรมเหล่านี้ ๒. การรับรัฐใด ๆ เช่นนี้เข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ จะกระทำโดยถือตามมติของสมัชชาทั่วไปในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเสนอคำแนะนำ มาตรา ๕ สมาชิกใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งตกอยู่ในระหว่างถูกป้องกันหรือบังคับโดยคณะมนตรีความมั่นคง อาจถูกให้งดใช้สิทธิหรือเอกสิทธิต่าง ๆ แห่งสมาชิกภาพโดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้สั่งห้ามตามคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง การกลับคืนเข้าใช้สิทธิและเอกสิทธิเหล่านี้อาจมีได้โดยคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้คืนให้ใหม่ มาตรา ๖ สมาชิกแห่งสหประชาชาติ ซึ่งขืนละเมิดหลักต่าง ๆ ในกฎบัตรฉบับนี้อย่างดื้อดึง อาจถูกขับออกจากองค์การได้ โดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้สั่ง ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเสนอคำแนะนำ หมวด ๓ ว่าด้วยองค์การต่าง ๆ มาตรา ๗ ๑. องค์การใหญ่ของสหประชาชาติได้จัดให้มีขึ้นแล้วคือ สมัชชาทั่วไป คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีการอภิบาลศาลยุติธรรมนานาชาติ และสำนักเลขาธิการ ๒. องค์การสาขาต่าง ๆ อาจได้จัดให้มีขึ้นโดยชอบตามกฎบัตรฉบับนี้ในเมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็น มาตรา ๘ สหประชาชาติจะไม่วางข้อจำกัดในการบรรจุตั้งบุรุษและสตรีที่จะเข้าทำงานในองค์การใหญ่หรือองค์การสาขาต่าง ๆ ในตำแหน่งฐานะใด ๆ และให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาค หมวด ๔ ว่าด้วยสมัชชาทั่วไป ส่วนประกอบ มาตรา ๙ ๑. สมัชชาทั่วไปประกอบด้วยสมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ ๒. สมาชิกแต่ละราย จะมีผู้แทนในสมัชชาทั่วไปได้ไม่มากกว่าห้านาย ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๑๐ สมัชชาทั่วไปอาจปรึกษากันด้วยปัญหาใด ๆ หรือกรณีต่าง ๆ ที่อยู่ภายในกรอบเขตของกฎบัตรฉบับนี้ หรือเกี่ยวกับอำนาจและภารกิจขององค์การต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ และเว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ หรือแก่คณะรัฐมนตรีความมั่นคงหรือแก่ทั้งคู่ด้วยปัญหาและกรณีดั่งกล่าวมานั้น มาตรา ๑๑ ๑. สมัชชาทั่วไปอาจพิจารณาถึงหลักทั่วไปแห่งการร่วมมือกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักว่าด้วยการลดอาวุธยุทธภัณฑ์และการวางระเบียบว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ และอาจให้คำเสนอแนะนำเกี่ยวกับหลักเหล่านี้แก่สมาชิก หรือแก่คณะมนตรีความมั่นคง หรือแก่ทั้งคู่ด้วยกันก็ได้ ๒. สมัชชาทั่วไป อาจปรึกษากันด้วยปัญหาต่าง ๆ เนื่องด้วยการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งมิใช้สมาชิกแห่งสหประชาชาติเป็นผู้นำเสนอให้พิจารณาตามความในมาตรา ๓๕ วรรค ๒ และนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำเกี่ยวด้วยปัญหาเช่นกล่าวนั้นแก่รัฐที่เกี่ยวข้องหรือแก่คณะมนตรีความมั่นคง หรือแก่ทั้งคู่ด้วยกันก็ได้ปัญหาเช่นนี้เรื่องใดที่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติด้วยแล้ว ให้สมัชชาทั่วไปแจ้งเรื่องแก่คณะมนตรีความมั่นคง จะเป็นการแจ้งก่อนหรือภายหลังที่ได้มีการปรึกษากันก็ได้ ๓. สมัชชาทั่วไปอาจกล่าวเรียกให้คณะมนตรีความมั่นคงเพ่งความดำริถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งน่าจะก่อภัยแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๔. อำนาจต่าง ๆ ของสมัชชาทั่วไป ซึ่งมีอยู่ตามมาตรานี้ ไม่ถือว่าเป็นการจำกัดกรอบเขตทั่วไปในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ๑. ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังปฏิบัติการเกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ใดที่เป็นภาระมอบหมายให้ไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ ห้ามมิให้สมัชชาทั่วไปแสดงการเสนอแนะนำด้วยประการใด เกี่ยวด้วยกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะกล่าวขอเช่นนั้น ๒. เมื่อได้รับความยินยอมจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว ให้เลขาธิการบอกกล่าวแก่สมัชชาทั่วไปที่กำลังอยู่ในสมัยประชุม เพื่อให้ทราบถึงเรื่องต่าง ๆ เนื่องด้วยการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกำลังจัดดำเนินงานอยู่ และในทำนองเดียวกันทันใดที่คณะมนตรีความมั่นคงหยุดดำเนินงานด้วยเรื่องเช่นนั้น ก็ให้บอกกล่าวแก่สมัชชาทั่วไป ถ้าหากเป็นเวลานอกสมัยประชุมของสมัชชาทั่วไป ก็ให้บอกกล่าวแก่สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๑๓ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปประเดิมการศึกษาต่าง ๆ และให้คำเสนอแนะนำเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และจรุงจัดให้มีความก้าวหน้างอกงามในกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการทำกฎหมายนั้นขึ้นเป็นประมวล ข.ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ศึกษาและสุขอนามัย และอำนวยช่วยเหลือให้เกิดผลประจักษ์ในสิทธิของมนุษย์และอิสรภาพที่เป็นแก่นเค้าของคนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ๒. ความรับผิดชอบภารกิจและอำนาจอย่างอื่นของสมัชชาทั่วไป อันเนื่องกับกรณีในวรรค ๑ ข้อ ข. ที่กล่าวมาก่อนนี้ มีบัญญัติอยู่ในหมวดที่ ๙ และหมวดที่ ๑๐ มาตรา ๑๔ ภายใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจเสนอแนะนำวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงโดยสันติวิธี ซึ่งสถานการณ์ใด ๆ ที่สมัชชาทั่วไปเห็นว่า น่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สวัสดิการทั่วไป หรือมิตรสัมพันธภาพระหว่างนานาชาติโดยไม่คำนึงว่า สถานการณ์เช่นนั้นมีมูลมาจากไหน ทั้งนี้ รวมทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดจากการฝืนละเมิดบทบัญญัติต่าง ๆ แห่งกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งได้วางวัตถุประสงค์และหลักแห่งสหประชาชาติไว้ มาตรา ๑๕ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปรับและพิจารณารายงานประจำปี และรายงานพิเศษที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคง รายงานนี้ให้รวมคำชี้แจงถึงวิธีการต่าง ๆ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงได้มีมติหรือได้ดำเนินการไปเพื่อธำรงสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ๒. ให้สมัชชาทั่วไปรับและพิจารณารายงานต่าง ๆ ที่มาจากองค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติ มาตรา ๑๖ ให้สมัชชาทั่วไปปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อันเกี่ยวกับระเบียบอภิบาลระหว่างประเทศตามที่มอบหมายไว้โดยหมวดที่ ๑๒ และหมวดที่ ๑๓ รวมทั้งการอนุมัติแก่สัญญาที่ตกลงการอภิบาลเขตแดนต่าง ๆ ที่มิได้จัดว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ มาตรา ๑๗ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปพิจารณาและอนุมัติงบประมาณขององค์การสหประชาชาติ ๒. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาตินั้น แบ่งเป็นภาระที่สมาชิกทั้งหลายต้องชำระ โดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้กำหนดส่วนแบ่ง ๓. ให้สมัชชาทั่วไปพิจารณาและอนุมัติการตกลงยินยอมในทางการเงินและทางการงบประมาณ ที่มีอยู่กับคณะทำการแทนพิเศษต่าง ๆ ดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๕๗ และให้ตรวจดูงบประมาณดำเนินงานของคณะทำการแทนพิเศษเหล่านั้นโดยประสงค์เพื่อให้คำเสนอแนะนำแก่องค์การที่เกี่ยวข้อง การออกเสียง มาตรา ๑๘ ๑. สมาชิกแต่ละรายแห่งสมัชชาทั่วไป ย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของสมัชชาทั่วไปในปัญหาสำคัญต่าง ๆ นั้นให้ถือตามเสียงของสมาชิกที่เข้าประชุม และออกเสียงโดยนับคะแนนเสียงสองในสามว่าเป็นเสียงใหญ่ ปัญหาสำคัญเหล่านี้ ให้รวมถึงการที่มีคำเสนอแนะนำเกี่ยวกับการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งกรรมการประเภทไม่ประจำแห่งคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งกรรมการแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม การเลือกตั้งกรรมการแห่งคณะมนตรีการอภิบาลตามวรรค ๑ (ค) แห่งมาตรา ๘๖ การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดสิทธิและเอกสิทธิของสมาชิก การขับออกจากสมาชิกภาพ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยการดำเนินของระเบียบอภิบาลและปัญหาทางงบประมาณ ๓. ข้อมติต่าง ๆ ในปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดปัญหาเพิ่มเติมเข้าในประเภทที่ถือมติตามคะแนนสองในสามเป็นเสียงใหญ่ด้วยนั้น ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกที่เข้าประชุมและออกเสียง มาตรา ๑๙ สมาชิกแห่งสหประชาชาติที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงต่อองค์การ จะลงคะแนนเสียงหาได้ไม่ ในเมื่อจำนวนที่ค้างชำระนั้นเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนค่าบำรุงซึ่งถึงกำหนดให้ตนชำระแต่สองปีก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี สมัชชาทั่วไปอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นนี้ลงคะแนนเสียงได้ ถ้าปรากฏเป็นที่พอใจว่า การที่ขาดส่งค่าบำรุงนั้นเป็นเพราะสภาพการณ์นอกอำนาจของสมาชิกนั้น ระเบียบปฏิบัติ มาตรา ๒๐ ให้สมัชชาทั่วไปมีการประชุมประจำปีสมัยปกติคราวหนึ่ง และเป็นสมัยพิเศษมากหรือน้อยแล้วแต่โอกาสจำเป็น การประชุมสมัยพิเศษนั้นให้เลขาธิการเป็นผู้เรียกประชุมในเมื่อมีการกล่าวขอมาจากคณะมนตรีความมั่นคง หรือจากส่วนมากของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๒๑ ให้สมัชชาทั่วไป จัดทำข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตน และเลือกตั้งผู้เป็นประธานสำหรับการประชุมแต่ละสมัย มาตรา ๒๒ สมัชชาทั่วไปอาจจัดให้มีองค์การสาขาต่าง ๆ ได้ตามที่เห็นว่าจำเป็นแก่การปฏิบัติภาระของตน หมวด ๕ ว่าด้วยคณะมนตรีความมั่นคง ส่วนประกอบ มาตรา ๒๓ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงประกอบด้วยสมาชิก แห่งสหประชาชาติสิบเอ็ดราย ให้ประเทศสาธารณรัฐแห่งจีน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหสาธารณรัฐแห่งโซเวียตโซเชียลิสม์ ประเทศสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอรแลนด์เหนือ และประเทศสหรัฐแห่งอเมริกาเป็นกรรมการประจำของคณะมนตรีความมั่นคง ให้สมัชชาทั่วไปเลือกตั้งสมาชิกสหประชาชาติอื่นอีกหกรายเข้าเป็นกรรมการไม่ประจำ ในขั้นแรกควรคำนึงเป็นพิเศษถึงการที่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้มีส่วนช่วยประกอบในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและในวัตถุประสงค์อย่างอื่น ๆ ขององค์การนี้ และให้คำนึงถึงการแบ่งกระจายตามความสมควรของภูมิศาสตร์ด้วย ๒. ให้เลือกตั้งกรรมการไม่ประจำ เพื่ออยู่ในตำแหน่งได้โดยกำหนดเวลาสองปี อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้เลือกกรรมการไม่ประจำสามนายซึ่งกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งเพียงหนึ่งปี กรรมการที่ออกจากตำแหน่งแล้วจะรับเลือกตั้งขึ้นใหม่ในทันทีหาได้ไม่ ๓. กรรมการแต่ละรายในคณะมนตรีความมั่นคง มีผู้แทนได้หนึ่งนาย ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๒๔ ๑. เพื่อประกันให้การกระทำของสหประชาชาติได้เป็นไปโดยเร็วและประสพผลดี สมาชิกทั้งหลายแห่งองค์การนี้ได้ยกให้คณะมนตรีความมั่นคงมีความรับผิดชอบเบื้องต้น ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและตกลงถือว่าหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงทำไปตามความรับผิดชอบนี้ ย่อมเป็นการกระทำในนามของสมาชิกทั้งหมด ๒. ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ คณะมนตรีความมั่นคงต้องกระทำให้ชอบด้วยวัตถุประสงค์และหลักต่าง ๆ ของสหประชาชาติ อำนาจเฉพาะการทั้งหลายที่ยกมอบให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงเพื่อปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ มีกำหนดอยู่ในหมวด ๖,๗,๘, และ ๑๒ ๓. ให้คณะมนตรีความมั่นคงส่งรายงานประจำปี และหากจำเป็นก็ให้ส่งรายงานพิเศษให้สมัชชาทั่วไปทำการพิจารณา มาตรา ๒๕ สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ ตกลงที่จะรับและปฏิบัติตามมติต่าง ๆ ของคณะรัฐมนตรีความมั่นคงอันชอบด้วยกฎบัตรฉบับนี้ มาตรา ๒๖ เพื่อส่งเสริมการจัดและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยอาการที่นำเอากำลังวิริยะมนุษย์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปใช้อย่างน้อยที่สุดในการอาวุธยุทธภัณฑ์ ให้คณะมนตรีความมั่นคงมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อวางรูปแผนการพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของกรรมการเสนาธิการทหาร ตามมาตรา ๔๗ แล้วนำเสนอต่อสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อจัดให้มีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการอาวุธยุทธภัณฑ์ การออกเสียง มาตรา ๒๗ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงย่อมมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวด้วยระเบียบการปฏิบัติให้กระทำโดยถือตามคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยของกรรมการเป็นจำนวนเจ็ดราย ๓. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวด้วยเรื่องอย่างอื่น ให้กระทำโดยถือตามคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยของกรรมการเป็นจำนวนเจ็ดรายซึ่งต้องรวมทั้งเสียงของกรรมการประจำทุก ๆ ราย แต่ว่าถ้าเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการมีมติตามความในหมวด ๖ และตามความในวรรค ๓ แห่งมาตรา ๕๒ คู่กรณีในการพิพาทจะต้องงดเว้นการออกคะแนนเสียง ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๒๘ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงพึงถูกจัดให้เป็นองค์การที่สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องกันเรื่อยไป และเพื่อความมุ่งหมายดังนี้ กรรมการแต่ละรายของคณะมนตรีความมั่นคงพึงมีผู้แทนอยู่ ณ แหล่งที่ตั้งขององค์การนี้ตลอดไปทุกเวลา ๒. ให้คณะมนตรีความมั่นคงประชุมกันตามกำหนดระยะเวลาเนือง ๆ ซึ่งในทุกรอบกรรมการแต่ละรายจะปรารถนา ก็อาจตั้งสมาชิกแห่งรัฐบาลไปเป็นผู้แทนหรือจะบ่งผู้อื่นเป็นผู้แทนโดยพิเศษเฉพาะก็ได้ ๓. คณะมนตรีความมั่นคงอาจประชุมกัน ณ สถานที่ใด ๆ ต่างหากจากแหล่งที่ตั้งขององค์การก็ได้ ซึ่งพิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่อันสะดวกดียิ่งแก่การงานของตน มาตรา ๒๙ คณะมนตรีความมั่นคง อาจจัดให้มีองค์การสาขาขึ้นตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อการปฏิบัติภาระของตน มาตรา ๓๐ ให้คณะมนตรีความมั่นคงตั้งข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตนเองรวมทั้งวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย มาตรา ๓๑ สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมิได้เป็นกรรมการในคณะมนตรีความมั่นคง อาจเข้าไปมีส่วนในการพิจารณาปัญหาใด ๆ ที่มาสู่คณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ แต่จะออกคะแนนเสียงไม่ได้ ทั้งนี้ ต่อเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ของสมาชิกรายนั้นได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ มาตรา ๓๒ สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมิได้เป็นกรรมการของคณะมนตรีความมั่นคงก็ดี หรือรัฐใด ๆ ที่มิใช่สมาชิกสหประชาชาติก็ดี ถ้าหากว่าเป็นคู่กรณีเกี่ยวข้องอยู่ในการพิพาทรายใดรายหนึ่ง ซึ่งคณะความมั่นคงทำการพิจารณาอยู่พึงต้องถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนในการปรึกษาพิจารณาเกี่ยวกับการพิพาทนั้น แต่จะออกคะแนนเสียงหาได้ไม่ ให้คณะมนตรีความมั่นคงวางเงื่อนไขเช่นที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่การที่รัฐซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ จะได้เข้าไปมีส่วนปรึกษาพิจารณาเช่นนี้ หมวด ๖ การจัดระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี มาตรา ๓๓ ๑. คู่กรณีในกรณีพิพาทเรื่องใด ๆ ซึ่งถ้าพิพาทต่อเนื่องกันไป น่าจะเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้ไซร้ ในชั้นแรกเริ่มทีเดียวต้องเสาะหาวิธีพิจารณาแก้ไขโดยทางการเจรจา การสอบถาม การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม การอนุญาโตตุลาการ การจัดระงับโดยศาล ทางคณะทำงานประจำภูมิภาค หรือตามการตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือโดยวิธีสงบอย่างอื่น ๆ ตามความพอใจของคู่พิพาท ๒. เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็น ให้คณะมนตรีความมั่นคงกล่าวขอแก่คู่พิพาทให้จัดระงับข้อพิพาทกันด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นที่กล่าวนั้น มาตรา ๓๔ คณะมนตรีความมั่นคงอาจสืบสวนกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจนำให้เกิดการบาดหมางระหว่างประเทศ หรืออาจให้เกิดการพิพาทอย่างใดขึ้นเพื่อหยั่งให้ตระหนักว่า ถ้าจะปล่อยให้การพิพาทหรือสถานการณ์เช่นนั้นคงมีอยู่ต่อไปน่าจะเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหรือไม่ มาตรา ๓๕ ๑. สมาชิกแห่งสหประชาชาติอาจจะนำข้อพิพาทหรือสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔ ขึ้นเสนอให้อยู่ในความดำริของคณะมนตรีความปลอดภัยหรือของสมัชชาทั่วไปก็ได้ ๒. รัฐใดรัฐหนึ่งซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ อาจจะนำข้อพิพาทที่ตนเป็นคู่กรณีขึ้นเสนอ ให้อยู่ในความดำริของคณะรัฐมนตรีความมั่นคงหรือของสมัชชาทั่วไปก็ได้ หากจะรับผูกพันตนไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้สันติวิธีเป็นวัตถุประสงค์สำหรับจะระงับข้อพิพาทนั้นตามที่มีบัญญัติอยู่ในกฎบัตรฉบับนี้ ๓. ระเบียบการปฏิบัติของสมัชชาทั่วไป เกี่ยวด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่จะนำมาสู่ความดำริตามมาตรานี้นั้น ต้องเป็นไปภายใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๑๑ และ ๑๒ มาตรา ๓๖ ๑. ไม่ว่าจะเป็นในระยะใดของการพิพาท ที่มีลักษณะดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๓ หรือของสถานการณ์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงอาจเสนอแนะนำให้ใช้ระเบียบการปฏิบัติหรือวิธีการปรับปรุงใด ๆ อันเหมาะสมก็ได้ ๒.คณะมนตรีความมั่นคงพึงพิจารณาถึงระเบียบการปฏิบัติต่าง ๆ ที่คู่พิพาทได้ตกลงใช้เพื่อจัดระงับข้อพิพาทมาแต่ก่อนแล้ว ๓. ในการให้คำเสนอแนะนำตามมาตรานี้ คณะมนตรีความมั่นคงพึงพิจารณาว่าการพิพาทที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้น โดยหลักทั่วไปแล้ว พึงให้คู่กรณีนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามที่ชอบด้วยบัญญัติในธรรมนูญแห่งศาลนั้น มาตรา ๓๗ ๑. หากคู่กรณีในเรื่องพิพาทที่มีลักษณะตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๓ ไม่สมหวังที่จะจัดระงับกรณีนั้นโดยวิธีการที่บ่งไว้ในมาตรานั้น คู่กรณีนั้นพึงต้องส่งเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ๒. ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่า การที่ยังคงพิพาทอยู่ต่อเนื่องกันไปนั้นเป็นพฤติการณ์ที่น่าเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศก็ให้วินิจฉัยว่าจะปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ หรือจะเสนอแนะนำข้อกำหนดจัดการระงับเช่นที่ตนเห็นว่าเหมาะสมก็ได้ มาตรา ๓๘ โดยมิกระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติตั้งแต่มาตรา ๓๓ ถึง ๓๗ ถ้าคู่กรณีในการพิพาททุกฝ่ายกล่าวขอขึ้นมา คณะมนตรีความมั่นคงจะให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ แก่คู่กรณีเพื่อจัดระงับโดยสันติภาพวิธีก็ได้ หมวด ๗ การกระทำเกี่ยวด้วยการคุกคามต่อสันติภาพ การล่วงละเมิดสันติภาพและการต่าง ๆ ที่รุกราน มาตรา ๓๙ ให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้พิจารณากำหนดว่า มีภาวะการคุกคามต่อสันติภาพหรือการล่วงละเมิดต่อสันติภาพ หรือการต่าง ๆ ที่รุกราน เกิดขึ้นแล้วหรือหามิได้ และเป็นผู้ให้คำเสนอแนะหรือตกลงว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ตามที่มีอยู่ในมาตรา ๔๑ และ ๔๒ เพื่อธำรงหรือกอบกู้ไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๔๐ เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่จะทำคำเสนอแนะนำหรือตกลงในวิธีการดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙ คณะมนตรีความมั่นคงอาจกล่าวเรียกไปยังคู่กรณีที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามวิธีชั่วคราวต่าง ๆ เช่นที่เห็นว่าจำเป็นหรือพึงปรารถนา วิธีการชั่วคราวเช่นนี้จะต้องไม่กะทบกระเทือนถึงสิทธิและอำนาจเรียกร้อง หรือภาวะของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องพิจารณาโดยควรถึงกรณีที่เกิดการขาดเคารพไม่ปฏิบัติตามวิธีการชั่วคราวนั้น มาตรา ๔๑ คณะมนตรีความมั่นคงอาจตกลงให้ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่ไม่ถึงกับต้องใช้กำลังแสนยาวุธ เพื่อให้เกิดผลสมตามข้อตกลงของตน และอาจจะกล่าวเรียกให้บรรดาสมาชิกแห่งสหประชาชาติปฏิบัติตามวิธีการนั้น ๆ วิธีเหล่านี้อาจรรวมถึงการระงับตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดหรือบางส่วนในทางเศรษฐกิจ ทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิธีการคมนาคมอย่างอื่น ๆ และตัดสัมพันธ์ทางการทูตด้วยก็ได้ มาตรา ๔๒ หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า วิธีการดังบัญญัติในมาตรา ๔๑ จะไม่ให้ผลคุ้มสมหรือปรากฏว่าได้ผลไม่คุ้มสม แล้วคณะมนตรีนี้ก็อาจดำเนินการโดยใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเลหรือทางบก เท่าที่เป็นแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การดำเนินการเช่นนี้อาจรวมถึงการแสดงอนุภาพตักเตือน การปิดล้อม และการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล และทางบกของสมาชิกสหประชาชาติ มาตรา ๔๓ ๑. สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ เพื่อจะได้ช่วยประกอบในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รับที่จะจัดให้แก่คณะมนตรีความมั่นซึ่งกำลังแสนยาวุธ การอำนวยช่วยเหลือ และความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งการใช้สิทธิผ่านดินแดนตามที่จำเป็นแก่วัตถุประสงค์ที่จะธำรงสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงกล่าวเรียกเช่นนั้นและเมื่อการชอบด้วยสัญญาพิเศษต่าง ๆ ๒. ในสัญญาเช่นนี้บางฉบับหรือหลายฉบับ ต้องกำหนดจำนวนและชนิดของกำลังต่าง ๆ ตลอดจนขนาดแห่งการเตรียมกำลังเหล่านี้ไว้พร้อม และตำบลที่ตั้งกำลังโดยทั่วไป รวมทั้งลักษณะแห่งการให้ความสะดวกต่าง ๆ และการอำนวยช่วยเหลือที่จะให้ใช้ปฏิบัติแก่กันด้วย ๓. สัญญาเช่นนี้ บางฉบับหรือหลายฉบับนี้ ให้คณะมนตรีความมั่นคงประเดิมการเจรจาโดยเร็วเท่าที่จะเป็นได้ ต้องให้เป็นสัญญาที่ตกลงกันระหว่างคณะรัฐมนตรีความมั่นคงและสมาชิกสหประชาชาติ หรือระหว่างคณะรัฐมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิกสหประชาชาติ และต้องได้รับสัตยาบันจากรัฐต่าง ๆ ที่เป็นผู้ลงนามในสัญญาเหล่านี้โดยชอบด้วยวิถีแห่งรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ มาตรา ๔๔ เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้ตกลงที่จะใช้กำลังเข้ากระทำการแล้วก่อนที่จะกล่าวเรียกให้สมาชิกรายใดที่มิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงนั้นส่งมอบกำลังแสนยาวุธต่าง ๆ ให้ตามพันธธรรมแห่งมาตรา ๔๓ นั้น หากสมาชิกเช่นนั้นมีความประสงค์ก็ให้เชิญสมาชิกรายนั้น เพื่อให้มีส่วนร่วมปรึกษาในข้อตกลงของคณะมนตรีความมั่นคง อันเกี่ยวด้วยการใช้กองกำลังต่าง ๆ แห่งกำลังแสนยาวุธของสมาชิกนั้น มาตรา ๔๕ เพื่อที่จะให้สหประชาชาติสามารถใช้วิธีการทหารในยามรีบด่วน สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติต้องเตรียมพร้อมไว้เพื่อให้เรียกใช้ได้ทันที ซึ่งกองกำลังทางอากาศแห่งชาติเพื่อร่วมผสมในการปฏิบัติบังคับระหว่างประเทศ กำลังและขนาดแห่งความเตรียมพร้อมของกองกำลังต่าง ๆ เหล่านี้ และแผนการปฏิบัติร่วมผสมนั้นต้องอยู่ในข้อจำกัดที่กำหนดตามสัญญาพิเศษต่าง ๆ ที่กล่าวในมาตรา ๔๓ โดยคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้กำหนดพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการ มาตรา ๔๖ แผนการสำหรับการใช้กำลังแสนยาวุธนั้น ให้จัดทำขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร มาตรา ๔๗ ๑. ให้มีการตั้งคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้นคณะหนึ่ง สำหรับแนะนำและอำนวยความช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในปัญหาทั้งหมด ที่เกี่ยวกับความจำเป็นทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคงในอันที่จะธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้และบัญชาการแก่กองทหารต่าง ๆ ที่มอบให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงไว้ใช้เกี่ยวกับการวางระเบียบข้อบังคับว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ และเกี่ยวกับการลดอาวุธยุทธภัณฑ์หากจะกระทำได้ ๒. คณะกรรมการเสนาธิการทหารประกอบด้วยหัวหน้าเสนาธิการแห่งกรรมการประจำของคณะมนตรีความมั่นคงหรือผู้แทนแห่งหัวหน้าเหล่านั้น ให้คณะกรรมการเสนาธิการทำการเชิญสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติที่ไม่มีผู้แทนอยู่ประจำในคณะกรรมการเสนาธิการทหารนั้น เพื่อขอให้เข้าสมทบทำงานด้วยกันในเมื่อผลดีของภาระกิจในความรับผิดชอบของคณะกรรมการเสนาธิการมีความจำเป็นให้สมาชิกรายนั้นเข้ามีส่วนทำการงาน ๓. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องรับผิดชอบต่อคณะมนตรีความมั่นคง สำหรับการอำนวยยุทธศาสตร์แห่งกำลังแสนยาต่าง ๆ ที่มอบแก่คณะมนตรีความมั่นคง เพื่อไว้ใช้งานปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชาการกำลังแสนยานี้ต้องคิดจัดทำกันในเวลาต่อไป ๔. คณะกรรมการเสนาธิการทหาร เมื่อได้รับอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว และหลังจากได้หารือกับคณะทำการประจำภูมิภาคโดยเหมาะสมแล้วอาจจัดให้มีอนุกรรมการประจำภูมิภาคก็ได้ มาตรา ๔๘ ๑. การที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น ให้กระทำโดยสมาชิกแห่งสหประชาชาติทั้งหมดหรือแต่บางราย แล้วแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณากำหนด ๒. การตกลงต่าง ๆ เช่นกล่าวนั้น ให้สมาชิกแห่งสหประชาชาติจัดกระทำโดยตรง และโดยการกระทำของตนซึ่งผ่านไปทางคณะทำการระหว่างประเทศตามแต่จะเหมาะสม อันเป็นคณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ มาตรา ๔๙ สมาชิกแห่งสหประชาชาติร่วมกันต้องให้ความอำนวยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเมื่อจัดกระทำตามวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นมติตกลงโดยคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๕๐ ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงได้ใช้วิธีการป้องกันหรือวิธีการบังคับแก่รัฐหนึ่งรัฐใด หากมีรัฐอื่นจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการที่จัดกระทำตามวิธีการเหล่านั้นย่อมมีสิทธิที่จะหารือกับคณะมนตรีความมั่นคง เกี่ยวด้วยการพิจารณาแก้ไขปัญหานั้น ๆ มาตรา ๕๑ ในกฎบัตรนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิสารัตถ์ของเอกชนใดหรือของบุคคลคณะใดที่จะป้องกันตนเอง ในเมื่อมีการรุกรานโดยใช้อาวุธเกิดขึ้นแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ใช้วิธีการที่จำเป็นเพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ วิธีการต่าง ๆ ที่สมาชิกได้ใช้ตามสิทธิแห่งการป้องกันตนนั้น พึงรายงานให้ทราบถึงคณะมนตรีความมั่นคงโดยทันทีและไม่ถือว่าฝากผลอย่างใดไปถึงอำนาจและความรับผิดของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีอยู่ตามกฎบัตรนี้ ในอันที่จะกระทำในขณะใดตามที่เห็นว่าจำเป็นแก่การธำรงและกอบกู้สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวด ๘ การตกลงเฉพาะภูมิภาค มาตรา ๕๒ ๑. ห้ามมิให้ถือว่าสิ่งใดในกฎบัตรฉบับนี้ได้กีดกั้นมิให้มีการตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือมีคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับการจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเท่าที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติเฉพาะภูมิภาค แต่การตกลงหรือคณะทำการนั้น และกิจที่กระทำนั้นต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ๒. สมาชิกแห่งสหประชาชาติที่เข้าทำการตกลงเฉพาะภูมิภาคเช่นนี้หรือที่เข้าประกอบเป็นคณะทำการเช่นนี้ พึงใช้วิริยะภาพทุกประการที่จะเกิดผลสำเร็จในการจัดระงับข้อพิพาทเฉพาะถิ่นด้วยสันติวิธี โดยอาศัยการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือโดยคณะทำการประจำภูมิภาคดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะส่งเรื่องเหล่านั้นไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ๓. คณะมนตรีความมั่นคงพึงจรุงให้มีความขยายตัวในการจัดระงับกรณีพิพาทเฉพาะถิ่นโดยสันติวิธี โดยจัดการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือโดยทางคณะทำการประจำภูมิภาคเช่นกล่าวแล้ว จะเป็นโดยรัฐที่เกี่ยวข้องดำริขึ้นก่อนก็ได้ หรือโดยรับแจ้งเรื่องจากคณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ ๔. มาตรานี้ไม่มีผลเสื่อมเสียแก่การใช้มาตรา ๓๔ และ ๓๕ มาตรา ๕๓ ๑. เมื่อกรณีเป็นที่เหมาะสม ให้คณะมนตรีความมั่นคงใช้การตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติการตามที่อยู่ในอำนาจของตน แต่ถ้าไม่ได้รับอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้วห้ามมิให้บังคับปฏิบัติ โดยอาศัยการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือคณะทำการประจำภูมิภาค เว้นแต่จะเป็นวิธีการที่ใช้ต่อรัฐที่เป็นศัตรูตามที่กล่าวระบุไว้ในวรรค๒ แห่งมาตรานี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นสำหรับใช้ประกอบกับมาตรา ๑๐๗ หรือในการตกลงเฉพาะภูมิภาค ซึ่งมุ่งต่อต้านมิให้นโยบายรุกรานของรัฐที่เป็นศัตรูกลับฟื้นตัวขึ้นอีก ทั้งนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะกล่าวขอให้องค์การสหประชาชาติได้เข้ารับผิดชอบเพื่อป้องกันรัฐที่เป็นศัตรูเช่นนั้นมิให้ทำการรุกรานต่อไป ๒. คำว่า รัฐที่เป็นศัตรู ที่ใช้อยู่ในอนุมาตรา ๑ แห่งมาตรานี้ได้แก่รัฐใด ๆ ก็ตาม ที่ได้เป็นศัตรูกับรัฐใด ๆ ที่ได้ลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ในเวลาที่ยังมีสงครามโลกครั้งที่สอง มาตรา ๕๔ คณะมนตรีความมั่นคง ต้องได้รับรู้เห็นอย่างครบถ้วนทุกเวลา ถึงกิจการต่าง ๆ ที่กระทำหรือคาดคิดจะทำตามการตกลงเฉพาะภูมิภาคต่าง ๆ หรือโดยคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวด ๙ ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรา ๕๕ เพื่อประสงค์จะก่อให้เกิดสถานการณ์อันมีเสถียรภาพและสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์อย่างสงบและอย่างเป็นมิตรระหว่างชาติต่าง ๆ โดยมีบรรทัดฐานอยู่ที่การเคารพต่อหลักแห่งสิทธิเสมอภาค และต่อหลักกำหนดการปกครองตนเองแห่งชาวชาติต่าง ๆ สหประชาชาติพึงส่งเสริมดั่งต่อไปนี้ ก. ระดับการครองชีพอันสูงขึ้น การมีงานทำโดยทั่วถึง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีความก้าวหน้าและความขยายไพศาล ข. การพิจารณาแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางอนามัย และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมทั้งการร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ และ ค. การเคารพอย่างไพศาลและปฏิบัติต่อสิทธิของมนุษย์ และต่ออิสรภาพที่เป็นแก่นเค้าแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่ลำเอียงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา มาตรา ๕๖ สมาชิกทั้งหลายผูกพันโดยสัตย์ว่าตนจะทำงานร่วมกัน และต่างรัฐจะทำงานโดยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ มาตรา ๕๗ ๑. บรรดาคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ทั้งหลาย อันได้มีขึ้นโดยการตกลงระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ และเอกสารที่เป็นหลักจัดตั้งตนขึ้น ได้ระบุให้มีความรับผิดชอบอย่างกว้างขวางระหว่างประเทศทั้งในด้านการเศรษฐกิจ การสังคม การวัฒนธรรม การศึกษา การอนามัย และในด้านการอื่น ๆ เนื่องในลักษณะเดียวกันนั้น พึงต้องทำการติดต่อสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติตามบัญญัติแห่งมาตรา ๖๓ ๒. คณะทำการพิเศษเช่นนี้อันมาติดต่อสัมพันธ์กับสหประชาชาติดังกล่าวนั้น ต่อไปจะกล่าวถึงโดยเรียกว่าเป็น คณะทำการพิเศษ มาตรา ๕๘ องค์การสหประชาชาติต้องจัดคำเสนอแนะนำขึ้นไว้เพื่อใช้ร่วมประสานนโยบายต่าง ๆ และกิจการของบรรดาคณะทำการพิเศษต่าง ๆ มาตรา ๕๙ หากเห็นเหมาะสมเมื่อใด องค์การสหประชาชาติพึงประเดิมให้มีการเจรจาระหว่างรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ก่อตั้งซึ่งคณะทำการพิเศษขึ้นใหม่ที่จำเป็นแก่การดำเนินตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ มาตรา ๖๐ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติภาระต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติดังกล่าวไว้ในหมวดนี้นั้นให้ตกอยู่กับสมัชชาทั่วไป และตกอยู่กับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเพื่อความประสงค์อันนี้ ให้มีอำนาจต่าง ๆ ดังกล่าวไว้ในหมวด ๑๐ โดยอยู่ใต้อำนาจของสมัชชาทั่วไป หมวด ๑๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ส่วนประกอบ มาตรา ๖๑ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยสมาชิกแห่งสหประชาชาติสิบแปดราย ซึ่งเลือกตั้งขึ้นเป็นกรรมการโดยสมัชชาทั่วไป ๒. ภายใต้บัญญัติในวรรค ๓ ให้เลือกตั้งกรรมการแห่งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนหกรายในทุก ๆ ปี เพื่อให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งมีกำหนดสามปี กรรมการที่ออกจากตำแหน่งแล้ว จะรับเลือกตั้งให้เป็นใหม่โดยทันทีในคราวต่อไปก็ได้ ๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้เลือกกรรมการแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนสิบแปดราย กำหนดที่จะอยู่ในตำแหน่งของกรรมการหกรายที่เลือกขึ้นนี้ ต้องหมดลงเมื่อสิ้นเวลาหนึ่งปี และสำหรับกรรมการอีกหกรายให้หมดกำหนดอยู่ในตำแหน่งเมื่อสิ้นเวลาสองปี ตามวิธีที่สมัชชาทั่วไปจะจัดการ ๔. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม มีผู้แทนได้หนึ่งนาย ภาระกิจและอำนาจ มาตรา ๖๒ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจจะทำหรือประเดิมให้ทำซึ่งการศึกษาและรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางศึกษา ทางสุขภาพอันมีอยู่ระหว่างประเทศ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน และอาจทำคำเสนอแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องเช่นกล่าวนี้ เสนอต่อสมัชชาทั่วไปหรือต่อสมาชิกแห่งประชาชาติ หรือต่อคณะทำการพิเศษที่เกี่ยวข้อง ๒. คณะมนตรีนี้ อาจจะให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ เพื่อประสงค์จะส่งเสริมความเคารพต่อและการประพฤติตามสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์ และอิสรภาพอันเป็นแก่นเค้าของคนทั่วไป ๓. คณะมนตรีนี้ อาจจะเตรียมทำร่างอนุสัญญาต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อสมัชชาทั่วไปอันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในอำนาจจัดทำของตน (ดูหมวด ๔ มาตรา ๑๗ วรรค ๓) ๔. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจแจ้งเรียกให้มีการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อทำการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่ตกอยู่ภายในอำนาจจัดทำของตนได้โดยดำเนินตามข้อบังคับที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ มาตรา ๖๓ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำสัญญาตกลงกับคณะทำการใด ๆ ตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๗ เพื่อกำหนดเงื่อนไขที่คณะทำการที่เกี่ยวข้องจะพึงติดต่อสัมพันธ์กับสหประชาชาติ สัญญาตกลงต่าง ๆ เช่นนั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากสมัชชาทั่วไป ๒. คณะมนตรีนี้ อาจร่วมประสานกิจการต่าง ๆ ของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ โดยทำการหารือและการให้คำเสนอแนะนำแก่คณะทำการเช่นกล่าวนั้นและโดยส่งคำเสนอแนะนำต่อสมัชชาทั่วไปและต่อสมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๖๔ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจจัดการตามเหมาะสม เพื่อให้คณะทำการพิเศษส่งเรื่องรายงานต่าง ๆ แก่ตนเป็นปกติ และอาจทำการตกลงกับสมาชิกแห่งสหประชาชาติและคณะทำการพิเศษ เพื่อขอรับรายงานเรื่องต่าง ๆ ในการที่จัดทำไป เพื่อให้เกิดผลตามที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเสนอแนะนำและตามคำแนะนำของสมัชชาทั่วไป เกี่ยวด้วยเรื่องที่อยู่ในอำนาจจัดทำของตน ๒. คณะมนตรีนี้ อาจส่งข้อสังเกตต่าง ๆ ของตนอันเนื่องในรายงานเหล่านี้ไปยังสมัชชาทั่วไป มาตรา ๖๕ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมพึงแจ้งเรื่องความรู้ความเห็นแก่คณะมนตรีความมั่นคง และต้องอำนวยช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคง ในเมื่อได้รับคำกล่าวเช่นนั้นจากคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๖๖ ๑. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกระทำภารกิจต่าง ๆ เช่นที่ตกอยู่ในอำนาจจัดทำของตน ในเมื่อเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามคำเสนอแนะนำของสมัชชาทั่วไป ๒. คณะมนตรีนี้ หากได้รับอนุมัติจากสมัชชาทั่วไปแล้ว อาจปฏิบัติการงานต่าง ๆ ตามคำกล่าวขอของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ และตามคำกล่าวขอของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ก็ได้ ๓. คณะมนตรีนี้ อาจจะปฏิบัติภาระกิจอื่นตามที่ระบุไว้ ณ แห่งหนึ่งแห่งใดของกฎบัตรนี้ หรือตามที่สมัชชาทั่วไปจะได้มอบหมายให้ การออกเสียง มาตรา ๖๗ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ แห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ต้องถือตามเสียงข้างมากแห่งกรรมการทั้งหลายที่เข้าประชุมและออกเสียงเป็นใหญ่ ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๖๘ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม พึงจัดตั้งคณะกรรมาธิการในทางเศรษฐกิจและในทางสังคม และเพื่อเป็นการส่งเสริมนานาสิทธิของมนุษย์ และอาจจัดตั้งคณะกรรมาธิการอื่น ๆ บรรดาที่จำเป็นแก่การปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ มาตรา ๖๙ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม พึงเชิญสมาชิกรายใดรายหนึ่งแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้มีส่วนในการอภิปรายเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอยู่กับสมาชิกรายนั้นแต่จะออกเสียงไม่ได้ มาตรา ๗๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดการให้ผู้แทนแห่งคณะทำการพิเศษต่าง ๆ เข้ามีส่วนในการอภิปรายของตน และในการอภิปรายของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่ตนได้จัดให้มีขึ้น และอาจจัดให้ผู้แทนของตนไปมีส่วนในการอภิปรายของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ นั้น มาตรา ๗๑ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดการตามสมควร เพื่อให้มีการหารือกันกับองค์การต่าง ๆ ที่มิใช่ของรัฐบาลใด ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องต่าง ๆ ภายในอำนาจจัดทำของตน การจัดให้มีการหารือกันเช่นนี้จะทำกับองค์การระหว่างประเทศก็ได้ และเมื่อเป็นการเหมาะสม จะทำกับองค์การของชาติใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่ได้หารือกันกับสมาชิกแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว มาตรา ๗๒ ๑. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจัดทำข้อบังคับสำหรับระเบียบการปฏิบัติของตนเอง รวมทั้งวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย ๒. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมทำการประชุมตามจำเป็นโดยชอบด้วยข้อบังคับของตน ในข้อบังคับนั้นต้องรวมบทกำหนดให้เรียกประชุมในเมื่อมีคำกล่าวขอจากส่วนมากของกรรมการ หมวด ๑๑ ข้อแถลงเกี่ยวกับเขตแคว้นที่มิได้ปกครองตนเอง มาตรา ๗๓ สมาชิกแห่งสหประชาติ ที่ได้มีหรือรับไว้ซึ่งความรับผิดชอบในการปกครองเขตแคว้นต่าง ๆ อันมีชนชาวแคว้นที่ยังมิได้บรรลุถึงการปกครองตนเองอย่างเต็มบริบูรณ์นั้น ยอมรับรู้หลักที่ถือว่าประโยชน์ของผู้สำนักในเขตเหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และรับว่า พันธธรรมที่จะส่งเสริมอย่างดีที่สุดซึ่งสวัสดิการของผู้สำนักในเขตเหล่านั้น คือ ธุรธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ภายในวงระเบียบสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งมีขึ้นโดยกฎบัตรนี้ และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ ก) จะรับประกันความเจริญทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางศึกษา และรับประกันให้มีการปฏิบัติแก่ชาวเขตแคว้นเหล่านั้นอย่างยุติธรรมและคุ้มกันมิให้ถูกก่อรังควาน พร้อมทั้งเคารพต่อวัฒนธรรมของชนเหล่านั้น ข) จะขยายให้เจริญซึ่งการปกครองตนเอง จะเอาใจใส่ต่อปณิธานของชนชาวเหล่านั้น และจะอำนวยช่วยเหลือให้งอกงามก้าวหน้าด้วยธรรมสถิตย์ที่มีเสรีภาพทางการเมือง สุดแต่จะสมกับพฤติการณ์โดยเฉพาะของละเขตแคว้นและสมกับชนชาวในเขตแคว้นแต่ละแห่ง และขั้นระยะแห่งความเจริญที่มีอยู่ ค) จะเทอดเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ง) จะส่งเสริมวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปในการบูรณก่อสร้างและจูงใจให้มีการค้นคว้าวิจัย และที่จะร่วมมือซึ่งกันและกันตามกาละและเทศะอันเหมาะสม จะร่วมมือกับคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติแท้จริงแก่วัตถุประสงค์ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวมาในมาตรานี้ และ จ) จะให้เลขาธิการได้ทราบความเป็นไปโดยจำกัดเท่าที่จำเป็นแก่ข้อคำนึงทางด้านความมั่นคงและบทธรรมนูญต่าง ๆ โดยจะได้ส่งสถิติและข้อแจ้งเรื่องทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเศรษฐกิจ การสังคม และการศึกษาในเขตแคว้น ซึ่งตนรับผิดชอบโดยเฉพาะ ซึ่งมิใช่เขตแคว้นต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาตามหมวดที่ ๑๒ และที่ ๑๓ มาตรา ๗๔ อนึ่ง สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติตกลงกันด้วยว่า นโยบายของตนที่เกี่ยวกับเขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในบังคับของหมวดนี้ก็ดี ที่เกี่ยวกับโยบายในดินแดนใหญ่ของตนก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จะต้องมีหลักทั่วไปแห่งการเป็นปียมิตรข้างเคียงเป็นบรรทัดฐาน กับทั้งพึงคิดถึงประโยชน์อื่น ๆ และสวัสดิการของภาคอื่นของโลกในด้านของเรื่องสังคม เครื่องเศรษฐกิจ และเรื่องพาณิชยการด้วย หมวด ๑๒ การอภิบาลระหว่างประเทศ มาตรา ๗๕ สหประชาชาติต้องจัดให้มีขึ้นซึ่งระเบียบอภิบาลระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของสหประชาชาติเอง เพื่อจะได้ใช้ปกครองและสอดส่องดูแลเขตแคว้นต่าง ๆ ที่จะได้มีอยู่ภายใต้ปกครองตามระเบียบนี้ในเวลาต่อไป โดยการยอมตกลง เป็นราย ๆ ไป เขตแคว้นดังกล่าวนี้ ต่อไปจะเรียกว่า เขตแคว้นในอภิบาล มาตรา ๗๖ ความมุ่งหมายอันเป็นบรรทัดฐานแห่งระเบียบอภิบาล ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งสหประชาชาติดังกำหนดไว้ในมาตรา ๑ ของกฎบัตรฉบับนี้ ให้เป็นดังนี้ ก) จะเทอดเสริมซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ข) จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางศึกษา ให้แก่ชนชาวที่สำนักอยู่ในเขตแคว้นที่อภิบาล และให้มีความขยายตัวต่อการเจริญก้าวหน้า ในทางปกครองตนเองหรือเพื่อได้รับความเป็นเอกราชตามที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ในเขตแคว้นแต่ละแห่ง และชนชาวแต่ละเขตแคว้นนั้น และเพื่อให้ชนชาวเหล่านั้นแสดงความปรารถนาได้โดยอิสระและตามที่มีกล่าวไว้ในข้อกำหนดที่ยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลแต่ละราย ค) จะจรุงจัดให้มีการเคารพต่อสิทธิของมนุษย์ และต่ออิสรภาพอันเป็นแก่นเค้าทั้งหลายเพื่อคนทุกคน โดยไม่ลำเอียงถึงเชื้อชาติเพศภาษาหรือศาสนา และจรุงจัดให้มีการรับรู้การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชนชาวต่าง ๆ ทั่วโลก และ ง) จะรับประกันการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในเรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการค้า ให้แก่สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ และคนในสัญชาติของสมาชิกเหล่านั้น และรวมทั้งการปฏิบัติกับคนในสัญชาติต่าง ๆ นั้นอย่างเสมอภาคในการประศาสน์ความยุติธรรม โดยมิให้เป็นการกระทบกระเทือนถึงการบรรลุผลมุ่งหมายที่กล่าวแล้วนั้น และโดยอยู่ใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๘๐ มาตรา ๗๗ ๑. ให้ใช้ระเบียบอภิบาลแก่เขตแคว้นประเทศต่าง ๆ โดยอาศัยสัญญาตกลงต่าง ๆ ว่าด้วยการอภิบาล ดังประเภทต่อไปนี้ ก. เขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่ง ณ บัดนี้ตกอยู่ภายใต้อาณัติ ข. เขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่งได้แยกออกจากรัฐที่เป็นศัตรู เนื่องจากผลแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง และ ค. เขตแคว้นซึ่งรัฐที่รับภาระปกครองแคว้นนั้น ๆ ได้สมัครใจมอบให้อยู่ในระเบียบอภิบาล ๒. ให้มีการยอมตกลงกันภายในเวลาต่อไปว่า เขตแคว้นใดในประเภทที่กล่าวข้างต้นนั้นจะพึงให้อยู่ในระเบียบอภิบาลโดยใช้ข้อกำหนดอย่างใดบ้าง มาตรา ๗๘ ระเบียบอภิบาลนี้ มิพึงใช้แก่เขตแคว้นที่ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเหล่านี้พึงยึดบรรทัดฐานอยู่ที่หลักเคารพต่อความเสมอภาคในอธิปไตย มาตรา ๗๙ ข้อกำหนดสำหรับการอภิบาลเขตแคว้นแต่ละราย ที่จะจัดให้อยู่ในระเบียบอภิบาลก็ดี การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อกำหนดนั้นก็ดี ให้ตกลงกันระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้าเป็นกรณีเขตแคว้นที่อยู่ในอาณัติของสมาชิกรายหนึ่งรายใดแห่งสหประชาชาติ ก็ต้องให้ประเทศที่รับมอบอำนาจอาณัติยอมตกลงด้วยกับทั้งจะต้องได้รับอนุมัติตามบัญญัติในมาตรา ๘๓ และ ๘๕ ด้วย มาตรา ๘๐ ๑. นอกจากจะมีการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลเฉพาะรายที่ทำขึ้นตามมาตรา ๗๒, ๗๙ และ ๘๑ ซึ่งยกเขตแคว้นแต่ละรายให้อยู่ในระเบียบอภิบาลและจนกว่าการยอมตกลงดังนั้นจะได้ทำขึ้นแล้ว ห้ามมิให้แปลความในหมวดนี้ให้มีเนื้อความหรือนัยว่าได้เปลี่ยนแปลงสิทธิอย่างใด ๆ ของรัฐหรือชาวชาติใด ๆ หรือแก้ข้อกำหนดทั้งหลายแห่งพันธสาส์นระหว่างชาติที่กำลังใช้อยู่ ซึ่งมีสมาชิกแห่งสหประชาชาติเป็นภาคีอยู่โดยจำเพาะ ๒. อนุมาตรา (๑) แห่งมาตรานี้ มิพึงถูกแปลความให้เป็นหลักเพื่ออ้างเป็นเหตุทำการประวิงหรือเลื่อนเวลาในการเจรจา หรือในการยอมทำความตกลงต่าง ๆ ที่จะมอบเขตแคว้นในอาณัติหรือเขตแคว้นชนิดอื่น ๆ ให้เข้าอยู่ในระเบียบอภิบาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗ มาตรา ๘๑ การยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลแต่ละกรณี จำต้องกำหนดรูปกรณีที่ใช้อำนวยการปกครองเขตแคว้นที่ถูกอภิบาล และต้องระบุฝ่ายที่ทรงอำนาจซึ่งจะทำการปกครองเขตแคว้นนั้น ผู้ทรงอำนาจนี้เรียกในที่นี้ว่า ผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งอาจประกอบด้วยรัฐ ๆ หนึ่งหรือหลายรัฐด้วยกันก็ได้ หรือจะเป็นองค์การสหประชาชาติเองก็ได้ มาตรา ๘๒ ในการยอมตกลงด้วยการอภิบาลแต่ละรายอาจมีการระบุไว้ ว่ามีเขตยุทธศาสตร์อยู่แห่งหนึ่งหรือหลายแห่งก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเพียงบางส่วนหรือตลอดแดนของเขตแคว้นที่ถูกอภิบาลที่ได้มีการยอมตกลงนั้นก็ได้ แต่ต้องมิให้เป็นการกะทบกระเทือนแก่การยอมตกลงพิเศษใด ๆ ที่ได้ทำขึ้นตามมาตรา ๔๓ มาตรา ๘๓ ๑. ภาระต่าง ๆ ทั้งหลายของสหประชาชาติที่เนื่องในเขตยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งการให้อนุมัติแก่ข้อกำหนดในการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดเหล่านั้น ให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้รักษาปฏิบัติ ๒. ความมุ่งหมายอันเป็นบรรทัดฐานอยู่ในมาตรา ๗๖ นั้น ให้ใช้แก่ชาวชนที่อยู่ในเขตแคว้นยุทธศาสตร์ทุก ๆ แห่ง ๓. ภายใต้บังคับแห่งการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และโดยมิกะทบกระเทือนถึงข้อพินิจทางด้านรักษาความมั่นคง ให้คณะมนตรีความมั่นคงพึงใช้ความอำนวยช่วยเหลือจากคณะมนตรีการอภิบาลให้เป็นผล เพื่อดำเนินภารกิจของสหประชาชาติภายในระเบียบอภิบาลเนื่องในทางการเมือง การเศรษฐกิจ การสังคม และการศึกษาในเขตยุทธศาสตร์ต่าง ๆ มาตรา ๘๔ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ที่จะรับประกันให้เขตแคว้นในอภิบาลได้ทำหน้าที่ส่วนของตน ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อให้สมมุ่งหมายดังนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองอาจใช้กำลังอาสาสมัครเครื่องอุปกรณ์ความสะดวกต่าง ๆ และความอำนวยช่วยเหลือของเขตแคว้นในอภิบาล เพื่อทำงานตามพันธธรรมด้วยเรื่องนี้ที่ผู้มีอำนาจปกครองมีอยู่กับคณะมนตรีความมั่นคง รวมทั้งเพื่อจัดการป้องกันท้องถิ่นและเพื่อการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายและความเรียบร้อยภายในเขตแคว้นในอภิบาล มาตรา ๘๕ ๑. ภารกิจของสหประชาชาติ อันเกี่ยวกับการยอมตกลงต่าง ๆ ว่าด้วยการอภิบาลสำหรับบริเวณเขตที่มิได้ระบุว่าเป็นเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้อนุมัติแก่ข้อกำหนดต่าง ๆ แห่งการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น ให้สมัชชาทั่วไปเป็นผู้รักษาปฏิบัติ ๒. คณะมนตรีการอภิบาล ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของสมัชชาทั่วไปพึงอำนวยช่วยเหลือสมัชชาทั่วไป ในการจัดทำการงานตามภารกิจเหล่านี้ หมวด ๑๓ คณะมนตรีการอภิบาล ส่วนประกอบ มาตรา ๘๖ ๑. คณะมนตรีการอภิบาลประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติดังต่อไปนี้ ก. สมาชิกแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นผู้ปกครองเขตแคว้นอภิบาล ข. สมาชิกแห่งสหประชาชาติเช่นที่กล่าวนามไว้ในมาตรา ๒๓ ซึ่งมิได้เป็นผู้ปกครองเขตแคว้นอภิบาลใด และ ค. สมาชิกอื่น ๆ มากหรือน้อยตามที่สมัชชาทั่วไปจะเลือกตั้ง ให้อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาสามปีตามจำเป็น เพื่อให้ยอดจำนวนกรรมการของคณะมนตรีการอภิบาลแบ่งได้เท่า ๆ กันในระหว่างสมาชิกแห่งสหประชาชาติ ที่ปกครองเขตแคว้นในอภิบาลและสมาชิกที่ไม่ได้ปกครอง ๒. กรรมการของคณะมนตรีการอภิบาลแต่ละราย ต้องบ่งบุคคลคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษเพื่อตั้งเป็นผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีการอภิบาลนั้น ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๘๗ ๑. สมัชชาทั่วไป และคณะมนตรีการอภิบาลซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของสมัชชานี้ ในการที่จะปฏิบัติภารกิจแห่งตน อาจทำการดังนี้ ก. พิจารณารายงานต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองได้นำเสนอ ข. รับคำร้องต่าง ๆ และพิจารณาโดยหารือกับผู้ใช้อำนาจปกครอง ค. จัดให้มีการเดินทางสำรวจเขตแคว้นอภิบาลต่าง ๆ ตามจำเพาะโดยมีรอบกำหนดกาละ และ ณ เวลาที่ได้ตกลงกับ ผู้ใช้อำนาจปกครอง และ ง. กระทำการดังกล่าวมาแล้วหรือการอย่างอื่น ๆ ที่ชอบด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล มาตรา ๘๘ คณะมนตรีการอภิบาลต้องจัดแบบคำถามสำรวจขึ้นชุดหนึ่งในเรื่องความก้าวหน้าทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการศึกษาของราษฎร ผู้สำนักอยู่ในเขตแคว้นอภิบาลแต่ละราย ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเขตอภิบาลแต่ละรายที่อยู่ในอำนาจจัดคุมของสมัชชาทั่วไป จัดทำรายงานประจำปีขึ้นยื่นต่อสมัชชาทั่วไป โดยอาศัยบรรทัดฐานแห่งคำถามสำรวจเช่นกล่าวนี้ การออกเสียง มาตรา ๘๙ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีการอภิบาลรายหนึ่งย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีการอภิบาลนั้น ให้ถือตามเสียงข้างมากแห่งกรรมการที่เข้าประชุมและออกเสียง ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๙๐ ๑. ให้คณะมนตรีการอภิบาลจัดตั้งข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตนเอง รวมทั้งกำหนดวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย ๒. ให้คณะมนตรีการอภิบาลทำการประชุมตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งต้องบรรจุข้อความให้เรียกประชุมเมื่อมีการกล่าวขอจากกรรมการส่วนมากของคณะมนตรีนั้น มาตรา ๙๑ ในเมื่อเป็นการเหมาะสม ให้คณะมนตรีการอภิบาลถือเอาผลจากความอำนวยช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และจากคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับองค์การนั้นโดยเฉพาะ หมวด ๑๔ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา ๙๒ ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นองค์การตุลาการใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ศาลนี้ประกอบภารกิจตามที่ปรากฏในธรรมนูญที่แนบต่อกับกฎบัตรนี้ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานมาจากธรรมนูญของศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ และซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบแห่งกฎบัตรนี้ มาตรา ๙๓ ๑. สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติโดยเหตุแห่งพฤติการณ์ ย่อมเป็นภาคีอยู่ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ๒. รัฐที่มิใช่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ โดยเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วแต่จะกำหนดในกรณีเป็นราย ๆ ไป ซึ่งสมัชชาทั่วไปจะกำหนดเมื่อมีคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๙๔ ๑. สมาชิกแต่ละรายแห่งสหประชาชาติต่างรับที่จะปฏิบัติตามคำพิจารณาตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกคดีที่ตนเป็นคู่กรณี ๒. หากคู่กรณีในคดีหนึ่งคดีใด ไม่ปฏิบัติตามพันธธรรมต่าง ๆ ที่ตกเป็นหน้าที่ของตนโดยคำพิพากษาของศาลนี้ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนต่อไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจำเป็น ก็จะเสนอคำแนะนำหรือตกลงถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จผลตามคำพิพากษานั้น มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ ได้กีดกันสมาชิกแห่งสหประชาชาติในอันที่จะมอบธุระในการพิจารณาแก้ไขข้อผิดพ้องหมองใจต่าง ๆ ของตนให้แก่ศาลอื่น ๆ โดยอาศัยการยอมตกลงต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือซึ่งจะได้มีขึ้นในอนาคต มาตรา ๙๖ ๑. สมัชชาทั่วไปก็ดี หรือคณะมนตรีความปลอดภัยก็ดี อาจกล่าวขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้แสดงความเห็นแนะนำแก่ตนในปัญหากฎหมายใด ๆ ก็ได้ ๒. องค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติและคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ซึ่งหากจะได้รับมอบอำนาจ ณ เวลาใดจากสมัชชาทั่วไปก็อาจกล่าวขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ความเห็นแนะนำในปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นในกรอบงานขององค์การนั้น หมวด ๑๕ สำนักเลขาธิการ มาตรา ๙๗ สำนักเลขาธิการประกอบด้วย เลขาธิการหนึ่งนาย และพนักงานอื่นเช่นที่จำเป็นสำหรับองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการนั้น ให้แต่งตั้งขึ้นโดยสมัชชาทั่วไป ตามคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคงและให้เป็นหัวหน้าฝ่ายธุรการขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๙๘ เลขาธิการพึงปฏิบัติในฐานะดั่งนั้น ในการประชุมทุก ๆ คราวของสมัชชาทั่วไป ทุกคราวที่คณะมนตรีความมั่นคงมีการประชุม ทุกคราวที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมีการประชุม และทุกคราวที่คณะมนตรีการอภิบาลมีการประชุมและเลขาธิการพึงปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ตามที่องค์การเหล่านี้จะมอบธุระให้ทำ ให้เลขาธิการทำรายงานประจำปีทุกปีส่งต่อสมัชชาทั่วไปในเรื่องกิจการขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๙๙ เลขาธิการพึงจัดให้คณะมนตรีความมั่งคงได้ทำการดำริถึงเรื่องใด ๆ ซึ่งตามความเห็นของตน เห็นว่าเป็นกรณีคุกคามต่อการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๑๐๐ ๑. ในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ แห่งตนนั้นเลขาธิการและพนักงานทั้งหลายมิพึงแสวงหา หรือรับเอาไว้ซึ่งการแจ้งสั่งจากรัฐบาลใด ๆ หรือจากผู้มีอำนาจซึ่งอยู่นอกองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการและพนักงานทั้งหลายพึงงดเว้นจากการกระทำใด ๆ ซึ่งจะทำให้สะท้อนไปถึงตำแหน่งที่ตนเป็นพนักงานระหว่างประเทศซึ่งรับผิดชอบเฉพาะต่อองค์การสหประชาชาติเท่านั้น ๒. สมาชิกแต่ละรายแห่งองค์การสหประชาชาติรับรองว่า จะเคารพต่อลักษณาการระหว่าประเทศอย่างเคร่งครัด อันมีอยู่ในความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงานเหล่านั้น และจะไม่เสาะหาทางที่จะใช้อิทธิพลต่อบุคคลเหล่านั้นในงานการที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา มาตรา ๑๐๑ ๑. พนักงานในสำนักเลขาธิการนั้น ให้เลขาธิการเป็นผู้แต่งตั้งตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยสมัชชาทั่วไป ๒. ให้กำหนดพนักงานต่าง ๆ ตามเหมาะสม ไปทำงานอยู่ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีการอภิบาล และถ้าจำเป็นก็ให้ทำงานในองค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติด้วย พนักงานเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการ ๓. ข้อคำนึงอย่างยิ่งในการที่จะบรรจุพนักงาน และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานนั้น ต้องถือตามความจำเป็นที่จะให้เกิดผลในระดับสูงสุดต่อสมรรถภาพ อำนาจจัดทำ และบูรณภาพ ให้ระลึกถึงความสำคัญในการเลือกสรรแต่งตั้งพนักงานนั้นว่าต้องอาศัยหลักภูมิศาสตร์เป็นบรรทัดฐานอย่างมากเท่าที่เป็นวิสัยทำได้ หมวด ๑๖ บทเบ็ดเสร็จ มาตรา ๑๐๒ ๑. สัญญาทุกฉบับและการยอมตกลงระหว่างประเทศทุก ๆ รายที่สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติกระทำกัน ภายหลังที่ได้มีการใช้กฎบัตรนี้แล้วนั้น ให้นำไปจดทะเบียนที่สำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และให้สำนักเลขาธิการพิมพ์เผยแพร่สนธิสัญญาและการยอมตกลงเหล่านั้น ๒. ห้ามมิให้คู่กรณีแห่งสัญญาและการยอมตกลงระหว่างประเทศรายใดที่ยังมิได้จดทะเบียนตามบัญญัติในวรรค ๑ แห่งมาตรานี้นั้น ยกเอาสัญญาหรือการยอมตกลงดังนั้นขึ้นมาอ้างแก่องค์การใด ๆ ของสหประชาชาติ มาตรา ๑๐๓ เมื่อมีกรณีเหตุขัดแย้งระหว่าพันธธรรมต่าง ๆ ของสมาชิกแห่งสหประชาชาติตามกฎบัตรนี้ และพันธธรรมต่าง ๆ ของสมาชิกตามการยอมตกลงอย่างอื่นใดในระหว่างประเทศ ให้ถือว่าพันธธรรมของสมาชิกตามกฎบัตรนี้มีผลใช้ได้ดีกว่า มาตรา ๑๐๔ ให้องค์การสหประชาชาติทรงไว้ซึ่งความสามารถ ตามกฎหมายในเขตแคว้นแห่งสมาชิกแห่งสหประชาชาติแต่ละรายเท่าที่จำเป็น สำหรับปฏิบัติตามภารกิจการต่าง ๆ และประกอบการตามวัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๑๐๕ ๑. ให้องค์การสหประชาชาติทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิและความปลอดพันธ์ต่าง ๆ ในเขตแคว้นของสมาชิกแห่งสหประชาชาติแต่ละรายตามที่จำเป็น เพื่อประกอบการตามวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ๒. ในทำนองเดียวกัน ให้ผู้แทนของสมาชิกแห่งสหประชาชาติและพนักงานขององค์การ ทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิและความปลอดพันธ์ตามที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามภารกิจอันเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติได้อย่างอิสระ ๓. สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ เพื่อจะได้กำหนดรายการละเอียดที่เกี่ยวกับการใช้วรรค ๑ และวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ หรืออาจเสนอแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติให้ประชุมตกลงเพื่อวัตถุประสงค์นี้ก็ได้ หมวด ๑๗ การตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา ๑๐๖ ในระหว่างรอใช้การยอมตกลงพิเศษต่าง ๆ ที่กล่าวอยู่ในมาตรา ๔๓ ซึ่งตามความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคง ถือว่าตนมีอำนาจที่จะเริ่มปฏิบัติการตามความรับผิดชอบแห่งตนตามมาตรา ๔๒ นั้น ภาคีในประกาศข้อแถลงของสี่ชาติอันได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโคว์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๑๙๔๓ และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยความในวรรค ๕ แห่งประกาศข้อแถลงฉบับนั้น จะต้องหารือกัน และถ้าความจำเป็นแห่งกาละโอกาสบังคับ ก็จะต้องหารือกับสมาชิกอื่น ๆ แห่งสหประชาชาติด้วย เพื่อจะได้มีการทำงานร่วมกันในนามขององค์การสหประชาชาติ ตามที่จำเป็นแก่วัตถุประสงค์ที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๑๐๗ ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ทำให้เกิดผลโมฆะ หรือผลกีดกันแก่การกระทำใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรัฐที่เป็นศัตรูต่อรัฐที่ลงนามในกฎบัตรนี้ ในระหว่างมีสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นการที่ได้กระทำหรือได้อนุญาตไป ในฐานะเป็นผลแห่งสงครามโดยรัฐบาลต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อการเช่นนั้น หมวด ๑๘ การแก้ไข มาตรา ๑๐๘ การแก้ไขกฎบัตรนี้ จะใช้แก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกเหล่านั้นได้รับตกลงโดยคะแนนสองในสามของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไปและได้รับสัตยาบันโดยจำเพาะตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้นโดยจำนวนสองในสามของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ กับทั้งต้องรวมกรรมการประจำทุกรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงด้วย มาตรา ๑๐๙ ๑. การประชุมใหญ่ของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำการทบทวนพิจารณากฎบัตรฉบับนี้ ให้ทำ ณ วันกำหนดและสถานที่ซึ่งต้องกำหนดโดยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไป และโดยคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งมาจากจำนวนกรรมการถึงเจ็ดรายใด ๆ แห่งคณะมนตรีความมั่นคง ให้สมาชิกแต่ละรายแห่งสหประชาชาติมีเสียงได้หนึ่งคะแนนในการประชุมนี้ ๒. การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างหนึ่งอย่างใดในกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งเสนอแนะนำขึ้นโดยคะแนนเสียงสองในสามแห่งที่ประชุมดังกล่าวนั้น ให้มีผลใช้ได้เมื่อได้รับสัตยาบันโดยจำเพาะตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ โดยจำนวนสองในสามของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ กับทั้งต้องรวมกรรมการประจำทุกรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงด้วย ๓. ถ้าการประชุมเช่นนี้ มิได้มีขึ้นก่อนสมัชชาทั่วไปทำการประชุมสมัยปีที่สิบ นับจากเวลาที่ได้ใช้กฎบัตรนี้แล้ว ต้องมีการยื่นเสนอความเห็นเพื่อเรียกให้มีการประชุมเช่นนี้ในระเบียบวาระของการประชุมแห่งสมัชชาทั่วไปในสมัยนั้นและให้จัดการประชุมขึ้นได้ ถ้าปรากฏว่ามีมติเช่นนั้นโดยถือคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไป และมีคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งจากจำนวนกรรมการแห่งคณะมนตรีความมั่นคงเจ็ดราย หมวด ๑๙ สัตยาบันและการลงนาม มาตรา ๑๑๐ ๑. กฎบัตรฉบับนี้ พึงได้รับสัตยาบันจากรัฐที่เป็นผู้ลงนามไว้ ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ โดยจำเพาะ ๒. สัตยาบันสาส์นทั้งหลาย ให้วางรักษาไว้กับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องแจ้งไปยังรัฐที่เป็นผู้ลงนามทั้งหลาย ให้ทราบถึงการวางสัตยาบันนั้นทุกราย เมื่อใดได้แต่งตั้งเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติขึ้นแล้ว ก็ต้องแจ้งให้ทราบเหมือนกัน ๓. ให้กฎบัตรฉบับนี้ ใช้บังคับได้ในเมื่อมีการวางสัตยบันสาส์นของสาธารณรัฐแห่งประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศส และสหสาธารณรัฐโซเวียต โซเซียลิสต์รัสเซีย สหราชอาณจักรแห่งเกรตบริเตนและไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกาและโดยมากแห่งรัฐอื่น ๆ ที่ได้ลงนามไว้ ให้รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดทำพิธีสารเกี่ยวกับการวางสัตยาบันทั้งหลายนั้น ซึ่งต้องมีสำเนาส่งไปยังรัฐที่ลงนามไว้โดยทั่วกัน ๔. รัฐต่าง ๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งได้ให้สัตยาบันภายหลังที่กฎบัตรได้ใช้บังคับแล้วนั้น จักได้เป็นสมาชิกผู้ริเริ่มแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่รัฐเหล่านั้นได้วางสัตยาบันสาส์นโดยจำเพาะ มาตรา ๑๑๑ กฎบัตรฉบับนี้ซึ่งมีเป็น ภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซียน อังกฤษ และ สเปน อันนับว่าเป็นต้นฉบับจริงโดยเสมอภาคกัน ต้องเก็บรักษาไว้ ณ หอบรรณสารของรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ให้รัฐบาลนั้นจัดทำสำเนาซึ่งรับรองอย่างถูกต้องส่งไปรัฐบาลแห่งรัฐที่ได้ลงนามไว้โดยทั่วกัน เพื่อเป็นสัจจพยานในการนี้ ผู้แทนทั้งหลายของรัฐบาลต่าง ๆ แห่งสหประชาชาติได้ลงนามไว้ในกฎบัตรฉบับนี้แล้ว กระทำกัน ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ยี่สิบหก แห่งเดือนมิถุนายน หนึ่งพันเก้าร้อยสี่สิบห้า ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำปรารภ โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว และสิทธิที่เท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์ เป็นหลักมูลแห่งอิสรภาพความยุติธรรมและสันติภาพในโลก โดยที่การไม่นำพา และการเหยียดหยามต่อสิทธิมนุษยชนยังผลให้มีการกระทำอันป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่าประณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยเสรีภาพในการพูดและความเชื่อถือ และเสรีภาพปราศจากความกลัว และความต้องการ โดยที่เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักบังคับกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนต้องถูกบังคับให้หันเข้าหาการกบถขัดขืนทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมวิวัฒนาการแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างนานาประชาชาติ โดยที่ประชากรแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และค่าของมนุษย์ และในสิทธิเท่าเทียมกันของบรรดาชายและหญิง และได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมด้วยอิสรภาพอันไพศาล โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฏิญาณจะให้บรรลุถึงการส่งเสริมการเคารพทั่วไปและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยการร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ปฏิญญานี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์ ฉะนั้น บัดนี้ สมัชชาจึงประกาศว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชากรและประชาชาติทั้งหลาย เพื่อจุดหมายปลายทางที่ว่าเอกชนทุกคนและองค์การของสังคมทุกองค์การ โดยการรำลึกถึงปฏิญญานี้เป็นเนืองนิตย์ จะบากบั่นพยายามด้วยการสอน และศึกษาในอันที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยการดำเนินเป็นลำดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในอันที่จะให้มีการยอมรับนับถือและการปฏิบัติตามโดยทั่วไปและอย่างจริงจัง ทั้งในบรรดาประชากรของรัฐสมาชิกด้วยกันเอง และบรรดาประชากรของดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจแห่งรัฐนั้น ๆ ข้อ ๑. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ และเสมอภาคในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีความรู้สึกผิดชอบและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ข้อ ๒. (๑) ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่พรรณนาไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม,ทรัพย์สิน, กำเนิดหรือสถานะอื่น ๆ (๒) อนึ่ง จะไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ตามมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางการศาล หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น ข้อ ๓. คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน ข้อ ๔. บุคคลผู้ใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาสหรือต้องภาระจำยอมไม่ได้ความเป็นทาสและการค้าทาสเป็นอันห้ามขาดทุกรูป ข้อ ๕. บุคคลใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้ ข้อ ๖. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน ข้อ ๗. ทุกคนเสมอกันตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติดังกล่าว ข้อ ๘. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากศาลที่มี่อำนาจแห่งชาติต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิหลักมูลซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ข้อ ๙. บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพละการไม่ได้ ข้อ ๑๐. ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตน และการกระทำผิดอาญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา ข้อ ๑๑. (๑) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี (๒) จะถือบุคคลใด ๆ ว่ามีผิดในความผิดทางอาญาเนื่องด้วย การกระทำ หรือละเว้นใด ๆ อันมิได้จัดเป็นความผิดทางอาชญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศในขณะได้กระทำการนั้นขึ้นไม่ได้ และจะลงโทษอันหนักกว่าที่ใช้อยู่ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาชญานั้นไม่ได้ ข้อ ๑๒. บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกสอดโดยพละการในความเป็นอยู่ส่วนตัวในครอบครัว ในเคหะสถานหรือในการสื่อสาร และถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอดหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น ข้อ ๑๓. (๑) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใด ๆ ไปรวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน ข้อ ๑๔. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยประเทศอื่นให้พ้นจากการประหัตประหาร (๒) จะอ้างสิทธินี้ไม่ได้ในกรณีที่การประหัตประหารสืบเนื่องอย่างแท้จริงมาจากความผิดที่มิใช่ทางการเมือง หรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ ข้อ ๑๕. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกตัดสัญชาติของตนโดยพละการ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้ ข้อ ๑๖. (๑) ชายหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะทำการสมรสและที่จะก่อตั้งครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด ๆ อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรสและในการขาดจากการสมรส (๒) การสมรส จะกระทำกันก็แต่ด้วยความยินยอมโดยอิสระและเต็มที่ของผู้ที่เจตนาจะเป็นผู้สมรส (๓) ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและหลักมูลของสังคม และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ ข้อ ๑๗. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเองเช่นเดียวกับโดยร่วมกับผู้อื่น (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้เสียทรัพย์สินโดยพละการไม่ได้ ข้อ ๑๘. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อมั่น และอิสรภาพในการที่จะแสดงออกซึ่งศาสนา หรือความเชื่อมั่นของตน โดยการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเองหรือในประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะ หรือส่วนบุคคล ข้อ ๑๙. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดเห็นและการแสดงออกสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะมีการคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหารับและให้ข่าวสาส์น และความเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน ข้อ ๒๐. (๑) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งสมาคมใดไม่ได้ ข้อ ๒๑. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค (๓) เจตจำนงของประชากรจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน ข้อ ๒๒. ทุกคน ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีสิทธิในความมั่นคงทางสังคมและมีสิทธิในการบรรลุถึงซึ่งสิทธิเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกียรติศักดิ์ของตน และวิวัฒนาการแห่งบุคลิกภาพของตนโดยความเพียรพยายามของแต่ละชาติ และโดยความร่วมมือระหว่างประเทศและตามระบอบการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ ข้อ ๒๓. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรมและเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ (๓) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิธีการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย (๔) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน ข้อ ๒๔. ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดงานอันมีกำหนดโดยได้รับสินจ้าง ข้อ ๒๕. (๑) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเหมาะแก่สุขภาพและความผาสุกของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาทางแพทย์ และบริการสังคมทีจำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจตน (๒) มารดาและเด็ก มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทุกคนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน ข้อ ๒๖. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นปฐมศึกษา และการศึกษาชั้นหลักมูล การปฐมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิค และวิชาชีพจะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงขึ้นไปก็จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ (๒) การศึกษาจะได้จัดไปในทางส่งเสริมบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และยังความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูลให้มั่นคงยิ่งขึ้น จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมและมิตรภาพระหว่างบรรดาประชาชาติ หมู่ เชื้อชาติหรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจการของสหประชาชาติเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ (๓) บิดามารดามีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกชนิดของการศึกษาอันจะให้แก่บุตรของตน ข้อ ๒๗. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของประชาคมโดยอิสระ ที่จะเสวยผลแห่งศิลปศาสตร์ และที่จะมีส่วนในความก้าวหน้าและคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรม และทางวัสดุอันเป็นผลของประดิษฐกรรมใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้าง ข้อ ๒๘. ทุกคนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและทางระหว่างประเทศซึ่งจะเป็นทางให้สำเร็จผลตามสิทธิและอิสรภาพดั่งพรรณนามาในปฏิญญานี้ ข้อ ๒๙. (๑) ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ด้วยการส่งเสริมบุคลิกภาพของตนโดยอิสระและเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในประชาคมเท่านั้น (๒) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนจะอยู่ในบังคับก็แต่ของข้อจำกัดซึ่งได้กำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งการรับนับถือ และเคารพสิทธิและอิสรภาพของผู้อื่นตามสมควร และแห่งการบำบัดความต้องการอันชอบธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย (๓) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ จะใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้เป็นอันขาด ข้อ ๓๐. ไม่มีบทใดในปฏิญญานี้ที่จะอนุมานว่าให้สิทธิใด ๆ แก่รัฐหมู่คนหรือบุคคล ในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ หรือปฏิบัติการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพ ดั่งพรรณนามา ณ ที่นี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๙ เมษายน ๒๕๕๘
301085
กฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ. 1945
"กฎบัตรสหประชาชาติ\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\n\nก(...TRUNCATED)
740727
"ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออก(...TRUNCATED)
"ประกาศกระทรวงมหาดไทย\nประกาศกระทรว(...TRUNCATED)
497860
"ประกาศการมีผลใช้บังคับของความตกลง(...TRUNCATED)
"ประกาศ\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\nประกาศ\r\nการมีผลใช้(...TRUNCATED)
490191
"ประกาศ การมีผลใช้บังคับของความตกล(...TRUNCATED)
"ประกาศ\nประกาศ\nการมีผลใช้บังคับของ(...TRUNCATED)
488889
"ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออก(...TRUNCATED)
"ประกาศกระทรวงมหาดไทย\nประกาศกระทรว(...TRUNCATED)
389323
"พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศ(...TRUNCATED)
"พระราชบัญญัติ\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\nพระราชบัญญ(...TRUNCATED)
315681
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303
"ประกาศของคณะปฏิวัติ\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\n\r\nประก(...TRUNCATED)
320459
"พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศ(...TRUNCATED)
"พระราชบัญญัติ\nพระราชบัญญัติ\nกฎอัย(...TRUNCATED)
301152
"พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 5) (...TRUNCATED)
"พระราชบัญญัติ\nพระราชบัญญัติ\nกฎอัย(...TRUNCATED)

Dataset Card for "thailaw"

English

Thai Law Dataset (Act of Parliament)

  • Data source from Office of the Council of State, Thailand. https://www.krisdika.go.th/
  • This part of PyThaiNLP Project.
  • License Dataset is public domain.

Download https://github.com/PyThaiNLP/thai-law/releases

This hub based on Thailaw v0.2.

Thai

คลังข้อมูลกฎหมายไทย (พระราชบัญญัติ)

  • ข้อมูลเก็บรวบรวมมาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา https://www.krisdika.go.th/
  • โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนา PyThaiNLP
  • ข้อมูลที่รวบรวมในคลังข้อความนี้เป็นสาธารณสมบัติ (public domain) ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 7 (สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ [...] (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือตอบโต้ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น [...])

ดาวน์โหลดได้ที่ https://github.com/PyThaiNLP/thai-law/releases

This dataset is Thai Law dataset v0.2

  • Data source from Office of the Council of State, Thailand. https://www.krisdika.go.th/
  • This part of PyThaiNLP Project.
  • License Dataset is public domain.

Datasize: 42,755 row

GitHub: https://github.com/PyThaiNLP/thai-law/releases/tag/v0.2

Downloads last month
45