sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
726890
กฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งรับตกลงกัน ณ เมืองซานฟานซิสโก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1945
กฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งรับตกลงกัน ณ เมืองซานฟานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๔๕ เรา-ประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ตั้งใจมั่น ที่จะช่วยมนุษยชนในรุ่นต่อ ๆ ไป ให้พ้นจากมหันตภัยแห่งสงคราม ซึ่งได้นำทุกขวิปโยคอย่างล้นคณนามาสู่มนุษยชาติถึงสองครั้งแล้ว ในชั่วอายุของเรา และ ที่จะยืนยันให้แน่นแฟ้น ถึงความศรัทธาต่อสิทธิอันเป็นแก่นเค้าทั้งหลายของมนุษย์ต่อเกียรติคุณและคุณค่าแห่งตัวคน ต่อนานาสิทธิเสมอภาค ระหว่างบุรุษและสตรี และระหว่างชาติต่าง ๆ ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก และ ที่จะจัดให้มีสภาพการณ์ต่าง ๆ อันจักให้ความยุติธรรม และจักให้ความเคารพต่อนานาพันธธรรมที่เกิดจากสัญญาต่าง ๆ และจากมูลเหตุอื่น ๆ ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้สามารถธำรงอยู่ และ ที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าแห่งสังคม และทำให้ดีขึ้นซึ่งมาตรฐานแห่งชีวิต ในอิสรภาพที่อุดมกว้างขวาง และเพื่อจุดมุ่งหมายเหล่านี้ จึงจะมีความอดกลั้นผ่อนปรน และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันโดยมีสันติภาพต่อกัน อย่างฉันทปิยมิตรที่ใกล้ชิดกัน และ จะรวมกำลังของเรา เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และ จะรับประกันว่า โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักต่าง ๆ และวิถีการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นจะมิให้มีการใช้กำลังแสนยาวุธ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และ ที่จะใช้เครื่องปัจจัยระหว่างประเทศ เพื่อทำการส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของชาวประชาชนทั่วทั้งหมด เราได้ตกลงร่วมสมานวิริยภาพแห่งเราทั้งหลาย เพื่อบรรลุถึงจุดปรารถนาดั่งกล่าวนั้น กรณีดั่งนี้ รัฐบาลโดยจำเพาะของเรา ซึ่งส่งผู้แทนมาร่วมประชุมกัน ณ นครซานฟรานซิสโก และได้สำแดงสาส์นมอบอำนาจเต็มเป็นการเรียบร้อยดีตามแบบอันควรแล้ว จึงทำความตกลงยินยอมกันรับกฎบัตรแห่งสหประชาชาติฉบับนี้ และด้วยประการฉะนี้ ได้จัดให้มีขึ้นซึ่งองค์การระหว่างประเทศนี้ ใช้ชื่อว่า “สหประชาชาติ” หมวด ๑ ว่าด้วยวัตถุประสงค์และหลัก มาตรา ๑ วัตถุประสงค์แห่งสหประชาชาติ มีดั่งนี้: ๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อการนั้นจะใช้วิธีการร่วมกัน เพื่อป้องกันและปลดเปลื้องมิให้เกิดการคุกคามสันติภาพและเพื่อปราบปรามการกระทำที่รุกรานหรือเป็นการล่วงละเมิดอย่างอื่นต่อสันติภาพและจะใช้สันติวิธีอันชอบด้วยหลักยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้มีการพิจารณาปรับปรุงและจัดระงับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดการล่วงละเมิดสันติภาพ ๒. เพื่อก่อขยายสัมพันธไมตรีในระหว่างชาติต่าง ๆ โดยถือบรรทัดฐานอยู่ที่การเคารพหลักแห่งสิทธิเสมอภาค และหลักกำหนดการปกครองตนเองที่ชนชาวต่าง ๆ มีอยู่ และจะใช้วิธีการอื่นตามสมควรเพื่อให้สันติภาพสากลมีความแน่นแฟ้นมั่นคง ๓. เพื่อก่อให้เกิดซึ่งการร่วมมือระหว่างนานาชาติ โดยการวินิจฉัยแก้ปัญหาระหว่างประเทศเกี่ยวด้วยการเศรษฐกิจ การสังคม การวัฒนธรรม หรือการมนุษยธรรมและโดยการส่งเสริมและจรุงความเคารพต่อสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์และต่ออิสรภาพ อันเป็นแก่นเค้าสำหรับคนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และ ๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการกระทำของนานาชาติ ให้บรรลุจุดความมุ่งหมายอันร่วมกันดั่งกล่าวนี้ มาตรา ๒ เพื่อปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑ องค์การสหประชาชาติและสมาชิกแห่งองค์การนี้ จะต้องกระทำการโดยชอบด้วยหลักดังต่อไปนี้ ๑. องค์การนี้ ถือบรรทัดฐานอยู่ที่ความเสมอภาคในอธิปไตยของสมาชิกทั้งหมดขององค์การ ๒. สมาชิกทั้งหลายพึงปฏิบัติตามพันธธรรมต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ตามกฎบัตรนี้ด้วยความสัตย์สุจริต เพื่อเป็นประกันแก่สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนได้รับจากการมีสมาชิกภาพ ๓. สมาชิกทั้งหลายพึงจัดระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตน โดยสันติวิธีและในลักษณะที่ไม่เสี่ยงภัยแก่สันติภาพ และความมั่นคง และความยุติธรรมระหว่างประเทศ ๔. ในการสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตนนั้น ให้สมาชิกทั้งหลายงดเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังต่อบุรภาพแห่งอาณาจักร หรือต่อความเป็นเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ หรือด้วยอาการใดที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ๕. สมาชิกทั้งหลายต้องให้ความอำนวยช่วยเหลือทุกประการแก่สหประชาชาติ ในการที่องค์การนี้กระการทำใด ๆ โดยชอบด้วยกฎบัตรนี้ และต้องงดเว้นไม่ให้ความอำนวยช่วยเหลือแก่รัฐใด ๆ ที่สหประชาชาติกำลังทำการป้องกันหรือบังคับอยู่ ๖. องค์การนี้พึงต้องรับประกันจะให้รัฐต่าง ๆ ที่มิใช่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามหลักเหล่านี้ เท่าที่จำเป็นแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๗. ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ ได้ให้อำนาจแก่สหประชาติที่จะเข้าแทรกแซงในกรณีต่าง ๆ ที่มีสาระเป็นกรณีในอำนาจภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง และมิให้ถือว่าได้บังคับให้สมาชิกต้องนำกรณีเช่นนั้นมาเสนอเพื่อจัดการตามกฎบัตรนี้ แต่หลักข้อนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงผลแห่งการใช้วิธีบังคับตามที่มีอยู่ในหมวดที่ ๗ หมวด ๒ ว่าด้วยสมาชิกภาพ มาตรา ๓ สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสหประชาชาติย่อมได้แก่รัฐทั้งหลาย ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการประชุมสหประชาชาติ เนื่องในเรื่ององค์การนานาชาติ ณ ซานฟรานซิสโก หรือเป็นรัฐที่ได้ลงนามไว้ก่อนในคำแถลงการณ์สหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๔๒ แล้วมาลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ และให้สัตยาบันแก่กฎบัตรนี้ตามความในมาตรา ๑๑๐ มาตรา ๔ ๑. สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติเป็นสิ่งที่เปิดแก่รัฐอื่นทั้งหลายที่รักสันติภาพซึ่งรับเอาพันธธรรมอันมีอยู่ในกฎบัตรฉบับนี้ และซึ่งองค์การสหประชาชาติพิจารณาเห็นว่ามีความสามารถ และเจตจำนงที่จะปฏิบัติการตามพันธธรรมเหล่านี้ ๒. การรับรัฐใด ๆ เช่นนี้เข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ จะกระทำโดยถือตามมติของสมัชชาทั่วไปในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเสนอคำแนะนำ มาตรา ๕ สมาชิกใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งตกอยู่ในระหว่างถูกป้องกันหรือบังคับโดยคณะมนตรีความมั่นคง อาจถูกให้งดใช้สิทธิหรือเอกสิทธิต่าง ๆ แห่งสมาชิกภาพโดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้สั่งห้ามตามคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง การกลับคืนเข้าใช้สิทธิและเอกสิทธิเหล่านี้อาจมีได้โดยคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้คืนให้ใหม่ มาตรา ๖ สมาชิกแห่งสหประชาชาติ ซึ่งขืนละเมิดหลักต่าง ๆ ในกฎบัตรฉบับนี้อย่างดื้อดึง อาจถูกขับออกจากองค์การได้ โดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้สั่ง ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเสนอคำแนะนำ หมวด ๓ ว่าด้วยองค์การต่าง ๆ มาตรา ๗ ๑. องค์การใหญ่ของสหประชาชาติได้จัดให้มีขึ้นแล้วคือ สมัชชาทั่วไป คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีการอภิบาลศาลยุติธรรมนานาชาติ และสำนักเลขาธิการ ๒. องค์การสาขาต่าง ๆ อาจได้จัดให้มีขึ้นโดยชอบตามกฎบัตรฉบับนี้ในเมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็น มาตรา ๘ สหประชาชาติจะไม่วางข้อจำกัดในการบรรจุตั้งบุรุษและสตรีที่จะเข้าทำงานในองค์การใหญ่หรือองค์การสาขาต่าง ๆ ในตำแหน่งฐานะใด ๆ และให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาค หมวด ๔ ว่าด้วยสมัชชาทั่วไป ส่วนประกอบ มาตรา ๙ ๑. สมัชชาทั่วไปประกอบด้วยสมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ ๒. สมาชิกแต่ละราย จะมีผู้แทนในสมัชชาทั่วไปได้ไม่มากกว่าห้านาย ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๑๐ สมัชชาทั่วไปอาจปรึกษากันด้วยปัญหาใด ๆ หรือกรณีต่าง ๆ ที่อยู่ภายในกรอบเขตของกฎบัตรฉบับนี้ หรือเกี่ยวกับอำนาจและภารกิจขององค์การต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ และเว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ หรือแก่คณะรัฐมนตรีความมั่นคงหรือแก่ทั้งคู่ด้วยปัญหาและกรณีดั่งกล่าวมานั้น มาตรา ๑๑ ๑. สมัชชาทั่วไปอาจพิจารณาถึงหลักทั่วไปแห่งการร่วมมือกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักว่าด้วยการลดอาวุธยุทธภัณฑ์และการวางระเบียบว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ และอาจให้คำเสนอแนะนำเกี่ยวกับหลักเหล่านี้แก่สมาชิก หรือแก่คณะมนตรีความมั่นคง หรือแก่ทั้งคู่ด้วยกันก็ได้ ๒. สมัชชาทั่วไป อาจปรึกษากันด้วยปัญหาต่าง ๆ เนื่องด้วยการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งมิใช้สมาชิกแห่งสหประชาชาติเป็นผู้นำเสนอให้พิจารณาตามความในมาตรา ๓๕ วรรค ๒ และนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำเกี่ยวด้วยปัญหาเช่นกล่าวนั้นแก่รัฐที่เกี่ยวข้องหรือแก่คณะมนตรีความมั่นคง หรือแก่ทั้งคู่ด้วยกันก็ได้ปัญหาเช่นนี้เรื่องใดที่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติด้วยแล้ว ให้สมัชชาทั่วไปแจ้งเรื่องแก่คณะมนตรีความมั่นคง จะเป็นการแจ้งก่อนหรือภายหลังที่ได้มีการปรึกษากันก็ได้ ๓. สมัชชาทั่วไปอาจกล่าวเรียกให้คณะมนตรีความมั่นคงเพ่งความดำริถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งน่าจะก่อภัยแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๔. อำนาจต่าง ๆ ของสมัชชาทั่วไป ซึ่งมีอยู่ตามมาตรานี้ ไม่ถือว่าเป็นการจำกัดกรอบเขตทั่วไปในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ๑. ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังปฏิบัติการเกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ใดที่เป็นภาระมอบหมายให้ไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ ห้ามมิให้สมัชชาทั่วไปแสดงการเสนอแนะนำด้วยประการใด เกี่ยวด้วยกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะกล่าวขอเช่นนั้น ๒. เมื่อได้รับความยินยอมจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว ให้เลขาธิการบอกกล่าวแก่สมัชชาทั่วไปที่กำลังอยู่ในสมัยประชุม เพื่อให้ทราบถึงเรื่องต่าง ๆ เนื่องด้วยการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกำลังจัดดำเนินงานอยู่ และในทำนองเดียวกันทันใดที่คณะมนตรีความมั่นคงหยุดดำเนินงานด้วยเรื่องเช่นนั้น ก็ให้บอกกล่าวแก่สมัชชาทั่วไป ถ้าหากเป็นเวลานอกสมัยประชุมของสมัชชาทั่วไป ก็ให้บอกกล่าวแก่สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๑๓ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปประเดิมการศึกษาต่าง ๆ และให้คำเสนอแนะนำเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และจรุงจัดให้มีความก้าวหน้างอกงามในกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการทำกฎหมายนั้นขึ้นเป็นประมวล ข.ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ศึกษาและสุขอนามัย และอำนวยช่วยเหลือให้เกิดผลประจักษ์ในสิทธิของมนุษย์และอิสรภาพที่เป็นแก่นเค้าของคนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ๒. ความรับผิดชอบภารกิจและอำนาจอย่างอื่นของสมัชชาทั่วไป อันเนื่องกับกรณีในวรรค ๑ ข้อ ข. ที่กล่าวมาก่อนนี้ มีบัญญัติอยู่ในหมวดที่ ๙ และหมวดที่ ๑๐ มาตรา ๑๔ ภายใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๑๒ สมัชชาทั่วไปอาจเสนอแนะนำวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงโดยสันติวิธี ซึ่งสถานการณ์ใด ๆ ที่สมัชชาทั่วไปเห็นว่า น่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สวัสดิการทั่วไป หรือมิตรสัมพันธภาพระหว่างนานาชาติโดยไม่คำนึงว่า สถานการณ์เช่นนั้นมีมูลมาจากไหน ทั้งนี้ รวมทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดจากการฝืนละเมิดบทบัญญัติต่าง ๆ แห่งกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งได้วางวัตถุประสงค์และหลักแห่งสหประชาชาติไว้ มาตรา ๑๕ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปรับและพิจารณารายงานประจำปี และรายงานพิเศษที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคง รายงานนี้ให้รวมคำชี้แจงถึงวิธีการต่าง ๆ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงได้มีมติหรือได้ดำเนินการไปเพื่อธำรงสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ๒. ให้สมัชชาทั่วไปรับและพิจารณารายงานต่าง ๆ ที่มาจากองค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติ มาตรา ๑๖ ให้สมัชชาทั่วไปปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อันเกี่ยวกับระเบียบอภิบาลระหว่างประเทศตามที่มอบหมายไว้โดยหมวดที่ ๑๒ และหมวดที่ ๑๓ รวมทั้งการอนุมัติแก่สัญญาที่ตกลงการอภิบาลเขตแดนต่าง ๆ ที่มิได้จัดว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ มาตรา ๑๗ ๑. ให้สมัชชาทั่วไปพิจารณาและอนุมัติงบประมาณขององค์การสหประชาชาติ ๒. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาตินั้น แบ่งเป็นภาระที่สมาชิกทั้งหลายต้องชำระ โดยสมัชชาทั่วไปเป็นผู้กำหนดส่วนแบ่ง ๓. ให้สมัชชาทั่วไปพิจารณาและอนุมัติการตกลงยินยอมในทางการเงินและทางการงบประมาณ ที่มีอยู่กับคณะทำการแทนพิเศษต่าง ๆ ดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๕๗ และให้ตรวจดูงบประมาณดำเนินงานของคณะทำการแทนพิเศษเหล่านั้นโดยประสงค์เพื่อให้คำเสนอแนะนำแก่องค์การที่เกี่ยวข้อง การออกเสียง มาตรา ๑๘ ๑. สมาชิกแต่ละรายแห่งสมัชชาทั่วไป ย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของสมัชชาทั่วไปในปัญหาสำคัญต่าง ๆ นั้นให้ถือตามเสียงของสมาชิกที่เข้าประชุม และออกเสียงโดยนับคะแนนเสียงสองในสามว่าเป็นเสียงใหญ่ ปัญหาสำคัญเหล่านี้ ให้รวมถึงการที่มีคำเสนอแนะนำเกี่ยวกับการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งกรรมการประเภทไม่ประจำแห่งคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งกรรมการแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม การเลือกตั้งกรรมการแห่งคณะมนตรีการอภิบาลตามวรรค ๑ (ค) แห่งมาตรา ๘๖ การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดสิทธิและเอกสิทธิของสมาชิก การขับออกจากสมาชิกภาพ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยการดำเนินของระเบียบอภิบาลและปัญหาทางงบประมาณ ๓. ข้อมติต่าง ๆ ในปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดปัญหาเพิ่มเติมเข้าในประเภทที่ถือมติตามคะแนนสองในสามเป็นเสียงใหญ่ด้วยนั้น ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกที่เข้าประชุมและออกเสียง มาตรา ๑๙ สมาชิกแห่งสหประชาชาติที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงต่อองค์การ จะลงคะแนนเสียงหาได้ไม่ ในเมื่อจำนวนที่ค้างชำระนั้นเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนค่าบำรุงซึ่งถึงกำหนดให้ตนชำระแต่สองปีก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี สมัชชาทั่วไปอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นนี้ลงคะแนนเสียงได้ ถ้าปรากฏเป็นที่พอใจว่า การที่ขาดส่งค่าบำรุงนั้นเป็นเพราะสภาพการณ์นอกอำนาจของสมาชิกนั้น ระเบียบปฏิบัติ มาตรา ๒๐ ให้สมัชชาทั่วไปมีการประชุมประจำปีสมัยปกติคราวหนึ่ง และเป็นสมัยพิเศษมากหรือน้อยแล้วแต่โอกาสจำเป็น การประชุมสมัยพิเศษนั้นให้เลขาธิการเป็นผู้เรียกประชุมในเมื่อมีการกล่าวขอมาจากคณะมนตรีความมั่นคง หรือจากส่วนมากของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๒๑ ให้สมัชชาทั่วไป จัดทำข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตน และเลือกตั้งผู้เป็นประธานสำหรับการประชุมแต่ละสมัย มาตรา ๒๒ สมัชชาทั่วไปอาจจัดให้มีองค์การสาขาต่าง ๆ ได้ตามที่เห็นว่าจำเป็นแก่การปฏิบัติภาระของตน หมวด ๕ ว่าด้วยคณะมนตรีความมั่นคง ส่วนประกอบ มาตรา ๒๓ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงประกอบด้วยสมาชิก แห่งสหประชาชาติสิบเอ็ดราย ให้ประเทศสาธารณรัฐแห่งจีน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหสาธารณรัฐแห่งโซเวียตโซเชียลิสม์ ประเทศสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอรแลนด์เหนือ และประเทศสหรัฐแห่งอเมริกาเป็นกรรมการประจำของคณะมนตรีความมั่นคง ให้สมัชชาทั่วไปเลือกตั้งสมาชิกสหประชาชาติอื่นอีกหกรายเข้าเป็นกรรมการไม่ประจำ ในขั้นแรกควรคำนึงเป็นพิเศษถึงการที่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้มีส่วนช่วยประกอบในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและในวัตถุประสงค์อย่างอื่น ๆ ขององค์การนี้ และให้คำนึงถึงการแบ่งกระจายตามความสมควรของภูมิศาสตร์ด้วย ๒. ให้เลือกตั้งกรรมการไม่ประจำ เพื่ออยู่ในตำแหน่งได้โดยกำหนดเวลาสองปี อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้เลือกกรรมการไม่ประจำสามนายซึ่งกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งเพียงหนึ่งปี กรรมการที่ออกจากตำแหน่งแล้วจะรับเลือกตั้งขึ้นใหม่ในทันทีหาได้ไม่ ๓. กรรมการแต่ละรายในคณะมนตรีความมั่นคง มีผู้แทนได้หนึ่งนาย ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๒๔ ๑. เพื่อประกันให้การกระทำของสหประชาชาติได้เป็นไปโดยเร็วและประสพผลดี สมาชิกทั้งหลายแห่งองค์การนี้ได้ยกให้คณะมนตรีความมั่นคงมีความรับผิดชอบเบื้องต้น ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและตกลงถือว่าหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงทำไปตามความรับผิดชอบนี้ ย่อมเป็นการกระทำในนามของสมาชิกทั้งหมด ๒. ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ คณะมนตรีความมั่นคงต้องกระทำให้ชอบด้วยวัตถุประสงค์และหลักต่าง ๆ ของสหประชาชาติ อำนาจเฉพาะการทั้งหลายที่ยกมอบให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงเพื่อปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ มีกำหนดอยู่ในหมวด ๖,๗,๘, และ ๑๒ ๓. ให้คณะมนตรีความมั่นคงส่งรายงานประจำปี และหากจำเป็นก็ให้ส่งรายงานพิเศษให้สมัชชาทั่วไปทำการพิจารณา มาตรา ๒๕ สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ ตกลงที่จะรับและปฏิบัติตามมติต่าง ๆ ของคณะรัฐมนตรีความมั่นคงอันชอบด้วยกฎบัตรฉบับนี้ มาตรา ๒๖ เพื่อส่งเสริมการจัดและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยอาการที่นำเอากำลังวิริยะมนุษย์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปใช้อย่างน้อยที่สุดในการอาวุธยุทธภัณฑ์ ให้คณะมนตรีความมั่นคงมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อวางรูปแผนการพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของกรรมการเสนาธิการทหาร ตามมาตรา ๔๗ แล้วนำเสนอต่อสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อจัดให้มีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการอาวุธยุทธภัณฑ์ การออกเสียง มาตรา ๒๗ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงย่อมมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวด้วยระเบียบการปฏิบัติให้กระทำโดยถือตามคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยของกรรมการเป็นจำนวนเจ็ดราย ๓. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวด้วยเรื่องอย่างอื่น ให้กระทำโดยถือตามคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยของกรรมการเป็นจำนวนเจ็ดรายซึ่งต้องรวมทั้งเสียงของกรรมการประจำทุก ๆ ราย แต่ว่าถ้าเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการมีมติตามความในหมวด ๖ และตามความในวรรค ๓ แห่งมาตรา ๕๒ คู่กรณีในการพิพาทจะต้องงดเว้นการออกคะแนนเสียง ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๒๘ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงพึงถูกจัดให้เป็นองค์การที่สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องกันเรื่อยไป และเพื่อความมุ่งหมายดังนี้ กรรมการแต่ละรายของคณะมนตรีความมั่นคงพึงมีผู้แทนอยู่ ณ แหล่งที่ตั้งขององค์การนี้ตลอดไปทุกเวลา ๒. ให้คณะมนตรีความมั่นคงประชุมกันตามกำหนดระยะเวลาเนือง ๆ ซึ่งในทุกรอบกรรมการแต่ละรายจะปรารถนา ก็อาจตั้งสมาชิกแห่งรัฐบาลไปเป็นผู้แทนหรือจะบ่งผู้อื่นเป็นผู้แทนโดยพิเศษเฉพาะก็ได้ ๓. คณะมนตรีความมั่นคงอาจประชุมกัน ณ สถานที่ใด ๆ ต่างหากจากแหล่งที่ตั้งขององค์การก็ได้ ซึ่งพิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่อันสะดวกดียิ่งแก่การงานของตน มาตรา ๒๙ คณะมนตรีความมั่นคง อาจจัดให้มีองค์การสาขาขึ้นตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อการปฏิบัติภาระของตน มาตรา ๓๐ ให้คณะมนตรีความมั่นคงตั้งข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตนเองรวมทั้งวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย มาตรา ๓๑ สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมิได้เป็นกรรมการในคณะมนตรีความมั่นคง อาจเข้าไปมีส่วนในการพิจารณาปัญหาใด ๆ ที่มาสู่คณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ แต่จะออกคะแนนเสียงไม่ได้ ทั้งนี้ ต่อเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ของสมาชิกรายนั้นได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ มาตรา ๓๒ สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมิได้เป็นกรรมการของคณะมนตรีความมั่นคงก็ดี หรือรัฐใด ๆ ที่มิใช่สมาชิกสหประชาชาติก็ดี ถ้าหากว่าเป็นคู่กรณีเกี่ยวข้องอยู่ในการพิพาทรายใดรายหนึ่ง ซึ่งคณะความมั่นคงทำการพิจารณาอยู่พึงต้องถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนในการปรึกษาพิจารณาเกี่ยวกับการพิพาทนั้น แต่จะออกคะแนนเสียงหาได้ไม่ ให้คณะมนตรีความมั่นคงวางเงื่อนไขเช่นที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่การที่รัฐซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ จะได้เข้าไปมีส่วนปรึกษาพิจารณาเช่นนี้ หมวด ๖ การจัดระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี มาตรา ๓๓ ๑. คู่กรณีในกรณีพิพาทเรื่องใด ๆ ซึ่งถ้าพิพาทต่อเนื่องกันไป น่าจะเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้ไซร้ ในชั้นแรกเริ่มทีเดียวต้องเสาะหาวิธีพิจารณาแก้ไขโดยทางการเจรจา การสอบถาม การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม การอนุญาโตตุลาการ การจัดระงับโดยศาล ทางคณะทำงานประจำภูมิภาค หรือตามการตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือโดยวิธีสงบอย่างอื่น ๆ ตามความพอใจของคู่พิพาท ๒. เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็น ให้คณะมนตรีความมั่นคงกล่าวขอแก่คู่พิพาทให้จัดระงับข้อพิพาทกันด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นที่กล่าวนั้น มาตรา ๓๔ คณะมนตรีความมั่นคงอาจสืบสวนกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจนำให้เกิดการบาดหมางระหว่างประเทศ หรืออาจให้เกิดการพิพาทอย่างใดขึ้นเพื่อหยั่งให้ตระหนักว่า ถ้าจะปล่อยให้การพิพาทหรือสถานการณ์เช่นนั้นคงมีอยู่ต่อไปน่าจะเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหรือไม่ มาตรา ๓๕ ๑. สมาชิกแห่งสหประชาชาติอาจจะนำข้อพิพาทหรือสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔ ขึ้นเสนอให้อยู่ในความดำริของคณะมนตรีความปลอดภัยหรือของสมัชชาทั่วไปก็ได้ ๒. รัฐใดรัฐหนึ่งซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ อาจจะนำข้อพิพาทที่ตนเป็นคู่กรณีขึ้นเสนอ ให้อยู่ในความดำริของคณะรัฐมนตรีความมั่นคงหรือของสมัชชาทั่วไปก็ได้ หากจะรับผูกพันตนไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้สันติวิธีเป็นวัตถุประสงค์สำหรับจะระงับข้อพิพาทนั้นตามที่มีบัญญัติอยู่ในกฎบัตรฉบับนี้ ๓. ระเบียบการปฏิบัติของสมัชชาทั่วไป เกี่ยวด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่จะนำมาสู่ความดำริตามมาตรานี้นั้น ต้องเป็นไปภายใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๑๑ และ ๑๒ มาตรา ๓๖ ๑. ไม่ว่าจะเป็นในระยะใดของการพิพาท ที่มีลักษณะดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๓ หรือของสถานการณ์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงอาจเสนอแนะนำให้ใช้ระเบียบการปฏิบัติหรือวิธีการปรับปรุงใด ๆ อันเหมาะสมก็ได้ ๒.คณะมนตรีความมั่นคงพึงพิจารณาถึงระเบียบการปฏิบัติต่าง ๆ ที่คู่พิพาทได้ตกลงใช้เพื่อจัดระงับข้อพิพาทมาแต่ก่อนแล้ว ๓. ในการให้คำเสนอแนะนำตามมาตรานี้ คณะมนตรีความมั่นคงพึงพิจารณาว่าการพิพาทที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้น โดยหลักทั่วไปแล้ว พึงให้คู่กรณีนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามที่ชอบด้วยบัญญัติในธรรมนูญแห่งศาลนั้น มาตรา ๓๗ ๑. หากคู่กรณีในเรื่องพิพาทที่มีลักษณะตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๓ ไม่สมหวังที่จะจัดระงับกรณีนั้นโดยวิธีการที่บ่งไว้ในมาตรานั้น คู่กรณีนั้นพึงต้องส่งเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ๒. ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่า การที่ยังคงพิพาทอยู่ต่อเนื่องกันไปนั้นเป็นพฤติการณ์ที่น่าเป็นภัยแก่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศก็ให้วินิจฉัยว่าจะปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ หรือจะเสนอแนะนำข้อกำหนดจัดการระงับเช่นที่ตนเห็นว่าเหมาะสมก็ได้ มาตรา ๓๘ โดยมิกระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติตั้งแต่มาตรา ๓๓ ถึง ๓๗ ถ้าคู่กรณีในการพิพาททุกฝ่ายกล่าวขอขึ้นมา คณะมนตรีความมั่นคงจะให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ แก่คู่กรณีเพื่อจัดระงับโดยสันติภาพวิธีก็ได้ หมวด ๗ การกระทำเกี่ยวด้วยการคุกคามต่อสันติภาพ การล่วงละเมิดสันติภาพและการต่าง ๆ ที่รุกราน มาตรา ๓๙ ให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้พิจารณากำหนดว่า มีภาวะการคุกคามต่อสันติภาพหรือการล่วงละเมิดต่อสันติภาพ หรือการต่าง ๆ ที่รุกราน เกิดขึ้นแล้วหรือหามิได้ และเป็นผู้ให้คำเสนอแนะหรือตกลงว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ตามที่มีอยู่ในมาตรา ๔๑ และ ๔๒ เพื่อธำรงหรือกอบกู้ไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๔๐ เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่จะทำคำเสนอแนะนำหรือตกลงในวิธีการดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙ คณะมนตรีความมั่นคงอาจกล่าวเรียกไปยังคู่กรณีที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามวิธีชั่วคราวต่าง ๆ เช่นที่เห็นว่าจำเป็นหรือพึงปรารถนา วิธีการชั่วคราวเช่นนี้จะต้องไม่กะทบกระเทือนถึงสิทธิและอำนาจเรียกร้อง หรือภาวะของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องพิจารณาโดยควรถึงกรณีที่เกิดการขาดเคารพไม่ปฏิบัติตามวิธีการชั่วคราวนั้น มาตรา ๔๑ คณะมนตรีความมั่นคงอาจตกลงให้ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่ไม่ถึงกับต้องใช้กำลังแสนยาวุธ เพื่อให้เกิดผลสมตามข้อตกลงของตน และอาจจะกล่าวเรียกให้บรรดาสมาชิกแห่งสหประชาชาติปฏิบัติตามวิธีการนั้น ๆ วิธีเหล่านี้อาจรรวมถึงการระงับตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดหรือบางส่วนในทางเศรษฐกิจ ทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิธีการคมนาคมอย่างอื่น ๆ และตัดสัมพันธ์ทางการทูตด้วยก็ได้ มาตรา ๔๒ หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า วิธีการดังบัญญัติในมาตรา ๔๑ จะไม่ให้ผลคุ้มสมหรือปรากฏว่าได้ผลไม่คุ้มสม แล้วคณะมนตรีนี้ก็อาจดำเนินการโดยใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเลหรือทางบก เท่าที่เป็นแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การดำเนินการเช่นนี้อาจรวมถึงการแสดงอนุภาพตักเตือน การปิดล้อม และการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล และทางบกของสมาชิกสหประชาชาติ มาตรา ๔๓ ๑. สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ เพื่อจะได้ช่วยประกอบในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รับที่จะจัดให้แก่คณะมนตรีความมั่นซึ่งกำลังแสนยาวุธ การอำนวยช่วยเหลือ และความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งการใช้สิทธิผ่านดินแดนตามที่จำเป็นแก่วัตถุประสงค์ที่จะธำรงสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงกล่าวเรียกเช่นนั้นและเมื่อการชอบด้วยสัญญาพิเศษต่าง ๆ ๒. ในสัญญาเช่นนี้บางฉบับหรือหลายฉบับ ต้องกำหนดจำนวนและชนิดของกำลังต่าง ๆ ตลอดจนขนาดแห่งการเตรียมกำลังเหล่านี้ไว้พร้อม และตำบลที่ตั้งกำลังโดยทั่วไป รวมทั้งลักษณะแห่งการให้ความสะดวกต่าง ๆ และการอำนวยช่วยเหลือที่จะให้ใช้ปฏิบัติแก่กันด้วย ๓. สัญญาเช่นนี้ บางฉบับหรือหลายฉบับนี้ ให้คณะมนตรีความมั่นคงประเดิมการเจรจาโดยเร็วเท่าที่จะเป็นได้ ต้องให้เป็นสัญญาที่ตกลงกันระหว่างคณะรัฐมนตรีความมั่นคงและสมาชิกสหประชาชาติ หรือระหว่างคณะรัฐมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิกสหประชาชาติ และต้องได้รับสัตยาบันจากรัฐต่าง ๆ ที่เป็นผู้ลงนามในสัญญาเหล่านี้โดยชอบด้วยวิถีแห่งรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ มาตรา ๔๔ เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้ตกลงที่จะใช้กำลังเข้ากระทำการแล้วก่อนที่จะกล่าวเรียกให้สมาชิกรายใดที่มิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงนั้นส่งมอบกำลังแสนยาวุธต่าง ๆ ให้ตามพันธธรรมแห่งมาตรา ๔๓ นั้น หากสมาชิกเช่นนั้นมีความประสงค์ก็ให้เชิญสมาชิกรายนั้น เพื่อให้มีส่วนร่วมปรึกษาในข้อตกลงของคณะมนตรีความมั่นคง อันเกี่ยวด้วยการใช้กองกำลังต่าง ๆ แห่งกำลังแสนยาวุธของสมาชิกนั้น มาตรา ๔๕ เพื่อที่จะให้สหประชาชาติสามารถใช้วิธีการทหารในยามรีบด่วน สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติต้องเตรียมพร้อมไว้เพื่อให้เรียกใช้ได้ทันที ซึ่งกองกำลังทางอากาศแห่งชาติเพื่อร่วมผสมในการปฏิบัติบังคับระหว่างประเทศ กำลังและขนาดแห่งความเตรียมพร้อมของกองกำลังต่าง ๆ เหล่านี้ และแผนการปฏิบัติร่วมผสมนั้นต้องอยู่ในข้อจำกัดที่กำหนดตามสัญญาพิเศษต่าง ๆ ที่กล่าวในมาตรา ๔๓ โดยคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้กำหนดพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการ มาตรา ๔๖ แผนการสำหรับการใช้กำลังแสนยาวุธนั้น ให้จัดทำขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงพร้อมด้วยความอำนวยช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร มาตรา ๔๗ ๑. ให้มีการตั้งคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้นคณะหนึ่ง สำหรับแนะนำและอำนวยความช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในปัญหาทั้งหมด ที่เกี่ยวกับความจำเป็นทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคงในอันที่จะธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้และบัญชาการแก่กองทหารต่าง ๆ ที่มอบให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงไว้ใช้เกี่ยวกับการวางระเบียบข้อบังคับว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ และเกี่ยวกับการลดอาวุธยุทธภัณฑ์หากจะกระทำได้ ๒. คณะกรรมการเสนาธิการทหารประกอบด้วยหัวหน้าเสนาธิการแห่งกรรมการประจำของคณะมนตรีความมั่นคงหรือผู้แทนแห่งหัวหน้าเหล่านั้น ให้คณะกรรมการเสนาธิการทำการเชิญสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติที่ไม่มีผู้แทนอยู่ประจำในคณะกรรมการเสนาธิการทหารนั้น เพื่อขอให้เข้าสมทบทำงานด้วยกันในเมื่อผลดีของภาระกิจในความรับผิดชอบของคณะกรรมการเสนาธิการมีความจำเป็นให้สมาชิกรายนั้นเข้ามีส่วนทำการงาน ๓. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องรับผิดชอบต่อคณะมนตรีความมั่นคง สำหรับการอำนวยยุทธศาสตร์แห่งกำลังแสนยาต่าง ๆ ที่มอบแก่คณะมนตรีความมั่นคง เพื่อไว้ใช้งานปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชาการกำลังแสนยานี้ต้องคิดจัดทำกันในเวลาต่อไป ๔. คณะกรรมการเสนาธิการทหาร เมื่อได้รับอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว และหลังจากได้หารือกับคณะทำการประจำภูมิภาคโดยเหมาะสมแล้วอาจจัดให้มีอนุกรรมการประจำภูมิภาคก็ได้ มาตรา ๔๘ ๑. การที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น ให้กระทำโดยสมาชิกแห่งสหประชาชาติทั้งหมดหรือแต่บางราย แล้วแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณากำหนด ๒. การตกลงต่าง ๆ เช่นกล่าวนั้น ให้สมาชิกแห่งสหประชาชาติจัดกระทำโดยตรง และโดยการกระทำของตนซึ่งผ่านไปทางคณะทำการระหว่างประเทศตามแต่จะเหมาะสม อันเป็นคณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ มาตรา ๔๙ สมาชิกแห่งสหประชาชาติร่วมกันต้องให้ความอำนวยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเมื่อจัดกระทำตามวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นมติตกลงโดยคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๕๐ ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงได้ใช้วิธีการป้องกันหรือวิธีการบังคับแก่รัฐหนึ่งรัฐใด หากมีรัฐอื่นจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการที่จัดกระทำตามวิธีการเหล่านั้นย่อมมีสิทธิที่จะหารือกับคณะมนตรีความมั่นคง เกี่ยวด้วยการพิจารณาแก้ไขปัญหานั้น ๆ มาตรา ๕๑ ในกฎบัตรนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิสารัตถ์ของเอกชนใดหรือของบุคคลคณะใดที่จะป้องกันตนเอง ในเมื่อมีการรุกรานโดยใช้อาวุธเกิดขึ้นแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ใช้วิธีการที่จำเป็นเพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ วิธีการต่าง ๆ ที่สมาชิกได้ใช้ตามสิทธิแห่งการป้องกันตนนั้น พึงรายงานให้ทราบถึงคณะมนตรีความมั่นคงโดยทันทีและไม่ถือว่าฝากผลอย่างใดไปถึงอำนาจและความรับผิดของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีอยู่ตามกฎบัตรนี้ ในอันที่จะกระทำในขณะใดตามที่เห็นว่าจำเป็นแก่การธำรงและกอบกู้สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวด ๘ การตกลงเฉพาะภูมิภาค มาตรา ๕๒ ๑. ห้ามมิให้ถือว่าสิ่งใดในกฎบัตรฉบับนี้ได้กีดกั้นมิให้มีการตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือมีคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับการจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเท่าที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติเฉพาะภูมิภาค แต่การตกลงหรือคณะทำการนั้น และกิจที่กระทำนั้นต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ๒. สมาชิกแห่งสหประชาชาติที่เข้าทำการตกลงเฉพาะภูมิภาคเช่นนี้หรือที่เข้าประกอบเป็นคณะทำการเช่นนี้ พึงใช้วิริยะภาพทุกประการที่จะเกิดผลสำเร็จในการจัดระงับข้อพิพาทเฉพาะถิ่นด้วยสันติวิธี โดยอาศัยการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือโดยคณะทำการประจำภูมิภาคดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะส่งเรื่องเหล่านั้นไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ๓. คณะมนตรีความมั่นคงพึงจรุงให้มีความขยายตัวในการจัดระงับกรณีพิพาทเฉพาะถิ่นโดยสันติวิธี โดยจัดการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือโดยทางคณะทำการประจำภูมิภาคเช่นกล่าวแล้ว จะเป็นโดยรัฐที่เกี่ยวข้องดำริขึ้นก่อนก็ได้ หรือโดยรับแจ้งเรื่องจากคณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ ๔. มาตรานี้ไม่มีผลเสื่อมเสียแก่การใช้มาตรา ๓๔ และ ๓๕ มาตรา ๕๓ ๑. เมื่อกรณีเป็นที่เหมาะสม ให้คณะมนตรีความมั่นคงใช้การตกลงเฉพาะภูมิภาค หรือคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติการตามที่อยู่ในอำนาจของตน แต่ถ้าไม่ได้รับอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแล้วห้ามมิให้บังคับปฏิบัติ โดยอาศัยการตกลงเฉพาะภูมิภาคหรือคณะทำการประจำภูมิภาค เว้นแต่จะเป็นวิธีการที่ใช้ต่อรัฐที่เป็นศัตรูตามที่กล่าวระบุไว้ในวรรค๒ แห่งมาตรานี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นสำหรับใช้ประกอบกับมาตรา ๑๐๗ หรือในการตกลงเฉพาะภูมิภาค ซึ่งมุ่งต่อต้านมิให้นโยบายรุกรานของรัฐที่เป็นศัตรูกลับฟื้นตัวขึ้นอีก ทั้งนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะกล่าวขอให้องค์การสหประชาชาติได้เข้ารับผิดชอบเพื่อป้องกันรัฐที่เป็นศัตรูเช่นนั้นมิให้ทำการรุกรานต่อไป ๒. คำว่า รัฐที่เป็นศัตรู ที่ใช้อยู่ในอนุมาตรา ๑ แห่งมาตรานี้ได้แก่รัฐใด ๆ ก็ตาม ที่ได้เป็นศัตรูกับรัฐใด ๆ ที่ได้ลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ในเวลาที่ยังมีสงครามโลกครั้งที่สอง มาตรา ๕๔ คณะมนตรีความมั่นคง ต้องได้รับรู้เห็นอย่างครบถ้วนทุกเวลา ถึงกิจการต่าง ๆ ที่กระทำหรือคาดคิดจะทำตามการตกลงเฉพาะภูมิภาคต่าง ๆ หรือโดยคณะทำการประจำภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวด ๙ ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรา ๕๕ เพื่อประสงค์จะก่อให้เกิดสถานการณ์อันมีเสถียรภาพและสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์อย่างสงบและอย่างเป็นมิตรระหว่างชาติต่าง ๆ โดยมีบรรทัดฐานอยู่ที่การเคารพต่อหลักแห่งสิทธิเสมอภาค และต่อหลักกำหนดการปกครองตนเองแห่งชาวชาติต่าง ๆ สหประชาชาติพึงส่งเสริมดั่งต่อไปนี้ ก. ระดับการครองชีพอันสูงขึ้น การมีงานทำโดยทั่วถึง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีความก้าวหน้าและความขยายไพศาล ข. การพิจารณาแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางอนามัย และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมทั้งการร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ และ ค. การเคารพอย่างไพศาลและปฏิบัติต่อสิทธิของมนุษย์ และต่ออิสรภาพที่เป็นแก่นเค้าแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่ลำเอียงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา มาตรา ๕๖ สมาชิกทั้งหลายผูกพันโดยสัตย์ว่าตนจะทำงานร่วมกัน และต่างรัฐจะทำงานโดยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ มาตรา ๕๗ ๑. บรรดาคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ทั้งหลาย อันได้มีขึ้นโดยการตกลงระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ และเอกสารที่เป็นหลักจัดตั้งตนขึ้น ได้ระบุให้มีความรับผิดชอบอย่างกว้างขวางระหว่างประเทศทั้งในด้านการเศรษฐกิจ การสังคม การวัฒนธรรม การศึกษา การอนามัย และในด้านการอื่น ๆ เนื่องในลักษณะเดียวกันนั้น พึงต้องทำการติดต่อสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติตามบัญญัติแห่งมาตรา ๖๓ ๒. คณะทำการพิเศษเช่นนี้อันมาติดต่อสัมพันธ์กับสหประชาชาติดังกล่าวนั้น ต่อไปจะกล่าวถึงโดยเรียกว่าเป็น คณะทำการพิเศษ มาตรา ๕๘ องค์การสหประชาชาติต้องจัดคำเสนอแนะนำขึ้นไว้เพื่อใช้ร่วมประสานนโยบายต่าง ๆ และกิจการของบรรดาคณะทำการพิเศษต่าง ๆ มาตรา ๕๙ หากเห็นเหมาะสมเมื่อใด องค์การสหประชาชาติพึงประเดิมให้มีการเจรจาระหว่างรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ก่อตั้งซึ่งคณะทำการพิเศษขึ้นใหม่ที่จำเป็นแก่การดำเนินตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ มาตรา ๖๐ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติภาระต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติดังกล่าวไว้ในหมวดนี้นั้นให้ตกอยู่กับสมัชชาทั่วไป และตกอยู่กับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเพื่อความประสงค์อันนี้ ให้มีอำนาจต่าง ๆ ดังกล่าวไว้ในหมวด ๑๐ โดยอยู่ใต้อำนาจของสมัชชาทั่วไป หมวด ๑๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ส่วนประกอบ มาตรา ๖๑ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยสมาชิกแห่งสหประชาชาติสิบแปดราย ซึ่งเลือกตั้งขึ้นเป็นกรรมการโดยสมัชชาทั่วไป ๒. ภายใต้บัญญัติในวรรค ๓ ให้เลือกตั้งกรรมการแห่งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนหกรายในทุก ๆ ปี เพื่อให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งมีกำหนดสามปี กรรมการที่ออกจากตำแหน่งแล้ว จะรับเลือกตั้งให้เป็นใหม่โดยทันทีในคราวต่อไปก็ได้ ๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้เลือกกรรมการแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนสิบแปดราย กำหนดที่จะอยู่ในตำแหน่งของกรรมการหกรายที่เลือกขึ้นนี้ ต้องหมดลงเมื่อสิ้นเวลาหนึ่งปี และสำหรับกรรมการอีกหกรายให้หมดกำหนดอยู่ในตำแหน่งเมื่อสิ้นเวลาสองปี ตามวิธีที่สมัชชาทั่วไปจะจัดการ ๔. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม มีผู้แทนได้หนึ่งนาย ภาระกิจและอำนาจ มาตรา ๖๒ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจจะทำหรือประเดิมให้ทำซึ่งการศึกษาและรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางศึกษา ทางสุขภาพอันมีอยู่ระหว่างประเทศ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน และอาจทำคำเสนอแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องเช่นกล่าวนี้ เสนอต่อสมัชชาทั่วไปหรือต่อสมาชิกแห่งประชาชาติ หรือต่อคณะทำการพิเศษที่เกี่ยวข้อง ๒. คณะมนตรีนี้ อาจจะให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ เพื่อประสงค์จะส่งเสริมความเคารพต่อและการประพฤติตามสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์ และอิสรภาพอันเป็นแก่นเค้าของคนทั่วไป ๓. คณะมนตรีนี้ อาจจะเตรียมทำร่างอนุสัญญาต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อสมัชชาทั่วไปอันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในอำนาจจัดทำของตน (ดูหมวด ๔ มาตรา ๑๗ วรรค ๓) ๔. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจแจ้งเรียกให้มีการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อทำการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่ตกอยู่ภายในอำนาจจัดทำของตนได้โดยดำเนินตามข้อบังคับที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ มาตรา ๖๓ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำสัญญาตกลงกับคณะทำการใด ๆ ตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๗ เพื่อกำหนดเงื่อนไขที่คณะทำการที่เกี่ยวข้องจะพึงติดต่อสัมพันธ์กับสหประชาชาติ สัญญาตกลงต่าง ๆ เช่นนั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากสมัชชาทั่วไป ๒. คณะมนตรีนี้ อาจร่วมประสานกิจการต่าง ๆ ของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ โดยทำการหารือและการให้คำเสนอแนะนำแก่คณะทำการเช่นกล่าวนั้นและโดยส่งคำเสนอแนะนำต่อสมัชชาทั่วไปและต่อสมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ มาตรา ๖๔ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจจัดการตามเหมาะสม เพื่อให้คณะทำการพิเศษส่งเรื่องรายงานต่าง ๆ แก่ตนเป็นปกติ และอาจทำการตกลงกับสมาชิกแห่งสหประชาชาติและคณะทำการพิเศษ เพื่อขอรับรายงานเรื่องต่าง ๆ ในการที่จัดทำไป เพื่อให้เกิดผลตามที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเสนอแนะนำและตามคำแนะนำของสมัชชาทั่วไป เกี่ยวด้วยเรื่องที่อยู่ในอำนาจจัดทำของตน ๒. คณะมนตรีนี้ อาจส่งข้อสังเกตต่าง ๆ ของตนอันเนื่องในรายงานเหล่านี้ไปยังสมัชชาทั่วไป มาตรา ๖๕ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมพึงแจ้งเรื่องความรู้ความเห็นแก่คณะมนตรีความมั่นคง และต้องอำนวยช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคง ในเมื่อได้รับคำกล่าวเช่นนั้นจากคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๖๖ ๑. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกระทำภารกิจต่าง ๆ เช่นที่ตกอยู่ในอำนาจจัดทำของตน ในเมื่อเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามคำเสนอแนะนำของสมัชชาทั่วไป ๒. คณะมนตรีนี้ หากได้รับอนุมัติจากสมัชชาทั่วไปแล้ว อาจปฏิบัติการงานต่าง ๆ ตามคำกล่าวขอของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ และตามคำกล่าวขอของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ก็ได้ ๓. คณะมนตรีนี้ อาจจะปฏิบัติภาระกิจอื่นตามที่ระบุไว้ ณ แห่งหนึ่งแห่งใดของกฎบัตรนี้ หรือตามที่สมัชชาทั่วไปจะได้มอบหมายให้ การออกเสียง มาตรา ๖๗ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ แห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ต้องถือตามเสียงข้างมากแห่งกรรมการทั้งหลายที่เข้าประชุมและออกเสียงเป็นใหญ่ ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๖๘ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม พึงจัดตั้งคณะกรรมาธิการในทางเศรษฐกิจและในทางสังคม และเพื่อเป็นการส่งเสริมนานาสิทธิของมนุษย์ และอาจจัดตั้งคณะกรรมาธิการอื่น ๆ บรรดาที่จำเป็นแก่การปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ มาตรา ๖๙ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม พึงเชิญสมาชิกรายใดรายหนึ่งแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้มีส่วนในการอภิปรายเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอยู่กับสมาชิกรายนั้นแต่จะออกเสียงไม่ได้ มาตรา ๗๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดการให้ผู้แทนแห่งคณะทำการพิเศษต่าง ๆ เข้ามีส่วนในการอภิปรายของตน และในการอภิปรายของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่ตนได้จัดให้มีขึ้น และอาจจัดให้ผู้แทนของตนไปมีส่วนในการอภิปรายของคณะทำการพิเศษต่าง ๆ นั้น มาตรา ๗๑ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดการตามสมควร เพื่อให้มีการหารือกันกับองค์การต่าง ๆ ที่มิใช่ของรัฐบาลใด ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องต่าง ๆ ภายในอำนาจจัดทำของตน การจัดให้มีการหารือกันเช่นนี้จะทำกับองค์การระหว่างประเทศก็ได้ และเมื่อเป็นการเหมาะสม จะทำกับองค์การของชาติใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่ได้หารือกันกับสมาชิกแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว มาตรา ๗๒ ๑. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจัดทำข้อบังคับสำหรับระเบียบการปฏิบัติของตนเอง รวมทั้งวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย ๒. ให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมทำการประชุมตามจำเป็นโดยชอบด้วยข้อบังคับของตน ในข้อบังคับนั้นต้องรวมบทกำหนดให้เรียกประชุมในเมื่อมีคำกล่าวขอจากส่วนมากของกรรมการ หมวด ๑๑ ข้อแถลงเกี่ยวกับเขตแคว้นที่มิได้ปกครองตนเอง มาตรา ๗๓ สมาชิกแห่งสหประชาติ ที่ได้มีหรือรับไว้ซึ่งความรับผิดชอบในการปกครองเขตแคว้นต่าง ๆ อันมีชนชาวแคว้นที่ยังมิได้บรรลุถึงการปกครองตนเองอย่างเต็มบริบูรณ์นั้น ยอมรับรู้หลักที่ถือว่าประโยชน์ของผู้สำนักในเขตเหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และรับว่า พันธธรรมที่จะส่งเสริมอย่างดีที่สุดซึ่งสวัสดิการของผู้สำนักในเขตเหล่านั้น คือ ธุรธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ภายในวงระเบียบสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งมีขึ้นโดยกฎบัตรนี้ และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ ก) จะรับประกันความเจริญทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางศึกษา และรับประกันให้มีการปฏิบัติแก่ชาวเขตแคว้นเหล่านั้นอย่างยุติธรรมและคุ้มกันมิให้ถูกก่อรังควาน พร้อมทั้งเคารพต่อวัฒนธรรมของชนเหล่านั้น ข) จะขยายให้เจริญซึ่งการปกครองตนเอง จะเอาใจใส่ต่อปณิธานของชนชาวเหล่านั้น และจะอำนวยช่วยเหลือให้งอกงามก้าวหน้าด้วยธรรมสถิตย์ที่มีเสรีภาพทางการเมือง สุดแต่จะสมกับพฤติการณ์โดยเฉพาะของละเขตแคว้นและสมกับชนชาวในเขตแคว้นแต่ละแห่ง และขั้นระยะแห่งความเจริญที่มีอยู่ ค) จะเทอดเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ง) จะส่งเสริมวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปในการบูรณก่อสร้างและจูงใจให้มีการค้นคว้าวิจัย และที่จะร่วมมือซึ่งกันและกันตามกาละและเทศะอันเหมาะสม จะร่วมมือกับคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติแท้จริงแก่วัตถุประสงค์ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวมาในมาตรานี้ และ จ) จะให้เลขาธิการได้ทราบความเป็นไปโดยจำกัดเท่าที่จำเป็นแก่ข้อคำนึงทางด้านความมั่นคงและบทธรรมนูญต่าง ๆ โดยจะได้ส่งสถิติและข้อแจ้งเรื่องทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเศรษฐกิจ การสังคม และการศึกษาในเขตแคว้น ซึ่งตนรับผิดชอบโดยเฉพาะ ซึ่งมิใช่เขตแคว้นต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาตามหมวดที่ ๑๒ และที่ ๑๓ มาตรา ๗๔ อนึ่ง สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติตกลงกันด้วยว่า นโยบายของตนที่เกี่ยวกับเขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในบังคับของหมวดนี้ก็ดี ที่เกี่ยวกับโยบายในดินแดนใหญ่ของตนก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จะต้องมีหลักทั่วไปแห่งการเป็นปียมิตรข้างเคียงเป็นบรรทัดฐาน กับทั้งพึงคิดถึงประโยชน์อื่น ๆ และสวัสดิการของภาคอื่นของโลกในด้านของเรื่องสังคม เครื่องเศรษฐกิจ และเรื่องพาณิชยการด้วย หมวด ๑๒ การอภิบาลระหว่างประเทศ มาตรา ๗๕ สหประชาชาติต้องจัดให้มีขึ้นซึ่งระเบียบอภิบาลระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของสหประชาชาติเอง เพื่อจะได้ใช้ปกครองและสอดส่องดูแลเขตแคว้นต่าง ๆ ที่จะได้มีอยู่ภายใต้ปกครองตามระเบียบนี้ในเวลาต่อไป โดยการยอมตกลง เป็นราย ๆ ไป เขตแคว้นดังกล่าวนี้ ต่อไปจะเรียกว่า เขตแคว้นในอภิบาล มาตรา ๗๖ ความมุ่งหมายอันเป็นบรรทัดฐานแห่งระเบียบอภิบาล ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งสหประชาชาติดังกำหนดไว้ในมาตรา ๑ ของกฎบัตรฉบับนี้ ให้เป็นดังนี้ ก) จะเทอดเสริมซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ข) จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางศึกษา ให้แก่ชนชาวที่สำนักอยู่ในเขตแคว้นที่อภิบาล และให้มีความขยายตัวต่อการเจริญก้าวหน้า ในทางปกครองตนเองหรือเพื่อได้รับความเป็นเอกราชตามที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ในเขตแคว้นแต่ละแห่ง และชนชาวแต่ละเขตแคว้นนั้น และเพื่อให้ชนชาวเหล่านั้นแสดงความปรารถนาได้โดยอิสระและตามที่มีกล่าวไว้ในข้อกำหนดที่ยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลแต่ละราย ค) จะจรุงจัดให้มีการเคารพต่อสิทธิของมนุษย์ และต่ออิสรภาพอันเป็นแก่นเค้าทั้งหลายเพื่อคนทุกคน โดยไม่ลำเอียงถึงเชื้อชาติเพศภาษาหรือศาสนา และจรุงจัดให้มีการรับรู้การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชนชาวต่าง ๆ ทั่วโลก และ ง) จะรับประกันการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในเรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการค้า ให้แก่สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ และคนในสัญชาติของสมาชิกเหล่านั้น และรวมทั้งการปฏิบัติกับคนในสัญชาติต่าง ๆ นั้นอย่างเสมอภาคในการประศาสน์ความยุติธรรม โดยมิให้เป็นการกระทบกระเทือนถึงการบรรลุผลมุ่งหมายที่กล่าวแล้วนั้น และโดยอยู่ใต้บัญญัติแห่งมาตรา ๘๐ มาตรา ๗๗ ๑. ให้ใช้ระเบียบอภิบาลแก่เขตแคว้นประเทศต่าง ๆ โดยอาศัยสัญญาตกลงต่าง ๆ ว่าด้วยการอภิบาล ดังประเภทต่อไปนี้ ก. เขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่ง ณ บัดนี้ตกอยู่ภายใต้อาณัติ ข. เขตแคว้นต่าง ๆ ซึ่งได้แยกออกจากรัฐที่เป็นศัตรู เนื่องจากผลแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง และ ค. เขตแคว้นซึ่งรัฐที่รับภาระปกครองแคว้นนั้น ๆ ได้สมัครใจมอบให้อยู่ในระเบียบอภิบาล ๒. ให้มีการยอมตกลงกันภายในเวลาต่อไปว่า เขตแคว้นใดในประเภทที่กล่าวข้างต้นนั้นจะพึงให้อยู่ในระเบียบอภิบาลโดยใช้ข้อกำหนดอย่างใดบ้าง มาตรา ๗๘ ระเบียบอภิบาลนี้ มิพึงใช้แก่เขตแคว้นที่ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเหล่านี้พึงยึดบรรทัดฐานอยู่ที่หลักเคารพต่อความเสมอภาคในอธิปไตย มาตรา ๗๙ ข้อกำหนดสำหรับการอภิบาลเขตแคว้นแต่ละราย ที่จะจัดให้อยู่ในระเบียบอภิบาลก็ดี การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อกำหนดนั้นก็ดี ให้ตกลงกันระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้าเป็นกรณีเขตแคว้นที่อยู่ในอาณัติของสมาชิกรายหนึ่งรายใดแห่งสหประชาชาติ ก็ต้องให้ประเทศที่รับมอบอำนาจอาณัติยอมตกลงด้วยกับทั้งจะต้องได้รับอนุมัติตามบัญญัติในมาตรา ๘๓ และ ๘๕ ด้วย มาตรา ๘๐ ๑. นอกจากจะมีการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลเฉพาะรายที่ทำขึ้นตามมาตรา ๗๒, ๗๙ และ ๘๑ ซึ่งยกเขตแคว้นแต่ละรายให้อยู่ในระเบียบอภิบาลและจนกว่าการยอมตกลงดังนั้นจะได้ทำขึ้นแล้ว ห้ามมิให้แปลความในหมวดนี้ให้มีเนื้อความหรือนัยว่าได้เปลี่ยนแปลงสิทธิอย่างใด ๆ ของรัฐหรือชาวชาติใด ๆ หรือแก้ข้อกำหนดทั้งหลายแห่งพันธสาส์นระหว่างชาติที่กำลังใช้อยู่ ซึ่งมีสมาชิกแห่งสหประชาชาติเป็นภาคีอยู่โดยจำเพาะ ๒. อนุมาตรา (๑) แห่งมาตรานี้ มิพึงถูกแปลความให้เป็นหลักเพื่ออ้างเป็นเหตุทำการประวิงหรือเลื่อนเวลาในการเจรจา หรือในการยอมทำความตกลงต่าง ๆ ที่จะมอบเขตแคว้นในอาณัติหรือเขตแคว้นชนิดอื่น ๆ ให้เข้าอยู่ในระเบียบอภิบาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗ มาตรา ๘๑ การยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาลแต่ละกรณี จำต้องกำหนดรูปกรณีที่ใช้อำนวยการปกครองเขตแคว้นที่ถูกอภิบาล และต้องระบุฝ่ายที่ทรงอำนาจซึ่งจะทำการปกครองเขตแคว้นนั้น ผู้ทรงอำนาจนี้เรียกในที่นี้ว่า ผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งอาจประกอบด้วยรัฐ ๆ หนึ่งหรือหลายรัฐด้วยกันก็ได้ หรือจะเป็นองค์การสหประชาชาติเองก็ได้ มาตรา ๘๒ ในการยอมตกลงด้วยการอภิบาลแต่ละรายอาจมีการระบุไว้ ว่ามีเขตยุทธศาสตร์อยู่แห่งหนึ่งหรือหลายแห่งก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเพียงบางส่วนหรือตลอดแดนของเขตแคว้นที่ถูกอภิบาลที่ได้มีการยอมตกลงนั้นก็ได้ แต่ต้องมิให้เป็นการกะทบกระเทือนแก่การยอมตกลงพิเศษใด ๆ ที่ได้ทำขึ้นตามมาตรา ๔๓ มาตรา ๘๓ ๑. ภาระต่าง ๆ ทั้งหลายของสหประชาชาติที่เนื่องในเขตยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งการให้อนุมัติแก่ข้อกำหนดในการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดเหล่านั้น ให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้รักษาปฏิบัติ ๒. ความมุ่งหมายอันเป็นบรรทัดฐานอยู่ในมาตรา ๗๖ นั้น ให้ใช้แก่ชาวชนที่อยู่ในเขตแคว้นยุทธศาสตร์ทุก ๆ แห่ง ๓. ภายใต้บังคับแห่งการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และโดยมิกะทบกระเทือนถึงข้อพินิจทางด้านรักษาความมั่นคง ให้คณะมนตรีความมั่นคงพึงใช้ความอำนวยช่วยเหลือจากคณะมนตรีการอภิบาลให้เป็นผล เพื่อดำเนินภารกิจของสหประชาชาติภายในระเบียบอภิบาลเนื่องในทางการเมือง การเศรษฐกิจ การสังคม และการศึกษาในเขตยุทธศาสตร์ต่าง ๆ มาตรา ๘๔ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ที่จะรับประกันให้เขตแคว้นในอภิบาลได้ทำหน้าที่ส่วนของตน ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อให้สมมุ่งหมายดังนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองอาจใช้กำลังอาสาสมัครเครื่องอุปกรณ์ความสะดวกต่าง ๆ และความอำนวยช่วยเหลือของเขตแคว้นในอภิบาล เพื่อทำงานตามพันธธรรมด้วยเรื่องนี้ที่ผู้มีอำนาจปกครองมีอยู่กับคณะมนตรีความมั่นคง รวมทั้งเพื่อจัดการป้องกันท้องถิ่นและเพื่อการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายและความเรียบร้อยภายในเขตแคว้นในอภิบาล มาตรา ๘๕ ๑. ภารกิจของสหประชาชาติ อันเกี่ยวกับการยอมตกลงต่าง ๆ ว่าด้วยการอภิบาลสำหรับบริเวณเขตที่มิได้ระบุว่าเป็นเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้อนุมัติแก่ข้อกำหนดต่าง ๆ แห่งการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล และเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น ให้สมัชชาทั่วไปเป็นผู้รักษาปฏิบัติ ๒. คณะมนตรีการอภิบาล ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของสมัชชาทั่วไปพึงอำนวยช่วยเหลือสมัชชาทั่วไป ในการจัดทำการงานตามภารกิจเหล่านี้ หมวด ๑๓ คณะมนตรีการอภิบาล ส่วนประกอบ มาตรา ๘๖ ๑. คณะมนตรีการอภิบาลประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติดังต่อไปนี้ ก. สมาชิกแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นผู้ปกครองเขตแคว้นอภิบาล ข. สมาชิกแห่งสหประชาชาติเช่นที่กล่าวนามไว้ในมาตรา ๒๓ ซึ่งมิได้เป็นผู้ปกครองเขตแคว้นอภิบาลใด และ ค. สมาชิกอื่น ๆ มากหรือน้อยตามที่สมัชชาทั่วไปจะเลือกตั้ง ให้อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาสามปีตามจำเป็น เพื่อให้ยอดจำนวนกรรมการของคณะมนตรีการอภิบาลแบ่งได้เท่า ๆ กันในระหว่างสมาชิกแห่งสหประชาชาติ ที่ปกครองเขตแคว้นในอภิบาลและสมาชิกที่ไม่ได้ปกครอง ๒. กรรมการของคณะมนตรีการอภิบาลแต่ละราย ต้องบ่งบุคคลคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษเพื่อตั้งเป็นผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีการอภิบาลนั้น ภารกิจและอำนาจ มาตรา ๘๗ ๑. สมัชชาทั่วไป และคณะมนตรีการอภิบาลซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของสมัชชานี้ ในการที่จะปฏิบัติภารกิจแห่งตน อาจทำการดังนี้ ก. พิจารณารายงานต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองได้นำเสนอ ข. รับคำร้องต่าง ๆ และพิจารณาโดยหารือกับผู้ใช้อำนาจปกครอง ค. จัดให้มีการเดินทางสำรวจเขตแคว้นอภิบาลต่าง ๆ ตามจำเพาะโดยมีรอบกำหนดกาละ และ ณ เวลาที่ได้ตกลงกับ ผู้ใช้อำนาจปกครอง และ ง. กระทำการดังกล่าวมาแล้วหรือการอย่างอื่น ๆ ที่ชอบด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในการยอมตกลงว่าด้วยการอภิบาล มาตรา ๘๘ คณะมนตรีการอภิบาลต้องจัดแบบคำถามสำรวจขึ้นชุดหนึ่งในเรื่องความก้าวหน้าทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการศึกษาของราษฎร ผู้สำนักอยู่ในเขตแคว้นอภิบาลแต่ละราย ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเขตอภิบาลแต่ละรายที่อยู่ในอำนาจจัดคุมของสมัชชาทั่วไป จัดทำรายงานประจำปีขึ้นยื่นต่อสมัชชาทั่วไป โดยอาศัยบรรทัดฐานแห่งคำถามสำรวจเช่นกล่าวนี้ การออกเสียง มาตรา ๘๙ ๑. กรรมการแต่ละรายแห่งคณะมนตรีการอภิบาลรายหนึ่งย่อมมีเสียงในการประชุมได้หนึ่งคะแนน ๒. ข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีการอภิบาลนั้น ให้ถือตามเสียงข้างมากแห่งกรรมการที่เข้าประชุมและออกเสียง ระเบียบการปฏิบัติ มาตรา ๙๐ ๑. ให้คณะมนตรีการอภิบาลจัดตั้งข้อบังคับระเบียบการปฏิบัติของตนเอง รวมทั้งกำหนดวิธีตั้งผู้เป็นประธานด้วย ๒. ให้คณะมนตรีการอภิบาลทำการประชุมตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งต้องบรรจุข้อความให้เรียกประชุมเมื่อมีการกล่าวขอจากกรรมการส่วนมากของคณะมนตรีนั้น มาตรา ๙๑ ในเมื่อเป็นการเหมาะสม ให้คณะมนตรีการอภิบาลถือเอาผลจากความอำนวยช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และจากคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับองค์การนั้นโดยเฉพาะ หมวด ๑๔ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา ๙๒ ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นองค์การตุลาการใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ศาลนี้ประกอบภารกิจตามที่ปรากฏในธรรมนูญที่แนบต่อกับกฎบัตรนี้ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานมาจากธรรมนูญของศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ และซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบแห่งกฎบัตรนี้ มาตรา ๙๓ ๑. สมาชิกทั้งหลายแห่งสหประชาชาติโดยเหตุแห่งพฤติการณ์ ย่อมเป็นภาคีอยู่ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ๒. รัฐที่มิใช่สมาชิกแห่งสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ โดยเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วแต่จะกำหนดในกรณีเป็นราย ๆ ไป ซึ่งสมัชชาทั่วไปจะกำหนดเมื่อมีคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง มาตรา ๙๔ ๑. สมาชิกแต่ละรายแห่งสหประชาชาติต่างรับที่จะปฏิบัติตามคำพิจารณาตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกคดีที่ตนเป็นคู่กรณี ๒. หากคู่กรณีในคดีหนึ่งคดีใด ไม่ปฏิบัติตามพันธธรรมต่าง ๆ ที่ตกเป็นหน้าที่ของตนโดยคำพิพากษาของศาลนี้ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนต่อไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจำเป็น ก็จะเสนอคำแนะนำหรือตกลงถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จผลตามคำพิพากษานั้น มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ ได้กีดกันสมาชิกแห่งสหประชาชาติในอันที่จะมอบธุระในการพิจารณาแก้ไขข้อผิดพ้องหมองใจต่าง ๆ ของตนให้แก่ศาลอื่น ๆ โดยอาศัยการยอมตกลงต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือซึ่งจะได้มีขึ้นในอนาคต มาตรา ๙๖ ๑. สมัชชาทั่วไปก็ดี หรือคณะมนตรีความปลอดภัยก็ดี อาจกล่าวขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้แสดงความเห็นแนะนำแก่ตนในปัญหากฎหมายใด ๆ ก็ได้ ๒. องค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติและคณะทำการพิเศษต่าง ๆ ซึ่งหากจะได้รับมอบอำนาจ ณ เวลาใดจากสมัชชาทั่วไปก็อาจกล่าวขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ความเห็นแนะนำในปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นในกรอบงานขององค์การนั้น หมวด ๑๕ สำนักเลขาธิการ มาตรา ๙๗ สำนักเลขาธิการประกอบด้วย เลขาธิการหนึ่งนาย และพนักงานอื่นเช่นที่จำเป็นสำหรับองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการนั้น ให้แต่งตั้งขึ้นโดยสมัชชาทั่วไป ตามคำเสนอแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคงและให้เป็นหัวหน้าฝ่ายธุรการขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๙๘ เลขาธิการพึงปฏิบัติในฐานะดั่งนั้น ในการประชุมทุก ๆ คราวของสมัชชาทั่วไป ทุกคราวที่คณะมนตรีความมั่นคงมีการประชุม ทุกคราวที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมีการประชุม และทุกคราวที่คณะมนตรีการอภิบาลมีการประชุมและเลขาธิการพึงปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ตามที่องค์การเหล่านี้จะมอบธุระให้ทำ ให้เลขาธิการทำรายงานประจำปีทุกปีส่งต่อสมัชชาทั่วไปในเรื่องกิจการขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๙๙ เลขาธิการพึงจัดให้คณะมนตรีความมั่งคงได้ทำการดำริถึงเรื่องใด ๆ ซึ่งตามความเห็นของตน เห็นว่าเป็นกรณีคุกคามต่อการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๑๐๐ ๑. ในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ แห่งตนนั้นเลขาธิการและพนักงานทั้งหลายมิพึงแสวงหา หรือรับเอาไว้ซึ่งการแจ้งสั่งจากรัฐบาลใด ๆ หรือจากผู้มีอำนาจซึ่งอยู่นอกองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการและพนักงานทั้งหลายพึงงดเว้นจากการกระทำใด ๆ ซึ่งจะทำให้สะท้อนไปถึงตำแหน่งที่ตนเป็นพนักงานระหว่างประเทศซึ่งรับผิดชอบเฉพาะต่อองค์การสหประชาชาติเท่านั้น ๒. สมาชิกแต่ละรายแห่งองค์การสหประชาชาติรับรองว่า จะเคารพต่อลักษณาการระหว่าประเทศอย่างเคร่งครัด อันมีอยู่ในความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงานเหล่านั้น และจะไม่เสาะหาทางที่จะใช้อิทธิพลต่อบุคคลเหล่านั้นในงานการที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา มาตรา ๑๐๑ ๑. พนักงานในสำนักเลขาธิการนั้น ให้เลขาธิการเป็นผู้แต่งตั้งตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยสมัชชาทั่วไป ๒. ให้กำหนดพนักงานต่าง ๆ ตามเหมาะสม ไปทำงานอยู่ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีการอภิบาล และถ้าจำเป็นก็ให้ทำงานในองค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติด้วย พนักงานเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการ ๓. ข้อคำนึงอย่างยิ่งในการที่จะบรรจุพนักงาน และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานนั้น ต้องถือตามความจำเป็นที่จะให้เกิดผลในระดับสูงสุดต่อสมรรถภาพ อำนาจจัดทำ และบูรณภาพ ให้ระลึกถึงความสำคัญในการเลือกสรรแต่งตั้งพนักงานนั้นว่าต้องอาศัยหลักภูมิศาสตร์เป็นบรรทัดฐานอย่างมากเท่าที่เป็นวิสัยทำได้ หมวด ๑๖ บทเบ็ดเสร็จ มาตรา ๑๐๒ ๑. สัญญาทุกฉบับและการยอมตกลงระหว่างประเทศทุก ๆ รายที่สมาชิกรายใดแห่งสหประชาชาติกระทำกัน ภายหลังที่ได้มีการใช้กฎบัตรนี้แล้วนั้น ให้นำไปจดทะเบียนที่สำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และให้สำนักเลขาธิการพิมพ์เผยแพร่สนธิสัญญาและการยอมตกลงเหล่านั้น ๒. ห้ามมิให้คู่กรณีแห่งสัญญาและการยอมตกลงระหว่างประเทศรายใดที่ยังมิได้จดทะเบียนตามบัญญัติในวรรค ๑ แห่งมาตรานี้นั้น ยกเอาสัญญาหรือการยอมตกลงดังนั้นขึ้นมาอ้างแก่องค์การใด ๆ ของสหประชาชาติ มาตรา ๑๐๓ เมื่อมีกรณีเหตุขัดแย้งระหว่าพันธธรรมต่าง ๆ ของสมาชิกแห่งสหประชาชาติตามกฎบัตรนี้ และพันธธรรมต่าง ๆ ของสมาชิกตามการยอมตกลงอย่างอื่นใดในระหว่างประเทศ ให้ถือว่าพันธธรรมของสมาชิกตามกฎบัตรนี้มีผลใช้ได้ดีกว่า มาตรา ๑๐๔ ให้องค์การสหประชาชาติทรงไว้ซึ่งความสามารถ ตามกฎหมายในเขตแคว้นแห่งสมาชิกแห่งสหประชาชาติแต่ละรายเท่าที่จำเป็น สำหรับปฏิบัติตามภารกิจการต่าง ๆ และประกอบการตามวัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ มาตรา ๑๐๕ ๑. ให้องค์การสหประชาชาติทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิและความปลอดพันธ์ต่าง ๆ ในเขตแคว้นของสมาชิกแห่งสหประชาชาติแต่ละรายตามที่จำเป็น เพื่อประกอบการตามวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ๒. ในทำนองเดียวกัน ให้ผู้แทนของสมาชิกแห่งสหประชาชาติและพนักงานขององค์การ ทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิและความปลอดพันธ์ตามที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามภารกิจอันเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติได้อย่างอิสระ ๓. สมัชชาทั่วไปอาจให้คำเสนอแนะนำต่าง ๆ เพื่อจะได้กำหนดรายการละเอียดที่เกี่ยวกับการใช้วรรค ๑ และวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ หรืออาจเสนอแก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติให้ประชุมตกลงเพื่อวัตถุประสงค์นี้ก็ได้ หมวด ๑๗ การตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา ๑๐๖ ในระหว่างรอใช้การยอมตกลงพิเศษต่าง ๆ ที่กล่าวอยู่ในมาตรา ๔๓ ซึ่งตามความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคง ถือว่าตนมีอำนาจที่จะเริ่มปฏิบัติการตามความรับผิดชอบแห่งตนตามมาตรา ๔๒ นั้น ภาคีในประกาศข้อแถลงของสี่ชาติอันได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโคว์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๑๙๔๓ และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยความในวรรค ๕ แห่งประกาศข้อแถลงฉบับนั้น จะต้องหารือกัน และถ้าความจำเป็นแห่งกาละโอกาสบังคับ ก็จะต้องหารือกับสมาชิกอื่น ๆ แห่งสหประชาชาติด้วย เพื่อจะได้มีการทำงานร่วมกันในนามขององค์การสหประชาชาติ ตามที่จำเป็นแก่วัตถุประสงค์ที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรา ๑๐๗ ห้ามมิให้ถือว่าข้อความในกฎบัตรนี้ทำให้เกิดผลโมฆะ หรือผลกีดกันแก่การกระทำใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรัฐที่เป็นศัตรูต่อรัฐที่ลงนามในกฎบัตรนี้ ในระหว่างมีสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นการที่ได้กระทำหรือได้อนุญาตไป ในฐานะเป็นผลแห่งสงครามโดยรัฐบาลต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อการเช่นนั้น หมวด ๑๘ การแก้ไข มาตรา ๑๐๘ การแก้ไขกฎบัตรนี้ จะใช้แก่สมาชิกแห่งสหประชาชาติได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกเหล่านั้นได้รับตกลงโดยคะแนนสองในสามของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไปและได้รับสัตยาบันโดยจำเพาะตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้นโดยจำนวนสองในสามของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ กับทั้งต้องรวมกรรมการประจำทุกรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงด้วย มาตรา ๑๐๙ ๑. การประชุมใหญ่ของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำการทบทวนพิจารณากฎบัตรฉบับนี้ ให้ทำ ณ วันกำหนดและสถานที่ซึ่งต้องกำหนดโดยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไป และโดยคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งมาจากจำนวนกรรมการถึงเจ็ดรายใด ๆ แห่งคณะมนตรีความมั่นคง ให้สมาชิกแต่ละรายแห่งสหประชาชาติมีเสียงได้หนึ่งคะแนนในการประชุมนี้ ๒. การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างหนึ่งอย่างใดในกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งเสนอแนะนำขึ้นโดยคะแนนเสียงสองในสามแห่งที่ประชุมดังกล่าวนั้น ให้มีผลใช้ได้เมื่อได้รับสัตยาบันโดยจำเพาะตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ โดยจำนวนสองในสามของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ กับทั้งต้องรวมกรรมการประจำทุกรายแห่งคณะมนตรีความมั่นคงด้วย ๓. ถ้าการประชุมเช่นนี้ มิได้มีขึ้นก่อนสมัชชาทั่วไปทำการประชุมสมัยปีที่สิบ นับจากเวลาที่ได้ใช้กฎบัตรนี้แล้ว ต้องมีการยื่นเสนอความเห็นเพื่อเรียกให้มีการประชุมเช่นนี้ในระเบียบวาระของการประชุมแห่งสมัชชาทั่วไปในสมัยนั้นและให้จัดการประชุมขึ้นได้ ถ้าปรากฏว่ามีมติเช่นนั้นโดยถือคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกแห่งสมัชชาทั่วไป และมีคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งจากจำนวนกรรมการแห่งคณะมนตรีความมั่นคงเจ็ดราย หมวด ๑๙ สัตยาบันและการลงนาม มาตรา ๑๑๐ ๑. กฎบัตรฉบับนี้ พึงได้รับสัตยาบันจากรัฐที่เป็นผู้ลงนามไว้ ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ โดยจำเพาะ ๒. สัตยาบันสาส์นทั้งหลาย ให้วางรักษาไว้กับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องแจ้งไปยังรัฐที่เป็นผู้ลงนามทั้งหลาย ให้ทราบถึงการวางสัตยาบันนั้นทุกราย เมื่อใดได้แต่งตั้งเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติขึ้นแล้ว ก็ต้องแจ้งให้ทราบเหมือนกัน ๓. ให้กฎบัตรฉบับนี้ ใช้บังคับได้ในเมื่อมีการวางสัตยบันสาส์นของสาธารณรัฐแห่งประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศส และสหสาธารณรัฐโซเวียต โซเซียลิสต์รัสเซีย สหราชอาณจักรแห่งเกรตบริเตนและไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกาและโดยมากแห่งรัฐอื่น ๆ ที่ได้ลงนามไว้ ให้รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดทำพิธีสารเกี่ยวกับการวางสัตยาบันทั้งหลายนั้น ซึ่งต้องมีสำเนาส่งไปยังรัฐที่ลงนามไว้โดยทั่วกัน ๔. รัฐต่าง ๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งได้ให้สัตยาบันภายหลังที่กฎบัตรได้ใช้บังคับแล้วนั้น จักได้เป็นสมาชิกผู้ริเริ่มแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่รัฐเหล่านั้นได้วางสัตยาบันสาส์นโดยจำเพาะ มาตรา ๑๑๑ กฎบัตรฉบับนี้ซึ่งมีเป็น ภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซียน อังกฤษ และ สเปน อันนับว่าเป็นต้นฉบับจริงโดยเสมอภาคกัน ต้องเก็บรักษาไว้ ณ หอบรรณสารของรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ให้รัฐบาลนั้นจัดทำสำเนาซึ่งรับรองอย่างถูกต้องส่งไปรัฐบาลแห่งรัฐที่ได้ลงนามไว้โดยทั่วกัน เพื่อเป็นสัจจพยานในการนี้ ผู้แทนทั้งหลายของรัฐบาลต่าง ๆ แห่งสหประชาชาติได้ลงนามไว้ในกฎบัตรฉบับนี้แล้ว กระทำกัน ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ยี่สิบหก แห่งเดือนมิถุนายน หนึ่งพันเก้าร้อยสี่สิบห้า ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำปรารภ โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว และสิทธิที่เท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์ เป็นหลักมูลแห่งอิสรภาพความยุติธรรมและสันติภาพในโลก โดยที่การไม่นำพา และการเหยียดหยามต่อสิทธิมนุษยชนยังผลให้มีการกระทำอันป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่าประณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยเสรีภาพในการพูดและความเชื่อถือ และเสรีภาพปราศจากความกลัว และความต้องการ โดยที่เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักบังคับกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนต้องถูกบังคับให้หันเข้าหาการกบถขัดขืนทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมวิวัฒนาการแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างนานาประชาชาติ โดยที่ประชากรแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และค่าของมนุษย์ และในสิทธิเท่าเทียมกันของบรรดาชายและหญิง และได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมด้วยอิสรภาพอันไพศาล โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฏิญาณจะให้บรรลุถึงการส่งเสริมการเคารพทั่วไปและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยการร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ปฏิญญานี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์ ฉะนั้น บัดนี้ สมัชชาจึงประกาศว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชากรและประชาชาติทั้งหลาย เพื่อจุดหมายปลายทางที่ว่าเอกชนทุกคนและองค์การของสังคมทุกองค์การ โดยการรำลึกถึงปฏิญญานี้เป็นเนืองนิตย์ จะบากบั่นพยายามด้วยการสอน และศึกษาในอันที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยการดำเนินเป็นลำดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในอันที่จะให้มีการยอมรับนับถือและการปฏิบัติตามโดยทั่วไปและอย่างจริงจัง ทั้งในบรรดาประชากรของรัฐสมาชิกด้วยกันเอง และบรรดาประชากรของดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจแห่งรัฐนั้น ๆ ข้อ ๑. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ และเสมอภาคในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีความรู้สึกผิดชอบและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ข้อ ๒. (๑) ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่พรรณนาไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม,ทรัพย์สิน, กำเนิดหรือสถานะอื่น ๆ (๒) อนึ่ง จะไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ตามมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางการศาล หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น ข้อ ๓. คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน ข้อ ๔. บุคคลผู้ใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาสหรือต้องภาระจำยอมไม่ได้ความเป็นทาสและการค้าทาสเป็นอันห้ามขาดทุกรูป ข้อ ๕. บุคคลใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้ ข้อ ๖. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน ข้อ ๗. ทุกคนเสมอกันตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติดังกล่าว ข้อ ๘. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากศาลที่มี่อำนาจแห่งชาติต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิหลักมูลซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ข้อ ๙. บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพละการไม่ได้ ข้อ ๑๐. ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตน และการกระทำผิดอาญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา ข้อ ๑๑. (๑) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี (๒) จะถือบุคคลใด ๆ ว่ามีผิดในความผิดทางอาญาเนื่องด้วย การกระทำ หรือละเว้นใด ๆ อันมิได้จัดเป็นความผิดทางอาชญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศในขณะได้กระทำการนั้นขึ้นไม่ได้ และจะลงโทษอันหนักกว่าที่ใช้อยู่ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาชญานั้นไม่ได้ ข้อ ๑๒. บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกสอดโดยพละการในความเป็นอยู่ส่วนตัวในครอบครัว ในเคหะสถานหรือในการสื่อสาร และถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอดหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น ข้อ ๑๓. (๑) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใด ๆ ไปรวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน ข้อ ๑๔. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยประเทศอื่นให้พ้นจากการประหัตประหาร (๒) จะอ้างสิทธินี้ไม่ได้ในกรณีที่การประหัตประหารสืบเนื่องอย่างแท้จริงมาจากความผิดที่มิใช่ทางการเมือง หรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ ข้อ ๑๕. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกตัดสัญชาติของตนโดยพละการ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้ ข้อ ๑๖. (๑) ชายหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะทำการสมรสและที่จะก่อตั้งครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด ๆ อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรสและในการขาดจากการสมรส (๒) การสมรส จะกระทำกันก็แต่ด้วยความยินยอมโดยอิสระและเต็มที่ของผู้ที่เจตนาจะเป็นผู้สมรส (๓) ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและหลักมูลของสังคม และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ ข้อ ๑๗. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเองเช่นเดียวกับโดยร่วมกับผู้อื่น (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้เสียทรัพย์สินโดยพละการไม่ได้ ข้อ ๑๘. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อมั่น และอิสรภาพในการที่จะแสดงออกซึ่งศาสนา หรือความเชื่อมั่นของตน โดยการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเองหรือในประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะ หรือส่วนบุคคล ข้อ ๑๙. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดเห็นและการแสดงออกสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะมีการคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหารับและให้ข่าวสาส์น และความเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน ข้อ ๒๐. (๑) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ (๒) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งสมาคมใดไม่ได้ ข้อ ๒๑. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค (๓) เจตจำนงของประชากรจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน ข้อ ๒๒. ทุกคน ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีสิทธิในความมั่นคงทางสังคมและมีสิทธิในการบรรลุถึงซึ่งสิทธิเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกียรติศักดิ์ของตน และวิวัฒนาการแห่งบุคลิกภาพของตนโดยความเพียรพยายามของแต่ละชาติ และโดยความร่วมมือระหว่างประเทศและตามระบอบการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ ข้อ ๒๓. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรมและเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ (๓) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิธีการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย (๔) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน ข้อ ๒๔. ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดงานอันมีกำหนดโดยได้รับสินจ้าง ข้อ ๒๕. (๑) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเหมาะแก่สุขภาพและความผาสุกของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาทางแพทย์ และบริการสังคมทีจำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจตน (๒) มารดาและเด็ก มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทุกคนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน ข้อ ๒๖. (๑) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นปฐมศึกษา และการศึกษาชั้นหลักมูล การปฐมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิค และวิชาชีพจะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงขึ้นไปก็จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ (๒) การศึกษาจะได้จัดไปในทางส่งเสริมบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และยังความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูลให้มั่นคงยิ่งขึ้น จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมและมิตรภาพระหว่างบรรดาประชาชาติ หมู่ เชื้อชาติหรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจการของสหประชาชาติเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ (๓) บิดามารดามีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกชนิดของการศึกษาอันจะให้แก่บุตรของตน ข้อ ๒๗. (๑) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของประชาคมโดยอิสระ ที่จะเสวยผลแห่งศิลปศาสตร์ และที่จะมีส่วนในความก้าวหน้าและคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรม และทางวัสดุอันเป็นผลของประดิษฐกรรมใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้าง ข้อ ๒๘. ทุกคนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและทางระหว่างประเทศซึ่งจะเป็นทางให้สำเร็จผลตามสิทธิและอิสรภาพดั่งพรรณนามาในปฏิญญานี้ ข้อ ๒๙. (๑) ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ด้วยการส่งเสริมบุคลิกภาพของตนโดยอิสระและเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในประชาคมเท่านั้น (๒) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนจะอยู่ในบังคับก็แต่ของข้อจำกัดซึ่งได้กำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งการรับนับถือ และเคารพสิทธิและอิสรภาพของผู้อื่นตามสมควร และแห่งการบำบัดความต้องการอันชอบธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย (๓) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ จะใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้เป็นอันขาด ข้อ ๓๐. ไม่มีบทใดในปฏิญญานี้ที่จะอนุมานว่าให้สิทธิใด ๆ แก่รัฐหมู่คนหรือบุคคล ในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ หรือปฏิบัติการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพ ดั่งพรรณนามา ณ ที่นี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๙ เมษายน ๒๕๕๘
301085
กฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ. 1945
กฎบัตรสหประชาชาติ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเจตจำนง ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณนามาสู่มนุษยชาติในชั่วชีวิตของเราถึงสองครั้งแล้ว และที่จะยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษยบุคคล ในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และของประชาชาติใหญ่น้อย และที่จะสถาปนาภาวการณ์อันจะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความเคารพต่อข้อผูกพันทั้งหลายอันเกิดจากสนธิสัญญาและที่มาอื่น ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ และที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคม และมาตรฐานแห่งชีวิตอันดียิ่งขึ้นในอิสรภาพที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อจุดหมายปลายทางเหล่านี้ ที่จะปฏิบัติการผ่อนสั้นผ่อนยาว และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันในสันติภาพเยี่ยงเพื่อนบ้านที่ดี และที่จะรวมกำลังของเราเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และที่จะให้ความแน่นอนใจว่าจะไม่มีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยการยอมรับหลักการและวิธีการที่ตั้งขึ้น และที่จะใช้จักรกลระหว่างประเทศ สำหรับส่งเสริมความรุดหน้าในทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั้งปวง จึงได้ลงมติที่จะผสมผสานความพยายามของเรา ในอันที่จะให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายเหล่านี้ โดยนัยนี้ รัฐบาลของเราโดยลำดับจึงได้ตกลงกันตามกฎบัตรสหประชาชาติฉบับปัจจุบัน โดยทางผู้แทนที่มาร่วมชุมนุมในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งได้แสดงหนังสือมอบอำนาจเต็มของตนอันได้ตรวจแล้วว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้อง และ ณ ที่นี้จึงสถาปนาองค์การระหว่างประเทศขึ้น เรียกว่า สหประชาชาติ หมวดที่ ๑ ความมุ่งประสงค์และหลักการ ข้อ ๑ ความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ คือ ๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อจุดหมายปลายทางนั้น จะได้ดำเนินมาตรการร่วมกันอันมีผลจริงจังเพื่อการป้องกันและการขจัดปัดเป่าการคุกคามต่อสันติภาพ และเพื่อปราบปรามการกระทำการรุกรานหรือการละเมิดอื่น ๆ ต่อสันติภาพ และนำมาซึ่งการแก้ไข หรือระงับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศอันอาจนำไปสู่การละเมิดสันติภาพ โดยสันติวิธีและสอดคล้องกับหลักการแห่งความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ ๒. เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลายโดยยึดการเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิที่เท่าเทียมกันและการกำหนดเจตจำนงของตนเองแห่งประชาชนทั้งหลายเป็นมูลฐาน และจะดำเนินมาตรการอื่น ๆ อันเหมาะสมเพื่อเป็นกำลังแก่สันติภาพสากล ๓. เพื่อให้บรรลุถึงการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอันที่จะแก้ปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือมนุษยธรรมและในการส่งเสริมและสนับสนุนการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และต่ออิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และ ๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการดำเนินการของประชาชาติทั้งหลายให้กลมกลืนกัน ในอันที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางร่วมกันเหล่านี้ ข้อ ๒ เพื่ออนุวัตตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าวในข้อ ๑ องค์การฯ และสมาชิกขององค์การฯ จะดำเนินการโดยสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้ ๑. องค์การฯ ยึดหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของสมาชิกทั้งปวงเป็นมูลฐาน ๒. เพื่อทำความแน่ใจให้แก่สมาชิกทั้งปวงในสิทธิและผลประโยชน์อันพึงได้รับจากสมาชิกภาพ สมาชิกทั้งปวงจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตนยอมรับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันโดยสุจริตใจ ๓. สมาชิกทั้งปวงจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี ในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความยุติธรรม ๔. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจะต้องละเว้นการคุกคาม หรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ ๕. สมาชิกทั้งปวงจะต้องให้ความช่วยเหลือทุกประการแก่สหประชาชาติในการกระทำใด ๆ ที่ดำเนินไปตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และจะต้องละเว้นการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐใด ๆ ที่กำลังถูกสหประชาชาติดำเนินการป้องกันหรือบังคับอยู่ ๖. องค์การฯ จะต้องให้ความแน่นอนใจว่า รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้เท่าที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๗. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ในเรื่องซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่เขตอำนาจภายในของรัฐใด ๆ หรือจะเรียกให้สมาชิกเสนอเรื่องเช่นว่าเพื่อการระงับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน แต่หลักการนี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้มาตรการบังคับตามหมวดที่ ๗ หมวดที่ ๒ สมาชิกภาพ ข้อ ๓ สมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติ ได้แก่รัฐซึ่งลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบันและให้สัตยาบันตามข้อ ๑๑๐ โดยได้เข้าร่วมในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก หรือได้ลงนามไว้ก่อนในปฏิญญาโดยสหประชาชาติ ลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แล้ว ข้อ ๔ ๑. สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติเปิดให้แก่รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และในการวินิจฉัยขององค์การฯ เห็นว่ามีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้ ๒. การรับรัฐใด ๆ เช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะเป็นผลก็แต่โดยมติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง ข้อ ๕ สมาชิกของสหประชาชาติที่ได้ถูกคณะมนตรีความมั่นคงดำเนินการในทางป้องกันหรือบังคับ อาจถูกสมัชชาสั่งงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพได้ตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงอาจคืนการใช้สิทธิและเอกสิทธิเหล่านี้ให้ได้ ข้อ ๖ สมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งได้ละเมิดหลักการอันมีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่เป็นเนืองนิจอาจถูกขับไล่ออกจากองค์การฯ โดยสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง หมวดที่ ๓ องค์กร ข้อ ๗ ๑. องค์กรสำคัญของสหประชาชาติที่ได้สถาปนาขึ้น มีสมัชชาคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ ๒. องค์กรย่อยอาจสถาปนาขึ้นได้ตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันตามความจำเป็น ข้อ ๘ สหประชาชาติจะไม่วางข้อกำกัดในการรับบุรุษและสตรี เข้าร่วมในองค์กรสำคัญ และองค์กรย่อยของสหประชาชาติไม่ว่าในฐานะใด ๆ และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาค หมวดที่ ๔ สมัชชา องค์ประกอบ ข้อ ๙ ๑. สมัชชาจะต้องประกอบด้วยสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ ๒. สมาชิกแต่ละประเทศจะมีผู้แทนในสมัชชาได้ไม่มากกว่าห้าคน หน้าที่และอำนาจ ข้อ ๑๐ สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ หรือเรื่องใด ๆ ภายในขอบข่ายแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือที่เกี่ยวโยงไปถึงอำนาจและหน้าที่ขององค์กรใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ และอาจทำคำแนะนำไปยังสมาชิกของสหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งในปัญหาหรือเรื่องราวใด ๆ เช่นว่านั้นได้ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๒ ข้อ ๑๑ ๑. สมัชชาอาจพิจารณาหลักการทั่วไปแห่งความร่วมมือ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการควบคุมการลดอาวุธและการควบคุมกำลังอาวุธ และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับหลักการเช่นว่าไปยังสมาชิก หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งก็ได้ ๒. สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอันได้เสนอต่อสมัชชาโดยสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติ หรือโดยคณะมนตรีความมั่นคง หรือโดยรัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติตามข้อ ๓๕ วรรค ๒ และ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๒ อาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ เช่นว่านั้นไปยังรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือทั้งสองแห่งก็ได้ สมัชชาจะต้องส่งปัญหาใด ๆ เช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการไปยังคณะมนตรีความมั่นคงจะเป็นก่อนหรือหลังการอภิปรายก็ได้ ๓. สมัชชาอาจแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้ ๔. อำนาจของสมัชชาตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้จะต้องไม่จำกัดขอบข่ายทั่วไปของข้อ ๑๐ ข้อ ๑๒ ๑. ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ใด ๆ อันได้รับมอบหมายตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่นั้น สมัชชาจะต้องไม่ทำคำแนะนำใด ๆ เกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะร้องขอ ๒. โดยความยินยอมของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจะต้องแจ้งให้สมัชชาทราบทุกสมัยประชุมถึงเรื่องราวใด ๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกำลังดำเนินการอยู่ และในทำนองเดียวกัน จะต้องแจ้งสมัชชาหรือสมาชิกของสหประชาชาติในกรณีที่สมัชชามิได้อยู่ในสมัยประชุมให้ทราบในทันทีที่คณะมนตรีความมั่นคงหยุดดำเนินการในเรื่องเช่นว่านั้น ข้อ ๑๓ ๑. สมัชชาจะต้องริเริ่มการศึกษาและทำคำแนะนำเพื่อความมุ่งประสงค์ในการ ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และสนับสนุนพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศและการประมวลกฎหมายนี้ ข. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอนามัย และช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ๒. ความรับผิดชอบ หน้าที่ และอำนาจต่อไปของสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ในวรรค ๑ (ข) ข้างต้น ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ ๙ และ ๑๐ ข้อ ๑๔ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๑๒ สมัชชาอาจแนะนำมาตรการเพื่อการปรับปรุงสถานการณ์ใด ๆ โดยสันติ เมื่อเห็นว่าน่าจะเสื่อมเสียแก่สวัสดิการทั่วไป หรือความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลาย รวมทั้งสถานการณ์ซึ่งเป็นผลจากการละเมิดบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อันได้กำหนดความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไว้ ทั้งนี้ โดยมิต้องคำนึงถึงแหล่งกำเนิด ข้อ ๑๕ ๑. สมัชชาจะต้องรับและพิจารณารายงานประจำปีและรายงานพิเศษจากคณะมนตรีความมั่นคง รายงานเหล่านี้จะต้องรวมรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยหรือดำเนินการไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ๒. สมัชชาจะต้องรับและพิจารณารายงานจากองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ข้อ ๑๖ สมัชชาจะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศดังที่ได้รับมอบหมายตามหมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ รวมทั้งเกี่ยวกับความเห็นชอบเรื่องความตกลงภาวะทรัสตีสำหรับดินแดนที่มิได้กำหนดว่าเป็นเขตยุทธศาสตร์ ข้อ ๑๗ ๑. สมัชชาจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่งบประมาณขององค์การฯ ๒. สมาชิกจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายขององค์การฯ ตามส่วนที่สมัชชาได้กำหนดให้ ๓. สมัชชาจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่ข้อตกลงใด ๆ ทางการเงินและงบประมาณกับทบวงการชำนัญพิเศษดังกล่าวไว้ในข้อ ๕๗ และจะต้องตรวจสอบงบประมาณด้านบริหารของทบวงการชำนัญพิเศษดังกล่าว เพื่อที่จะทำคำแนะนำต่อทบวงการที่เกี่ยวข้อง การลงคะแนนเสียง ข้อ ๑๘ ๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสมัชชาจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน ๒. คำวินิจฉัยของสมัชชาในปัญหาสำคัญ ๆ จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากสองในสามของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง ปัญหาเหล่านี้จะต้องรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตีตามวรรค ๑ (ค) ของข้อ ๘๖ การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพ การขับไล่สมาชิก ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบภาวะทรัสตี และปัญหางบประมาณ ๓. คำวินิจฉัยปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดประเภทแห่งปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากสองในสามเพิ่มเติมนั้น จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง ข้อ ๑๙ สมาชิกของสหประชาชาติที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงแก่องค์การฯ ย่อมไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชา ถ้าจำนวนเงินค้างชำระเท่าหรือมากกว่าจำนวนเงินค่าบำรุงที่ถึงกำหนดชำระสำหรับสองปีเต็มที่ล่วงมา อย่างไรก็ตาม สมัชชาอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นว่านั้นลงคะแนนเสียงได้ ถ้าทำให้เป็นที่พอใจได้ว่าการไม่ชำระนั้นเนื่องมาแต่ภาวะอันอยู่นอกเหนือการควบคุมของสมาชิกนั้น วิธีดำเนินการประชุม ข้อ ๒๐ สมัชชาจะต้องประชุมกันในสมัยประชุมสามัญประจำปี และในสมัยประชุมพิเศษเช่นโอกาสที่จำเป็น เลขาธิการจะเรียกประชุมสมัยพิเศษตามคำร้องขอของคณะมนตรีความมั่นคง หรือของสมาชิกข้างมากของสหประชาชาติ ข้อ ๒๑ สมัชชาจะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง ทั้งจะเลือกตั้งประธานสมัชชาสำหรับแต่ละสมัยประชุมด้วย ข้อ ๒๒ สมัชชาอาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่นที่เห็นจำเป็น สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ได้ หมวดที่ ๕ คณะมนตรีความมั่นคง องค์ประกอบ ข้อ ๒๓ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติสิบห้าประเทศ สาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา จะเป็นสมาชิกประจำของคณะมนตรีความมั่นคง สมัชชาจะต้องเลือกตั้งสมาชิกอื่นของสหประชาชาติอีกสิบประเทศ เป็นสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งนี้ จะต้องคำนึงเป็นพิเศษในประการแรกถึงส่วนเกื้อกูลของสมาชิกของสหประชาชาติ ต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความมุ่งประสงค์อื่น ๆ ขององค์การฯ และทั้งการแจกกระจายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรมอีกด้วย ๒. สมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องได้รับเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสองปี ในการเลือกตั้งครั้งแรกของสมาชิกไม่ประจำ หลังจากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงจากสิบเอ็ดประเทศเป็นสิบห้าประเทศ สมาชิกสองในสี่ประเทศที่เพิ่มขึ้นจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งมีกำหนดเวลาหนึ่งปี สมาชิกที่กำลังพ้นตำแหน่งไม่มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำโดยทันที ๓. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงจะมีผู้แทนได้หนึ่งคน หน้าที่และอำนาจ ข้อ ๒๔ ๑. เพื่อประกันการดำเนินการของสหประชาชาติอย่างทันท่วงทีและเป็นผลจริงจัง สมาชิกของสหประชาชาติจึงมอบความรับผิดชอบขั้นต้นสำหรับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง และตกลงว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามความรับผิดชอบนี้ คณะมนตรีความมั่นคงกระทำในนามของสมาชิก ๒. ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกระทำตามความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ อำนาจเฉพาะที่มอบให้คณะมนตรีความมั่นคงสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ ๖, ๗, ๘ และ ๑๒ ๓. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเสนอรายงานประจำปี และรายงานพิเศษเมื่อจำเป็นต่อสมัชชาเพื่อการพิจารณา ข้อ ๒๕ สมาชิกของสหประชาชาติ ตกลงยอมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ข้อ ๒๖ เพื่อส่งเสริมการสถาปนา และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยการผันแปรทรัพยากรทางมนุษยชนและทางเศรษฐกิจของโลกมาใช้เพื่อเป็นกำลังอาวุธให้น้อยที่สุด คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องรับผิดชอบในการกำหนดแผนซึ่งจะเสนอต่อสมาชิกของสหประชาชาติเพื่อการสถาปนาระบบอันหนึ่ง สำหรับการควบคุมกำลังอาวุธ ทั้งนี้ ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหารตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔๗ การลงคะแนนเสียง ข้อ ๒๗ ๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน ๒. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง ในเรื่องวิธีดำเนินการจะต้องกระทำโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกเก้าประเทศ ๓. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงในเรื่องอื่นทั้งหมด จะต้องกระทำโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกเก้าประเทศ ซึ่งรวมคะแนนเสียงเห็นพ้องกันของบรรดาสมาชิกประจำอยู่ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าในคำวินิจฉัยตามหมวดที่ ๖ และตามวรรค ๓ ของข้อ ๕๒ ผู้เป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาทจะต้องงดเว้นจากการลงคะแนนเสียง วิธีดำเนินการประชุม ข้อ ๒๘ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องก่อตั้งขึ้นในลักษณะที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยต่อเนื่อง เพื่อความมุ่งประสงค์นี้สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคง จะมีผู้แทนประจำอยู่ทุกเวลา ณ ที่ตั้งขององค์การฯ ๒. คณะมนตรีความมั่นคงจะประชุมกันเป็นครั้งคราว สมาชิกแต่ละประเทศถ้าปรารถนาก็อาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือผู้แทนอื่นที่ได้กำหนดตัวเป็นพิเศษ เป็นผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมนั้นได้ ๓. คณะมนตรีความมั่นคงอาจประชุม ณ สถานที่อื่นนอกไปจากที่ตั้งขององค์การฯ หากวินิจฉัยว่าจะอำนวยความสะดวกแก่งานของตนได้ดีที่สุด ข้อ ๒๙ คณะมนตรีความมั่นคงอาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่นที่เห็นจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน ข้อ ๓๐ คณะมนตรีความมั่นคง จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย ข้อ ๓๑ สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง อาจเข้าร่วมในการอภิปรายปัญหาใด ๆ ที่จะนำมาสู่คณะมนตรีความมั่นคงได้โดยไม่มีคะแนนเสียง เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่าผลประโยชน์ของสมาชิกนั้นได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ ข้อ ๓๒ สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง หรือรัฐใด ๆ ที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หากตกเป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาท ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับกรณีพิพาทนั้นด้วยโดยไม่มีคะแนนเสียง คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกำหนดเงื่อนไขเช่นที่เห็นว่ายุติธรรมสำหรับการเข้าร่วมในการอภิปรายของรัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หมวดที่ ๖ การระงับกรณีพิพาทโดยสันติ ข้อ ๓๓ ๑. ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใด ๆ ซึ่งหากดำเนินอยู่ต่อไปน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจะต้องแสวงหาทางแก้ไขโดยการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การอาศัยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคหรือข้อตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก ๒. เมื่อเห็นว่าจำเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น ข้อ ๓๔ คณะมนตรีความมั่นคงอาจสืบสวนกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างประเทศ หรือก่อให้เกิดกรณีพิพาท เพื่อกำหนดลงไปว่าการดำเนินอยู่ต่อไปของกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น ๆ น่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหรือไม่ ข้อ ๓๕ ๑. สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติอาจนำกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ อันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๔ มาเสนอคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาได้ ๒. รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติอาจนำกรณีพิพาทใด ๆ ซึ่งตนเป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาทมาเสนอคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาได้ ถ้ารัฐนั้นยอมรับล่วงหน้าซึ่งข้อผูกพันเกี่ยวกับการระงับกรณีพิพาทโดยสันติตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน เพื่อความมุ่งประสงค์ในการระงับกรณีพิพาท ๓. การดำเนินการพิจารณาของสมัชชา ในเรื่องที่เสนอขึ้นมาตามข้อนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๑๑ และ ๑๒ ข้อ ๓๖ ๑. คณะมนตรีความมั่นคงอาจแนะนำวิธีดำเนินการ หรือวิธีการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าในระยะใด ๆ แห่งการพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๓ หรือแห่งสถานการณ์อันมีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น ๒. คณะมนตรีความมั่นคงควรพิจารณาวิธีดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับกรณีพิพาทซึ่งคู่พิพาทได้รับปฏิบัติแล้ว ๓. ในการทำคำแนะนำตามข้อนี้ คณะมนตรีความมั่นคงควรพิจารณาด้วยว่า กรณีพิพาทในทางกฎหมายนั้นตามหลักทั่วไป ควรให้คู่พิพาทเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของศาลนั้น ข้อ ๓๗ ๑. หากผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๓ ไม่สามารถระงับกรณีพิพาทได้โดยวิธีระบุไว้ในข้อนั้นแล้ว ให้เสนอเรื่องนั้นต่อคณะมนตรีความมั่นคง ๒. ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่า โดยพฤติการณ์การดำเนินต่อไปแห่งกรณีพิพาทน่าจะเป็นอันตรายต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว ก็ให้วินิจฉัยว่าจะดำเนินการตามข้อ ๓๖ หรือจะแนะนำข้อกำหนดในการระงับกรณีพิพาทเช่นที่อาจพิจารณาเห็นเหมาะสม ข้อ ๓๘ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติแห่งข้อ ๓๓ ถึง ๓๗ คณะมนตรีความมั่นคงอาจทำคำแนะนำแก่คู่พิพาทด้วยความมุ่งหมายในการระงับกรณีพิพาทโดยสันติ หากผู้เป็นฝ่ายทั้งปวง ในกรณีพิพาทใด ๆ ร้องขอเช่นนั้น หมวดที่ ๗ การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน ข้อ ๓๙ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกำหนดว่า การคุกคามต่อสันติภาพการละเมิดสันติภาพ หรือการกระทำการรุกรานได้มีขึ้นหรือไม่ และจะต้องทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการใดตามข้อ ๔๑ และ ๔๒ เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ข้อ ๔๐ เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ทวีความร้ายแรงยิ่งขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงอาจเรียกร้องให้คู่กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องอนุวัตตามมาตรการชั่วคราวเช่นที่เห็นจำเป็นหรือพึงปรารถนา ก่อนที่จะทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓๙ มาตรการชั่วคราวเช่นว่านี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ สิทธิเรียกร้องหรือฐานะของคู่พิพาทที่เกี่ยวข้องคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องคำนึงถึงการไม่สามารถอนุวัตตามมาตรการชั่วคราวเช่นว่านั้นตามสมควร ข้อ ๔๑ คณะมนตรีความมั่นคงอาจวินิจฉัยว่า จะต้องใช้มาตรการใดอันไม่มีการใช้กำลังอาวุธ เพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีและอาจเรียกร้องให้สมาชิกของสหประชาชาติใช้มาตรการเช่นว่านั้น มาตรการเหล่านี้อาจรวมถึงการหยุดชะงักซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิถีทางคมนาคมอย่างอื่นโดยสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน และการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย ข้อ ๔๒ หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่า มาตรการตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔๑ จะไม่เพียงพอ หรือได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ คณะมนตรีฯอาจดำเนินการใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน เช่นที่อาจเห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้ หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การดำเนินการเช่นว่านี้อาจรวมถึงการแสดงแสนยานุภาพ การปิดล้อมและการปฏิบัติการอย่างอื่นโดยกำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน ของบรรดาสมาชิกของสหประชาชาติ ข้อ ๔๓ ๑. เพื่อได้มีส่วนเกื้อกูลในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ รับที่จะจัดสรรกำลังอาวุธ ความช่วยเหลือ และความสะดวก รวมทั้งสิทธิในการผ่านดินแดนตามที่จำเป็นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง เมื่อคณะมนตรีฯ เรียกร้องและเป็นไปตามความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับ ๒. ความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับเช่นว่านั้น จะต้องกำหนดจำนวนและประเภทของกำลัง ขั้นแห่งการเตรียมพร้อมและที่ตั้งโดยทั่วไปของกำลัง และลักษณะของความสะดวกและความช่วยเหลือที่จะจัดหาให้ ๓. ให้ดำเนินการเจรจาทำความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับนั้นโดยความริเริ่มของคณะมนตรีความมั่นคงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความตกลงเหล่านี้จะต้องทำกันระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิก หรือระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิก และจะต้องได้รับการสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านั้น ข้อ ๔๔ เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยที่จะใช้กำลังแล้ว ก่อนที่จะเรียกร้องให้สมาชิกซึ่งมิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงจัดส่งกำลังทหารเพื่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ได้ยอมรับตามข้อ ๔๓ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเชิญสมาชิกนั้นให้เข้าร่วมในการวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับการใช้กองกำลังทหารของสมาชิกนั้น หากสมาชิกนั้นปรารถนาเช่นนั้น ข้อ ๔๕ เพื่อให้สหประชาชาติสามารถดำเนินมาตรการทางทหารได้โดยด่วนสมาชิกจะต้องจัดสรรกองกำลังทางอากาศแห่งชาติไว้ให้พรักพร้อมโดยทันทีเพื่อการดำเนินการบังคับระหว่างประเทศร่วมกัน กำลังและขั้นแห่งการเตรียมพร้อมของกองกำลังเหล่านี้ และแผนการสำหรับการดำเนินการร่วมจะต้องกำหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร ทั้งนี้ ภายในขอบเขตที่วางไว้ในความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อ้างถึงในข้อ ๔๓ ข้อ ๔๖ แผนการสำหรับการใช้กำลังทหารจะต้องจัดทำโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร ข้อ ๔๗ ๑. ให้จัดสถาปนาคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้นคณะหนึ่งเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับความต้องการทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อ การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การใช้และการบังคับบัญชากำลังทหารที่มอบให้อยู่ในอำนาจจัดการของคณะมนตรีฯ การควบคุมกำลังอาวุธ และการลดอาวุธอันจะพึงเป็นไปได้ ๒. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องประกอบด้วยเสนาธิการทหารของสมาชิกประจำของคณะมนตรีความมั่นคงหรือผู้แทนของบุคคลเหล่านี้คณะกรรมการฯ จะต้องเชิญสมาชิกของสหประชาชาติที่มิได้มีผู้แทนประจำอยู่ในคณะกรรมการฯ เข้าร่วมงานกับคณะกรรมการฯ ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้สมาชิกนั้นเข้าร่วมในการทำงานของคณะกรรมการฯ ๓. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องรับผิดชอบภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงสำหรับการบัญชาการทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้กำลังทหารใด ๆ ซึ่งได้มอบไว้ให้อยู่ในอำนาจจัดการของคณะมนตรีความมั่นคงเรื่องเกี่ยวกับการบังคับบัญชาทหารเช่นว่านั้นจะได้ดำเนินการในภายหลัง ๔. คณะกรรมการเสนาธิการทหารอาจสถาปนาคณะอนุกรรมการส่วนภูมิภาคขึ้นได้ ทั้งนี้ โดยได้รับมอบอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงและหลังจากได้ปรึกษาหารือกับทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคที่เหมาะสมแล้ว ข้อ ๔๘ ๑. การดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องกระทำโดยสมาชิกของสหประชาชาติทั้งปวงหรือแต่บางประเทศ ตามแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพึงกำหนด ๒. คำวินิจฉัยเช่นว่านั้นจะต้องปฏิบัติตามโดยสมาชิกของสหประชาชาติโดยตรง และโดยผ่านการดำเนินการของสมาชิกเหล่านั้นในทบวงการตัวแทนระหว่างประเทศที่เหมาะสมซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่ ข้อ ๔๙ สมาชิกของสหประชาชาติจะต้องร่วมกันอำนวยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยไว้แล้ว ข้อ ๕๐ หากคณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินมาตรการป้องกันหรือบังคับต่อรัฐใดรัฐอื่นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาพิเศษทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้น ย่อมมีสิทธิที่จะปรึกษาหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ข้อ ๕๑ ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังหรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันทีและจะต้องไม่กระทบกระเทือนอำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็นไม่ว่าในเวลาใด เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวดที่ ๘ ข้อตกลงส่วนภูมิภาค ข้อ ๕๒ ๑. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันที่กีดกันการมีข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค เพื่อการจัดการเรื่องที่เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเช่นที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการส่วนภูมิภาค โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อตกลงหรือทบวงการตัวแทนเช่นว่าและกิจกรรมนั้นๆ สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ ๒. สมาชิกของสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในข้อตกลงเช่นว่านั้นหรือประกอบขึ้นเป็นทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้น จะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะบรรลุถึงการระงับกรณีพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติ โดยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ก่อนที่จะเสนอกรณีพิพาทเหล่านั้นไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ๓. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องสนับสนุนพัฒนาการเกี่ยวกับการระงับกรณีพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติ โดยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือโดยการเสนอเรื่องมาจากคณะมนตรีความมั่นคง ๔. ข้อนี้ไม่ทำให้เสื่อมเสียโดยประการใด ๆ ต่อการนำข้อ ๓๔ และ ๓๕ มาใช้บังคับ ข้อ ๕๓ ๑. เมื่อเห็นเหมาะสม คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น เพื่อการดำเนินการบังคับภายใต้อำนาจของตน แต่จะมีการดำเนินการบังคับตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค โดยปราศจากการมอบอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงไม่ได้ โดยมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการที่กระทำต่อรัฐศัตรู ดังที่นิยามไว้ในวรรค ๒ แห่งข้อนี้ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยอนุวัตตามข้อ ๑๐๗ หรือในข้อตกลงส่วนภูมิภาค ซึ่งต่อต้านการรื้อฟื้นนโยบายรุกรานของรัฐศัตรูเช่นว่านั้น จนกว่าจะถึงเวลาที่องค์การฯ อาจเข้ารับผิดชอบเพื่อป้องกันการรุกรานต่อไปโดยรัฐศัตรูเช่นว่าตามคำร้องของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ๒. คำว่ารัฐศัตรูที่ใช้ในวรรค ๑ แห่งข้อนี้ย่อมนำมาใช้กับรัฐใด ๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นศัตรูของรัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ข้อ ๕๔ คณะมนตรีความมั่นคง จะต้องได้รับแจ้งโดยครบถ้วนตลอดเวลาถึงกิจกรรมที่ได้กระทำไป หรืออยู่ในความดำริตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หมวดที่ ๙ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางเศรษฐกิจ และสังคม ข้อ ๕๕ ด้วยความมุ่งหมายในการสถาปนาภาวการณ์แห่งเสถียรภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์โดยสันติและโดยฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลาย โดยยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกันและการกำหนดเจตจำนงของตนเองของประชาชนเป็นมูลฐานสหประชาชาติจะต้องส่งเสริม ก. มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น การมีงานทำโดยทั่วถึง และภาวการณ์แห่งความก้าวหน้าและพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ข. การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือระหว่างประเทศทางวัฒนธรรมและการศึกษา และ ค. การเคารพโดยสากล และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ข้อ ๕๖ สมาชิกทั้งปวงให้คำมั่นว่าตนจะดำเนินการร่วมกันและแยกกัน ในการร่วมมือกับองค์การฯ เพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๕ ข้อ ๕๗ ๑. ทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ ที่ได้สถาปนาขึ้น โดยความตกลงระหว่างรัฐบาล และมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องดังได้นิยามไว้ในตราสารก่อตั้งของตน จะต้องนำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติตามบทบัญญัติของข้อ ๖๓ ๒. ทบวงการตัวแทนเช่นว่านี้ด้วยเหตุที่ได้นำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า ทบวงการชำนัญพิเศษ ข้อ ๕๘ องค์การฯ จะต้องทำคำแนะนำสำหรับการประสานนโยบายและกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษ ข้อ ๕๙ เมื่อเห็นเหมาะสม องค์การฯ จำต้องริเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการก่อตั้งทบวงการชำนัญพิเศษใหม่ใด ๆ อันจำเป็นเพื่อให้สำเร็จผลตามความมุ่งประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๕ ข้อ ๖๐ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การฯ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้จะต้องมอบให้แก่สมัชชา และภายใต้อำนาจของสมัชชาแก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะต้องมีอำนาจเพื่อความมุ่งประสงค์นี้ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๑๐ หมวดที่ ๑๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม องค์ประกอบ ข้อ ๖๑ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติห้าสิบสี่ประเทศซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยสมัชชา ๒. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของวรรค ๓ แต่ละปีสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมสิบแปดประเทศจะได้รับเลือกตั้งเป็นกำหนดเวลาสามปี สมาชิกที่กำลังพ้นตำแหน่งมีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำทันที ๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลักจากเพิ่มจำนวนสมาชิก ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจากยี่สิบเจ็ดประเทศเป็นห้าสิบสี่ประเทศ นอกจากสมาชิกที่ได้รับเลือกเพื่อแทนที่สมาชิกเก้าประเทศซึ่งกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดลงในปลายปีนั้นแล้ว จะได้เลือกสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกยี่สิบเจ็ดประเทศ สมาชิกที่ได้รับเลือกเพิ่มขึ้นยี่สิบเจ็ดประเทศนี้ กำหนดเวลาดำรงตำแหน่งของสมาชิกเก้าประเทศที่ได้รับเลือกจะสิ้นสุดลงในปลายปีแรก และของสมาชิกอีกเก้าประเทศจะสิ้นสุดลงในปลายปีที่สอง ตามข้อตกลงที่สมัชชาได้ทำไว้ ๔. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะมีผู้แทนได้หนึ่งคน หน้าที่และอำนาจ ข้อ ๖๒ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำหรือริเริ่มการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเช่นว่านั้นเสนอต่อสมัชชา ต่อสมาชิกของสหประชาชาติ และต่อทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง ๒. คณะมนตรีฯ อาจทำคำแนะนำเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะส่งเสริมการเคารพ และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน ๓. คณะมนตรีฯ อาจจัดเตรียมร่างอนุสัญญา เพื่อเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ ๔. คณะมนตรีฯ อาจเรียกประชุมระหว่างประเทศ ในเรื่องทั้งหลายที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ ตามข้อบังคับที่สหประชาชาติกำหนดไว้ ข้อ ๖๓ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจเข้าทำความตกลงกับทบวงการตัวแทนใด ๆ ที่อ้างถึงในข้อ ๕๗ ซึ่งวางข้อกำหนดในการนำทบวงการตัวแทนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติความตกลงเช่นว่านั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมัชชา ๒. คณะมนตรีฯ อาจประสานกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษโดยการปรึกษาหารือ และการทำคำแนะนำต่อทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้นและโดยการทำคำแนะนำต่อสมัชชา และต่อสมาชิกของสหประชาชาติ ข้อ ๖๔ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับรายงานโดยสม่ำเสมอจากทบวงการชำนัญพิเศษ คณะมนตรีอาจทำข้อตกลงกับสมาชิกของสหประชาชาติและกับทบวงการชำนัญพิเศษ เพื่อให้ได้รับรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการซึ่งได้ทำไปแล้ว เพื่อให้บังเกิดผลตามคำแนะนำของตนและตามคำแนะนำของสมัชชา ในเรื่องที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ ๒. คณะมนตรีฯ อาจแจ้งข้อสังเกตของตนเกี่ยวกับรายงานเหล่านี้ต่อสมัชชา ข้อ ๖๕ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดหาข้อสนเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง และจะต้องช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงร้องขอ ข้อ ๖๖ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของตนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของสมัชชา ๒. ด้วยความเห็นชอบของสมัชชา คณะมนตรีฯ อาจปฏิบัติการตามคำร้องขอของสมาชิกของสหประชาชาติ และตามคำร้องขอของทบวงการชำนัญพิเศษ ๓. คณะมนตรีฯ จะปฏิบัติหน้าที่อื่นเช่นที่ระบุไว้ในที่อื่นใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือเช่นที่สมัชชาอาจมอบหมายให้ การลงคะแนนเสียง ข้อ ๖๗ ๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน คำวินิจฉัยของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง วิธีดำเนินการประชุม ข้อ ๖๘ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม และสำหรับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการอื่นเช่นที่อาจจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน ข้อ ๖๙ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องเชิญสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติให้เข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียง ในการพิจารณาของคณะมนตรีฯ ในเรื่องใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับสมาชิกนั้น ข้อ ๗๐ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำข้อตกลงสำหรับผู้แทนของทบวงการชำนัญพิเศษ ที่จะเข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียงในการพิจารณาของคณะมนตรีฯ และในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่คณะมนตรีฯ ได้สถาปนาขึ้น และสำหรับผู้แทนของตนที่จะเข้าร่วมในการพิจารณาของทบวงการชำนัญพิเศษ ข้อ ๗๑ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำข้อตกลงที่เหมาะสมเพื่อการปรึกษาหารือกับองค์การที่มิใช่ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอันอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของตน ข้อตกลงเช่นว่าอาจทำกับองค์การระหว่างประเทศและเมื่อเห็นเหมาะสมกับองค์การแห่งชาติ หลังจากการปรึกษาหารือกับสมาชิกของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อ ๗๒ ๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย ๒. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องประชุมกันเท่าที่จำเป็นตามระเบียบข้อบังคับของตน ซึ่งจะต้องรวมบทบัญญัติสำหรับเรียกประชุมตามคำร้องขอของสมาชิกเสียงข้างมากของคณะมนตรีฯ ไว้ด้วย หมวดที่ ๑๑ ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง ข้อ ๗๓ สมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งมีหรือเข้ารับเอาความรับผิดชอบในการปกครองดินแดน ซึ่งประชาชนยังมิได้มาซึ่งการปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ยอมรับหลักการว่าผลประโยชน์ของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และยอมรับเป็นภาระมอบหมายอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้อผูกพันที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้อย่างสุดกำลัง ภายในระบบแห่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ได้สถาปนาขึ้นโดยกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และเพื่อจุดหมายปลายทางนี้ ก. จะประกันความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา การปฏิบัติอันเที่ยงธรรมและการคุ้มครองให้พ้นจากการใช้สิทธิในทางมิชอบ ทั้งนี้ด้วยความเคารพตามสมควรต่อวัฒนธรรมของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ข. จะพัฒนาการปกครองตนเอง จะคำนึงตามสมควรถึงปณิธานทางการเมืองของประชาชน และจะช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ในการพัฒนาสถาบันอิสระทางการเมืองให้ก้าวหน้าตามพฤติการณ์ โดยเฉพาะของดินแดนแต่ละแห่ง และของประชาชนในดินแดนนั้น และขั้นแห่งความรุดหน้าอันต่างกันของประชาชนเหล่านั้น ค. จะส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ง. จะส่งเสริมมาตรการแห่งพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ จะสนับสนุนการวิจัย และจะร่วมมือซึ่งกันและกัน และเมื่อใด และ ณ ที่ใดที่เห็นเหมาะสม กับองค์กรชำนัญพิเศษระหว่างประเทศด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์โดยแท้จริงทางสังคม เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ดังกล่าวไว้ในข้อนี้ และ จ. จะส่งข้อสนเทศทางสถิติและทางอื่น อันมีลักษณะทางวิชาการเกี่ยวกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจสังคม และการศึกษาในดินแดนซึ่งตนรับผิดชอบโดยลำดับ นอกเหนือไปจากดินแดนที่หมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ ใช้บังคับ ให้แก่เลขาธิการโดยสม่ำเสมอเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสารนิเทศทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเช่นที่ข้อพิจารณาทางความมั่นคงและรัฐธรรมนูญจะพึงมี ข้อ ๗๔ สมาชิกของสหประชาชาติตกลงด้วยว่า นโยบายของตนเกี่ยวกับดินแดนที่หมวดนี้ใช้บังคับอยู่จะต้องยึดหลักการทั่วไปแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเป็นมูลฐาน ไม่น้อยไปกว่าที่เกี่ยวกับเขตนครหลวงของตนเอง ทั้งนี้ โดยคำนึงตามสมควรถึงผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของส่วนอื่นของโลกในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ด้วย หมวดที่ ๑๒ ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ ข้อ ๗๕ สหประชาชาติจะสถาปนาขึ้นภายใต้อำนาจของตน ซึ่งระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ เพื่อการปกครองและการควบคุมดูแลดินแดนเช่นที่อาจจะนำเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้ โดยความตกลงเป็นราย ๆ ไปในภายหลังดินแดนเหล่าต่อไปในที่นี้จะเรียกว่าดินแดนทรัสตี ข้อ ๗๖ วัตถุประสงค์มูลฐานของระบบภาวะทรัสตี ตามความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑ ของกฎบัตรฉบับปัจจุบัน คือ ก. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ข. ส่งเสริมความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยอยู่ในดินแดนทรัสตีเหล่านั้นและพัฒนาการก้าวหน้าไปสู่การปกครองตนเอง หรือเอกราชตามความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์โดยเฉพาะของดินแดนแต่ละแห่งและของประชาชน และความปรารถนาอันแสดงออกโดยอิสระของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และตามแต่ข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตีแต่ละรายจะวางไว้ ค. สนับสนุนความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษาหรือศาสนา และสนับสนุนการยอมรับในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประชาชนของโลก และ ง. ประกันการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันในเรื่องทางสังคมเศรษฐกิจ และการพาณิชย์สำหรับสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ และคนชาติของสมาชิกเหล่านั้น และการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันสำหรับคนชาติของประเทศสมาชิกในการอำนวยความยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๘๐ ข้อ ๗๗ ๑. ระบบภาวะทรัสตีจะต้องนำมาใช้บังคับกับดินแดนในประเทศดังต่อไปนี้ เช่น ที่อาจนำมาไว้ภายใต้ระบบนี้ โดยวิถีทางแห่งความตกลงภาวะทรัสตี ก. ดินแดนซึ่งบัดนี้อยู่ภายใต้อาณัติ ข. ดินแดนซึ่งอาจแยกมาจากรัฐศัตรู โดยผลแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง และ ค. ดินแดนซึ่งรัฐที่รับผิดชอบในการปกครองได้นำเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้โดยสมัครใจ ๒. เป็นเรื่องที่จะทำความตกลงกันภายหลังว่าจะให้นำดินแดนใดในประเภทที่กล่าวข้างต้นมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี และโดยมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง ข้อ ๗๘ ระบบภาวะทรัสตีจะต้องไม่นำมาใช้บังคับกับดินแดนที่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว ซึ่งสัมพันธภาพระหว่างกันจำต้องยึดความเคารพต่อหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยเป็นมูลฐาน ข้อ ๗๙ ข้อกำหนดแห่งภาวะทรัสตีสำหรับแต่ละดินแดน อันจะนำมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี รวมทั้งข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขใด ๆ จะต้องได้รับการตกลงโดยรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งประเทศที่ใช้อำนาจอาณัติในกรณีที่เป็นดินแดนภายใต้อาณัติอันสมาชิกของสหประชาชาติได้รับมอบหมายและจะต้องได้รับความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๘๓ และ ๘๕ ข้อ ๘๐ ๑. นอกจากที่อาจได้ตกลงไว้ในความตกลงภาวะทรัสตีเป็นราย ๆ ไปซึ่งทำขึ้นตามข้อ ๗๗, ๗๙ และ ๘๑ โดยนำเอาดินแดนแต่ละแห่งมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี และจนกว่าจะได้ทำความตกลงเช่นว่านั้นแล้ว ไม่มีข้อความใดในหมวดนี้จะแปลความในหรือโดยตัวเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด ๆ ซึ่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐหรือประชาชนใด ๆ หรือซึ่งข้อกำหนดในตราสารระหว่างประเทศที่มีอยู่ ซึ่งสมาชิกของสหประชาชาติอาจเป็นภาคีตามลำดับ ๒. วรรค ๑ ของข้อนี้จะต้องไม่ตีความไปในทางที่ถือเป็นมูลเหตุสำหรับการหน่วงเหนี่ยวให้ช้า หรือการผลัดเลื่อนการเจรจา และการทำความตกลง เพื่อนำดินแดนในอาณัติและดินแดนอื่นมาไว้ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๗๗ ข้อ ๘๑ ความตกลงภาวะทรัสตีในแต่ละกรณี จะต้องรวมไว้ซึ่งข้อกำหนดตามที่ดินแดนทรัสตีจะถูกปกครอง และจะกำหนดตัวผู้ทรงอำนาจ ซึ่งจะทำการปกครองดินแดนทรัสตี ผู้ทรงอำนาจเช่นว่านี้ ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่าผู้ใช้อำนาจปกครอง อาจเป็นรัฐเดียว หรือมากกว่านั้น หรือองค์การสหประชาชาติเองก็ได้ ข้อ ๘๒ ในความตกลงภาวะทรัสตีรายใดรายหนึ่ง อาจมีการกำหนดเขตยุทธศาสตร์เขตหนึ่งหรือหลายเขตซึ่งอาจรวมดินแดนทรัสตีแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่ความตกลงใช้บังคับอยู่ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อความตกลงพิเศษฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือหลายฉบับที่ทำไว้ตามข้อ ๔๓ ข้อ ๘๓ ๑. หน้าที่ทั้งปวงของสหประชาชาติเกี่ยวกับเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบต่อข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และต่อข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจะต้องกระทำโดยคณะมนตรีความมั่นคง ๒. วัตถุประสงค์มูลฐานที่กล่าวไว้ในข้อ ๗๖ จะต้องนำมาใช้บังคับได้กับประชาชนของเขตยุทธศาสตร์แต่ละเขต ๓. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของความตกลงภาวะทรัสตี และโดยไม่กระทบกระเทือนต่อข้อพิจารณาทางความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงจะถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีภาวะทรัสตี ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ของสหประชาชาติ ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในเขตยุทธศาสตร์เหล่านั้น ข้อ ๘๔ เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ที่จะประกันว่าดินแดนทรัสตีจะต้องมีส่วนในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อจุดหมายปลายทางนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองอาจใช้ประโยชน์จากกองทหารอาสาสมัคร ความสะดวก และความช่วยเหลือจากดินแดนทรัสตีในการปฏิบัติตามข้อผูกพันต่อคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองเข้ารับดำเนินการในเรื่องนี้ ตลอดจนการป้องกันดินแดนและการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายและระเบียบภายในดินแดนทรัสตีนั้น ข้อ ๘๕ ๑. หน้าที่ของสหประชาชาติเกี่ยกับความตกลงภาวะทรัสตีสำหรับเขตทั้งปวงที่มิได้กำหนดให้เป็นเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบต่อข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และต่อข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจะต้องกระทำโดยสมัชชา ๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตี ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของสมัชชาจะต้องช่วยเหลือสมัชชาในการปฏิบัติตามหน้าที่เหล่านี้ หมวดที่ ๑๓ คณะมนตรีภาวะทรัสตี องค์ประกอบ ข้อ ๘๖ ๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติดังต่อไปนี้ ก. สมาชิกที่ปกครองดินแดนทรัสตี ข. สมาชิกที่ได้ระบุนามไว้ในข้อ ๒๓ ซึ่งมิได้ปกครองดินแดนทรัสตี และ ค. สมาชิกอื่น ๆ ซึ่งสมัชชาได้เลือกตั้งขึ้นมีกำหนดเวลาสามปีเท่าจำนวนที่จำเป็น เพื่อประกันว่าจำนวนรวมของสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะแบ่งออกได้เท่ากัน ระหว่างจำนวนสมาชิกของสหประชาชาติที่ปกครองดินแดนทรัสตีและที่ไม่ได้ปกครอง ๒. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตี จะต้องกำหนดบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะคนหนึ่งเป็นผู้แทนในคณะมนตรีฯ หน้าที่และอำนาจ ข้อ ๘๗ ในการปฏิบัติตามหน้าที่ สมัชชาและคณะมนตรีภาวะทรัสตีภายใต้อำนาจของสมัชชาอาจ ก. พิจารณารายงานซึ่งเสนอโดยผู้ใช้อำนาจปกครอง ข. รับคำร้องทุกข์ และตรวจสอบคำร้องเหล่านั้น โดยปรึกษาหารือกับผู้ใช้อำนาจปกครอง ค. จัดให้มีการเยี่ยมเยียนดินแดนทรัสตีเป็นครั้งคราว โดยลำดับตามกำหนดเวลาที่จะได้ตกลงกับผู้ใช้อำนาจปกครอง และ ง. ดำเนินการเหล่านี้และอื่น ๆ โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดแห่งความตกลงภาวะทรัสตี ข้อ ๘๘ คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องจัดทำแบบสอบถาม เกี่ยวกับความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนทรัสตีแต่ละแห่ง และผู้ใช้อำนาจปกครองของดินแดนทรัสตีแต่ละแห่งภายในขอบเขตอำนาจของสมัชชาจะต้องทำรายงานประจำปีเสนอต่อสมัชชา โดยอาศัยมูลฐานแห่งแบบสอบถามเช่นว่านั้น การลงคะแนนเสียง ข้อ ๘๙ ๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน ๒. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง วิธีดำเนินการประชุม ข้อ ๙๐ ๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย ๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องประชุมกันเท่าที่จำเป็นตามระเบียบข้อบังคับของตน ซึ่งจะรวมบทบัญญัติสำหรับเรียกประชุมตามคำร้องขอของสมาชิกเสียงข้างมากของคณะมนตรีฯ ด้วย ข้อ ๙๑ เมื่อเห็นเหมาะสม คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และของทบวงการชำนัญพิเศษเกี่ยวกับเรื่องซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมและทบวงการชำนัญพิเศษเกี่ยวข้องอยู่โดยลำดับ หมวดที่ ๑๔ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ ๙๒ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะเป็นองค์กรทางตุลาการอันสำคัญของสหประชาชาติ ศาลฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมนูญผนวกท้าย ซึ่งยึดธรรมนูญศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นมูลฐานและซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ข้อ ๙๓ ๑. สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยพฤตินัย ๒. รัฐซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ โดยเงื่อนไขซึ่งสมัชชาจะได้กำหนดในแต่ละรายตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง ข้อ ๙๔ ๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ รับที่จะอนุวัตตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใด ๆ ที่ตนตกเป็นฝ่ายหนึ่ง ๒. ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น ข้อ ๙๕ ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะหวงห้ามสมาชิกของสหประชาชาติมิให้มอบหมายการแก้ไขข้อขัดแย้งของตนต่อศาลอื่น โดยอาศัยอำนาจตามความตกลงที่ได้มีอยู่แล้วหรือที่อาจจะทำขึ้นในอนาคต ข้อ ๙๖ ๑. สมัชชาหรือคณะมนตรีความมั่นคง อาจร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ความเห็นแนะนำในปัญหากฎหมายใด ๆ ๒. องค์กรอื่นของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษ ซึ่งอาจได้รับอำนาจจากสมัชชาในเวลาใด ๆ อาจร้องขอความเห็นแนะนำของศาลเกี่ยวกับปัญหากฎหมายอันเกิดขึ้นภายในขอบข่ายแห่งกิจกรรมของตน หมวดที่ ๑๕ สำนักเลขาธิการ ข้อ ๙๗ สำนักเลขาธิการจะต้องประกอบด้วยเลขาธิการหนึ่งคน และพนักงานเท่าที่องค์การฯ อาจเห็นจำเป็น เลขาธิการจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจะต้องเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์การฯ ข้อ ๙๘ เลขาธิการจะต้องปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่นั้น ในการประชุมทั้งปวงของสมัชชา ของคณะมนตรีความมั่นคง ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และของคณะมนตรีภาวะทรัสตี และจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นเช่นที่องค์กรเหล่านี้จะพึงมอบหมายให้ เลขาธิการจะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานขององค์การฯ เสนอต่อสมัชชา ข้อ ๙๙ เลขาธิการอาจนำเรื่องใด ๆ ซึ่งตามความเห็นของตนอาจคุกคามการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบ ข้อ ๑๐๐ ๑. ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เลขาธิการและพนักงานจะต้องไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลใด ๆ หรือจากเจ้าหน้าที่อื่นใดภายนอกองค์การฯ บุคคลเหล่านี้จะต้องละเว้นจากการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบต่อองค์การฯ เท่านั้น ๒. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ รับที่จะเคารพต่อความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงาน อันมีลักษณะระหว่างประเทศโดยเฉพาะ และจะไม่พยายามใช้อิทธิพลต่อบุคคลเหล่านั้นในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของเขา ข้อ ๑๐๑ ๑. พนักงานจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการ ตามข้อบังคับที่สมัชชาได้สถาปนาขึ้น ๒. พนักงานที่เหมาะสมจะต้องได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่เป็นการถาวรในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ในคณะมนตรีภาวะทรัสตีและในองค์กรอื่นของสหประชาชาติตามที่จำเป็น พนักงานเหล่านี้จะต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการ ๓. ข้อพิจารณาอันสำคัญยิ่งในการว่าจ้างพนักงาน และในการกำหนดเงื่อนไขแห่งบริการได้แก่ความจำเป็นที่จะต้องให้ได้มาซึ่งมาตรฐานอันสูงสุดแห่งสมรรถภาพ ความสามารถ และความซื่อสัตย์มั่นคงจะต้องคำนึงตามสมควรถึงความสำคัญในการจัดหาพนักงาน โดยยึดมูลฐานทางภูมิศาสตร์ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ หมวดที่ ๑๖ บทเบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๐๒ ๑. สนธิสัญญาทุกฉบับ และความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับซึ่งสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคีภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ใช้บังคับ จะต้องจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องพิมพ์โฆษณาโดยสำนักเลขาธิการนี้ ๒. ภาคีแห่งสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใด ๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรค ๑ ของข้อนี้ไม่อาจยกเอาสนธิสัญญาหรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ ข้อ ๑๐๓ ในกรณีแห่งการขัดแย้งระหว่างข้อผูกพันของสมาชิกของสหประชาชาติตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันและตามข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศอื่นใด ข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะต้องใช้บังคับ ข้อ ๑๐๔ องค์การฯ จะมีความสามารถทางกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การฯ เท่าที่จำเป็น เพื่อการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ขององค์การฯ ข้อ ๑๐๕ ๑. องค์การฯ จะอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การฯ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ขององค์การฯ ๒. ผู้แทนของสมาชิกของสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ จะอุปโภค เอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านั้นเท่าที่จำเป็น เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเกี่ยวกับองค์การฯ โดยอิสระ ๓. สมัชชาอาจทำคำแนะนำ ด้วยความมุ่งหมายในการกำหนดรายละเอียดของการนำวรรค ๑ และ ๒ ของข้อนี้มาใช้บังคับ หรืออาจเสนออนุสัญญาต่อสมาชิกของสหประชาชาติ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ หมวดที่ ๑๗ ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อ ๑๐๖ ในระหว่างที่ความตกลงพิเศษดังที่อ้างถึงในข้อ ๔๓ ยังมิได้ใช้บังคับ ซึ่งตามความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคง จะช่วยให้ตนได้เริ่มปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนตามข้อ ๔๒ ภาคีแห่งปฏิญญาสี่ประชาชาติได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโกในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ และฝรั่งเศสจะปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน และกับสมาชิกอื่น ๆ ของสหประชาชาติ เมื่อจำเป็น ตามบทบัญญัติของวรรค ๕ ของปฏิญญานั้น ด้วยความมุ่งหมายที่จะดำเนินการร่วมกันในนามขององค์การฯ เช่นที่อาจจำเป็น เพื่อความมุ่งประสงค์ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ข้อ ๑๐๗ ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะทำให้ไม่สมบูรณ์ หรือลบล้างซึ่งการดำเนินการในความเกี่ยวพันกับรัฐใด ๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นศัตรูของรัฐใด ๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจุบัน ซึ่งรัฐบาลที่รับผิดชอบการดำเนินการเช่นว่านั้นได้กระทำไป หรือได้ให้อำนาจกระทำไปโดยผลแห่งสงครามนั้น หมวดที่ ๑๘ การแก้ไข ข้อ ๑๐๘ การแก้ไขกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะมีผลใช้บังคับกับสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ เมื่อการแก้ไขนั้นได้รับคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกของสมัชชาลงมติให้ และได้รับการสัตยาบันตามกระบวนการทางรัฐธรรนูญจากสองในสามของสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงสมาชิกประจำทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย ข้อ ๑๐๙ ๑. การประชุมทั่วไปของสมาชิกของสหประชาชาติ เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะทบทวนกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อาจจัดให้มีขึ้นตามวันที่และสถานที่ซึ่งจะกำหนดโดยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกของสมัชชาและโดยคะแนนเสียงของสมาชิกใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเก้าประเทศ สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ จะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนในการประชุมนี้ ๒. การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้รับคำแนะนำโดยคะแนนเสียงสองในสามของที่ประชุม จะมีผลเมื่อได้รับการสัตยาบันตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญจากสองในสามของสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงสมาชิกประจำทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย ๓. ถ้าการประชุมเช่นว่ายังมิได้จัดให้มีขึ้นก่อนสมัยประชุมประจำปีครั้งที่สิบของสมัชชา นับแต่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้มีผลใช้บังคับแล้ว ข้อเสนอที่จะให้เรียกประชุมเช่นว่านั้นจะต้องนำเข้าระเบียบวาระของสมัยประชุมนั้นของสมัชชา และการประชุมจะต้องจัดให้มีขึ้นหากได้วินิจฉัยเช่นนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกของสมัชชาและโดยคะแนนเสียงสมาชิกใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเจ็ดประเทศ หมวดที่ ๑๙ การสัตยาบันและการลงนาม ข้อ ๑๑๐ ๑. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจะต้องได้รับการสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐตน ๒. สัตยาบันจะต้องมอบไว้กับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องแจ้งให้รัฐที่ลงนามทั้งปวงตลอดจนเลขาธิการขององค์การฯ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ให้ทราบถึงการมอบแต่ละครั้ง ๓. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจะมีผลใช้บังคับ เมื่อสาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา และจำนวนข้างมากของรัฐอื่น ๆ ที่ลงนามได้มอบสัตยาบันแล้ว พิธีสารแห่งสัตยาบันที่ได้มอบไว้นั้นจะต้องจัดทำขึ้นโดยรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องส่งสำเนาพิธีสารนั้นไปยังรัฐที่ลงนามทั้งปวง ๔. รัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และให้สัตยาบันภายหลังที่กฎบัตรมีผลใช้บังคับแล้ว จะเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติในวันที่มอบสัตยาบันของตน ข้อ ๑๑๑ กฎบัตรฉบับปัจจุบันซึ่งตัวบทภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษและสเปน ถูกต้องเท่าเทียมกัน จะต้องมอบไว้ในบรรณสารของรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลนั้นจะต้องส่งสำเนาซึ่งรับรองโดยถูกต้องแล้วไปยังรัฐบาลของรัฐที่ลงนามอื่น ๆ เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้แทนของรัฐบาลทั้งหลายของสหประชาชาติได้ลงนามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ทำขึ้น ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ยี่สิบหก มิถุนายน คริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยสี่สิบห้า พรพิมล/แก้ไข ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๘ เมษายน ๒๕๕๘
740727
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกหนังสือผ่านแดนไทย - มาเลเซีย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกหนังสือผ่านแดนไทย - มาเลเซีย โดยที่มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ ให้มีหนังสือเดินทาง ลงวันที่ ๑๗ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ให้ประชาชนผู้จะเดินทางไปแต่เพียงเมืองต่างประเทศใกล้เคียงติดต่อกับพระราชอาณาเขตร์ และจะออกจากหัวเมืองไปแล้วก็ให้ไปขอรับหนังสือเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบกับการเดินทางข้ามแดนระหว่างไทย - มาเลเซีย ของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดนระหว่างมะลายูของอังกฤษกับประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) และการออกใบเบิกทางไทย - มาเลเซีย ของฝ่ายไทยที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกใบเบิกทางไทย - มาเลเซีย ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ เป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกใบเบิกทางไทย – มาเลเซีย ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ ข้อ ๒ กำหนดค่าใช้จ่ายในการขอออกหนังสือผ่านแดนไทย - มาเลเซีย ของฝ่ายไทย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการขอให้ออกหนังสือผ่านแดน ฉบับละ ๒๐๐ บาทต่อคน กรณีบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เดินทางพร้อมผู้ถือหนังสือผ่านแดน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจให้นายอำเภอ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการได้ ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ วริญา/ตรวจ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๓๑๒ ง/หน้า ๔/๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
497860
ประกาศการมีผลใช้บังคับของความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
ประกาศ ประกาศ การมีผลใช้บังคับของความตกลง ระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน[๑] มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า โดยที่ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ เมืองปูซาน มีบทบัญญัติในข้อ ๑๑ ว่า ความตกลงนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับในสามสิบวันหลังจากวันที่ภาคีคู่สัญญาได้แจ้งแก่กันและกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของตนเพื่อการมีผลใช้บังคับของความตกลงนี้แล้ว โดยที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ส่วนฝ่ายเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ฉะนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ความตกลงฯ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นันทนา/ผู้จัดทำ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๘ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๓ ง/หน้า ๑/๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
490191
ประกาศ การมีผลใช้บังคับของความตกลง ระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
ประกาศ ประกาศ การมีผลใช้บังคับของความตกลง ระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้[๑] มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า โดยที่ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ลงนามเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๘ มีบทบัญญัติในข้อ ๒๗ ว่า ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดตามกฎหมายของฝ่ายนั้น เพื่อทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเรียบร้อยแล้ว และความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแจ้งครั้งหลัง โดยที่รัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ ส่วนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ ฉะนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ความตกลงฯ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี นันทนา/ผู้จัดทำ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๙ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๔๘ ง/หน้า ๑/๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
488889
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกใบเบิกทางไทย - มาเลเซีย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกใบเบิกทางไทย – มาเลเซีย ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตให้มีหนังสือเดินทาง ลงวันที่ ๑๗ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ให้ประชาชนผู้จะเดินทางไปแต่เพียงเมืองต่างประเทศใกล้เคียงติดต่อกับพระราชอาณาเขต และจะออกจากหัวเมืองไปก็ให้ไปขอรับหนังสือเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบกับการเดินทางข้ามแดนระหว่างไทย – มาเลเซีย ของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดนระหว่างมะลายูของอังกฤษกับประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) และการออกใบเบิกทางไทย - มาเลเซีย ของฝ่ายไทย ที่กำหนดไว้เดิม เป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรออกประกาศกำหนดค่าใช้จ่ายในการขอให้ออกใบเบิกทางไทย - มาเลเซีย ของฝ่ายไทย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการขอให้ออกใบเบิกทาง ครั้งละ ๓๐ บาท ต่อคน กรณีบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เดินทางพร้อมผู้ถือใบเบิกทาง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนอาจมอบอำนาจให้นายอำเภอ ในอำเภอชายแดนซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการได้ ประกาศฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น ๙๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นันทนา/ผู้จัดทำ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๙ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๕๗ ง/หน้า ๕/๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
389323
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒[๒] เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖[๓] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗[๔] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้ มาตรา ๗ ทวิ[๕] ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา ๗ นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้ มาตรา ๗ ตรี[๖] เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙[๗] การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจ ค้น บรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้อง เข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก (๓) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์ การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑[๘] การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน (๒) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพบทหรือคำประพันธ์ (๓) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ (๔) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย (๕) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้ (๖) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด (๗) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด (๘) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ มาตรา ๑๕ ทวิ[๙] ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า ๗ วัน ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ บัญชีต่อท้าย[๑๐] ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑. หรือ ๒. ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สำหรับใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ (๓) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๔) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๕) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๑๓๗ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๓๖ มาตรา ๑๓๘ ถึงมาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ (๖) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ มาตรา ๑๕๘ ถึงมาตรา ๑๖๕ (๗) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามมาตรา ๑๗๒ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๗๐ มาตรา ๑๗๑ มาตรา ๑๗๕ ถึงมาตรา ๑๘๕ มาตรา ๑๘๙ มาตรา ๑๙๓ มาตรา ๑๙๗ และมาตรา ๑๙๘ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (๘) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ (๙) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ (๑๐) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘ (๑๑) ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตั้งแต่มาตรา ๒๕๐ ถึงมาตรา ๒๕๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตั้งแต่มาตรา ๒๖๕ ถึงมาตรา ๒๖๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๓) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๖ มาตรา ๓๓๙ และมาตรา ๓๔๐ ๔. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร ๕. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร ๖. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบทหาร ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ตั้งแต่มาตรา ๔๕ ถึงมาตรา ๔๙ ๘. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่น ๙. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพย์ติดให้โทษ ๑๐. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑๑] มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑๒] มาตรา ๓ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๒ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗[๑๓] มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๘ บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘[๑๔] มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒[๑๕] มาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ของแม่ทัพใหญ่ตามความในมาตรา ๑๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาตรา ๕ ให้ยกเลิกบัญชีต่อท้ายกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และให้ใช้บัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระทั่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๐ ฉบับที่ ๓๐ และฉบับที่ ๔๑ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีต่อท้ายกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกส่วนมากได้อ้างถึงความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งได้ถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกเสียใหม่ให้เป็นการสอดคล้องต้องกันด้วย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕[๑๖] โดยที่ปัจจุบันนี้การรบ การสนับสนุนกำลังรบ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎอัยการศึก ได้วิวัฒนาการไปกว่าแต่ก่อน บทบัญญัติของกฎอัยการศึกซึ่งได้ตราขึ้นใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ย่อมคลุมไม่ถึงการกระทำและเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างในปัจจุบันทั้งในการปราบปรามและสนับสนุนการปฏิบัติการของทหารโดยเฉพาะในการรบนอกแบบ ควรให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติการของทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและควรกำหนดวิธีการขั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลผู้เป็นราชศัตรูหรือฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึกหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการได้เพื่อที่จะดำเนินการขั้นต่อไปตามควรแก่กรณี จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ วศิน/แก้ไข ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ วิมล/ปรับปรุง ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/-/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗ [๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ [๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ [๔] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ [๕] มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๗ [๖] มาตรา ๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๗ [๗] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ [๘] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ [๙] มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ [๑๐] บัญชีต่อท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๔๙/หน้า ๑๓๘๔/๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๕ [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๔๕/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒/ตอนที่ ๒๐/หน้า ๒๕๑/๗ เมษายน ๒๔๘๘ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๖/ตอนที่ ๗๘/หน้า ๓๑๕/๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๒ [๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
315681
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303
ประกาศของคณะปฏิวัติ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ โดยที่ปัจจุบันนี้การรบ การสนับสนุนกำลังรบ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎอัยการศึก ได้วิวัฒนาการไปกว่าแต่ก่อน บทบัญญัติของกฎอัยการศึกซึ่งได้ตราขึ้นใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ย่อมคลุมไม่ถึงการกระทำและเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างในปัจจุบันทั้งในการปราบปรามและสนับสนุนการปฏิบัติการของทหารโดยเฉพาะในการรบนอกแบบ ควรให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติการของทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและควรกำหนดวิธีการขั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลผู้เป็นราชศัตรูหรือฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึกหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการได้ เพื่อที่จะดำเนินการขั้นต่อไปตามควรแก่กรณี จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดัง ต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจ ค้น บรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก (๓) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ โฆษณา บทหรือคำประพันธ์” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑ การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน (๒) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพบทหรือคำประพันธ์ (๓) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ (๔) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย (๕) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้ (๖) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด (๗) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด (๘) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก” ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ “มาตรา ๑๕ ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า ๗ วัน” ข้อ ๖[๑] ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ จอมพล ถ. กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ วิมล/ปรับปรุง ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
320459
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 (Update ณ วันที่ 11/08/2502)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใดๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒[๒] เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖[๓] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามความจำเป็นในการยุทธ อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗[๔] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก มีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึก ตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อและหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรกให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นเองหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก มีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้ มาตรา ๗ ทวิ[๕] ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา ๗ นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้ มาตรา ๗ ตรี[๖] เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาศัย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑ การห้ามนั้นให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมชุมกัน (๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเป็นข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เป็นการสมควรในสมัยนั้น คือห้ามมิให้มีการออกหนังสือเป็นข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้ (๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง (๔) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหาร เห็นเป็นการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ในเขตแขวงนั้นๆ การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมืองสำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ บัญชีต่อท้าย พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒[๗] ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑. หรือ ๒. ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สำหรับใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ (๓) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๔) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๕) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๑๓๗ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๓๖ มาตรา ๑๓๘ ถึงมาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ (๖) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ มาตรา ๑๕๘ ถึงมาตรา ๑๖๕ (๗) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามมาตรา ๑๗๒ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๗๐ มาตรา ๑๗๑ มาตรา ๑๗๕ ถึงมาตรา ๑๘๕ มาตรา ๑๘๙ มาตรา ๑๙๓ มาตรา ๑๙๗ และมาตรา ๑๙๘ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (๘) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ (๙) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ (๑๐) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘ (๑๑) ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตั้งแต่มาตรา ๒๕๐ ถึงมาตรา ๒๕๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตั้งแต่มาตรา ๒๖๕ ถึงมาตรา ๒๖๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๓) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๖ มาตรา ๓๓๙ และมาตรา ๓๔๐ ๔. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร ๕. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร ๖. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบทหาร ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ตั้งแต่มาตรา ๔๕ ถึงมาตรา ๔๙ ๘. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่น ๙. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพย์ติดให้โทษ ๑๐. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๘] พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗[๙] มาตรา ๘ บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘[๑๐] พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒[๑๑] มาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ของแม่ทัพใหญ่ตามความในมาตรา ๑๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระทั่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๐ ฉบับที่ ๓๐ และฉบับที่ ๔๑ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีต่อท้ายกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกส่วนมากได้อ้างถึงความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งได้ถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกเสียใหม่ให้เป็นการสอดคล้องต้องกันด้วย สุรินทร์/แก้ไข ๑๑/๐๒/๒๕๔๕ A+B (C) พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗ [๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ [๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๔] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ [๕] มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๖] มาตรา ๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๗] บัญชีต่อท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๔๕/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒/ตอนที่ ๒๐/หน้า ๒๕๑/๗ เมษายน ๒๔๘๘ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๖/ตอนที่ ๗๘/หน้า ๓๑๕/๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๒
301152
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2502
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก มีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึก ตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อและหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรกให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นเองหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก มีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้” มาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ของแม่ทัพใหญ่ตามความในมาตรา ๑๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาตรา ๕ ให้ยกเลิกบัญชีต่อท้ายกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และให้ใช้บัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระทั่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๐ ฉบับที่ ๓๐ และฉบับที่ ๔๑ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี บัญชีต่อท้าย พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑. หรือ ๒. ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สำหรับใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ (๓) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๔) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๕) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๑๓๗ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๓๖ มาตรา ๑๓๘ ถึงมาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ (๖) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ มาตรา ๑๕๘ ถึงมาตรา ๑๖๕ (๗) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามมาตรา ๑๗๒ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๗๐ มาตรา ๑๗๑ มาตรา ๑๗๕ ถึงมาตรา ๑๘๕ มาตรา ๑๘๙ มาตรา ๑๙๓ มาตรา ๑๙๗ และมาตรา ๑๙๘ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (๘) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ (๙) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ (๑๐) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘ (๑๑) ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตั้งแต่มาตรา ๒๕๐ ถึงมาตรา ๒๕๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตั้งแต่มาตรา ๒๖๕ ถึงมาตรา ๒๖๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (๑๓) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๖ มาตรา ๓๓๙ และมาตรา ๓๔๐ ๔. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร ๕. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร ๖. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบทหาร ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ตั้งแต่มาตรา ๔๕ ถึงมาตรา ๔๙ ๘. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่น ๙. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพย์ติดให้โทษ ๑๐. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีต่อท้ายกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกส่วนมากได้อ้างถึงความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งได้ถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกเสียใหม่ให้เป็นการสอดคล้องต้องกันด้วย สุรินทร์/แก้ไข พัชรินทร์/แก้ไข ๕ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๖/ตอนที่ ๗๘/หน้า ๓๑๕/๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๒
306561
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 (Update ณ วันที่ 07/04/2488)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใดๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒[๒] เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖[๓] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามความจำเป็นในการยุทธ อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗[๔] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อหรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นเองหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจาเบกษาด้วย นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อแม่ทัพใหญ่ร้องขอ คณะกรรมการซึ่งได้ขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้จะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้[๕] ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งโดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งนายและกรรมการอื่นอีกสองนาย ในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการในหรือนอกราชการไม่น้อยกว่าหนึ่งนาย เพื่อพิจารณาสั่งตามความในวรรคก่อน[๖] มาตรา ๗ ทวิ[๗] ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา ๗ นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้ มาตรา ๗ ตรี[๘] เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาศัย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑ การห้ามนั้นให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมชุมกัน (๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเป็นข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เป็นการสมควรในสมัยนั้น คือห้ามมิให้มีการออกหนังสือเป็นข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้ (๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง (๔) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหาร เห็นเป็นการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ในเขตแขวงนั้นๆ การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมืองสำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ บัญชีต่อท้าย[๙] ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑ หรือ ๒ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทยหรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทยในขณะกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังต่อไปนี้ (ก) ความผิดฐานประทุษร้ายแก่พระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๑ (ข) ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๑๒ ถึงมาตรา ๑๑๕ (ค) ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๑๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๗ และมาตรา ๑๒๘ (ง) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๗ ถึงมาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ และ มาตรา ๑๔๖ (จ) ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (ฉ) ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ตั้งแต่มาตรา ๑๕๕ ถึงมาตรา ๑๖๒ ที่ได้กระทำในศาลทหาร (ช) ความผิดฐานสมคบกันเป็นอั้งยี่และเป็นซ่องโจรผู้ร้ายตั้งแต่มาตรา ๑๗๗ ถึงมาตรา ๑๘๒ (ซ) ความผิดฐานก่อการจลาจล ตามมาตรา ๑๘๓ และมาตรา ๑๘๔ (ฌ) ความผิดฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน ฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกัน และฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย ตั้งแต่มาตรา ๑๘๕ ถึงมาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๖ มาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ (ญ) ความผิดฐานปลอมดวงตรา ตั้งแต่มาตรา ๒๑๑ ถึงมาตรา ๒๑๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฎ) ความผิดฐานปลอมหนังสือ ตั้งแต่มาตรา ๒๒๓ ถึงมาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๙ และมาตรา ๒๓๐ ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฏ) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์และฐานโจรสลัด ตั้งแต่มาตรา ๒๙๗ ถึงมาตรา ๓๐๒ ๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๖๔ ๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ ๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติเขตปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๘ ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตั้งแต่มาตรา ๔๑ ถึงมาตรา ๔๕ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑๐] พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗[๑๑] มาตรา ๘ บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘[๑๒] สุรินทร์/แก้ไข ๑๑/๐๒/๒๕๔๕ A+B (C) พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗ [๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ [๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๔] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๕] มาตรา ๗ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ [๖] มาตรา ๗ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ [๗] มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๘] มาตรา ๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๙] บัญชีต่อท้าย เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๔๕/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒/ตอนที่ ๒๐/หน้า ๒๕๑/๗ เมษายน ๒๔๘๘
301151
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 พุทธศักราช 2488
พระราชกำหนด พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗) ปรีดี พนมยงค์ ตราไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และโดยที่มีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ “นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก มีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อแม่ทัพใหญ่ร้องขอ คณะกรรมการซึ่งได้ขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้จะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งโดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งนาย และกรรมการอื่นอีกสองนาย ในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการในหรือนอกราชการไม่น้อยกว่าหนึ่งนาย เพื่อพิจารณาสั่งตามความในวรรคก่อน” มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒/ตอนที่ ๒๐/หน้า ๒๕๑/๗ เมษายน ๒๔๘๘
320458
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 (Update ณ วันที่ 31/12/2487)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใดๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒[๒] เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖[๓] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามความจำเป็นในการยุทธ อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗[๔] ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อหรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นเองหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจาเบกษาด้วย มาตรา ๗ ทวิ[๕] ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา ๗ นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้ มาตรา ๗ ตรี[๖] เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาศัย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑ การห้ามนั้นให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมชุมกัน (๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเป็นข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เป็นการสมควรในสมัยนั้น คือห้ามมิให้มีการออกหนังสือเป็นข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้ (๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง (๔) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหาร เห็นเป็นการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ในเขตแขวงนั้นๆ การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมืองสำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ บัญชีต่อท้าย[๗] ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑ หรือ ๒ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทยหรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทยในขณะกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังต่อไปนี้ (ก) ความผิดฐานประทุษร้ายแก่พระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๑ (ข) ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๑๒ ถึงมาตรา ๑๑๕ (ค) ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๑๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๗ และมาตรา ๑๒๘ (ง) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๗ ถึงมาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ และ มาตรา ๑๔๖ (จ) ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (ฉ) ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ตั้งแต่มาตรา ๑๕๕ ถึงมาตรา ๑๖๒ ที่ได้กระทำในศาลทหาร (ช) ความผิดฐานสมคบกันเป็นอั้งยี่และเป็นซ่องโจรผู้ร้ายตั้งแต่มาตรา ๑๗๗ ถึงมาตรา ๑๘๒ (ซ) ความผิดฐานก่อการจลาจล ตามมาตรา ๑๘๓ และมาตรา ๑๘๔ (ฌ) ความผิดฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน ฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกัน และฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย ตั้งแต่มาตรา ๑๘๕ ถึงมาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๖ มาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ (ญ) ความผิดฐานปลอมดวงตรา ตั้งแต่มาตรา ๒๑๑ ถึงมาตรา ๒๑๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฎ) ความผิดฐานปลอมหนังสือ ตั้งแต่มาตรา ๒๒๓ ถึงมาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๙ และมาตรา ๒๓๐ ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฏ) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์และฐานโจรสลัด ตั้งแต่มาตรา ๒๙๗ ถึงมาตรา ๓๐๒ ๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๖๔ ๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ ๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติเขตปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๘ ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตั้งแต่มาตรา ๔๑ ถึงมาตรา ๔๕ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๘] พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗[๙] มาตรา ๘ บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น สุรินทร์/แก้ไข ๑๑/๐๒/๒๕๔๕ A+B (C) พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗ [๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ [๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๔] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๕] มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๖] มาตรา ๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๗] บัญชีต่อท้าย เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๔๕/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗
301150
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗) ปรีดี พนมยงค์ ตราไว้ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามความจำเป็นในการยุทธ” มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อหรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นเองหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจาเบกษาด้วย” มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ “มาตรา ๗ ทวิ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา ๗ นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้” มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ “มาตรา ๗ ตรี เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย” มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติเฉพาะกาล มาตรา ๘ บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีต่อท้าย ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑ หรือ ๒ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทยหรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทยในขณะกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังต่อไปนี้ (ก) ความผิดฐานประทุษร้ายแก่พระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๑ (ข) ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๑๒ ถึงมาตรา ๑๑๕ (ค) ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๑๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๗ และมาตรา ๑๒๘ (ง) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๗ ถึงมาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ และ มาตรา ๑๔๖ (จ) ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล ตั้งแต่มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๕๔ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร (ฉ) ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ตั้งแต่มาตรา ๑๕๕ ถึงมาตรา ๑๖๒ ที่ได้กระทำในศาลทหาร (ช) ความผิดฐานสมคบกันเป็นอั้งยี่และเป็นซ่องโจรผู้ร้าย ตั้งแต่มาตรา ๑๗๗ ถึงมาตรา ๑๘๒ (ซ) ความผิดฐานก่อการจลาจล ตามมาตรา ๑๘๓ และมาตรา ๑๘๔ (ฌ) ความผิดฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน ฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกัน และฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย ตั้งแต่มาตรา ๑๘๕ ถึงมาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๖ มาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ (ญ) ความผิดฐานปลอมดวงตรา ตั้งแต่มาตรา ๒๑๑ ถึงมาตรา ๒๑๓ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฎ) ความผิดฐานปลอมหนังสือ ตั้งแต่มาตรา ๒๒๓ ถึงมาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๙ และมาตรา ๒๓๐ ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร (ฏ) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และฐานโจรสลัด ตั้งแต่มาตรา ๒๙๗ ถึงมาตรา ๓๐๒ ๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๖๔ ๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ ๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติเขตปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๘ ๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตั้งแต่มาตรา ๔๑ ถึงมาตรา ๔๕ พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๔๕/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗
306560
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 (Update ณ วันที่ 28/04/2485)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใดๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒[๒] เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งไม่ว่าในกระทรวงทบวงการอันใด กับในการระงับปราบปราม หรือรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗ พลเมืองซึ่งได้กระทำความผิดในคดีอาญาในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาอย่างใด ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลทหารทั้งสิ้น และให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารทุกประการ แต่ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ก่อนใช้กฎอัยการศึก และศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาศัย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑ การห้ามนั้นให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมชุมกัน (๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเป็นข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เป็นการสมควรในสมัยนั้น คือห้ามมิให้มีการออกหนังสือเป็นข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้ (๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง (๔) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหาร เห็นเป็นการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ในเขตแขวงนั้นๆ การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมืองสำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕[๓] สุรินทร์/แก้ไข ๑๑/๐๒/๒๕๔๕ A+B (C) พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗ [๒] มาตรา ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
301149
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485
พระราชกำหนด พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔) อาทิตย์ ทิพอาภา ปรีดี พนมยงค์ ตราไว้ ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เห็นสมควรแก้ไขกฎอัยการศึกบางมาตรา และโดยที่มีเหตุฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ทันท่วงทีมิได้ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕” มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒ เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน” มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๑๖/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
301148
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้ นามพระราชบัญญัติ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗” ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตรา ๒ เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็น เพื่อจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในพระราชอาณาจักรนั้นแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ให้ใช้กฎอัยการศึก ในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร หรือตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใดหรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องยกเลิกทั้งสิ้น ลักษณะประกาศ มาตรา ๓ ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๔ เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๖ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งไม่ว่าในกระทรวงทบวงการอันใด กับในการระงับปราบปรามหรือรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา ๗ พลเมืองซึ่งได้กระทำความผิดในคดีอาญาในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาอย่างใด ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลทหารทั้งสิ้น และให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารทุกประการ แต่ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ก่อนใช้กฎอัยการศึก และศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตรา ๘ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ การตรวจค้น มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้ (๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาศัย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น (๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตแขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน การเกณฑ์ มาตรา ๑๐ การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง การห้าม มาตรา ๑๑ การห้ามนั้นให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมชุมกัน (๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเป็นข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เป็นการสมควรในสมัยนั้น คือห้ามมิให้มีการออกหนังสือเป็นข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้ (๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง (๔) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหาร เห็นเป็นการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ในเขตแขวงนั้น ๆ การยึด มาตรา ๑๒ บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้ การเข้าอาศัย มาตรา ๑๓ อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้ (๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น (๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง การขับไล่ มาตรา ๑๕ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา ๑๖ ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา ๑๗ ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวก และเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/-/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗
640386
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางเขตพื้นที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศดังกล่าวแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร นอกจากเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ข้อ ๒ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทยโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอสังขละบุรี (๒) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอมะขาม (๓) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และกิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ (๔) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และกิ่งอำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว (๕) จังหวัดตราด ทุกอำเภอ (๖) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง (๗) จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน (๘) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา กิ่งอำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว และกิ่งอำเภอสันติสุข อำเภอเมืองน่าน (๙) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย (๑๐) จังหวัดปราจีนบุรี เฉพาะอำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ (๑๑) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำ (๑๒) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย (๑๓) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๑๔) จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอธารโต อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา (๑๕) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว และอำเภอภูเรือ (๑๖) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ (๑๗) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๑๘) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอเมืองสตูล (๑๙) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอปราสาท และอำเภอสังขะ (๒๐)[๒] จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก (๒๑) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม อำเภอชานุมาน อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๓] พุฒิพงษ์/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๐ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔ [๒] ข้อ ๒ (๒๐) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๔๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔
None
แก้คำผิด พระบรมราชโองการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
เน„เธกเนˆเธžเธšเน€เธญเธเธชเธฒเธฃเธ—เธตเนˆเธ„เธธเธ“เธ•เน‰เธญเธ‡เธเธฒเธฃ The document that you would like to see is not found.
640300
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เวลา ๒๑.๐๕ นาฬิกา ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น บัดนี้ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงเขตพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก โดยเลิกใช้ในบางเขตพื้นที่ที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกแล้ว และให้ใช้กฎอัยการศึกเพิ่มเติมในบางเขตพื้นที่ ประกอบกับได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่สมควรแก้ไขชื่อของท้องที่ที่ยังคงประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ให้ถูกต้อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๘ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กับมาตรา ๒ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ รวมทั้งให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๒ แห่งประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นอกจากเขตพื้นที่ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี และตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี (๒) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว (๓) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพญาเม็งราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย และอำเภอเวียงแก่น (๔) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเชียงดาว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอเวียงแหง และอำเภออมก๋อย (๕) จังหวัดตราด เฉพาะอำเภอเกาะกูด อำเภอเกาะช้าง อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอเมืองตราด (๖) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอวังเจ้า และอำเภออุ้มผาง (๗) จังหวัดนราธิวาส ทุกอำเภอ (๘) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอแม่จริม และอำเภอสองแคว (๙) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอโนนดินแดง อำเภอบ้านกรวด อำเภอปะคำ และอำเภอละหานทราย (๑๐) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะตำบลสามกระทาย และตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี ตำบลเขาล้าน ตำบลนาหูกวาง ตำบลห้วยยาง และตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก ตำบลชัยเกษม ตำบลทองมงคล และตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน ตำบลช้างแรก และตำบลไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี ตำบลไร่เก่า ตำบลศาลาลัย และตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ ตำบลห้วยทราย และตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ (๑๑) จังหวัดปัตตานี ทุกอำเภอ (๑๒) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำและอำเภอภูซาง (๑๓) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย (๑๔) จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะอำเภอแก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง (๑๕) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๑๖) จังหวัดยะลา ทุกอำเภอ (๑๗) จังหวัดระนอง เฉพาะอำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์ อำเภอละอุ่น และตำบลทรายแดง ตำบลปากน้ำ และตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง (๑๘) จังหวัดราชบุรี เฉพาะอำเภอบ้านคาและอำเภอสวนผึ้ง (๑๙) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว อำเภอปากชม และอำเภอภูเรือ (๒๐) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอเบญจลักษณ์ และอำเภอภูสิงห์ (๒๑) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอละงู และตำบลเกตรี ตำบลคลองขุด ตำบลตำมะลัง และตำบลปูยู อำเภอเมืองสตูล (๒๒) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๒๓) จังหวัดสระแก้ว เฉพาะอำเภอคลองหาด อำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ (๒๔) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอพนมดงรัก อำเภอศรีณรงค์ และอำเภอสังขะ (๒๕) จังหวัดอำนาจเจริญ เฉพาะอำเภอชานุมานและอำเภอปทุมราชวงศา (๒๖) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด อำเภอบ้านโคก และอำเภอฟากท่า (๒๗) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม อำเภอนาจะหลวย อำเภอนาตาล อำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอสิรินธร ข้อ ๒ ให้ใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะตำบลเกาะสำโรง ตำบลแก่งเสี้ยน ตำบลช่องสะเดา ตำบลตลาดหญ้า ตำบลท่ามะขาม ตำบลบ้านใต้ ตำบลบ้านเหนือ ตำบลปากแพรก ตำบลวังด้ง ตำบลวังเย็น ตำบลหนองบัว และตำบลหนองหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี (๒) จังหวัดชุมพร เฉพาะอำเภอท่าแซะ (๓) จังหวัดนครพนม เฉพาะอำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอบ้านแพง และอำเภอเมืองนครพนม (๔) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และอำเภอสันติสุข (๕) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะตำบลกุยบุรี ตำบลกุยเหนือ ตำบลเขาแดง และตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี ตำบลทับสะแก และตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลธงชัย ตำบลพงศ์ประศาสน์ และตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ตำบลทรายทอง ตำบลบางสะพาน และตำบลปากแพรก อำเภอบางสะพานน้อย ตำบลเขาน้อย ตำบลปราณบุรี ตำบลปากน้ำปราณ ตำบลวังก์พง และตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี ตำบลไร่ใหม่ และตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด ตำบลทับใต้ ตำบลบึงนคร ตำบลหนองพลับ และตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน และตำบลบ่อนอก และตำบลประจวบ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ (๖) จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะอำเภอดงหลวง อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร (๗) จังหวัดระนอง เฉพาะอำเภอสุขสำราญ และตำบลเกาะพยาม ตำบลเขานิเวศน์ ตำบลบางนอน ตำบลบางริ้น ตำบลหาดส้มแป้น และตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง (๘) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอทุ่งหว้า และตำบลเกาะสาหร่าย ตำบลควนขัน ตำบลควนโพธิ์ ตำบลเจ๊ะบิลัง ตำบลฉลุง ตำบลตันหยงโป ตำบลบ้านควน และตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล (๙) จังหวัดหนองคาย เฉพาะอำเภอท่าบ่อ อำเภอบึงกาฬ อำเภอบึงโขงหลง อำเภอบุ่งคล้า อำเภอปากคาด อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม และอำเภอเมืองหนองคาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๘ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓๘/๙ มกราคม ๒๕๕๑
640312
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เวลา ๒๑.๐๕ นาฬิกา นั้น บัดนี้ สถานการณ์ในบางเขตพื้นที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร นอกจากเขตพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๒ ข้อ ๒ เขตพื้นที่ซึ่งยังคงใช้กฎอัยการศึกตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้แก่ เขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี และตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี (๒) จังหวัดกำแพงเพชร ทุกอำเภอ (๓) จังหวัดขอนแก่น ทุกอำเภอ (๔) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว (๕) จังหวัดชัยภูมิ ทุกอำเภอ (๖) จังหวัดเชียงราย ทุกอำเภอ (๗) จังหวัดเชียงใหม่ ทุกอำเภอ (๘) จังหวัดตราด เฉพาะอำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอเมืองตราด และกิ่งอำเภอเกาะกูด และกิ่งอำเภอเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ (๙) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภออุ้มผาง และกิ่งอำเภอวังเจ้า อำเภอเมืองตาก (๑๐) จังหวัดนครราชสีมา ทุกอำเภอ (๑๑) จังหวัดนราธิวาส ทุกอำเภอ (๑๒) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอแม่จริม และอำเภอสองแคว (๑๓) จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกอำเภอ (๑๔) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะตำบลสามกระทาย และตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี ตำบลเขาล้าน ตำบลนาหูกวาง ตำบลห้วยยาง และตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก ตำบลชัยเกษม ตำบลทองมงคล และตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน ตำบลช้างแรก และตำบลไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี ตำบลไร่เก่า ตำบลศาลาลัย และตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ ตำบลห้วยทราย และตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ (๑๕) จังหวัดปัตตานี ทุกอำเภอ (๑๖) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำ และกิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ (๑๗) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย (๑๘) จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะอำเภอแก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง (๑๙) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๒๐) จังหวัดมหาสารคาม ทุกอำเภอ (๒๑) จังหวัดยะลา ทุกอำเภอ (๒๒) จังหวัดราชบุรี เฉพาะอำเภอสวนผึ้ง และกิ่งอำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง (๒๓) จังหวัดร้อยเอ็ด ทุกอำเภอ (๒๔) จังหวัดระนอง เฉพาะอำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์ อำเภอละอุ่น และตำบลทรายแดง ตำบลปากน้ำ และตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง (๒๕) จังหวัดเลย ทุกอำเภอ (๒๖) จังหวัดศรีสะเกษ ทุกอำเภอ (๒๗) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอละงู และตำบลเกตรี ตำบลคลองขุด ตำบลตำมะลัง และตำบลปูยู อำเภอเมืองสตูล (๒๘) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๒๙) จังหวัดสระแก้ว เฉพาะอำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ กิ่งอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น (๓๐) จังหวัดสุรินทร์ ทุกอำเภอ (๓๑) จังหวัดหนองบัวลำภู ทุกอำเภอ (๓๒) จังหวัดอำนาจเจริญ ทุกอำเภอ (๓๓) จังหวัดอุดรธานี ทุกอำเภอ (๓๔) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด อำเภอบ้านโคก และอำเภอฟากท่า (๓๕) จังหวัดอุบลราชธานี ทุกอำเภอ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๘ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑/๒๖ มกราคม ๒๕๕๐
640314
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมควรยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและพื้นที่จังหวัดยะลา ตามประกาศพระบรมราชโองการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ ข้อ ๒ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ตามประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๘ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕๙ ก/หน้า ๑/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
640316
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ซึ่งต่อมาได้มีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่นั้น บัดนี้ สถานการณ์ในบางเขตพื้นที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกแล้ว ประกอบกับได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ สมควรแก้ไขชื่อของท้องที่ที่ยังคงประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ให้ถูกต้อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ แห่งประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ นอกจากเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ข้อ ๒ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี และตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี (๒) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว (๓) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย และอำเภอเวียงแก่น (๔) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเชียงดาว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอเวียงแหง (๕) จังหวัดตราด เฉพาะอำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ กิ่งอำเภอเกาะกูด อำเภอแหลมงอบ และกิ่งอำเภอเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ (๖) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง (๗) จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน (๘) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น อำเภอบ่อเกลือ อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา อำเภอสองแคว และอำเภอสันติสุข (๙) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอโนนดินแดง อำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย และตำบลถาวรและตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (๑๐) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำ และกิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ (๑๑) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการ (๑๒) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๑๓) จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอกาบัง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา (๑๔) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว และอำเภอภูเรือ (๑๕) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอเบญจลักษ์ และอำเภอภูสิงห์ (๑๖) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๑๗) จังหวัดสระแก้ว เฉพาะอำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ กิ่งอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น (๑๘) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ กิ่งอำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง และกิ่งอำเภอศรีณรงค์ อำเภอสังขะ (๑๙) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก (๒๐) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอน้ำยืน และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นปีที่ ๕๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง/หน้า ๑/๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
640318
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางเขตพื้นที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศดังกล่าวแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร นอกจากเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ข้อ ๒ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทยโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอสังขละบุรี (๒) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอมะขาม (๓) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และกิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ (๔) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และกิ่งอำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว (๕) จังหวัดตราด ทุกอำเภอ (๖) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง (๗) จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน (๘) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา กิ่งอำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว และกิ่งอำเภอสันติสุข อำเภอเมืองน่าน (๙) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย (๑๐) จังหวัดปราจีนบุรี เฉพาะอำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ (๑๑) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำ (๑๒) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย (๑๓) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๑๔) จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอธารโต อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา (๑๕) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว และอำเภอภูเรือ (๑๖) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ (๑๗) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๑๘) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอเมืองสตูล (๑๙) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอปราสาท และอำเภอสังขะ (๒๐) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอฟากท่า (๒๑) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม อำเภอชานุมาน อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔
316247
ประกาศพระบรมราชโองการ แก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ((20) จังหวัดอุตรดิตถ์เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก)
ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระบรมราชโองการ แก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ต่อมาได้มีประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในจังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาดและอำเภอฟากท่า แต่เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอพญาเม็งราย อำเภอพบพระ อำเภอทับคล้อ อำเภอบ้านโคก และอำเภอโพธิ์ไทร พ.ศ. ๒๕๓๐ ตั้งกิ่งอำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ทำให้อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ไม่เป็นอำเภอชายแดนและไม่มีความจำเป็นต้องคงใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๒๐) ของข้อ ๒ แห่งประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒๐) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก” ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๔๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔
640320
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นมานั้น บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางเขตพื้นที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศดังกล่าวแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และคงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในบางเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ทุกเขต (๒) จังหวัดกระบี่ เฉพาะอำเภอเมืองกระบี่ และอำเภอเกาะลันตา (๓) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอบ่อพลอย อำเภอพนมทวน และอำเภอเลาขวัญ (๔) จังหวัดกาฬสินธุ์ เฉพาะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอห้วยเม็ก นอกจากกิ่งอำเภอนามน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ (๕) จังหวัดกำแพงเพชร ทุกอำเภอ (๖) จังหวัดขอนแก่น ทุกอำเภอ (๗) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอเมืองจันทบุรี (๘) จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง และอำเภอบ้านโพธิ์ (๙) จังหวัดชลบุรี เฉพาะอำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง และอำเภอหนองใหญ่ (๑๐) จังหวัดชัยนาท ทุกอำเภอ (๑๑) จังหวัดชัยภูมิ ทุกอำเภอ (๑๒) จังหวัดชุมพร เฉพาะอำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว อำเภอสวี และอำเภอหลังสวน นอกจากกิ่งอำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี และกิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน (๑๓) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอป่าแดด อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงชัย และอำเภอเวียงป่าเป้า (๑๔) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอดอยสะเก็ต อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอสันกำแพง อำเภอสันป่าตอง อำเภอสันทราย อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภออมก๋อย และอำเภอฮอด (๑๕) จังหวัดตรัง เฉพาะอำเภอกันตัง (๑๖) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา (๑๗) จังหวัดนครนายก ทุกอำเภอ (๑๘) จังหวัดนครปฐม ทุกอำเภอ (๑๙) จังหวัดนครพนม เฉพาะอำเภอเมืองนครพนม อำเภอนาหว้า และอำเภอศรีสงคราม (๒๐) จังหวัดนครราชสีมา ทุกอำเภอ (๒๑) จังหวัดนครศรีธรรมราช เฉพาะอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอขนอม อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร (๒๒) จังหวัดนครสววรค์ ทุกอำเภอ (๒๓) จังหวัดนนทบุรี ทุกอำเภอ (๒๔) จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอตากใบ อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี (๒๕) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเมืองน่าน และอำเภอท่าวังผา นอกจากกิ่งอำเภอสันติสุข อำเภอเมืองน่าน (๒๖) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอกระสัง อำเภอคูเมือง อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอสตึก (๒๗) จังหวัดปทุมธานี ทุกอำเภอ (๒๘) จังหวัดปราจีนบุรี เฉพาะอำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอโคกปีบ อำเภอบ้านสร้าง และอำเภอศรีมหาโพธิ (๒๙) จังหวัดปัตตานี ทุกอำเภอ (๓๐) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกอำเภอ (๓๑) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอแม่ใจ (๓๒) จังหวัดพังงา เฉพาะอำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอท้ายเหมือง (๓๓) จังหวัดพัทลุง เฉพาะอำเภอเขาชัยสน และอำเภอปากพะยูน นอกจากกิ่งอำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และกิ่งอำเภอป่าบอน อำเภอปากพะยูน (๓๔) จังหวัดพิจิตร ทุกอำเภอ (๓๕) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอเนินมะปราง อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ (๓๖) จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะอำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านลาด (๓๗) จังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะอำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ และอำเภอหนองไผ่ (๓๘) จังหวัดแพร่ ทุกอำเภอ (๓๙) จังหวัดภูเก็ต ทุกอำเภอ (๔๐) จังหวัดมหาสารคาม ทุกอำเภอ (๔๑) จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะอำเภอนิคมคำสร้อย (๔๒) จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอเมืองยะลา และอำเภอรามัน (๔๓) จังหวัดยโสธร ทุกอำเภอ (๔๔) จังหวัดร้อยเอ็ด ทุกอำเภอ (๔๕) จังหวัดระยอง เฉพาะอำเภอเมืองระยอง และอำเภอบ้านค่าย นอกจากกิ่งอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง (๔๖) จังหวัดราชบุรี เฉพาะอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอวัดเพลง (๔๗) จังหวัดลพบุรี ทุกอำเภอ (๔๘) จังหวัดลำปาง ทุกอำเภอ (๔๙) จังหวัดลำพูน ทุกอำเภอ (๕๐) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเมืองเลย และอำเภอปากชม นอกจากกิ่งอำเภอนาด้วง อำเภอเมืองเลย (๕๑) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอไพรบึง อำเภอยางชุมน้อย อำเภอราษีไศล และอำเภออุทุมพรพิสัย (๕๒) จังหวัดสกลนคร เฉพาะอำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอคำตากล้า อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม อำเภอวานรนิวาส อำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว และอำเภออากาศอำนวย นอกจากกิ่งอำเภอเต่างอย และกิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมืองสกลนคร (๕๓) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอระโนด อำเภอรัตภูมิ อำเภอสทิงพระ และอำเภอหาดใหญ่ (๕๔) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอเมืองสตูล นอกจากกิ่งอำเภอควนโดน อำเภอเมืองสตูล (๕๕) จังหวัดสมุทรปราการ ทุกอำเภอ (๕๖) จังหวัดสมุทรสงคราม ทุกอำเภอ (๕๗) จังหวัดสมุทรสาคร ทุกอำเภอ (๕๘) จังหวัดสระบุรี ทุกอำเภอ (๕๙) จังหวัดสิงห์บุรี ทุกอำเภอ (๖๐) จังหวัดสุโขทัย ทุกอำเภอ (๖๑) จังหวัดสุพรรณบุรี ทุกอำเภอ (๖๒) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย อำเภอไชยา อำเภอดอนสัก อำเภอท่าฉาง อำเภอท่าชนะ และอำเภอพุนพิน (๖๓) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสนม และอำเภอสำโรงทาบ (๖๔) จังหวัดหนองคาย เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอเซกา และอำเภอพรเจริญ (๖๕) จังหวัดอ่างทอง ทุกอำเภอ (๖๖) จังหวัดอุดรธานี เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุดจับ อำเภอกุมภวาปี อำเภอโนนสัง อำเภอโนนสะอาด อำเภอบ้านดุง อำเภอเพ็ญ อำเภอหนองบัวลำภู อำเภอหนองวัวซอ และอำเภอหนองหาน (๖๗) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอตรอน อำเภอท่าปลา อำเภอพิชัย และอำเภอลับแล (๖๘) จังหวัดอุทัยธานี เฉพาะอำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอทัพทัน อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอหนองฉาง (๖๙) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอตระการพืชผล อำเภอพนา อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ ข้อ ๒ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จังหวัดกระบี่ เฉพาะอำเภอเขาพนม อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา และอำเภออ่าวลึก (๒) จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอสังขละบุรี (๓) จังหวัดกาฬสินธุ์ เฉพาะอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอคำม่วง อำเภอท่าคันโท อำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอหนองกุงศรี และกิ่งอำเภอนานม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ (๔) จังหวัดจันทบุรี เฉพาะอำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม และอำเภอแหลมสิงห์ (๕) จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต (๖) จังหวัดชลบุรี เฉพาะอำเภอบางละมุง อำเภอพนัสนิคม อำเภอศรีราชา และอำเภอสัตหีบ (๗) จังหวัดชุมพร เฉพาะอำเภอท่าแซะ อำเภอละแม กิ่งอำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี และกิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน (๘) จังหวัดเชียงราย เฉพาะอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย (๙) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย (๑๐) จังหวัดตรัง เฉพาะอำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอสิเกา และอำเภอห้วยยอด (๑๑) จังหวัดตราด ทุกอำเภอ (๑๒) จังหวัดตาก เฉพาะอำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง (๑๓) จังหวัดนครพนม เฉพาะอำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอบ้านแพง อำเภอปลาปาก และอำเภอเรณูนคร (๑๔) จังหวัดนครศรีธรรมราช เฉพาะอำเภอฉวาง อำเภอชะอวด อำเภอท่าศาลา อำเภอทุ่งสง อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอนาบอน อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสะกา และอำเภอสิชล (๑๕) จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอแว้ง และอำเภอศรีสาคร (๑๖) จังหวัดน่าน เฉพาะอำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอแม่จริม อำเภอสา และกิ่งอำเภอสันติสุข อำเภอเมืองน่าน (๑๗) จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอบ้านกรด อำเภอละหานทราย และอำเภอหนองกี่ (๑๘) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทุกอำเภอ (๑๙) จังหวัดปราจีนบุรี เฉพาะอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอตาพระยา อำเภอนาดี อำเภอประจันตคาม อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภอสระแก้ว และอำเภออรัญประเทศ (๒๐) จังหวัดพะเยา เฉพาะอำเภอเชียงคำ และอำเภอปง (๒๑) จังหวัดพังงา เฉพาะอำเภอเมืองพังงา อำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี และอำเภอทับปุด (๒๒) จังหวัดพัทลุง เฉพาะอำเภอเมืองพัทลุง อำเภอกงหรา อำเภอควนขนุน กิ่งอำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และกิ่งอำเภอป่าบอน อำเภอปากพะยูน (๒๓) จังหวัดพิษณุโลก เฉพาะอำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไชย (๒๔) จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะอำเภอเขาย้อย อำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านแหลม (๒๕) จังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก (๒๖) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ (๒๗) จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะอำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวง และอำเภอดอนตาล (๒๘) จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอธารโต อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา (๒๙) จังหวัดระนอง ทุกอำเภอ (๓๐) จังหวัดระยอง เฉพาะอำเภอแกลง อำเภอปลวกแดง และกิ่งอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง (๓๑) จังหวัดราชบุรี เฉพาะอำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ และอำเภอสวนผึ้ง (๓๒) จังหวัดเลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว อำเภอภูกระดึง อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง และกิ่งอำเภอนาด้วง อำเภอเมืองเลย (๓๓) จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะอำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษณ์ (๓๔) จังหวัดสกลนคร เฉพาะอำเภอกุดบาก กิ่งอำเภอเต่างอย และกิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมืองสกลนคร (๓๕) จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย (๓๖) จังหวัดสตูล เฉพาะอำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู และกิ่งอำเภอควนโดน อำเภอเมืองสตูล (๓๗) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอเคียนซา อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอบ้านนาสาร อำเภอพนม อำเภอพระแสง และอำเภอเวียงสระ (๓๘) จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอประสาท และอำเภอสังขะ (๓๙) จังหวัดหนองคาย เฉพาะอำเภอโซ่พิสัย อำเภอท่าบ่อ อำเภอบึงกาฬ อำเภอโพนพิสัย อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม (๔๐) จังหวัดอุดรธานี เฉพาะอำเภอนากลาง อำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ อำเภอวังสามหมอ อำเภอศรีธาตุ อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอสุวรรณคูหา (๔๑) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอฟากท่า (๔๒) จังหวัดอุทัยธานี เฉพาะอำเภอลานสัก และอำเภอบ้านไร่ (๔๓) จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะอำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม อำเภอชานุมาน อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๐๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๙ สิงหาคม ๒๕๒๗
640322
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกบางจังหวัด
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้รับประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้ใช้กฎอัยการศึกในเขตท้องที่รวม ๓๐ จังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นมานั้น บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางจังหวัดหมดความจำเป็นที่จะใช้กฎอัยการศึกตามประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึก นั้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๘๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๒ พฤษภาคม ๒๕๑๘
640324
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ เวลา ๒๐.๑๑ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางจังหวัดหมดความจำเป็นตามประกาศของคณะปฏิวัติให้ใช้กฎอัยการศึกนั้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในจังหวัด กระบี่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงใหม่ ตราด นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พิจิตร แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี คงให้ใช้กฎอัยการศึกต่อไปเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ เชียงราย ตรัง ตาก นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส น่าน หนองคาย บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ราชบุรี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๕๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๙/๑๙ มีนาคม ๒๕๑๗
320600
พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔) อาทิตย์ ทิพอาภา ปรีดี พนมยงค์ ตราไว้ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕” มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๒ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พัชรินทร์/แก้ไข ๔ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ผู้จัดทำ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณัฐพร/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๔๙/หน้า ๑๓๘๔/๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๕
725705
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้ สถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ พจนา/ผู้ตรวจ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑/๑ เมษายน ๒๕๕๘
640379
พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม พ.ศ. 2514
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ ยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหาร พิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๔ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๔” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ บรรดาคดีที่มีข้อหาในความผิดตามบัญชีท้ายประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๒ ที่ค้างพิจารณาพิพากษาและคดีที่มีข้อหาในความผิดเช่นว่านั้นที่เกิดขึ้นในหรือภายหลัง วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา จนถึงวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษาให้อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่จะพิจารณาพิพากษา มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้คดีที่การกระทำเป็นความผิดตามบัญชีท้ายประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษา คงให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่ค้างพิจารณาพิพากษาและคดีที่เกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สุกัญญา/พิมพ์ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๘/ตอนที่ ๑๐๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๘ ตุลาคม ๒๕๑๔
640326
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีการประกาศของคณะปฏิวัติให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาสถานการณ์และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เวลา ๒๑.๑๓ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางจังหวัดหมดความจำเป็นตามประกาศของคณะปฏิวัติให้ใช้กฎอัยการศึกนั้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัด คงให้ใช้กฎอัยการศึกต่อไปเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้เป็นอันเลิกใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๘/ตอนที่ ๕๗/หน้า ๓๖๕/๑ มิถุนายน ๒๕๑๔
640332
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา และต่อมาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่บางจังหวัด คงประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่บางจังหวัดนั้น บัดนี้ เหตุการณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ที่คงประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่หมดความจำเป็นตามประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดที่ยังมิได้ยกเลิกทุกจังหวัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลโท ถ. กิตติขจร นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕/ตอนที่ ๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๖/๑๐ มกราคม ๒๕๐๑
640334
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่บางจังหวัด
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่บางจังหวัด[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นมา นั้น บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบางจังหวัดหมดความจำเป็นตามประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวข้างต้นนั้นบางจังหวัด คงประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไปเฉพาะจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดชัยนาท ส่วนจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้เป็นอันเลิกใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๘๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๔ ตุลาคม ๒๕๐๐
640340
ประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่าง
ประกาศ ประกาศ ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่าง[๑] ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึก ในเขตท้องที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา แล้วนั้น พระมหากษัตริย์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างได้ตามบัญชีต่อท้ายประกาศนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วรการบัญชา รัฐมนตรี บัญชีต่อท้ายประกาศ ก. คดีที่เกี่ยวกับบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหาร เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ๒. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑. ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๓. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหาร ๓. ประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหาร ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๔. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังต่อไปนี้ (ก) ความผิดฐานประทุษร้ายแก่พระเจ้าอยู่หัว และพระราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๑ (ข) ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๑๒ ถึงมาตรา ๑๑๕ (ค) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๑๘ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ ถึงมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๗ และมาตรา ๑๒๘ (ง) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๗ ถึงมาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๖ (จ) ความผิดฐานก่อการจลาจล ตามมาตรา ๑๘๓ และมาตรา ๑๘๔ (ฉ) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และฐานโจรสลัด ตั้งแต่มาตรา ๒๙๗ ถึงมาตรา ๓๐๒ (ช) ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘/ตอนที่ ๔๓/หน้า ๙๗๒/๓ กรกฎาคม ๒๔๙๔
640338
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก[๑] ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นมานั้น บัดนี้ หมดเหตุอันจำเป็นตามประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล้ว สมควรเลิกใช้กฎอัยการศึกได้ พระมหากษัตริย์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีดังกล่าวข้างต้นนั้นเสีย ตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘/ตอนที่ ๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๖ กันยายน ๒๔๙๔
640344
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก[๑] อานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และเริ่มให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกาเป็นต้นมานั้น บัดนี้เหตุการณ์เป็นที่สงบเรียบร้อยสมควรเลิกใช้กฎอัยการศึกได้แล้ว อาศัยความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกประกาศประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรดังกล่าวข้างต้นนั้นเสีย ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เวลา ๖.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓/ตอนที่ ๗/หน้า ๖๖/๒๙ มกราคม ๒๔๘๙
640348
ประกาศ เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางประเภท ตามบทบัญญัติแห่งกฎอัยการศึก
ประกาศ ประกาศ เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา บางประเภท ตามบทบัญญัติแห่งกฎอัยการศึก[๑] ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗) ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และโดยที่ตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึก ตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินั้นทุกข้อหรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ๑. ในเขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน ลานช้าง ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังต่อไปนี้ ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑ หรือ ๒ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหารไทย หรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๗ เฉพาะที่เกี่ยวแก่ราชการทหารมาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๗ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๕๑ เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร มาตรา ๑๙๐ ถึงมาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๖ มาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ ๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ ๒. ในเขตท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนคร ธนบุรี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังต่อไปนี้ ก. คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก ๑. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม ๒. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ๓. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน ๑ หรือ ๒ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ๔. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง ๑. คดีที่เป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ๒. คดีที่มีข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ซึ่งเป็นของใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายทหารไทย หรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่ ๓. ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๙๐ ถึงมาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๖ มาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ ๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘ เวลา ๐.๐๐ นาฬิกา ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๗๖/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗
640346
ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2485
ประกาศ ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑] ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗) ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้บรรดาคดีอาญาทั่วราชอาณาจักรขึ้นศาลทหารทั้งสิ้น ต่อมาได้มีประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เกี่ยวกับเรื่องอำนาจศาล ซึ่งเห็นสมควรให้ศาลพลเรือนได้แบ่งเบาภาระไปจากศาลทหารได้ แต่บัดนี้ได้มีพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ เปลี่ยนแปลงอำนาจศาลทหารและศาลพลเรือนในเขตใช้กฎอัยการศึกเสียใหม่ คือ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างปกติ แต่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึก ตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวทุกข้อหรือแต่บางข้อและหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ และได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ แล้ว จึงสมควรยกเลิกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก เรื่องอำนาจศาล ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ นั้นเสีย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงประกาศให้ยกเลิกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก เรื่องอำนาจศาล ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๗๙/หน้า ๑๒๗๓/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗
640355
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก[๑] ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐) อาทิตย์ทิพอาภา พล.อ. พิชเยนทรโยธิน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุดร จังหวัดหนองคาย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครนายก จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด รวม ๒๔ จังหวัด เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไปนั้น บัดนี้พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นกลับคืนเข้าสู่ภาวะอันสมควรเลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๕ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้นเสีย ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘/-/หน้า ๖๖๔/๒๓ พฤษภาคม ๒๔๘๔
640353
ประกาศใช้กฎอัยการศึก
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก[๑] ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐) อาทิตย์ทิพอาภา พล.อ. พิชเยนทรโยธิน ด้วยทรงพระราชดำริว่า เนื่องจากการรุกรานของประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส ประเทศไทยต้องใช้กำลังบางส่วนป้องกันแล้วซึ่งทหาร ตำรวจ พลเรือน ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกถ้วนหน้า ต้องอุทิศกำลังกาย กำลังความคิด กำลังทรัพย์ ตลอดจนชีวิตและเลือดเนื้อ ร่วมสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสู้รบเพื่อคุ้มครองป้องกันชาติไทยให้สถิตสถาพรรุ่งเรืองเป็นอิสระภาพสงบเรียบร้อยอยู่สืบไป และในภาวะเช่นนี้มีเหตุอันจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งมีมา ดังกล่าวแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๓ และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๒ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุดร จังหวัดหนองคาย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครนายก จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘/-/หน้า ๕๔/๗ มกราคม ๒๔๘๔
640357
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก[๑] ด้วยตามที่ผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น บัดนี้เหตุการณ์เป็นที่สงบเรียบร้อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารบกได้รายงานขอเลิกใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ที่กล่าวแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ตามประกาศลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๖๕๓/๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๖
555588
ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ[๑] อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๔ซึ่งมีความว่า เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหารที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้นั้น บัดนี้ได้เกิดมีการจลาจลขึ้นในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา* ซึ่งฝ่ายทหารมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจและกำลังทหารเข้าทำการระงับปราบปรามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น จึงให้ใช้กฎอัยการศึกในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา* แต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เวลา ๑๔.๑๕ นาฬิกาเป็นต้นไป นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตำบลดุสิต จังหวัดพระนคร *ประกาศแก้ไขกำหนดเขตต์ในประกาศกฎอัยยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๒] ตามประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ กำหนดเขตท้องที่อยู่ในอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกว่า “จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ” นั้นให้แก้เสียใหม่ว่า “ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา” [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/ตอนที่ -/หน้า ๕๙๗/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ [๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/ตอนที่ -/หน้า ๕๙๘/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
555590
ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร[๑] ด้วยตามที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น ความในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ และพระธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๖๘ บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำผิดทางอาชญาอย่างใด ๆ ในท้องถิ่นที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารบก หรือศาลสนามทั้งสิ้นโดยไม่จำกัดบุคคลและให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารบกทุกประการ กับความในมาตรา ๕๙ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารบกมีว่า ถ้ามีการสงครามหรือเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกศาลทหารบกซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาแล้ว ในเวลาปกติคงเป็นไปตามเดิม แต่ในการนี้ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการศาลทหารบกจะตั้งผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการศาลทหารบกด้วยก็ได้ เพื่อสะดวกแก่การงานแผนกนี้จึงให้ศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ แยกไปทำการรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งบุคคลพลเรือนเป็นจำเลยในบัลลังก์เดิมของศาลพระราชอาชญา ถ้าที่ทำการพิจารณาไม่พอก็ขอให้บัลลังก์ศาลอื่นขยายออกอีก และให้ผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ พิจารณาพิพากษาคดีในบัลลังก์เหล่านั้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารด้วยทุกเรื่องเพื่อให้การงานเป็นไปตามความประสงค์ซึ่งกล่าวนั้น ส่วนคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในมณฑลกรุงเทพฯ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี กับคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดของมณฑลอยุธยานั้น ให้ผู้พิพากษาในศาลเหล่านั้นเป็นกรรมการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ หรือศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกอยุธยา แต่นั่งพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนั้น ๆ ณ บัลลังก์ของศาลเหล่านั้น[๒] ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บังคับการจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ และผู้บัญชาการทหารบก ประกาศแก้ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๓] พุฒิพงษ์/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๐ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๙/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ [๒] ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๖๒๐/๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๖
582608
ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ[๑] อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๔ ซึ่งมีความว่า เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหารที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้นั้น บัดนี้ได้เกิดมีการจลาจลขึ้นในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา* ซึ่งฝ่ายทหารมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจและกำลังทหารเข้าทำการระงับปราบปรามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น จึงให้ใช้กฎอัยการศึกในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา* แต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เวลา ๑๔.๑๕ นาฬิกาเป็นต้นไป นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตำบลดุสิต จังหวัดพระนคร *ประกาศแก้ไขกำหนดเขตต์ในประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๒] ตามประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ กำหนดเขตท้องที่อยู่ในอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกว่า “จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ” นั้นให้แก้เสียใหม่ว่า “ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา” ฐิติพงษ์/ผู้จัดทำ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/ตอนที่ -/หน้า ๕๙๗/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ [๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/ตอนที่ -/หน้า ๕๙๘/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
640390
ประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา[๑] อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๔ ซึ่งมีความว่า เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้นั้น บัดนี้ได้เกิดมีการจลาจลขึ้นในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ซึ่งฝ่ายทหารมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจและกำลังทหารเข้าทำการระงับปราบปรามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น จึงให้ใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา แต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เวลา ๑๔.๑๕ นาฬิกา เป็นต้นไป นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตำบลดุสิต จังหวัดพระนคร ประกาศแก้ไขกำหนดเขตในประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๒] ตามประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ กำหนดเขตท้องที่อยู่ในอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกว่า “จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ” นั้น ให้แก้เสียใหม่ว่า “ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา” พุฒิพงษ์/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๗/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ [๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๘/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
714729
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 52/2557 เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๒/๒๕๕๗ เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่[๑] เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว และลดผลกระทบจากการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ที่อยู่ในสภาวะสงบ และปราศจากการชุมนุมทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต สำหรับในพื้นที่อื่น ให้ยังคงปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ประกาศ ณ วันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๑๐๐ ง/หน้า ๔/๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
714723
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 42/2557 เรื่อง แก้ไขห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๒/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน[๑] ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามออกนอกเคหะสถาน โดยห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถานภายในเวลา ๒๒๐๐ ถึง ๐๕๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหะสถาน นั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงกำหนดแก้ไขห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน และแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ ๑. ห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถานภายในเวลา ๐๐๐๑ ถึง ๐๔๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ๒. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการรับส่งเงินและทรัพย์สินมีค่าของธนาคารให้ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยการรับส่งเงินของธนาคาร เดินทางในห้วงเวลากลางคืน และพกพาอาวุธเพื่อการประกอบธุรกิจ ๓. การปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหะสถาน ให้ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การอนุญาตให้ขนส่งสินค้าในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหะสถาน ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๒ ง/หน้า ๘/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714721
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 15 ทวิ
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๐/๒๕๕๗ เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๕ ทวิ[๑] เพื่อให้มาตรการรักษาความสงบของบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๑๕ ทวิ ดังนี้ ๑. ให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๕ ทวิ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามแบบแนบท้ายประกาศนี้อย่างเคร่งครัด ๒. บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ ๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ [เอกสารแนบท้าย] ๑. เงื่อนไขแนบท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๒ ง/หน้า ๖/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714705
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2557 เรื่อง ให้สถานศึกษาหยุดทำการ
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙/๒๕๕๗ เรื่อง ให้สถานศึกษาหยุดทำการ[๑] เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน หยุดทำการ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ - ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๘๔ ง/หน้า ๘/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714703
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2557 เรื่อง ข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหะสถาน
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ เรื่อง ข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหะสถาน[๑] ตามที่ได้มีการประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการประกอบอาชีพในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหะสถาน จึงให้ยกเว้นสำหรับบุคคลดังต่อไปนี้ ๑. ผู้ที่จะเดินทางเข้า – ออกประเทศ ๒. เจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ต้องปฏิบัติงาน หรือทำงานในสถานที่ประกอบการที่ต้องปฏิบัติงานเป็นห้วงเวลา หรือเป็นผลัด อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจการบิน เป็นต้น ๓. การเดินทางขนส่งสินค้าของกิจการห้องเย็น การนำเข้า – ส่งออกสินค้าที่มีอายุจำกัดและอาจเกิดการเสียหาย ๔. ผู้ที่มีกิจธุระจำเป็น เช่น ผู้ป่วยที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม ๕. ผู้ที่มีกิจธุระจำเป็นอื่น ๆ ให้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหารในเขตพื้นที่นั้น ๆ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๘๔ ง/หน้า ๗/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714701
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง[๑] เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ ๕ คน ขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองอยู่ในปัจจุบัน ให้เดินทางกลับภูมิลำเนา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๘๔ ง/หน้า ๖/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714699
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2557 เรื่อง ห้ามออกนอกเคหะสถาน
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามออกนอกเคหะสถาน[๑] ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ยึดอำนาจการปกครอง ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖๓๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงกำหนดมาตรการดังนี้ ๑. ห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถาน ภายในเวลา ๒๒๐๐ ถึง ๐๕๐๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ๒. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนดได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๘๔ ง/หน้า ๒/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
714697
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[๑] ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ยึดอำนาจการปกครอง ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖๓๐ เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖๓๐ เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พจนา/ผู้ตรวจ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๘๔ ง/หน้า ๑/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
707199
ประกาศ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สิ้นสุด
ประกาศ ประกาศ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อ ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สิ้นสุด[๑] ตามที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เห็นชอบให้ประกาศให้เขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีและอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยต่อมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ขยายระยะเวลาประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ต่อไป จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ การกำกับติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากกองทัพบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ เป็นต้นไป และมอบให้ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) รับผิดชอบในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖๓๐ เป็นต้นไป โดยมี ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งรายละเอียดการปฏิบัติในด้านกฎหมายและอำนาจหน้าที่ รวมทั้งพื้นที่ได้ครอบคลุมการใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว จึงหมดความจำเป็นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ในการรับผิดชอบพื้นที่นั้นต่อไป ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงออกประกาศให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศข้างต้น ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และบรรดาประกาศ ข้อกำหนด ที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศ และออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๙ ง/หน้า ๑/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707141
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 9/2557 เรื่อง ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๙/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา กับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว[๑] เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้มีการประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๓๐๐ จนสิ้นสุดการประชุมและเดินทางกลับ เฉพาะพื้นที่จัดการประชุมและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องตามประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๘/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707139
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 8/2557 เรื่อง ขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ เรื่อง ขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม[๑] ตามที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้เชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๓๓๐ ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร นั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญตามประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ เข้าร่วมประชุมหารือเพิ่มเติมในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๔๐๐ ณ สถานที่เดิม สำหรับมวลชนและผู้ให้การสนับสนุน ให้งดการเดินทางติดตามคณะบุคคลดังกล่าว โดยให้ยังคงอยู่ ณ พื้นที่ชุมนุม ตามที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยได้มีคำสั่งไว้แล้ว ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๗/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707137
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา กับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว[๑] เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้มีการประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ให้ระงับใช้กฎหมายทั้งปวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๓๐๐ จนสิ้นสุดการประชุมและเดินทางกลับ เฉพาะพื้นที่จัดการประชุมและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องตามประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๖/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707135
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 6/2557 เรื่อง ขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ เรื่อง ขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม[๑] เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเรียนเชิญคณะบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๓๓๐ ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ดังนี้ ๑. ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน ๒. ผู้แทนวุฒิสภา ประกอบด้วย รองประธานวุฒิสภาท่านที่ ๑ พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน ๓. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง ๕ ท่าน ๔. ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน ๕. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน ๖. ผู้แทน กปปส. ประกอบด้วย เลขาธิการ กปปส. พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน ๗. ผู้แทน นปช. ประกอบด้วย ประธาน นปช. พร้อมคณะอีก ๔ ท่าน สำหรับมวลชนและผู้ให้การสนับสนุน ให้งดการเดินทางติดตามคณะบุคคลดังกล่าว โดยให้ยังคงอยู่ ณ พื้นที่ชุมนุม ตามที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยได้มีคำสั่งไว้แล้ว ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๕/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707133
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง ชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง ชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ ไปแล้วนั้น กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ขอชี้แจงให้ประชาชนทราบว่ากำลังทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น เป็นผู้ปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในสภาวะสงบเรียบร้อย ทั้งนี้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกกับผู้ที่ฝ่าผืนหรือกระทำผิดอย่างเด็ดขาด ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๔/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707131
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 4/2557 เรื่อง ขอเรียนเชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม
ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๔/๒๕๕๗ เรื่อง ขอเรียนเชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม[๑] เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย เป็นไปโดยสงบสันติ ปราศจากการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเรียนเชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุม ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๔๐๐ ดังนี้ ๑. หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และผู้แทนสภาวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ตลอดจนผู้แทนภาคประชาสังคม ที่มีที่ตั้งสำนักงานในพื้นที่ภาคกลางเข้าร่วมประชุม ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ๒. ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนสภาวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และผู้แทนภาคประชาสังคม ที่มีที่ตั้งสำนักงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓. ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนสภาวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และผู้แทนภาคประชาสังคม ที่มีที่ตั้งสำนักงานในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ๔. ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนสภาวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และผู้แทนภาคประชาสังคม ที่มีที่ตั้งสำนักงานในพื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมประชุม ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๔ ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๓/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707129
ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)
ประกาศกองทัพบก ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ในทุกท้องที่ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไปแล้วนั้น เพื่อให้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการ ดังนี้ ๑. จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ดังนี้ ๑.๑ ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ๑.๒ ให้ กอ.รส. มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้ ๑.๒.๑ ป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบ เรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ ในทุกท้องที่ของประเทศ ๑.๒.๒ มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ๑.๒.๓ มีอำนาจในการเชิญบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใด เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบได้ ๒. ให้หน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ ๒.๑ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ และให้กำลังของหน่วยต่าง ๆ ตามโครงสร้างการจัด ของ ศอ.รส. (เว้น กำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) เคลื่อนย้ายกลับที่ตั้ง เพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามปกติของแต่ละหน่วย ๒.๒ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งมอบกำลังในอัตราให้ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ กอ.รส. เมื่อได้รับคำสั่ง เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๒/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707127
ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
ประกาศกองทัพบก ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก[๑] ตามสถานการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม ได้ทำการชุมนุมประท้วงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน และสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวางเป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และ มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๑/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
628193
ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๒๑.๐๕ นาฬิกา ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น บัดนี้ สถานการณ์ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๘ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ตามที่ระบุไว้ใน (๒๒) ของข้อ ๑ แห่งประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นอกจากเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอสะเดา ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๐ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๔/๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓
318464
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[๑] เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๓๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
301179
ประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่
ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระบรมราชโองการ แก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่[๑] ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ต่อมาได้มีประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้คงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในจังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาดและอำเภอฟากท่า แต่เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอพญาเม็งราย อำเภอพบพระ อำเภอทับคล้อ อำเภอบ้านโคก และอำเภอโพธิ์ไทร พ.ศ. ๒๕๓๐ ตั้งกิ่งอำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ทำให้อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ไม่เป็นอำเภอชายแดนและไม่มีความจำเป็นต้องคงใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๒๐) ของข้อ ๒ แห่งประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒๐) จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะอำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก” ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี พรพิมล/พิมพ์ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๖ อรรถชัย/สุมลรัตน์ แก้ไข ๑๗ กันยายน ๒๕๔๖ A+B+C [๑] รก.๒๕๓๔/๒๔๒/๑พ/๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔
318463
ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดให้การค้าขายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเป็นกิจการต้องห้ามในระหว่างใช้กฎอัยการศึก
ประกาศกระทรวงกลาโหม ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดให้การค้าขายตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา เป็นกิจการต้องห้ามในระหว่างใช้กฎอัยการศึก[๑] ตามที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๓๕๘/๒๑ เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ไปแล้ว นั้น บัดนี้ ทางราชการทหารมีความจำเป็นที่จะใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าขายตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ห้ามบุคคลทำการค้าขายตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงกำหนดให้การค้าขายตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา เป็นกิจการต้องห้ามในระหว่างใช้กฎอัยการศึก ส่วนการที่จะห้ามค้าขายสิ่งใดและในเขตพื้นที่ใดนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พิจารณาประกาศห้ามได้ตามที่เห็นสมควร ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ พลเรือเอก กวี สิงหะ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ทำการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๗๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๓
301174
ประกาศใช้กฎอัยการศึก
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก[๑] เพื่อรักษาสถานการณ์และความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิวัติจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ เวลา ๒๑.๑๓ นาฬิกา เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕/ตอนที่ ๘๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗/๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑
326830
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด คำสั่งกองทัพสนามที่ 38/85 28 กุมภาพันธ์ 2485 เรื่อง การยึดทรัพย์ตามกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด คำสั่งกองทัพสนามที่ ๓๘/๘๕ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ เรื่อง การยึดทรัพย์ตามกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗[๑] เนื่องจากกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒ ให้อำนาจฝ่ายทหารที่จะทำการยึดบรรดาสิ่งของ เพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงออกคำสั่งวางระเบียบปฏิบัติในเรื่องยึดทรัพย์ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การยึดเพื่อประโยชน์แก่ราชการทหารนั้น ให้กระทำต่อเมื่อไม่สามารถจะใช้วิธีเกณฑ์ได้เท่านั้น ข้อ ๒ ในการยึดไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่จะมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหารก็ตาม ให้ผู้มีตำแหน่งดังต่อไปนี้ มีอำนาจสั่งยึดได้ (ก) ผู้บังคับการมณฑลและจังหวัดทหาร มีอำนาจสั่งยึดได้ในเขตมณฑลและจังหวัดของตน แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสียก่อน เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าถ้าจะรอรับอนุญาตจะทำให้เสียผลหรือบังเกิดผลร้ายได้แล้ว จึงให้สั่งยึดได้ทันที แล้วรายงานให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทราบโดยเร็ว (ข) ผู้บังคับบัญชาทหารที่มีอำนาจสูงสุดในเขตซึ่งหน่วยทหารได้รับมอบให้ปฏิบัติการในสนามหรือทะเล มีอำนาจสั่งยึดได้ตามความจำเป็นแห่งเหตุการณ์นั้น แต่เมื่อยึดแล้ว ให้รายงานผู้บัญชาการทหารสูงสุดทราบโดยเร็ว ข้อ ๓ เมื่อจะทำการยึดทรัพย์ของผู้ใด ให้ผู้มีอำนาจสั่งยึดมีคำสั่งเป็นหนังสือถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้น ในคำสั่งนั้นให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ (ก) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารยึดโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒ (ข) ทรัพย์ที่จะยึด (ค) ยศและนามของผู้เป็นหัวหน้าไปทำการยึดในเมื่อผู้มีอำนาจสั่งยึดไม่สามารถจะไปทำการยึดด้วยตนเองได้ (ง) วันและเวลาที่ยึด (จ) ลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้สั่งยึด และเมื่อจะทำการยึดให้เจ้าหน้าที่ผู้ยึดอ่านคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ฟัง แล้วมอบคำสั่งนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์นั้นโดยให้ลงนามรับไว้เป็นสำคัญ ถ้ามีความจำเป็นซึ่งจะแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือไม่ทัน จะแจ้งคำสั่งด้วยวาจาก็ได้ แต่ต้องส่งคำสั่งเป็นหนังสือดังกล่าวไปให้โดยด่วน ในกรณีที่ไม่สามารถจะมอบคำสั่งให้แก่เจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์ ให้เจ้าหน้าที่ปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยแล้วให้ทำการยึดได้ ข้อ ๔ ถ้าผู้มีอำนาจสั่งยึดไม่สามารถจะไปทำการยึดด้วยตนเองได้ จะมอบให้ผู้อื่นไปทำการยึดแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นนายทหารสัญญาบัตร ข้อ ๕ ในการทำการยึด ให้ผู้ทำการยึดเชิญเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้น ๑ นาย ไปรับรู้ด้วย ถ้ามีความจำเป็นซึ่งไม่สามารถจะเชิญเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองได้ ให้ผู้ทำการยึดทำการยึดไปได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวทราบโดยเร็ว ข้อ ๖ ในการยึดทรัพย์ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทำบันทึกการยึดไว้โดยระบุข้อความดังต่อไปนี้ (ก) สถานที่และวันเวลาที่ยึด (ข) ทรัพย์ที่ยึดได้ (ค) กิจการที่ผู้ยึดได้ปฏิบัติในการทำการยึด (ง) เหตุการณ์ในการทำการยึด (จ) ลายมือชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำการยึด ๒ นาย เสร็จแล้วให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ถ้ามี ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานและให้ผู้ทำการยึดมอบสำเนาบันทึกนั้นแก่เจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์โดยให้ลงลายมือชื่อรับไว้เป็นสำคัญ ข้อ ๗ แม้ในเรื่องทรัพย์ที่ยึดนั้น ตามมาตรา ๑๖ แห่งกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ผู้ใดจะเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ก็ดี แต่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารถือว่าตามปกติจะต้องชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายเสมือนหนึ่งว่าได้จัดการเกณฑ์ใช้ราชการตามพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๖๔ รายใดซึ่งจะไม่ใช้ราคาหรือค่าเสียหาย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ข้อ ๘ เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดทรัพย์รายใดไว้ต่อไปแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจสั่งยึด มีคำสั่งถอนการยึด และแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นทราบ คำสั่งถอนการยึดให้เป็นไปตามความในข้อ ๓ โดยอนุโลม ข้อ ๙ การปฏิบัติการส่งมอบทรัพย์ที่ยึด ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเวลาทำการยึด ตามความในข้อ ๖ โดยอนุโลม แต่ให้เรียกบันทึกซึ่งได้มอบไว้แก่เจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์ในเวลาทำการยึดคืนด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สรัลพร/พิมพ์ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑ ฐิติพงษ์/ตรวจ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๑๕/หน้า ๖๕๒/๑๐ มีนาคม ๒๔๘๕
318459
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 4)
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๔)[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ โดยที่เห็นสมควรให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางอาญา ดังต่อไปนี้ คือ (ก) ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๗, ๑๔๗, ๑๔๘, ๑๔๙ และมาตรา ๓๓๔ (๒) (ข) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขันในส่วนที่เกี่ยวด้วยการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ฉะนั้น คดีดังกล่าวนี้ซึ่งความผิดเกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกา ให้ฟ้องให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ความผิดเกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา และได้ฟ้องไว้ต่อศาลพลเรือนก่อนวันใช้ประกาศนี้บังคับ ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๕๔/หน้า ๑๔๗๔/๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๕
301166
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 3)
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้ กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๓)[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศนี้เป็นต้นไป ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน และจังหวัดสงขลา ให้ศาลพลเรือนในจังหวัดเหล่านี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่ความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรี และพระราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๕ และความผิดอาญาดังต่อไปนี้ ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา คือ (ก) ความผิดอาญาที่พลเรือนทั้งปวงซึ่งสังกัดอยู่ในราชการทหารเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้กระทำผิดในหน้าที่ราชการหรือไม่ก็ดี และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ข) ความผิดอาญาที่ตำรวจเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้กระทำผิดในหน้าที่ราชการหรือไม่ก็ดี และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ค) ความผิดอาญาที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับผู้ที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ต้องหาด้วยกัน และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ง) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๔๖ (จ) ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๕๕ ถึงมาตรา ๑๖๒ มาตรา ๒๒๖ และมาตรา ๒๓๐ (ฉ) ความผิดอาญาอื่นใดที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพิจารณาเห็นสมควร และสั่งให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๕๔/หน้า ๑๔๗๒/๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๕
318458
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 2)
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้ กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒)[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ โดยที่เห็นสมควรให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางอาญา ดังต่อไปนี้ คือ (ก) ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ตั้งแต่มาตรา ๑๒๙ ถึงมาตรา ๑๔๖ (ข) ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘, มาตรา ๑๕๕ ถึงมาตรา ๑๖๒, มาตรา ๒๒๖ และมาตรา ๒๓๐ ฉะนั้น คดีดังกล่าวนี้ซึ่งความผิดเกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกา ให้ฟ้องให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ความผิดเกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา และได้ฟ้องไว้ต่อศาลพลเรือนแล้ว ก่อนวันใช้ประกาศนี้บังคับ จึงให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คำชี้แจง ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกา เป็นต้นมา ผู้กระทำผิดอาญาทั้งปวงย่อมถูกฟ้องยังศาลทหารตามกฎอัยการศึกทั้งสิ้น ต่อมาได้มีประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด (ฉบับที่ ๑) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังที่ระบุไว้ในประกาศนั้นได้ ซึ่งคดีเหล่านี้มีคดีความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต และคดีความผิดเกี่ยวแก่ความเท็จรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ เป็นต้นมา คดีความผิดตามประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ ๒ นี้ จึงฟ้องที่ศาลพลเรือนเรื่อยมา แต่บัดนี้ได้มีประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ ๒ นี้ สั่งให้ฟ้องคดีความผิดดังกล่าวยังศาลทหารดังเดิมอีก ประกาศนี้ได้กำหนดไว้ดังจะแยกอธิบายได้เป็นตอน ๆ ดังนี้ ๑. ความผิดดังที่ระบุไว้ในประกาศฉบับที่ ๒ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันบังคับใช้ประกาศฉบับที่ ๒ นี้เป็นต้นไป ต้องฟ้องศาลทหารทั้งสิ้น ๒. ถ้าความผิดเกิดขึ้นภายหลังวัน เวลา ประกาศ กฎอัยการศึก คือ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกา เป็นต้นมาจนบัดนี้ และต่อ ๆ ไป ถ้ายังมิได้ฟ้อง ก็ให้ฟ้องที่ศาลทหาร (มีผลย้อนหลัง) ๓. ถ้าความผิดเกิดขึ้นระหว่างภายหลังวันบังคับใช้ประกาศ ฉบับที่ ๑ คือวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ ถึงวันบังคับใช้ตามประกาศฉบับที่ ๒ นี้ ถ้าได้ฟ้องไว้ยังศาลพลเรือนก่อนวันใช้ประกาศฉบับที่ ๒ นี้บังคับแล้ว ก็เป็นอันให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไปได้จนคดีถึงที่สุด ๔. ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นภายหลังวันประกาศใช้กฎอัยการศึก (วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔) จนวันบังคับใช้ประกาศ ฉบับที่ ๑ (วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕) นั้น ย่อมต้องขึ้นศาลทหารอยู่แล้วเสมอไป นายพลอากาศตรี ภ. เกสสำลี เสนาธิการกองทัพสนาม สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๕๒/หน้า ๑๔๒๔/๔ สิงหาคม ๒๔๘๕
301165
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุดออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2485
ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกตามความในประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นั้น บัดนี้เป็นการสมควรที่จะให้ศาลพลเรือนในจังหวัดต่าง ๆ นอกจากจังหวัดพระนครและธนบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน และจังหวัดสงขลา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนั้นนับตั้งแต่วันเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศนี้เป็นต้นไปได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรี และพระราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญาตั้งแต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๕ และความผิดทางอาญาดังต่อไปนี้ ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา คือ (ก) ความผิดทางอาญาที่พลเรือนทั้งปวงซึ่งสังกัดอยู่ในราชการทหารเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้กระทำผิดในหน้าที่ราชการหรือไม่ก็ดี และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ข) ความผิดทางอาญาที่ตำรวจเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้กระทำผิดในหน้าที่ราชการหรือไม่ก็ดี และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ค) ความผิดทางอาญาที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับผู้ที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ต้องหาด้วยกัน และไม่ว่าจะได้กระทำผิดในท้องที่ใด ๆ (ง) ความผิดทางอาญาอื่นใดที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพิจารณาเห็นสมควรและสั่งให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๔๑/หน้า ๑๓๐๔/๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๕
318457
ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก
ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการใช้กฎอัยการศึก[๑] ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔) อาทิตย์ทิพอาภา ปรีดี พนมยงศ์ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ตามที่ประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาความเรียบร้อยของประชาชนไว้แล้วนั้น บัดนี้ได้พิจารณาเห็นว่า ในเรื่องอำนาจศาลนั้นสมควรให้ศาลพลเรือนได้แบ่งเบาภาระไปจากศาลทหารได้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒ ของกฎอัยการศึก ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในจังหวัดใดหรือเขตท้องที่ใดที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศกำหนดไว้ ให้ใช้มาตรา ๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ บังคับภายในเงื่อนไขดังนี้ ให้ศาลพลเรือนในจังหวัดหรือเขตท้องที่นั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรี และพระราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา แต่มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๕ หรือคดีอาญาที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพิจารณาเห็นสมควรที่จะให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาก็ให้ศาลทหารคงเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้น ข้อ ๒ เมื่อได้มีประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามความในข้อ ๑ แล้ว คดีที่ยังคงค้างพิจารณาอยู่ที่ศาลทหารก่อนวันประกาศนั้น ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป ทั้งนี้ แต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๕๑/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
301160
ประกาศแก้ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ลงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2476
ประกาศ ประกาศ แก้ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๑] ด้วยตามประกาศตั้งกรรมการศาลทหารลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ให้แก้ไขใหม่ ดังต่อไปนี้ “ด้วยตามที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น ความในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ และพระธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๖๘ บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำผิดทางอาชญาอย่างใด ๆ ในท้องถิ่นที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารบก หรือศาลสนามทั้งสิ้นโดยไม่จำกัดบุคคลและให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารบกทุกประการ กับความในมาตรา ๕๙ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารบกมีว่า ถ้ามีการสงคราม หรือเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกศาลทหารบกซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาแล้ว ในเวลาปกติคงเป็นไปตามเดิม แต่ในการนี้ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการศาลทหารบกจะตั้งผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการศาลทหารบกด้วยก็ได้ เพื่อสะดวกแก่การงานแผนกนี้จึงให้ศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ แยกไปทำการรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งบุคคลพลเรือนเป็นจำเลยในบัลลังก์เดิมของศาลพระราชอาชญา ถ้าที่ทำการพิจารณาไม่พอก็ขอให้บัลลังก์ศาลอื่นขยายออกอีก และให้ผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ พิจารณาพิพากษาคดีในบัลลังก์เหล่านั้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารด้วยทุกเรื่องเพื่อให้การงานเป็นไปตามความประสงค์ซึ่งกล่าวนั้น ส่วนคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในมณฑลกรุงเทพฯ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี กับคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดของมณฑลอยุธยานั้น ให้ผู้พิพากษาในศาลเหล่านั้นเป็นกรรมการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ หรือศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกอยุธยา แต่นั่งพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนั้น ๆ ณ บัลลังก์ของศาลเหล่านั้น” ประกาศมา ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บังคับการจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ และผู้บัญชาการทหารบก สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ พุฒิพงษ์/ตรวจ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๖๒๐/๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๖
318456
ประกาศตั้งผู้ทำการในหน้าที่อัยการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ
ประกาศ ประกาศ ตั้งผู้ทำการในหน้าที่อัยการศาลจังหวัดใหญ่ทหารบก กรุงเทพฯ[๑] ด้วยตามที่มีประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกในเขตในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น ความในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ และพระธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๖๘ บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดทางอาชญาอย่างใด ๆ ในท้องถิ่นที่ให้ใช้กฎอัยการศึกนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารบกหรือศาลสนามทั้งสิ้น โดยไม่จำกัดบุคคลและให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารบกทุกประการ เพื่อสะดวกแก่การงานแผนกนี้ จึงให้ศาลจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ แยกไปทำการรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งบุคคลพลเรือนเป็นจำเลยที่ศาลพระราชอาชญา ส่วนคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในเขตมณฑลกรุงเทพฯ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี กับคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดของมณฑลอยุธยา ได้ตั้งให้ผู้พิพากษาศาลพลเรือนในศาลเหล่านั้นทำหน้าที่กรรมการศาลจังหวัดทหารบกและตามพระธรรมนูญศาลทหารบกมาตรา ๗๕ มีความว่า ในท้องถิ่นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการศาลทหารบก อาจตั้งข้าราชการผู้ใด ๆ เป็นอัยการในศาลทหารบกหรือศาลสนามได้ตามความจำเป็น เพราะฉะนั้น ให้พนักงานอัยการในกรมอัยการและอัยการในจังหวัดเหล่านั้น กับผู้ฟังคดีในกรมตำรวจทำหน้าที่อัยการทหารบก ยื่นฟ้องและว่าคดีในศาลจังหวัดนั้น ๆ ได้ ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บังคับการจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ และผู้บัญชาการทหารบก สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๖๐๑/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
301159
ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร
ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร ประกาศตั้งกรรมการศาลทหาร[๑] ด้วยตามที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น ความในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ และพระธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๖๘ บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำผิดทางอาชญาอย่างใด ๆ ในท้องถิ่นที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารบก หรือศาลสนามทั้งสิ้น โดยไม่จำกัดบุคคลและให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารบกทุกประการกับความในมาตรา ๕๙ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารบกมีว่า ถ้ามีการสงครามหรือเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกศาลทหารบกซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาแล้ว ในเวลาปกติคงเป็นไปตามเดิม แต่ในการนี้ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการศาลทหารบกจะตั้งผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการศาลทหารบกด้วยก็ได้ เพื่อสะดวกแก่การงานแผนกนี้จึงให้ศาลจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ แยกไปทำการรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งบุคคลพลเรือนเป็นจำเลย ในบัลลังก์เดิมของศาลพระราชอาชญา ถ้าที่ทำการพิจารณาไม่พอ ก็ขอใช้บัลลังก์ศาลอื่นขยายออกอีก และให้ผู้พิพากษาฝ่ายพลเรือนเป็นกรรมการ ศาลจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ พิจารณาพิพากษาคดีในบัลลังก์เหล่านั้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารด้วยทุกเรื่อง เพื่อให้การงานเป็นไปตามความประสงค์ที่กล่าวนั้น ส่วนคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในมณฑลกรุงเทพฯ เว้นจังหวัดพระนครและธนบุรี กับคดีอาชญาที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดของมณฑลอยุธยานั้น ให้ผู้พิพากษาในศาลเหล่านั้นเป็นกรรมการศาลจังหวัดทหารบกในจังหวัดนั้น ๆ ทั้งคณะพิจารณาคดีในเขตเหล่านั้นทุกเรื่อง ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บังคับการจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ และผู้บัญชาการทหารบก สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๙/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
301158
ประกาศแก้ไขกำหนดเขตในประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2476
ประกาศ ประกาศ แก้ไขกำหนดเขตในประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๑] ตามประกาศกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ กำหนดเขตท้องที่อยู่ในอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกว่า “จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ” นั้น ให้แก้เสียใหม่ว่า “ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลอยุธยา” นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๘/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
301157
ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ
ประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ[๑] อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๔ ซึ่งมีความว่า เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้นั้น บัดนี้ได้เกิดมีการจลาจลขึ้นในจังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายทหารมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจและกำลังทหารเข้าทำการระงับปราบปรามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น จึงให้ใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพฯ แต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เวลา ๑๔.๑๕ นาฬิกา เป็นต้นไป นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตำบลดุสิต จังหวัดพระนคร สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๕๙๗/๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖
555586
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 (ฉบับ Update ล่าสุด)
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑[๑] เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา เป็นต้นไป และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บรรดาคดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน ข้อ ๒ ให้ศาลอาญาและศาลจังหวัดทุกศาลในเขตมณฑลทหารบกที่ ๑ และศาลจังหวัดทุกศาลในเขตจังหวัดทหารบกลพบุรี เป็นศาลทหารกรุงเทพ ส่วนศาลจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้ ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลทหารบกใด ให้เป็นศาลมณฑลทหารบกนั้นๆ ด้วย ศาลทหารดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วยตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ข้อ ๓[๒] ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาลเป็นตุลาการศาลทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารแห่งศาลนั้นๆ ซึ่งเป็นศาลทหารตามความในข้อ ๒ ด้วย ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค เป็นตุลาการศาลทหาร เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่กล่าวแล้ว และให้มีอำนาจนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลภายในเขตของตน ซึ่งเป็นศาลทหารตามประกาศนี้หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว ก็ให้มีอำนาจลงนามในคำพิพากษาได้ด้วย ข้อ ๔ ให้พนักงานอัยการ เป็นอัยการทหารด้วย ข้อ ๕ ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญา และสถานที่ทำการศาลจังหวัดทุกศาล เป็นที่ทำการศาลทหารตามประกาศนี้ด้วย ข้อ ๖ บรรดาคดีที่เกิดขึ้นก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ข้อ ๗ เมื่อได้มีประกาศให้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารตามประกาศนี้คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในข้อ ๑ บรรดาที่ค้างอยู่ในศาลและบรรดาที่การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อนวันเวลาเลิกใช้กฎอัยการศึก สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๓) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๔) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นอั้งยี่ ฐานเป็นซ่องโจร และการมั่วสุมประชุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ (๕) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๓๙ (๖) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานจัดหรือล่อลวงหญิงหรือเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ตั้งแต่มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓ (๗) ความผิดต่อชีวิต ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔ (๘) ความผิดต่อร่างกาย ตั้งแต่มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐ (๙)[๓] ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ตรี มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔[๔] ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ น. เป็นต้นไป [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๐/หน้าพิเศษ ๖/๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ [๒] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔ [๓] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๑ (๙) แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๒๔ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๓๐/หน้าพิเศษ ๑/๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๙
640392
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 (ฉบับ Update ล่าสุด)
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑[๑] เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา เป็นต้นไป และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บรรดาคดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน ข้อ ๒ ให้ศาลอาญาและศาลจังหวัดทุกศาลในเขตมณฑลทหารบกที่ ๑ และศาลจังหวัดทุกศาลในเขตจังหวัดทหารบกลพบุรี เป็นศาลทหารกรุงเทพ ส่วนศาลจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้ ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลทหารบกใด ให้เป็นศาลมณฑลทหารบกนั้น ๆ ด้วย ศาลทหารดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วยตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ข้อ ๓[๒] ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาลเป็นตุลาการศาลทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารแห่งศาลนั้น ๆ ซึ่งเป็นศาลทหารตามความในข้อ ๒ ด้วย ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค เป็นตุลาการศาลทหาร เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่กล่าวแล้ว และให้มีอำนาจนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลภายในเขตของตน ซึ่งเป็นศาลทหารตามประกาศนี้ หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว ก็ให้มีอำนาจลงนามในคำพิพากษาได้ด้วย ข้อ ๔ ให้พนักงานอัยการ เป็นอัยการทหารด้วย ข้อ ๕ ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญา และสถานที่ทำการศาลจังหวัดทุกศาล เป็นที่ทำการศาลทหารตามประกาศนี้ด้วย ข้อ ๖ บรรดาคดีที่เกิดขึ้นก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ข้อ ๗ เมื่อได้มีประกาศให้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารตามประกาศนี้คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในข้อ ๑ บรรดาที่ค้างอยู่ในศาลและบรรดาที่การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อนวันเวลาเลิกใช้กฎอัยการศึก สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๓) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๔)[๓] ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นอั้งยี่ และการมั่วสุมประชุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้ายหรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ เว้นความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดที่เกี่ยวกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ มาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ และมาตรา ๒๑๓ (๕)[๔] (ยกเลิก) (๖)[๕] (ยกเลิก) (๗)[๖] (ยกเลิก) (๘)[๗] (ยกเลิก) (๙)[๘] (ยกเลิก) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔[๙] ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ น. เป็นต้นไป พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๐] มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๕ คดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นซ่องหรือความผิดที่เกี่ยวกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ มาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ และมาตรา ๒๑๓ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๓๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานจัดหรือล่อลวงหญิงหรือเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ตั้งแต่มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓ ความผิดต่อชีวิต ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔ ความผิดต่อร่างกาย ตั้งแต่มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ตรี มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ บรรดาที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา จนถึงวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้คดีอาญาบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น พุฒิพงษ์/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๖/๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ [๒] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔ [๓] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๔] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๕) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๕] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๖) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๖] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๗) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๗] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๘) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๘] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๙) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๓๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๓๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๓
707195
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 15/2557 เรื่อง การใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ (เพิ่มเติม)
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๕/๒๕๕๗ เรื่อง การใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ (เพิ่มเติม)[๑] ตามที่กองอำนวยการักษาความสงบเรียบร้อยได้มีคำสั่งที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง การใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงกำหนดแนวทางการใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญให้บุคคลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้ ๑. ให้กำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำกองร้อยอาสาสมัครประจำจังหวัดและอำเภอ สามารถพกพาและใช้อาวุธสงครามในการปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้ ๒. สำหรับเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีความจำเป็น ที่ต้องพกพาและใช้อาวุธสงคราม ในการปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า นั้น ให้ขออนุมัติจากแม่ทัพภาคที่ ๔/ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ ๔ เป็นเฉพาะกรณี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๗/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707193
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 14/2557 เรื่อง การใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง การใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ ไปแล้วนั้น เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายและการใช้อาวุธสงครามในพื้นที่ชุมชน ตลอดจนเพื่อป้องกันและป้องปรามการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีอันจะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงกำหนดแนวทางการใช้อาวุธและการใช้กำลังในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้บุคคลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติดังนี้ ๑. ให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น สามารถพกพาและใช้อาวุธสงคราม เพื่อการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบ ๒. กำลังประเภทอื่น ๆ ห้ามพกพาและใช้อาวุธสงครามโดยเด็ดขาด เว้นในส่วนของกำลังตำรวจตระเวนชายแดน ที่ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองกำลังป้องกันชายแดน และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ๓. ให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ๔. ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธทุกชนิดออกจากที่ตั้งหน่วย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากแม่ทัพภาค/ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาค ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๖/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707189
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 13/2557 เรื่อง ให้กลุ่มมวลชนชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๓/๒๕๕๗ เรื่อง ให้กลุ่มมวลชนชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด[๑] ตามที่กองทัพบก ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ เป็นต้นไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่ายทั่วราชอาณาจักร ยุติการเคลื่อนย้ายมวลชนไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยให้ชุมนุมอย่างสงบในพื้นที่ ที่ได้ออกคำสั่งไว้เดิมเท่านั้น ดังนี้ ๑. กลุ่ม กปปส. และมวลชนที่สนับสนุน ให้ทำการชุมนุม ณ ถนนราชดำเนิน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ๒. กลุ่ม นปช. และมวลชนที่สนับสนุน ให้ทำการชุมนุม ณ ถนนอุทยาน ให้ แม่ทัพภาค/ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ร่วมกันดำเนินการป้องกันและระงับยับยั้ง มิให้มีการชุมนุมของกลุ่มมวลชนใด ๆ เกิดขึ้นภายในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๕/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707185
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 12/2557 เรื่อง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน[๑] เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ดังนี้ ๑. ให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบตามปกติในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การระงับเหตุร้าย การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ๒. ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ดำรงการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๔/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707179
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 11/2557 เรื่อง ให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๑/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน[๑] ตามที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน ระงับการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคม อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่ผ่านมายังมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุบางแห่งไม่ยอมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชนระงับการถ่ายทอดออกอากาศและการเผยแพร่ข่าวสารในทุกช่องทางทันที ดังนี้ ๑. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มวี ๕ ๒. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีเอ็นเอ็น ๓. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมยูดีดี ๔. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเชียอัพเดท ๕. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีแอนด์พี ๖. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโฟร์แชนแนล ๗. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย ๘. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี ๙. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์ ๑๐. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ๑๑ . สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมฮ็อตทีวี ๑๒. สถานีโทรทัศน์ว๊อยซ์ทีวี ๑๓. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเร็สคิ้ว ๑๔. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ๑๕. สถานีวิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๓/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707175
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 10/2557 เรื่อง ห้ามพกพาหรือใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑๐/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามพกพาหรือใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ ไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี และเพื่อให้เกื้อกูลต่อการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงห้ามข้าราชการ เจ้าหน้าที่พลเรือนและประชาชน พกพาหรือใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิดโดยเด็ดขาด เว้นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๒/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707173
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 9/2557 เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๙/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงาน ของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย[๑] เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ดังนี้ ๑. ห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท บรรณาธิการ พิธีกรและสื่อมวลชน เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบันทั้งในส่วนของข้าราชการและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือนและสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ทั้งนี้หากฝ่าฝืนจะถูกเรียกตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ตลอดจนระงับการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์และการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที ๒. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในโอกาสแรก ทั้งนี้หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๑/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707169
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 8/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๘/๒๕๕๗ เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์[๑] เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้หากยังคงมีการดำเนินการอยู่ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจะระงับการให้บริการโดยทันที รวมทั้งเรียกตัวผู้กระทำผิด มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑๐/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707165
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 7/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชนเพิ่มเติม
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๗/๒๕๕๗ เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชนเพิ่มเติม[๑] เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน ระงับการถ่ายทอดออกอากาศเพิ่มเติม ดังนี้ ๑. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมฮ็อตทีวี ๒. สถานีโทรทัศน์ว๊อยซ์ทีวี ๓. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเร็สคิ้ว ๔. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๙/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707159
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 6/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๖/๒๕๕๗ เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน[๑] เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ดังนี้ ๑. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มวี ๕ ๒. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีเอ็นเอ็น ๓. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมยูดีดี ๔. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเชียอัพเดท ๕. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีแอนด์พี ๖. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโฟร์แชนแนล ๗. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย ๘. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี ๙. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์ ๑๐. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ๑๑. สถานีวิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๘/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707153
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 5/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ ไปแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลเป็นที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนี้ ๑. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ๒. ผู้บัญชาการทหารเรือ ๓. ผู้บัญชาการทหารอากาศ ๔. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๗/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707149
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 3/2557 เรื่อง ห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๓/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในประเทศ[๑] ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ ไปแล้ว นั้น เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ดังนั้น จึงห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนี้ ๑. ห้ามนำเสนอข่าวสาร ทั้งในรูปแบบของเอกสาร ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุชุมชนตลอดจนการเสนอข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีเจตนาบิดเบือน ปลุกระดมให้สร้างสถานการณ์ความวุ่นวายแตกแยกหรือมีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว การเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ ๒. ห้ามแจกจ่าย จำหน่าย สิ่งพิมพ์ ที่มีการนำเสนอข้อมูล/ข่าวสาร อันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ ๑ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๖/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707147
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 2/2557 เรื่อง ให้กลุ่มมวลชนชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้กลุ่มมวลชนชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด[๑] ตามที่กองทัพบก ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓๐๐ เป็นต้นไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนย้ายมวลชนไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยให้ชุมนุมอย่างสงบในพื้นที่เดิม ดังนี้ ๑. กลุ่ม กปปส. และมวลชนที่สนับสนุน ให้ทำการชุมนุม ณ ถนนราชดำเนิน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ๒. กลุ่ม นปช. และมวลชนที่สนับสนุน ให้ทำการชุมนุม ณ ถนนอุทยาน สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๕/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707145
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 1/2557 เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงสถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน[๑] เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้อย่างต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ และ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล ดำเนินการดังนี้ ๑. ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานี ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน งดรายการประจำสถานีและให้ถ่ายทอดกระจายเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพบก เมื่อได้รับการประสาน ๒. ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงทุกสถานี ทั้งที่เป็นของทางราชการและเอกชน งดรายการประจำของสถานี และให้ถ่ายทอด ออกรายการ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เมื่อได้รับการประสาน ๓. ให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล ทุกสถานี งดรายการประจำของสถานี และให้ถ่ายทอดออกรายการ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เมื่อได้รับการประสาน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๔/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
707143
คำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ 81/2557 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)
คำสั่งกองทัพบก คำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ ๘๑/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) [๑] ตามที่ได้มีการประกาศจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไปแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ดำเนินการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ดังนี้ ๑. ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ๒. โครงสร้างการจัด : กอ.รส. ประกอบไปด้วย ๕ ส่วนงานหลัก ดังนี้ ๒.๑ ส่วนบัญชาการ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (บก.กอ.รส.) ๒.๒ ส่วนระวังป้องกัน ส่วนบัญชาการ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ๒.๓ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ (กกล.รส.ทภ. ๑, ๒, ๓ และ ๔) ๒.๔ ที่ปรึกษา ๒.๕ ส่วนงานที่จัดตั้งเพิ่มเติมตามสถานการณ์ ๓. สายการบังคับบัญชา ๓.๑ ผบ.ทบ. เป็น ผอ.รส. ๓.๒ รอง ผบ.ทบ. เป็น รอง ผอ.รส. ๓.๓ ผช. ผบ.ทบ.(๑) เป็น ผช. ผอ.รส.(๑) ๓.๔ ผช. ผบ.ทบ.(๒) เป็น ผช. ผอ.รส.(๒) ๓.๕ เสธ.ทบ. เป็น เสธ.รส. ๓.๖ รอง เสธ.ทบ.(๓) เป็น รอง เสธ.รส. ๔. ให้ กอ.รส. มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้ ๔.๑ ป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ ในทุกท้องที่ของประเทศ ๔.๒ มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ๔.๓ มีอำนาจในการเชิญบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใด เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบได้ ๔.๔ รับมอบกำลังของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ๕. หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงาน ๕.๑ บก.กอ.รส. ๕.๑.๑ ฝ่ายกำลังพล : มี จก.กพ.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายกำลังพล มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน บูรณาการ และกำกับดูแลงานด้านกำลังพล เพื่อสนับสนุนภารกิจ กอ.รส. ๕.๑.๒ ฝ่ายข่าว : มี จก.ขว.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายข่าว มีหน้าที่ในการวางแผนอำนวยการ ประสานงาน บูรณาการ และกำกับดูแลงานด้านการข่าวทั้งปวง ตลอดจนการดำเนินกรรมวิธีต่อข่าวสาร เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบของ กอ.รส. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์ ๕.๑.๓ ฝ่ายยุทธการ : มี จก.ยก.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายยุทธการ มีหน้าที่ ดังนี้ ๕.๑.๓.๑ วางแผน อำนวยการ ประสานงานและกำกับการใช้กำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่รับผิดชอบของ กอ.รส. ๕.๑.๓.๒ วางแผน อำนวยการ ประสานงานและกำกับการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อสนับสนุน กอ.รส. ๕.๑.๔ ฝ่ายส่งกำลังบำรุง : มี จก.กบ.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุง มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน บูรณาการ และกำกับดูแลงานด้านส่งกำลังบำรุง เพื่อสนับสนุนภารกิจ กอ.รส. ๕.๑.๕ ฝ่ายกิจการพลเรือน : มี จก.กร.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงานและกำกับการปฏิบัติงานกิจการพลเรือน งาน ปจว./ปชส. เพื่อสนับสนุน กอ.รส. ๕.๑.๖ ฝ่ายงบประมาณ : มี ปช.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายงบประมาณ มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน และกำกับการปฏิบัติงานด้านงบประมาณทั้งปวงให้แก่ กอ.รส. ๕.๑.๗ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : มี ลก.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน และกำกับการปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ทั้งปวงตลอดจนจัดการประชุมให้แก่ กอ.รส. ๕.๑.๘ ฝ่ายกฎหมาย : มี ผอ.สธน.ทบ. เป็น หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน และกำกับการปฏิบัติงานด้านกฎหมายทั้งปวงให้แก่ กอ.รส. ๕.๒ ส่วนระวังป้องกัน บก.กอ.รส. : รับผิดชอบจัดการระวังป้องกันที่ตั้ง บก.กอ.รส. ให้ปลอดภัยจากการก่อวินาศกรรม การจารกรรม รวมทั้งการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายจากบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีต่าง ๆ ๕.๓ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ (กกล.รส.ทภ.๑, ๒, ๓ และ ๔) : มี มทภ.๑, ๒, ๓ และ ๔ เป็น ผบ.กกล.รส.ทภ.๑, ๒, ๓ และ ๔ ตามลำดับ มีหน้าที่ในการใช้กำลัง พลเรือน ตำรวจ และทหารในการป้องกัน ระงับ/ยับยั้งเหตุการณ์ความรุนแรง การรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่รับผิดชอบ ๕.๔ ที่ปรึกษา กอ.รส. : มีหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะแก่ กอ.รส. หรือตามที่ ผอ.รส. มอบหมาย ๖. ที่ตั้งของ บก.กอ.รส. ๖.๑ ที่ปฏิบัติงานหลัก : กรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ (ร.๑ รอ.) ๖.๒ ที่ปฏิบัติงานสำรอง : กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ (ร.๑๑ รอ.) และกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๙๘ ง/หน้า ๑/๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
640368
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2523
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นปีที่ ๓๕ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๓” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นอั้งยี่ และการมั่วสุมประชุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้ายหรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ เว้นความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดที่เกี่ยวกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ มาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ และมาตรา ๒๑๓” มาตรา ๔ ให้ยกเลิก (๕) (๖) (๗) และ (๘) ของบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และ (๙) ของบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๕ คดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นซ่องโจรหรือความผิดที่เกี่ยวกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ มาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ และมาตรา ๒๑๓ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๓๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานจัดหรือล่อลวงหญิงหรือเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ตั้งแต่มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓ ความผิดต่อชีวิต ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔ ความผิดต่อร่างกาย ตั้งแต่มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ตรี มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ บรรดาที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา จนถึงวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้คดีอาญาบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น พัชรินทร์/แก้ไข ๕ มกราคม ๒๕๔๘ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๓๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๓
640396
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 (ฉบับ Update ณ วันที่ 17/10/2519)
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑[๑] เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา เป็นต้นไป และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บรรดาคดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน ข้อ ๒ ให้ศาลอาญาและศาลจังหวัดทุกศาลในเขตมณฑลทหารบกที่ ๑ และศาลจังหวัดทุกศาลในเขตจังหวัดทหารบกลพบุรี เป็นศาลทหารกรุงเทพ ส่วนศาลจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้ ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลทหารบกใด ให้เป็นศาลมณฑลทหารบกนั้น ๆ ด้วย ศาลทหารดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วยตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ข้อ ๓[๒] ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาลเป็นตุลาการศาลทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารแห่งศาลนั้นๆ ซึ่งเป็นศาลทหารตามความในข้อ ๒ ด้วย ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค เป็นตุลาการศาลทหาร เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่กล่าวแล้ว และให้มีอำนาจนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลภายในเขตของตน ซึ่งเป็นศาลทหารตามประกาศนี้หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว ก็ให้มีอำนาจลงนามในคำพิพากษาได้ด้วย ข้อ ๔ ให้พนักงานอัยการ เป็นอัยการทหารด้วย ข้อ ๕ ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญา และสถานที่ทำการศาลจังหวัดทุกศาล เป็นที่ทำการศาลทหารตามประกาศนี้ด้วย ข้อ ๖ บรรดาคดีที่เกิดขึ้นก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ข้อ ๗ เมื่อได้มีประกาศให้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารตามประกาศนี้คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในข้อ ๑ บรรดาที่ค้างอยู่ในศาลและบรรดาที่การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อนวันเวลาเลิกใช้กฎอัยการศึก สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๓) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕ (๔) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นอั้งยี่ ฐานเป็นซ่องโจร และการมั่วสุมประชุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ (๕) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๓๙ (๖) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานจัดหรือล่อลวงหญิงหรือเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ตั้งแต่มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓ (๗) ความผิดต่อชีวิต ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔ (๘) ความผิดต่อร่างกาย ตั้งแต่มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐ (๙)[๓] ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ตรี มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔[๔] ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ น. เป็นต้นไป จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๖/๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ [๒] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔ [๓] บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๑ (๙) แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๒๔ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๓๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๙
555465
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 24
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒๔[๑] เนื่องจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓ มิได้กำหนดตำแหน่ง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไว้ ให้เป็นตุลาการศาลทหาร และเห็นสมควรเพิ่มเติมความผิดตามบัญชีท้ายคำสั่งดังกล่าวด้วย จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๓ ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาลเป็นตุลาการศาลทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารแห่งศาลนั้น ๆ ซึ่งเป็นศาลทหารตามความในข้อ ๒ ด้วย” ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค เป็นตุลาการศาลทหาร เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่กล่าวแล้ว และให้มีอำนาจนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลภายในเขตของตน ซึ่งเป็นศาลทหารตามประกาศนี้หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว ก็ให้มีอำนาจลงนามในคำพิพากษาได้ด้วย ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๙) ของบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (๙) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ตรี มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ น. เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ พุฒิพงษ์/ตรวจ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๓๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๙
301185
คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 732/2519 เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก
คำสั่งกระทรวงกลาโหม คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๗๓๒/๒๕๑๙ เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก[๑] ตามที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา เป็นต้นไปแล้ว นั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกเกี่ยวกับการยุทธ การระงับ การปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่ ฉะนั้น จึงกำหนดเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ๑. ให้ยกเลิกคำสั่งกองบัญชาการทหารสูงสุด ลับมาก ที่ ๑๙๔/๒๕๑๙ เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๙ และคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ ๓๖/๒๕๑๙ เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ๒. ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ทั่วราชอาณาจักรและให้ใช้อำนาจทุกประการที่มีอยู่ตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทั่วราชอาณาจักร ๓. ให้แม่ทัพกองทัพภาคทุกภาค เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ในเขตกองทัพภาค และให้ใช้อำนาจทุกประการที่มีอยู่ตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ภายในเขตกองทัพภาคนั้น ๆ ๔. การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ เฉพาะการเกณฑ์นั้น หากมีความจำเป็นต้องกระทำให้รายงานขออนุมัติต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดก่อน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะดำเนินการได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกา เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙ พลเรือเอก จิตต์ สังขดุลย์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ นฤดล/ตรวจ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๓๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕/๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๙