title
stringlengths
10
260
context
stringlengths
29
179k
url
stringlengths
0
53
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-งานแถลงข่าวการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 งานแถลงข่าวการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ งานแถลงข่าวการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการฉวยโอกาสโก่งราคาสินค้าตามโครงการคนละครึ่งและเราชนะ ตามที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้พาณิชย์ทุกจังหวัดลงพื้นที่ตรวจตราราคาสินค้าโดยเข้มงวด ป้องปรามไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะร้านค้าในโครงการของรัฐบาล นายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวง เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการสั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการกำกับดูแล ไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร และปิดป้ายแสดงสินค้าให้ชัดเจน ตาม พรบ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรวจติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเราชนะ คนละครึ่ง รวมถึงร้านธงฟ้าประชารัฐ อย่างใกล้ชิด พร้อมชี้แจงสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตาม พรบ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ให้มีการปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน ตรวจสอบการจำหน่าย และป้องปรามการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแพงเกินสมควร กรณีมีข้อร้องเรียนการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด และรายงานผลให้กระทรวงฯ ทราบทันที เพื่อให้เป็นที่รับรู้แก่ประชาชนทั่วไป ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดประชาสัมพันธ์การดำเนินการ โดยเน้นการป้องปรามการกระทำความผิดของร้านค้า หากพบหลักฐานว่าร้านค้าใดจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 29 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบการกระทำความผิดให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39392
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.กห.สหรัฐฯหารือสานต่อความร่วมมือทางทหาร พร้อมชื่มชมไทยรับมือกับสถานการณ์ COVID-19
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.กห.สหรัฐฯหารือสานต่อความร่วมมือทางทหาร พร้อมชื่มชมไทยรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า เมื่อ 23 ก.พ.64, 1900 (เวลาประเทศไทย) พล.อ. Lloyd Austin (ลอยด์ ออสติน) รมว.กห.สหรัฐฯ ได้หารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.และรมว.กห.ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกล ณ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายได้ชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันที่มีมายาวนาน ในฐานะไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาค พร้อมทั้งได้หารือสานต่อความร่วมมือทางทหารและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน พล.อ. Lloyd Austin ได้กล่าวชื่นชมไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้เป็นอย่างดี พร้อมกล่าวว่าไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคและขอให้ไทยใช้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ในภูมิภาค โดยสหรัฐฯยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม และพร้อมให้การสนับสนุนไทย และได้กล่าวขอบคุณ กห.ที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือทางทหารที่ผ่านมา โดยเฉพาะการฝึก Cobra Gold และยินดีให้การสนับสนุนการฝึก การศึกษาทางทหาร รวมทั้งความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพไปด้วยกัน พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ พล.อ. Lloyd และขอบคุณ สหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนทางทหารและการแก้ปัญหา COVID-19 ที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าไทย ยึดมั่นในกฎบัตรอาเซียนและวิถีประชาธิปไตยและสนับสนุนการแก้ปัญหาในภูมิภาคตามหลักสันติวิธี โดยพร้อมที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกด้านกับสหรัฐให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และพร้อมสนับสนุนสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาในภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความสงบมั่นคงและประโยชน์ของภูมิภาคร่วมกัน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39356
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงยุติธรรม ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงยุติธรรม ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ในวันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๑๐ - ๐๑ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงการประเมินของกองทุนยุติธรรมประจำปีบัญชี ๒๕๖๔รายงานผลการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา พร้อมนี้ ได้พิจารณา (ร่าง) รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ของกองทุนยุติธรรม ตลอดจนพิจารณาแผนการบริหารความเสี่ยงประจำปี ๒๕๖๔ และคู่มือการบริหารความเสี่ยง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39379
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รฟม. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ณ อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ในวันนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในการนี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ในรูปแบบสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM ซึ่งเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565 ในขณะเดียวกัน รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี พบว่า โครงการฯ ดังกล่าวนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT–01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT–02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คน/เที่ยว/วัน ทั้งนี้ รฟม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ จะติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ทั้งยังเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ให้สามารถเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกัน และบรรเทาปัญหาจราจรในภาพรวมได้ ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39370
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 คกก.บริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีมติเห็นชอบขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 4,990.435 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยแก่เกษตรกรชาวสวนยางในงวดที่ 5 – 6 นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,834,087 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 419,060 ราย และ คนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 272,733 ราย โดยได้กำหนดระยะเวลาการชดเชยรายได้จำนวน 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2563 ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2563 ครั้งที่ 3 เดือนธันวาคม 2563 ครั้งที่ เดือนมกราคม 2564 ครั้งที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และครั้งที่ 6 เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะมีการจ่ายเงินในเดือนถัดไปในแต่ละครั้ง สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการสั่งจ่ายเงินไปแล้ว ในงวดที่ 1 – 4 จำนวน 9,333.321 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. 64) คิดเป็นร้อยละ 96.04 ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. อนุมัติ (9,717.995 ล้านบาท) และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคายางพารามีความผันผวนไม่สอดคล้องกับราคายางที่คาดการณ์ ณ ช่วงเวลาที่จัดทำโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการคำนวณประเมินสถานการณ์ราคายาง ณ ปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการชดเชยส่วนต่างราคาประกันในงวดที่ 5 – 6 วงเงินงบประมาณ 5,265.295 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติเบื้องต้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 4,990.435 ล้านบาท (แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 4,880.621 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 109.814 ล้านบาท)
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39374
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กสร.จับมือสมาคมความปลอดภัยฯ ฝึกฟรีเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย มุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กสร.จับมือสมาคมความปลอดภัยฯ ฝึกฟรีเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย มุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ฟรีของขวัญปีใหม่ 2564 จากกระทรวงแรงงาน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (SHAWPAT CSR) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุมเกวลินสฤษดิ์ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายที่มุ่งพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จึงมอบของขวัญปีใหม่ 2564 ภายใต้แคมเปญ “ฝึกฟรี มีทักษะ ชนะอุบัติภัย ใส่ใจแรงงาน” โดยมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดฝึกอบรมในหลักสูตร “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร” ไม่เรียกเก็บค่าบริการ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายให้สถานประกอบกิจการ ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมป์ฯ เป็นหน่วยฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯ ได้ให้ความร่วมมือจัดอบรมฟรี เพื่อสอดรับกับแนวนโยบายดังกล่าว อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า การอบรมในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ลูกจ้าง นายจ้าง จำนวน 45 คน ระยะเวลาการฝึกอบรมรวม 12 ชั่วโมง มีเนื้อหาหมวดวิชาการบริหารงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวดวิชากฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และหมวดวิชาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน และนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงานลงหรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้เข้ารับการอบรม เพื่อนร่วมงาน สถานประกอบกิจการและประเทศสืบไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39397
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-เปิดให้ยื่นเปลี่ยน รพ.ประกันสังคมได้ถึง 31 มี.ค. นี้
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดให้ยื่นเปลี่ยน รพ.ประกันสังคมได้ถึง 31 มี.ค. นี้ ... ผู้ประกันตน ที่ใช้สิทธิประกันสังคมฟังทางนี้ สำนักงานประกันสังคม เปิดให้ผู้ประกันตน สามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลประจำปี 2564 ได้ . ด้วยเหตุจำเป็นไม่ได้รับความสะดวก ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ย้ายที่พักอาศัย ย้ายสถานที่ทำงาน เป็นต้น . สามารถแจ้งเปลี่ยนด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือทำรายการผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมwww.sso.go.th และแอปพลิเคชัน ของสำนักงานประกันสังคม ได้ตั้งแต่บัดนี้ - 31 มี.ค. 64 . หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39366
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-เคาะ! สินเชื่อ “มีที่ มีเงิน” ช่วย SMEs ท่องเที่ยว
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เคาะ! สินเชื่อ “มีที่ มีเงิน” ช่วย SMEs ท่องเที่ยว ... ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว รัฐบาลออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “มีที่ มีเงิน” เปิดโอกาสให้ SMEs ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว นำที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างที่มีโฉนด แปลงเป็นเงินสดได้ . ใช้เพียงโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบเครดิตบูโร ยื่นกู้กับ ธ.ออมสิน โดยให้วงเงินสูงสุด 70% จากราคาประเมิน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล . กำหนดระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.1% ในปีแรก โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้ - 30 มิ.ย. 64 . สามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ที่www.gsb.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ออมสิน โทร. 1115 #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39360
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ถาม - ตอบ นายกรัฐมนตรี จากเวทีอภิปรายฯ 18 – 19 ก.พ. 64
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ถาม - ตอบ นายกรัฐมนตรี จากเวทีอภิปรายฯ 18 – 19 ก.พ. 64 ... Q : รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน? A : เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าดำรงตำแหน่งได้เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อนหน้า โดยอาจมีการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดที่เชื่อใจได้เข้ามาแก้ปัญหาโดยเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลับมาใช้กลไกปกติ นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงประธานการประชุมรับฟังทุกหน่วยงานและอนุมัติในหลักการ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ต้องการแสวงหาประโยชน์ ไม่ชอบการคดโกง . Q : นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ตร. แต่งตั้งไม่โปร่งใส เรียกรับผลประโยชน์? A : นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. ทำงานผ่านคณะกรรมการ และข้อเสนอที่คัดกรองมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2547 และยินดีเปิดกว้างให้ข้าราชการตำรวจร้องเรียนต่อศาลปกครองได้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม . Q : นายกรัฐมนตรีปล่อยให้บรรจุตำรวจสัญญาบัตร 400 คนในปี 2562 โดยไม่มีการสอบแข่งขัน? A : การบรรจุแต่งตั้งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี แต่ละปีใช้หลักเกณฑ์ 1. รับจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 300 นาย 2.สอบเลื่อนระดับจากชั้นประทวน 200 นาย 3. สอบคัดเลือกบุคคลภายนอก 200 นาย 4. แต่งตั้งจากวุฒิที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ 200 นาย 5. แต่งตั้งทายาทตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 100 นาย Q : นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด กรณีการเจรจาซื้อขายผ่านระบบ G to G A : นายกรัฐมนตรียืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตตามที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของกิจการเอง โดยการซื้อขายระบบ G to G คือการรับรองว่า ได้ซื้อขายจากบริษัทที่รัฐบาลรับรอง กรณีการจัดซื้อรถบัสของกองทัพบก เป็นการดำเนินงานของกองทัพซึ่งผ่านการอนุมัติงบประมาณ 2 ระยะ และกำหนดกรอบ TOR ตามวัตถุประสงค์และการบริหารงานภายในของหน่วยงาน ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย . Q : มีการใช้จ่ายงบกลางที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้? A : รัฐบาลใช้งบกลาง โดยผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้จ่ายในกรณีเร่งด่วนจำเป็น ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนงานประจำปี การกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานอาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายได้ #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39357
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ตั้ง “คลินิกเพื่อผู้สูงอายุ” วันอาทิตย์
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ตั้ง “คลินิกเพื่อผู้สูงอายุ” วันอาทิตย์ ... ปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ดังนั้น การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ . “คลินิกพิเศษเฉพาะทางโรคผู้สูงอายุ” วันอาทิตย์ เป็นทางเลือกที่ภาครัฐริเริ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต . ระยะแรก จะเปิดให้บริการนำร่อง ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี ก่อนขยายไปทั่วประเทศในเดือน เม.ย. 64 นี้ . บริการทางการแพทย์มีหลายอย่าง เช่น ตรวจรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ระบบปัสสาวะ เจ็บป่วยทั่วไป การผ่าตัด ฯลฯ . คลินิกพิเศษนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสูงอายุและญาติมิตร มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์พยาบาลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39365
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ขึ้นทะเบียนวัคซีน "ซิโนแวค” แล้ว
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ขึ้นทะเบียนวัคซีน "ซิโนแวค” แล้ว ... เป็นข่าวที่น่ายินดี “วัคซีนซิโนแวค” ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เป็นที่เรียบร้อย โดยเมื่อผ่านการรับรองแล้วก็สามารถนำไปฉีด ให้กับประชาชนในประเทศได้ . ในวันพรุ่งนี้ วัคซีนซิโนแวคล็อตแรก 200,000 โดส จะเดินทางมาถึงประเทศไทย เวลาประมาณ 09.45 น. ด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) TG 675 เส้นทางปักกิ่ง - กรุงเทพฯ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ . สำหรับวัคซีนล็อตสอง 8 แสนโดส และล็อตสาม 1 ล้านโดส จะทยอยตามมา ในเดือน มี.ค. - เม.ย. และส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับ ฉีดในเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39368
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ไขข้อข้องใจ ธ.กรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่?
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ไขข้อข้องใจ ธ.กรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่? ... เดิมธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ต่อมา มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เข้าถือหุ้นของธนาคารกรุงไทย มากกว่าร้อยละ 50 จึงทำให้ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ . อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ธนาคารกรุงไทยเข้าลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การตีความจึงขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์หรือนิยามของกฎหมายแต่ละฉบับ #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39359
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ลุย! จ้างงานใน 4,009 ตำบล สร้างกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ลุย! จ้างงานใน 4,009 ตำบล สร้างกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ... โครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เปิดรับเกษตรกรที่อยากพัฒนาอาชีพตนเอง ให้เป็นการเกษตรแบบยั่งยืน คุ้มค่า และใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ . โดยรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกร จาก 4,009 ตำบล 75 จังหวัด ตำบลละ 2 รายขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ราย รวมแล้ว 32,000 ราย ทั่วประเทศ . และจ้างงานแรงงาน ตำบลละ 1 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 25 คน รวมเป็น 16,000 คน เพื่อช่วยดำเนินงานโครงการ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท . เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการฝึกอบรม ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สำคัญคือ กรมพัฒนาที่ดิน จะไปขุดบ่อเก็บน้ำให้ ช่วยปรับปรุงดิน และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พืช สัตว์ ประมง . ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว เป็น เกษตรกร 20,583 ราย โดยยังเปิดรับสมัครจนถึงสิ้น มี.ค.64 ส่วนแรงงานสมัครครบตามจำนวนแล้ว . เกษตรกรที่สนใจ สมัครได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือที่https://ntag.moac.go.th/ #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39386
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ไฟเขียว ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่ม 13 สาขาอาชีพ ‘ช่าง’
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ไฟเขียว ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่ม 13 สาขาอาชีพ ‘ช่าง’ ... เคาะแล้ว กับการกำหนดเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ '3 กลุ่มแรงงาน 13 สาขาอาชีพ' ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. แล้ว . 3 กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย 1. กลุ่มช่างอุตสาหการ ได้แก่ • ช่างกลึง อัตราค่าจ้าง 460 - 630 บาท/วัน • ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC อัตราค่าจ้าง 470 - 675 บาท/วัน • ช่างควบคุมเครื่อง Wire Cut อัตราค่าจ้าง 480 บาท/วัน • ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ อัตราค่าจ้าง 465 - 630 บาท/วัน . 2. กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ได้แก่ • ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร อัตราค่าจ้าง 450 บาท/วัน • ช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม) อัตราค่าจ้าง 450 บาท/วัน • ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (PLC) อัตราค่าจ้าง 450 - 540 บาท/วัน • ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม และการแสดงสินค้า (MICE) อัตราค่าจ้าง 440 บาท/วัน • ช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อัตราค่าจ้าง 450 บาท/วัน . 3. กลุ่มช่างเครื่องกล ได้แก่ • พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า อัตราค่าจ้าง 430 บาท/วัน • พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์ อัตราค่าจ้าง 430 บาท/วัน • ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์ อัตราค่าจ้าง 415 บาท/วัน • ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ อัตราค่าจ้าง 415 บาท/วัน . ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับ ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39362
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.ยุติธรรม​ เป็นสักขีพยานรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดชนิดพกพาจาก UNODC เผยเครื่องใหม่ช่วยให้ผลตรวจแม่นยำขึ้น เสริมแกร่งการตรวจสารเคมีและสารตั้งต้น
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.ยุติธรรม​ เป็นสักขีพยานรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดชนิดพกพาจาก UNODC เผยเครื่องใหม่ช่วยให้ผลตรวจแม่นยำขึ้น เสริมแกร่งการตรวจสารเคมีและสารตั้งต้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีโดยใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา จาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีโดยใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา จาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทดสอบสารต้องสงสัยในภาคสนาม ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) และนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนจาก UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ยาเสพติด สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ปปส. กรุงเทพมหานคร (ทุ่งสองห้อง) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การส่งมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีชนิดพกพาในครั้งนี้ เป็นไปตามแผน ที่จะเพิ่มศักยภาพในการตอบโต้ผู้ผลิตยาเสพติดที่ได้มีการพัฒนาการผลิตยาเสพติด โดยเปลี่ยนแปลงจากยาเสพติดจากพืช มาเป็นยาเสพติดสังเคราะห์ โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) นำเอาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาช่วยในการทดสอบสารเสพติดและสารเคมี ซึ่งอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา ทาง UNODC ได้มอบให้สำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน ๒ เครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเสริมประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบลำเลียงเข้ามาตามแนวชายแดน และเพื่อใช้ในการตรวจสารเสพติดและสารเคมีที่ลักลอบนำเข้ามาทาง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า “ขอขอบคุณ UNODC อีกครั้งสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น การบูรณาการความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีระดับประเทศและระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมการทำงานให้กันอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. และ UNODC หลังจากนี้จะพัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค โดยจะสนับสนุนการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เน้นความร่วมมือในหลายมิติ อาทิ การควบคุมชายแดนเพื่อต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดข้ามชาติ การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี และเว็บลับ การลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล การศึกษาวิจัยสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาค ตลอดจนการป้องกันการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เป็นต้น”
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39380
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2564
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2564 เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาลดลงที่ร้อยละ -46.9 และ -6.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงร้อยละ -7.8 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่ภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาลดลงร้อยละ -5.4 ต่อปี ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัวร้อยละ 345.1 และ 50.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.3 และ 9.9 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผู้ส่งออกประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 7,649 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะฟินเเลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เเละเดนมาร์ก นอกจากนี้บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 52.1 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 256.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39390
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกรัฐมนตรีรับ “วัคซีนโควิด 19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” ล็อตแรก 2 แสนโดส
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีรับ “วัคซีนโควิด 19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” ล็อตแรก 2 แสนโดส นายกรัฐมนตรีรับวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก 2 แสนโดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย พร้อมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม นายกรัฐมนตรีรับวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก 2 แสนโดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย พร้อมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็วที่สุด หลังผ่านการตรวจมาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับวัคซีนโควิด 19 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด 19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” ที่ขนส่งโดยการบินไทยเที่ยวบิน TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารของ ทุกหน่วยงาน เข้าร่วมในพิธี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ วัคซีนล็อตแรกที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมจัดหาเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโด๊ส รองรับการระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัท Astra Zeneca โดยวัคซีนล็อตนี้ เกิดจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การประสานงานจัดหา โดยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกระจายไปสู่ประชาชน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และในเดือนมิถุนายนจะได้รับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยโดยสมัครใจ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ฟื้นเศรษฐกิจ คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค ที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรกจำนวน 200,000 โดส เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยศุลกากร เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด 19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด สำหรับวัคซีนงวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือนมีนาคม และงวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนี้ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และจะจัดส่งกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการจัดส่งและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดสนั้น จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า/เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนนี้ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด ที่ผ่านมาซิโนแวคเคยผลิตวัคซีนมาแล้วหลายตัว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) วัคซีนตัวนี้ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด 19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย วัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ วัคซีนดังกล่าวได้มีการศึกษาในคนระยะที่ 1, 2 และ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีการรายงานผลว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโควิด-19 ทำให้ในปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในการฉีดวัคซีนโควิด 19 “CoronaVac” คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีข้อแนะนำ ว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนแต่ละเข็มเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรระวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 สลับชนิดกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มควรเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน ******************************************** 24 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39372
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นฤมล เยือนสุพรรณ ดันกลุ่มเปราะบาง สร้างอาชีพ-รายได้
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นฤมล เยือนสุพรรณ ดันกลุ่มเปราะบาง สร้างอาชีพ-รายได้ รมช.แรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ขับเคลื่อนการพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มเปราะบาง เยี่ยมชมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อคนไทยมีงานทำ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อปิดการฝึกอบรมและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ) เยี่ยมชมนวัตกรรมผลงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี (สพร. 2 สุพรรณบุรี) ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของคนพิการหนองหญ้าไทร อ.หนองหญ้าไทร จ.สุพรรณบุรี พร้อมทั้งติดตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. แปรรูปผลิตภัณฑ์แห้ว ณ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์แห้ว ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ” นั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ดำเนินการภารกิจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มมีทักษะ มีอาชีพ เพื่อให้ในระยะยาวของแรงงานและครอบครัวสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง เป็นแรงงานคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ ได้เดินทางไปยังกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. แปรรูปผลิตภัณฑ์แห้ว ซึ่งมีโอกาสได้เยี่ยมชมวิธีและขั้นตอนการเก็บหัวแห้วรวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์แห้ว ซึ่งเป็นการติดตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของคนพิการหนองหญ้าไซ เยี่ยมชมผลงานของ สพร.2 สุพรรณบุรี ประกอบด้วย ชุดฝึกภาคปฏิบัติการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ ได้รับรางวัลบริการภาครัฐประจำปี พ.ศ.2563 และพัฒนาการบริการ ระดับดี ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องเพิ่มค่าออกซิเจนในพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมการฝึกโครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สาขาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสาขาการทำภาชนะด้วยวัสดุธรรมชาติโดยการอัดขึ้นรูปจากความร้อน ชมสาธิตอาชีพของคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การทอผ้าซาโฮริ การทำสบู่นมแพะ การทำไม้กวาดทางมะพร้าว การทำขนมฝอยทอง บูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ และสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแห้ว ตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานของกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. รวมถึงมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ) สาขาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสาขาการทำภาชนะด้วยวัสดุธรรมชาติโดยการอัดขึ้นรูปจากความร้อน จำนวน 40 คน “ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องแรงงานทุกกลุ่ม ในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะ มีอาชีพ และมีรายได้ที่ยั่งยืน สามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า กพร. จะยังคงดำเนินภารกิจตามนโยบายอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานทุกกลุ่มสูงสุด เพื่อให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน ” ศ.นฤมล กล่าวท้ายสุด
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39378
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ. พร้อมกระจายวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก ให้โรงพยาบาลฉีดกลุ่มเป้าหมาย
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 สธ. พร้อมกระจายวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก ให้โรงพยาบาลฉีดกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก ไปยังโรงพยาบาลเพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข พร้อมจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก ไปยังโรงพยาบาลเพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพแล้ว คาดว่าจะเริ่มส่งวัคซีนได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ที่คลังสำรองวัคซีนโควิด 19 องค์การเภสัชกรรม (คลังศรีเพชร DKSH) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ถนนบางนา-ตราด กม. 19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการลำเลียงวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรกของบริษัทซิโนแวคจำนวน 2 แสนโดสเข้าสู่คลัง และระบบการจัดเก็บวัคซีนภายในห้องควบคุมอุณหภูมิมาตรฐาน โดยวัคซีนล็อตนี้ บรรจุในหลอดวัคซีน ใน 1 กล่องเล็ก มีวัคซีน 40 หลอด นายอนุทินกล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายฉีดให้กับทุกคนในประเทศไทย ตามความสมัครใจ ช่วยเสริมระบบการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยวันนี้ได้รับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ล็อตแรกจำนวน 200,000 โดสแล้ว จะได้รับเพิ่มอีก 800,000 โดสในเดือนมีนาคม 2564 และอีก 1 ล้านโดส ในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดเก็บ บรรจุ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น (Cold Chain) และกระจายภายใต้มาตรฐานสากล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้าไปตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐาน คาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะจัดส่งไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวม 18 จังหวัด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบการเก็บและการจัดส่งวัคซีนจะควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพของวัคซีน โดยวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวคได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน และขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ จะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 ในเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 คาดว่าจะสามารถเปิดประเทศในปลายปี 2564 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และปกป้องสุขภาพประชาชนได้ ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมระบบการจัดบริการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิต ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และเพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด 19 และมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปและแรงงานในภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สำหรับการฉีดในระยะแรกเมื่อวัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 มีแผนการฉีดในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย), เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, และเพชรบุรี สำหรับระยะที่ 2 เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 จะฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ในการยืนยันตัวตัวตนหลังได้รับวัคซีนครบแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนสำหรับใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศหรือในประเทศ ให้เป็นระบบดิจิทัลมากที่สุด รวมถึงให้เกิดการใช้งานเกี่ยวกับวัคซีนอื่นๆ ด้วยเพื่อให้เกิดความครอบคลุมการใช้งาน และรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น สำหรับวัคซีน “CoronaVac” ของซิโนแวค คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีข้อแนะนำ ว่า วัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนแต่ละเข็มเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรระวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน ด้านนายจอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช กล่าวว่า บริษัทดีเคเอสเอช หรือที่เคยเป็นที่รู้จักในนาม “ดีทแฮล์ม” มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการจัดเก็บ จัดบรรจุ และการขนส่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้คุณภาพ โดย ดีเคเอสเอช รักษามาตรฐานสูงสุดตลอดการขนส่ง และมีประสบการณ์ด้านการกระจายวัคซีนให้แก่คนไทยอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมในหลายๆ โครงการมากว่า 10 ปี ดีเคเอสเอช พร้อมที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยวัคซีนจะขนส่งในบรรจุภัณฑ์พิเศษ “Brilliant Box” ที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษในการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าในกล่อง เหมาะอย่างยิ่งกับการบรรจุและขนส่งยาเย็น เช่น วัคซีนโควิด 19 ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ Brilliant Box ยังมีน้ำหนักเบา ทนทาน สามารถนำมาใช้ซ้ำได้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รถขนส่งปรับอากาศของบริษัทฯ ยังมีระบบเก็บความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิในรถที่เหมาะกับการขนส่งยาเย็นโดยเฉพาะ และมีการติดตั้ง Data Logger ที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิภายในรถได้ตลอดการขนส่ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานวิธีการที่ดีในการกระจายยา และมาตรฐานสูงสุดด้านการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพ ************************** 24 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39382
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2564
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2564 เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขยายตัวได้” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2564 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ในหลายภูมิภาค จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขยายตัวได้” โดยมีรายละเอียดดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวได้ดีทั้งจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี และ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.0 พันล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากโรงงานการทำยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง การทำยางให้เป็นรูปแบบอื่นที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสำคัญ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 84.8 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.4 พันล้านบาท จากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 51.3 และ 75.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.3 และ 77.0 ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคกลางชะลอตัวลงเล็กน้อยในด้านการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีจากเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -2.5 -10.1 และ -0.2 ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี ในขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 334.3 ต่อปี ด้วยจำนวน 3.4 พันล้านบาท จากโรงงานตัดโลหะ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ในด้านความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 และ 86.9 ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัวในอัตราชะลอลงในด้านการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 19.1 ต่อปี และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 27.7 และ 25.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวร้อยละ 218.8 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.1 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยขนาด 6.00 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกระบี่ เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 120.0 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.9 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 82.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 46.9 และ 85.3 ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคตะวันออกในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 52.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 4.6 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 114.2 ต่อปี ด้วยจำนวน 8.1 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดปราจีนบุรี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 50.6 และ 104.7 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 และ 107.2 ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคเหนือในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี ในขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -23.9 และ -46.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 49.6 และ 62.6 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.7 และ 63.0 ตามลำดับ เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอลงร้อยละ -11.3 ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 247.8 ต่อปี ด้วยจำนวน 11.2 พันล้านบาท จากโรงงานประกอบรถยนต์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 46.7 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.2 และ 86.9 ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคตะวันตก ส่งสัญญาณปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการกลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 17.6 ต่อปี ด้วยจำนวน 0.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตซองบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก ในจังหวัดเพชรบุรีเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 และ 86.9 ตามลำดับ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39391
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-เตือนห้ามแลกเงิน – ขายสิทธิ์ “เราชนะ” เข้าข่ายผิดฐาน “ฉ้อโกง”
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เตือนห้ามแลกเงิน – ขายสิทธิ์ “เราชนะ” เข้าข่ายผิดฐาน “ฉ้อโกง” ... แจ้งเตือน ผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 31 ล้านคน ต้องระวัง . รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ตามโครงการ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ทำให้สิทธิ์ที่ได้รับนั้นเป็นสิทธิ์จำเพาะบุคคล ไม่สามารถโอน แลกเปลี่ยนหรือมอบให้กับผู้อื่นได้ เช่นเดียวกับโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน” . จึงขอย้ำเตือนว่า สิทธิ์ตามโครงการ "เราชนะ" นั้น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ดังนั้น ผู้ที่รับซื้อสิทธิ์ และผู้ที่ขายสิทธิ์ อาจมีความผิดฐาน "ฉ้อโกง" และหากเป็นการกระทำผิดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อีกด้วย . กรณีพบเห็นพฤติกรรม ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ สามารถแจ้งเบาะแส รวมถึงส่งหลักฐานการกระทำผิด ทางไปรษณีย์มาได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือ e-mail wewin@fpo.go.th #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39367
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ติวเข้มกรมการข้าว มุ่งเดินหน้าพัฒนาระบบข้าว
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ติวเข้มกรมการข้าว มุ่งเดินหน้าพัฒนาระบบข้าว ‘รมช.ประภัตร’ ติวเข้มกรมการข้าว มุ่งเดินหน้าพัฒนาระบบข้าว ผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ย้ำศูนย์ข้าวต้องเป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการผลิตข้าวและการเชื่อมโยงตลาดข้าวของไทย ให้กับบุคลากร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการข้าว ในการสัมมนามอบแนวทางการปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ของกรมการข้าว ปีงบประมาณ 2564 โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในครั้งนี้ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพ นายประภัตร กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยการพัฒนาภาคเกษตรมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และรายได้ของเกษตรกรลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เกิดการว่างงาน ซึ่งอาจเป็นโอกาสของภาคเกษตร ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นกรมการข้าว ซึ่งมีภารกิจและโครงการที่สำคัญ อาทิ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือชาวนาไทยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจน การดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อให้ชาวนาไทยได้มีเมล็ดพันธ์ุข้าวที่ดี มีองค์ความรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวนา ซึ่งนายกรัฐมนตรีฯ มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวเสมอ จึงเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ชาวนาได้ผลผลิตที่ดี ลดต้นทุน นอกจากนี้จะต้องปรับแผนการผลิตข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าวเจ้า 4.ข้าวเหนียว และ 5. ข้าวตลาดเฉพาะ โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวทั้ง 28 ศูนย์ ร่วมมือกันวิจัยทั้ง 5 ประเภท เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด “ขอให้ทุกศูนย์ฯ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยเน้นการแก้ไขในระยะสั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะอีก 3 เดือน ชาวนาจะเริ่มหว่านข้าว จึงต้องหาเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ การร่วมมือกันจะทำให้เกิดประโชยน์แก่พี่น้องชาวนาให้ได้มีเมล็ดพันธุ์ดีใช้ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อเข้าไปตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ที่ขายตามร้านค้า โดยจะขอความร่วมมือไม่นำเมล็ดพันธุ์ปลอมมาขาย รวมทั้งตรวจสอบราคาให้เป็นไปตามที่กำหนด “ นายประภัตร กล่าว สำหรับการสัมมนามอบแนวทางการปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ของกรมการข้าว ปีงบประมาณ 2564 นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อให้เกิดการบูรณาการความคิดร่วมกัน และนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความร่วมมือร่วมใจให้แก่บุคลากรสามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และสามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39373
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ( Video Conference)
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ( Video Conference) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ในวันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ๑๑-๐๑ ชั้น ๑๑ อาคารกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการดำเนินการให้เป็นไปตามข้ออนุมัติของนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ ๑๐ การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 การรับทราบข้อกำหนด และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวชายแดน ตลอดจนผลการดำเนินงานปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการในด้านต่างๆ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39377
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 2/2564
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 2/2564 รองปลัดเกษตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 2/2564 นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชั้น 1 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมฯ ได้รับทราบและพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) การกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลผลิตในฤดุการผลิตปี 2563/2564 (บัญชีจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายครั้งที่ 2) 2) โครงการติดตามสถานการณ์น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการส่งออกน้ำตาลทรายปี 2564 3) รายงานสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในและภายนอกประเทศ 4) สรุปปริมาณการขนย้ายน้ำตาลทรายที่ได้รับสิทธิของบริษัทผู้ผลิตสินค้าส่งออกปี 2564 ณ วันที่ 31 มกราคม 2564 5) รายงานการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทรายดิบ เพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักรก่อนฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 และฤดูการผลิตปี 2563/2564 6) เวียดนามฟ้องไทยทุ่มตลาดน้ำตาลทราย
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39375
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-“รมว. เฉลิมชัย เร่งขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 “รมว. เฉลิมชัย เร่งขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน “รมว. เฉลิมชัย เร่งขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน เตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยในยุคโควิด” นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าววันนี้ว่า ภายใต้นโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมพร้อมขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน และเตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของภาคเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด” นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศเดินหน้าปฏิรูปสร้างระบบอาหารโลกที่มั่นคงและยั่งยืน เพราะระบบอาหารในระดับประเทศและระดับโลก มีจุดอ่อน มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน การผลิตอาหารและการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ประชากรโลกเพิ่มขึ้นและมีการขยายเขตเมือง มีการบุกรุกทำลายป่า การใช้สารเคมีในภาคเกษตรอย่างไม่เหมาะสม ระบบนิเวศเสียสมดุล ดินเสื่อมคุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานสถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ประชากรโลกมากกว่า 2 พันล้านคนกำลังประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินจนซึ่งกระทบต่อสุขภาพ และยังส่งผลต่อรายจ่ายด้านงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศจะต้องเร่งปฏิรูประบบอาหารและภาคเกษตรไปสู่ความยั่งยืน โดยเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit: UNFSS 2021) ระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2564 และการประชุมระดับผู้นำประเทศและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 นี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้มีการรวบรวมข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรของแต่ละประเทศเพื่อนำไปเสนอในเวทีสหประชาชาติต่อไป นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า ภายใต้การนำของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเสนอผลงานและความสำเร็จ 1) การขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ "Safety" ความปลอดภัยของอาหาร "Security" ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคการเกษตรและอาหาร และ "Sustainability" ความยั่งยืนของภาคการเกษตร สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด” 2) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด (Provincial crop calendar) เพื่อบริหารจัดการด้านความมั่นคงอาหารเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (Agricultural Big Data) 3) ความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU เพื่อรักษาและสร้างสมดุลทรัพยากรทางทะเล 4) การนำเสนอโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 10 ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการโคก หนอง นา โมเดล ให้โลกรับทราบถึงนโยบายการสร้างระบบอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร แถลงต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมหารือกับ นาย Jongjin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายด้านการเกษตรและระบบอาหารของประเทศไทยกับ FAO 2. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแผนงานในปี พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นความสำคัญของการประชุมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกให้มีความยั่งยืน และเข้าร่วมกิจกรรมประชุมหารือระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน (National Dialogues) เพื่อขับเคลื่อนแผนงานของไทยให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) สำหรับการประชุม UNFSS 1. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับ Mr. David Narbaro เลขานุการของเลขาธิการ UN ผู้รับผิดชอบการประชุม UNFSS และ Ms. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมข้อมูลในการประชุม UNFSS 2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนจะดำเนินการจัดเวทีพูดคุยสาธารณะ (National Dialogues) เกี่ยวกับแผนงานและแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2564 โดยหารือและรวบรวมข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในระบบอาหารและการเกษตร ทั้ง 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) มุ่งเน้นการผนึกกำลังทุกภาคส่วนให้ร่วมคิด ร่วมวางแผนพัฒนาอนาคตของภาคเกษตรไทย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และร่วมสร้างสมดุลใหม่ให้กับภาคเกษตรและระบบอาหารของไทยให้เข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข็งขันอย่างยั่งยืน และในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในเวทีสหประชาชาติต่อไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39384
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-มหาดไทยกำชับอำเภอ และท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มหาดไทยกำชับอำเภอ และท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก มหาดไทยกำชับอำเภอ และท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก วันนี้ (24 ก.พ.64) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2564 องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานการพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงในสัตว์ปีกพื้นเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่ลดลงส่งผลให้สุขภาพสัตว์ปีกไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลด อ่อนแอและป่วยได้ง่าย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีกเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีกที่อาจติดต่อสู่คนได้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำชับนายอำเภอแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบและแจ้งเตือนไปยังประชาชน กรณีหากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ มีอาการซูบผอม กินอาหารลดลง ขนร่วง ซึม ไอ จาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนเหนียงคล้ำ ท้องเสีย ชัก ตายกะทันหันไม่แสดงอาการชัดเจน หรือพบการตายผิดปกติเป็นจำนวนมาก ให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมเน้นย้ำ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาปรุงเป็นอาหารหรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด และให้ทำการฝังกลบหรือเผาโดยต้องสวมถุงมือขณะจับซากสัตว์ปีกทุกครั้ง และล้างมือด้วยน้ำสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรปรับระบบป้องกันโรคในไก่พื้นเมืองด้วยการจัดทำเล้าหรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันลมและฝนได้ โดยหากประชาชนพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 และแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39383
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.ยุติธรรม​ เป็นสักขีพยานรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดชนิดพกพาจาก UNODC เผยเครื่องใหม่ช่วยให้ผลตรวจแม่นยำขึ้น เสริมแกร่งการตรวจสารเคมีและสารตั้งต้น
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.ยุติธรรม​ เป็นสักขีพยานรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดชนิดพกพาจาก UNODC เผยเครื่องใหม่ช่วยให้ผลตรวจแม่นยำขึ้น เสริมแกร่งการตรวจสารเคมีและสารตั้งต้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีโดยใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา จาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีโดยใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา จาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทดสอบสารต้องสงสัยในภาคสนาม ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) และนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนจาก UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ยาเสพติด สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ปปส. กรุงเทพมหานคร (ทุ่งสองห้อง) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การส่งมอบอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและสารเคมีชนิดพกพาในครั้งนี้ เป็นไปตามแผน ที่จะเพิ่มศักยภาพในการตอบโต้ผู้ผลิตยาเสพติดที่ได้มีการพัฒนาการผลิตยาเสพติด โดยเปลี่ยนแปลงจากยาเสพติดจากพืช มาเป็นยาเสพติดสังเคราะห์ โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) นำเอาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาช่วยในการทดสอบสารเสพติดและสารเคมี ซึ่งอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวใช้เทคนิค Raman Spectroscopy ชนิดพกพา ทาง UNODC ได้มอบให้สำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน ๒ เครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเสริมประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบลำเลียงเข้ามาตามแนวชายแดน และเพื่อใช้ในการตรวจสารเสพติดและสารเคมีที่ลักลอบนำเข้ามาทาง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า “ขอขอบคุณ UNODC อีกครั้งสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น การบูรณาการความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีระดับประเทศและระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมการทำงานให้กันอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. และ UNODC หลังจากนี้จะพัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค โดยจะสนับสนุนการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เน้นความร่วมมือในหลายมิติ อาทิ การควบคุมชายแดนเพื่อต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดข้ามชาติ การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี และเว็บลับ การลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล การศึกษาวิจัยสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาค ตลอดจนการป้องกันการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เป็นต้น”
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39381
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-“เกษตรฯ” เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ จับมือ “สคช.” ยกระดับเกษตรกรสู่มืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิ
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 “เกษตรฯ” เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ จับมือ “สคช.” ยกระดับเกษตรกรสู่มืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิ “เกษตรฯ” เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ จับมือ “สคช.” ยกระดับเกษตรกรสู่มืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพเกษตร เตรียมลงนามความร่วมมือเดือนหน้า มอบ AIC ขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (24 ก.พ.) ว่า ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายหลัก ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2564 ภายใต้วิกฤติโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงผนึกความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.-Thailand Professional Qualification Institute) เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังนี้ 1. พัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 2. สนับสนุนบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในเครือข่ายของ กษ. ให้เข้ารับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 3. ร่วมมือศึกษาวิจัย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร รวมถึงขับเคลื่อนการฝึกอบรมผ่านระบบการเรียนรู้สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 5. ร่วมกันสร้างการรับรู้ และยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดจนเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ทำร่วมกันให้เป็นที่แพร่หลายในทุกภาคส่วน โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ศพก. วิสาหกิจชุมชน ผู้นำสหกรณ์ ปราชญ์เกษตรและเกษตรกรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและผู้ประกอบการด้านการเกษตรเป็นต้น ทั้งนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรของประเทศสู่ความเป็นมืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภายในเดือนมีนาคมนี้ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคเกษตรถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปภาคเกษตรในการพัฒนาอาชีพเกษตรสู่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC)ทั้ง77จังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับสคช.ในโครงการนี้ในฐานะศูนย์อบรมบ่มเพาะในภูมิภาคและใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของสคช.เป็นหลักซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นมาตรฐานวิชาชีพอีคอมเมิร์ซเกษตรซึ่งมีคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ” นายอลงกรณ์ กล่าว ด้าน นายนพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พร้อมให้การสนับสนุนทุกช่องทางในการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรและผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะการทำงานอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ทั้งการจัดอบรมแบบเข้าถึงพื้นที่ และการจัดอบรมออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ สามารถนำระบบการฝึกอบรมออนไลน์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI E-Training) ไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฝึกอบรมให้เกษตรกรทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้อีกช่องทางด้วย นอกจากนี้ สคช. พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับการการันตีเป็นมืออาชีพโดยหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้น สคช. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และคนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรแล้วกว่า 90 อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพาะปลูก การแปรรูป เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรปราดเปรื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ สคช. ยังพร้อมสนับสนุนช่องทางการตลาด และโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ สคช. มีความร่วมมือกับธนาคารออมสิน SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่พร้อมพิจารณาสินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาส และศักยภาพในการทำงานที่สอดรับนโยบายปฏิรูปเกษตรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและการตลาดสมัยใหม่ บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจ 4.0 และการยกระดับภาคเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนไทยและก้าวสู่การเป็นครัวโลก ซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39385
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากกลุ่มผู้เสียหายกรณีถูกหลอกให้ลงทุนแชร์ทองคำ มูลค่าความเสียหายกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากกลุ่มผู้เสียหายกรณีถูกหลอกให้ลงทุนแชร์ทองคำ มูลค่าความเสียหายกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท นายสามารถเจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้เสียหายกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งถูกบริษัทโกลด์ฟาเธอร์ ๑๙๗๘ จำกัด หลอกให้ลงทุนแชร์ทองคำ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท ในวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องสนฉัตร ชั้น ๓ ที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานครนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้เสียหายกว่า ๑๐๐ คนซึ่งถูกบริษัทโกลด์ฟาเธอร์ ๑๙๗๘ จำกัด หลอกให้ลงทุนแชร์ทองคำ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาทโดยมีข้อเรียกร้องถึงกระบวนการยุติธรรม หลังจากดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมจากกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษในระยะ ๒ ปีที่ผ่านมา แต่กรณีดังกล่าวยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ และคดีไม่มีความคืบหน้าแม้ที่ผ่านมาจะมีการจับกุมเจ้าของบริษัทได้แล้ว ๒ คน และยังมีผู้ร่วมขบวนการ อีก ๕ คน แต่ขณะนี้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวและยังไม่มีการยึดทรัพย์ใด ๆ มาคืนให้กับผู้เสียหาย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีแชร์โกลด์ฟาเธอร์ ๑๙๗๘ ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นคดีพิเศษเนื่องจากในขณะนั้นยังมีผู้เสียหายไม่ถึง ๓๐๐ คนและมีมูลค่าความเสียหายยังไม่ถึง ๑๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ แชร์ลูกโซ่เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ และเป็นหนึ่งใน ๑๒ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาฉ้อโกงประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำซึ่งได้มีการแถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว พร้อมสั่งการให้พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคไทรักธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกรมสอบสวนคดีพิเศษ และภาคประชาชน ศึกษาปัญหาดังกล่าวเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดได้อยู่หลายฉบับ ทั้งความผิดด้านอาญาและการยึดทรัพย์ ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย และขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ โดยขณะนี้ได้มีการเข้าสู่การพิจารณาแล้ว นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามปัญหาแชร์ลูกโซ่ดังจะเห็นได้จากการดำเนินคดี แชร์ Forex ที่ทำให้สังคมเห็นแล้วว่ากระทรวงยุติธรรมเร่งรัดติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้ผู้เสียหายลอยนวล มีการติดตามจับกุมยึดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดเป็นระยะจึงอยากเป็นกำลังใจให้ผู้เสียหายทุกคนอย่าได้ท้อแท้จนสิ้นหวังแล้วหันไปประกอบอาชญากรรมเสียเอง ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เข้าร่วมประชุมฯ จึงขอให้กลุ่มผู้เสียหายส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมฯ ด้วยเ พื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนงานร่วมกันทั้งนี้ หากผู้เสียหายมีความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเกรงว่าคดีจะล่าช้าจนเกิดความเสียหายลุกลามสามารถติดต่อกระทรวงยุติธรรมโดยตรงได้ตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการอำนวยความยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้กับประชาชนโดยติดต่อมาที่สายด่วน โทร. ๑๑๑๑ กด ๗๗ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39376
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปูพรม! ลุยตรวจสอบสินค้าราคาแพงทั่วประเทศ
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ปูพรม! ลุยตรวจสอบสินค้าราคาแพงทั่วประเทศ ... จากกรณีพบร้านค้าที่ร่วมโครงการเราชนะ ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค – บริโภค กระทรวงพาณิชย์จึงเร่งจัดเจ้าหน้าที่ทุกจังหวัด ตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ โดยด่วน . ย้ำ! ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท และห้ามจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินควร หากพบหลักฐานจะดำเนินคดีเด็ดขาด ตามมาตรา 29 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ . โดยเฉพาะร้านธงฟ้าฯ ที่หากพบการกระทำผิด จะถูกยกเลิกจากโครงการ และไม่สามารถจำหน่ายสินค้า ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อีกต่อไป . หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว แจ้งได้ที่ สายด่วน 1569 หรือ สนง.พาณิชย์ทุกจังหวัด Cr. กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39369
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา วิถีใหม่
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา วิถีใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา วิถีใหม่ วันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ บริเวณโถงชั้น ๑ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เครือข่ายองค์กรทางศาสนา เข้าร่วม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรม ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงได้มุ่งเน้นในเรื่องของ การสร้างการรับรู้ องค์ความรู้ ความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมถึงการส่งเสริม เชิญชวน ให้พุทธศาสนิกชน ร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ในรูปแบบวิถีใหม่ (New normal) โดยจัดกิจกรรมเวียนเทียนออนไลน์ ผ่านทางไลน์ แอพลิเคชั่น (Line Application) วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือทาง https://เวียนเทียนออนไลน์มาฆบูชา2564.com และจัดทำสติกเกอร์ไลน์ “พี่โชคดี น้องมีบุญ” เนื่องในวันมาฆบูชา เพื่อร่วมส่งความสุข ส่งกำลังใจ ให้คิดดี ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งจัดกิจกรรมการประกวดออกแบบภาพโปสเตอร์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในหัวข้อ “วันมาฆบูชา” ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน สำหรับกิจกรรมในส่วนกลาง กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตร และเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๗.๐๐ น. ณ บริเวณพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ผ่าน Facebook กรมการศาสนา และในส่วนภูมิภาคจัดกิจกรรมฯ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่โดยปฏิบัติตามมาตรการและคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) อย่างเคร่งครัด อนึ่ง วันมาฆบูชา ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันเพ็ญเดือน มาฆมาส ที่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าและเป็นพระอรหันต์ ในวันดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เป็นการวางหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนา ไว้ ๓ ประการ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39396
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ดัชนี RSI เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง “ดัชนี RSI เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนี RSI เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว” ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 58.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย ยางยืด ยางรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 58.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 56.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบมีปัจจัยสนับสนุนจากกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 56.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้นโดยพลิกกลับมาขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายส่งผลให้ความต้องการสินค้าและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตภาคเกษตร นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐช่วยเพิ่มอุปสงค์ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 55.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวของพืชผักและผลไม้ต่างๆ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาล ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาลโดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อผ่านธนาคารต่างๆ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 53.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยพลิกกลับมาขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 47.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มดีขึ้น ตารางสรุปดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ปี 2564 (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ดัชนีความเชื่อมั่น อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 47.0 58.0 56.9 58.3 53.0 55.1 56.0 ดัชนีแนวโน้มรายภาค 1) ภาคเกษตร 58.9 63.7 56.1 62.1 52.0 63.0 67.1 2) ภาคอุตสาหกรรม 48.6 65.0 60.3 66.3 57.5 54.6 54.7 3) ภาคบริการ 48.1 51.9 55.2 59.0 52.3 52.6 52.9 4) ภาคการจ้างงาน 41.2 52.9 54.5 52.7 49.5 53.7 52.3 5) ภาคการลงทุน 38.2 56.3 58.3 51.1 53.7 51.6 53.1 สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39393
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-คลายปม! ต่างด้าวค้าขายออนไลน์ในไทยได้จริงหรือ?
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 คลายปม! ต่างด้าวค้าขายออนไลน์ในไทยได้จริงหรือ? ... การค้าออนไลน์นั้นเป็น “ธุรกิจบริการ” ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นธุรกิจที่กฎหมายห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย . แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจบริการนี้ในประเทศไทยได้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้เปิดให้คนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจบริการนี้ในไทย . ที่สำคัญรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการค้าออนไลน์ในประเทศ โดยผู้ให้บริการ Platform ของไทยเอง และยังออกกฎหมายให้จัดเก็บภาษีจาก Platform ต่างประเทศ ที่ให้บริการในประเทศเหมือนกับที่ต่างประเทศกำลังดำเนินการด้วย . นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จาก 3G เป็น 5G ทำให้การค้าออนไลน์ผ่าน Digital Platforms ต่าง ๆ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39358
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-พิธีเปิดโครงการให้ความรู้การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานที่สาธารณะ
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 พิธีเปิดโครงการให้ความรู้การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานที่สาธารณะ วันที่ 22 ก.พ. 2564 เวลา 09.00 น. น.ท.รณกร เฉลิมแสนยากร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) ผู้แทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการให้ความรู้การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานที่สาธารณะ โดยมี นางสาว สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมเเละพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวแนะนำโครงการ ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินการประเมินการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะสำหรับคนพิการ โดยจัดทำเป็นแบบรายการตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (Checklist) พร้อมลงพื้นที่ดูงาน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะสำหรับปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ทีมคนพิการได้เห็นภาพกระบวนขาเข้า - ขาออก ในการเดินทางมาใช้บริการได้อย่างเข้าถึง ถูกต้อง และใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและการใช้บริการสำหรับคนพิการมีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ประธานทูตอารยสถาปัตย์ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล, ประธานคณะติดตามการทำงานระบบราง ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้, ผู้จัดการโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล, ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้, ผู้แทนคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ, ผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน, เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย, เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวง กทม., เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ทั้งนี้ ทดม. ในฐานะผู้ให้บริการท่าอากาศยานมีความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ เพื่อการให้บริการที่มีคุณภาพ ปราศจากข้อจำกัดในการเข้าถึงของผู้ใช้งาน และสร้างความพึงพอใจสูงสุด ภายใต้คำขวัญ "ปลอดภัยคือมาตรฐาน บริการคือหัวใจ" ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการสามารถแนะนำหรือติชม ทดม. ได้ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทดม. โทร 02 535 1192 ตลอด 24 ชั่วโมง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39394
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดฯ วรวรรณ เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39387
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การโอนวงเงินสิทธิ์งวดใหม่ให้แก่ประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและยืนยันการใช้สิทธิ์ และแนวทางการดำเนินการกับผู้ประกอบการและผู้ให้บริการที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การโอนวงเงินสิทธิ์งวดใหม่ให้แก่ประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและยืนยันการใช้สิทธิ์ และแนวทางการดำเนินการกับผู้ประกอบการและผู้ให้บริการที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กระทรวงการคลังจะมีการโอนวงเงินสิทธิ์ งวดที่ 2 จำนวน 1,000 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าว่ากระทรวงการคลังจะมีการโอนวงเงินสิทธิ์ งวดที่ 2 จำนวน 1,000 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์โครงการเราชนะ (โครงการฯ) ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 และจะมีการโอนวงเงินสิทธิ์งวดที่ 4 จำนวน 675 หรือ 700 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีการปิดระบบแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และได้ดำเนินการปรับปรุงระบบดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อเวลา 11.00 น. ซึ่งประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์โครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ได้ตามปกติแล้ว โฆษกกระทรวงการคลังเน้นย้ำว่า ในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการฯ ที่กำหนดให้รับชำระค่าสินค้าและ/หรือบริการโดยตรงจากประชาชนตามราคาสุทธิของสินค้าและ/หรือบริการนั้นๆ และมีการซื้อ-ขายสินค้าหรือรับบริการกันจริงโดยไม่เป็นการดำเนินการผ่านคนกลาง หากตรวจสอบพบว่า มีผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการรายย่อยกระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว กระทรวงการคลังจะดำเนินการระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันทีและจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอความร่วมมือประชาชนรักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อย รวมถึงประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแสรวมถึงส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดถึง “คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ” ทางไปรษณีย์มาได้ที่ “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400” หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail Account) “wewin@fpo.go.th” และหากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการเกินควรของผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 1569 หรือแจ้งข้อมูลของผู้ร้องเรียน พร้อมหลักฐานในการร้องเรียน รวมถึงช่องทางติดต่อกลับของท่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ 1569@dlt.go.th หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไข กระทรวงการคลังจะระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับความคืบหน้าของโครงการฯ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีดังนี้ ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันแล้ว จำนวน 1.3 ล้านคน สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 23,935.0 ล้านบาท สำหรับประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว มี จำนวนมากกว่า 15.4 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,637.1 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิ์โครงการฯ ทั้งสิ้นจำนวน 29.1 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 43,572.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการ/ร้านค้าและบริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมากกว่า 1.1 ล้านกิจการ โดยจังหวัดที่มียอดการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ตามลำดับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3250 3423 3424 3425 3427 3429 3430 3431 และ 3444 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1122
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39395
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ดีอีเอส เตือนแอปโซเชียลเตรียมตัวรับ กม.คุ้มครองข้อมูลฯ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ 1 มิ.ย. 64
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ดีอีเอส เตือนแอปโซเชียลเตรียมตัวรับ กม.คุ้มครองข้อมูลฯ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ 1 มิ.ย. 64 ดีอีเอส เตือนแอปโซเชียลเตรียมตัวรับ กม.คุ้มครองข้อมูลฯ มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ 1 มิ.ย. 64 กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งสัญญาณเตือนแอปสื่อสังคมออนไลน์ เร่งปรับหลักเกณฑ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ วันที่ 1 มิ.ย. นี้ พร้อมแนะหน่วยงานรัฐ ใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เร่งความเร็วการพัฒนา Big Data ภาครัฐ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาอัพเดทสถานการณ์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหัวข้อ “ARE THERE REALLY PERSONAL PRIVACY IN CYBER WORLD?” ความเป็นส่วนตัวของคุณในโลกไซเบอร์ ไม่มีอยู่จริง? จัดโดยสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) วานนี้ (23 ก.พ.64) ว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 คาดว่ากฎหมายลำดับรองในกลุ่มที่ 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มสำคัญ จำเป็น เร่งด่วน จะเห็นร่างได้ก่อนวันที่ 1 มิ.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยในสิ้นเดือนนี้ จะสรุปผลที่ได้จากการรวบรวมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ในกิจการ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการเงิน ตลาดทุน ประกันภัย, กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม, กลุ่มธุรกิจการผลิตและการค้า, กลุ่มธุรกิจสาธารณสุข, หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ, กลุ่มธุรกิจดิจิทัลและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจการศึกษาและภาคประชาชน เพื่อนำมาประกอบการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ที่สอดคล้องกับลักษณะกิจการแต่ละกลุ่ม สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะมีผลครอบคลุมทุกกิจกรรมที่มีการดำเนินการในประเทศไทย และตลอดจนการโอนข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากการดำเนินธุรกิจในไทย เพื่อส่งผ่านไปทำการประมวลผลที่ต่างประเทศ และส่งกลับเข้ามาทำธุรกิจในไทย ซึ่งต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย ฉบับนี้ของไทยทันที นายภุชพงค์ กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายลำดับรอง กลุ่มที่ 1 ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ทุกเครือข่าย ต้องปฏิบัติตาม (comply) กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 64 เนื่องจากจะเข้าไปอยู่ในข้อหลักเกณฑ์และนโยบายการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ ต้องมีหลักเกณฑ์และมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลอย่างเพียงพอหรือได้รับการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงาน เพราะมีการนำเอาข้อมูลไปประมวลผล และนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย จะมีความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง แล้วแต่กรณี ดังนั้น ขอแนะนำให้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ให้บริการอยู่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศแต่มีการประกอบกิจการหรือธุรกิจร่วมในประเทศไทยต้องปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขการคุ้มครองข้อมูลลูกค้าเพื่อปฏิบัติตาม (comply) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ เช่น ต้องระบุหลักเกณฑ์และวิธีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ไว้ในสัญญาใช้บริการอย่างชัดเจน จุดประสงค์ในการขอข้อมูล และจะนำข้อมูลไปใช้ด้านใดบ้าง ไม่สามารถเอาไปใช้เกินจากที่ระบุไว้ในคำขอความยินยอม เป็นต้น “โลกดิจิทัล การละเมิดข้อมูลทำได้ง่าย ผู้ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องพึงระวัง ในการอ่านข้อความขอความยินยอม เจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดแจ้งในกิจกรรมนั้นๆ เช่น มี 3 ข้อ ถ้านำไปใช้เพิ่มจากนั้น ผู้ใช้สามารถถอนความยินยอมได้ และอยากแนะนำผู้ใช้งาน ถ้าสมัครใช้แอปพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ ต้องระวังถึงจุดนี้ด้วย โดยเฉพาะแอปสนทนาออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมล่าสุด เพราะแอปนี้ เรียกเอาเบอร์โทรไปจัดเก็บโดยอัตโนมัติ ไม่มีการขอความยินยอมก่อน” นายภุชพงค์กล่าว ด้านความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจการเงิน ตลาดทุน ประกันภัย เป็นกลุ่มที่ตื่นตัวและเตรียมพร้อมมากสุด มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนภาคธุรกิจอื่นๆ ต้องรีบศึกษารายละเอียดข้อปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และรีบดำเนินการ “ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ไม่อยากให้มองว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ เป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการทำ Big Data จริงๆ ต้องรีบกล้าให้ เพราะผู้ควบคุมข้อมูล (หรือหน่วยงาน) A ไปถึง B ทุกหน่วยมีความรับผิดชอบในข้อมูลที่ครอบครองหรือได้รับส่งมอบมาต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและมีความรับผิดเท่ากันหมด หากมีการละเมิดข้อมูลเกิดขึ้น เพราะทุกคนมีส่วนในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมองมุมบวก ว่ามีกฎหมายฉบับนี้ ต้องรีบแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ การใช้ big data เพื่อให้เกิดนวัตกรรม สิ่งใหม่ในการพัฒนาประเทศ” นายภุชพงค์กล่าว ******************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39389
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ข่าวดี! เพิ่มจุดลงทะเบียน “เราชนะ” ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ข่าวดี! เพิ่มจุดลงทะเบียน “เราชนะ” ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ... แจ้งข่าวบอกกล่าว การเพิ่มจุดรับลงทะเบียน “เราชนะ” เพิ่มเติม สำหรับประชาชนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ . นอกจากจะลงทะเบียนที่สาขาและจุดบริการเคลื่อนที่ ของ ธ.กรุงไทย ได้แล้ว ยังสามารถลงทะเบียน ได้ที่สาขาหรือจุดบริการ ของ ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. – 5 มี.ค. 64 ทำให้มีจุดรับบริการลงทะเบียน รวมอย่างน้อย 3,500 แห่ง . ล่าสุด มีผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ และยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 11,989,928 คน . มีกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มาลงทะเบียนแล้วจำนวน 571,797 คน . เกิดการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 24,571 ล้านบาท #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39364
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กรุงไทยปิดสาขาอ่างทองชั่วคราว พบไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้บริการ สั่งตรวจ “ไม่พบ” พนักงานติดเชื้อ
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กรุงไทยปิดสาขาอ่างทองชั่วคราว พบไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้บริการ สั่งตรวจ “ไม่พบ” พนักงานติดเชื้อ ธ.กรุงไทยแจ้งปิดสาขาอ่างทองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 -28 ก.พ. หลังได้รับแจ้งจากสาธารณสุขจังหวัดว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการลงทะเบียนเราชนะกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ที่จุดบริการบริเวณโรงจอดรถด้านหลังอาคารที่ทำการสาขาอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564 ธนาคารกรุงไทยแจ้งปิดสาขาอ่างทองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 -28 กุมภาพันธ์ หลังได้รับแจ้งจากสาธารณสุขจังหวัดว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการลงทะเบียนเราชนะกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ที่จุดบริการบริเวณโรงจอดรถด้านหลังอาคารที่ทำการสาขาอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอ่างทอง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการเปิดรับลงทะเบียนเราชนะ ธนาคารจัดให้มีจุดคัดกรองโควิด-19 ในทุกจุดบริการ ให้พนักงานและลูกค้าสวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมจัดเว้นระยะห่างในระหว่างการรอรับบริการ โดยพบว่า ณ จุดคัดกรอง ของจุดบริการสาขาอ่างทาง ซึ่งดำเนินการคัดกรองโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยลูกค้าคนดังกล่าว ไม่มีไข้ และไม่มีอาการใดๆ หลังได้รับแจ้งธนาคารได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยให้พนักงานที่ปฏิบัติงานในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที ผลการตรวจ ไม่พบพนักงานติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ธนาคารให้พนักงาน Work From Home เพื่อสังเกตดูอาการเป็นเวลา 14 วัน โดยสับเปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ให้บริการแทน โดยในระหว่างปิดทำการสาขาอ่างทอง เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ลูกค้าสามารถใช้บริการสาขาใกล้เคียงได้แก่ สาขาป่าโมก สาขาโพธิ์ทอง และสาขาวิเศษชัยชาญ นอกจากนี้ ธนาคารได้สั่งห้ามพนักงานทุกคน ทุกสาขา เดินทางไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ตามคำสั่งราชการอย่างเคร่งครัด
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39388
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-พร้อม “รับรองรุ่นการผลิตวัคซีน” ทั้งนำเข้า - ในประเทศ
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อม “รับรองรุ่นการผลิตวัคซีน” ทั้งนำเข้า - ในประเทศ ... แผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนของไทย ไม่ได้ผูกขาดกับที่ใดที่หนึ่ง แม้วัคซีนจากแอสตราเซเนกา จะได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ก็ยังมีวัคซีนจากบริษัทต่าง ๆ เช่น ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (ประเทศไทย) ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียน . เมื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการรับรองรุ่นการผลิตวัคซีน ในทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยของวัคซีนอีกครั้ง ว่าตรงตามมาตรฐานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือไม่ ก่อนที่จะนำไปใช้หรือจำหน่าย . สำหรับการรับรองรุ่นการผลิตวัคซีน และยาชีววัตถุของประเทศไทยนั้น เป็นที่ยอมรับของสากล โดยผ่านเกณฑ์ การตรวจประเมินจากองค์การอนามัยโลก มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39361
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 200,000 โดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรี รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 200,000 โดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย นายกรัฐมนตรี รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 200,000 โดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 10.17 น. ณ. เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)เป็นประธานรับวัคซีนป้องกันโควิด-19200,000 โดส จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” โดยเที่ยวบินขนส่งสินค้า TG 675 โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนายประทีป กีรติเรขารองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)และนายหยาง ซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าร่วมในพิธีลำเลียงจากเครื่องบิน พร้อมถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ก่อนเจ้าหน้าที่ลำเลียงตู้ควบคุมอุณหภูมิบรรจุวัคซีนโควิด-19 ออกจากเครื่อง ขึ้นรถขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม (คลังศรีเพชร DKSH) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเสร็จสิ้นพิธี นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวภาพรวมการดำเนินงานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่เราได้ร่วมกันรับวัคซีนล็อตแรกที่มาจากประเทศจีนซึ่งรัฐบาลได้บริหารจัดการการนำเข้าวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 เป็นความต้องการของคนทั่วโลก รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำเข้าวัคซีนมาสู่ประชาชน สำหรับวัคซีนล็อตต่อไปจะนำเข้ามาตามกำหนดระยะเวลาที่อุปทูตจีนและกระทรวงสาธารณสุขได้รับการยืนยัน นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า วัคซีนที่จะนำเข้ามาทุกระยะเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในประเทศ อย่างไรก็ตามวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาต้องใช้เวลาเตรียมการเพื่อเข้าสู่การฉีดอีกระยะหนึ่ง โดยมีการจัดลำดับผู้เหมาะสม ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ และความเห็นชอบจาก ศบค. พร้อมย้ำว่าวัคซีนที่นำเข้ามาผ่านการทดสอบคุณภาพเพียงแต่ต้องมีระยะเวลาเตรียมการตามขั้นตอน ในโอกาสนี้ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการฯ ได้กล่าวภูมิใจที่ได้มาร่วมในงาน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” วัคซีนจากจีนล็อตนี้สะท้อนถึงมิตรภาพอันแนบแน่นของไทย-จีน ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่รับวัคซีนผ่านช่องทางพาณิชย์ ตอกย้ำตามคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่ยืนยันว่า วัคซีนควรเป็นสินค้าสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อความปลอดภัยของประชาคม ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาลไทย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบุคลากรที่มีคุณูปการทุกคนที่เร่งการผลิตวัคซีนจนทันการนำส่งครั้งนี้ อย่างไรก็ตามโควิด-19 ยังระบาด ทำให้ทั่วโลกยังมีภาระหน้าที่ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และต้องร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขอยืนยันว่ารัฐบาลจีนยินดีที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อเอาชนะภาระหน้าที่เหล่านี้เพื่อร่วมคืนรอยยิ้มให้กลับมา ช่วงท้ายในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันดำเนินการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามขั้นตอน ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับคนไทย ด้วยรวมไทย สร้างชาติ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน พร้อมที่จะดูแลประเทศอื่นเพื่อไทยปลอดภัย อาเซียนปลอดภัย ทุกภูมิภาคปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังฝากให้ทุกคนยังคงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกันป้องการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คือ สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา จนกว่าโรคโควิด-19 จะควบคุมได้ ............................................. กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สำนักโฆษก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39371
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-เชื่อมข้อมูลหน่วยงานรัฐ ด้วย NSW
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เชื่อมข้อมูลหน่วยงานรัฐ ด้วย NSW ... เคยไหม? ติดต่อหน่วยงานราชการแต่ละครั้ง ต้องเตรียมเอกสาร ถ่ายสำเนาทีละหลายชุด ...แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ด้วย National Single Window (NSW) . ซึ่งก็คือ ระบบกลางเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานรัฐสามารถแชร์ข้อมูลหลังบ้านกันได้ เช่น เอกสาร – ข้อมูลของประชาชน สำหรับการยื่นเอกสารหรือขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยต้องใช้เอกสาร/แบบฟอร์มเหมือนกัน . เป็นการช่วยประชาชนลดขั้นตอนงานเอกสาร ลดการจ่ายค่าธรรมเนียม แถมประหยัดเวลา และยังสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย . โดยขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแบบฟอร์ม ในการยื่นทำธุรกรรมภาครัฐไปแล้วกว่า 70 แบบฟอร์ม รองรับการเชื่อมข้อมูลทั้งภาครัฐ เอกชน และระหว่างประเทศ Cr. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม #ไทยคู่ฟ้า#รวมไทยสร้างชาติ#ร่วมต้านโควิด19 -------------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39363
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรรพากร จับมือ บีโอไอ เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สรรพากร จับมือ บีโอไอ เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพากรกับ สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการนำส่งเอกสารอันก่อให้เกิดความผิดพลาดในการยื่นขอใช้สิทธิ ยกเว้นภาษี พร้อมยกระดับบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลด้วยข้อมูลชุดเดียว กรมสรรพากร กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการนำส่งเอกสารอันก่อให้เกิดความผิดพลาดในการยื่นขอใช้สิทธิ ยกเว้นภาษี พร้อมยกระดับบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลด้วยข้อมูลชุดเดียว ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ กับกรมสรรพากรที่จะร่วมบูรณาการด้านการให้บริการภาครัฐ พร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วและถูกต้อง ภายใต้กลยุทธ์ Digital Transformation การเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวก ช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อนของขั้นตอนการนำส่งข้อมูลด้านเอกสาร ป้องกันข้อผิดพลาดในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามบัตรส่งเสริมการลงทุน” นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า “การเชื่อมโยงข้อมูลนี้ เป็นการยกระดับบริการผ่านระบบดิจิทัลด้วยข้อมูลชุดเดียวกันใช้ได้สองหน่วยงาน เพิ่มความสะดวกและลดภาระให้แก่นักลงทุนที่ต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการผ่านระบบ e – Monitoring ไม่ต้องกรอกข้อมูลและจัดส่งเอกสารที่ซ้ำซ้อนให้กับทั้งสองหน่วยงาน สร้างประโยชน์ในการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบ e – Tax ของบีโอไอให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นชุดเดียวกับกรมสรรพากร โดยการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวนี้จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพากรมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมในการใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้อย่างถูกต้อง ตรวจสอบได้ ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลไปกับเทคโนโลยีและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Digital Thailand ต่อไป ภายใต้มาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)” กรมสรรพากร สำนักงานเลขานุการกรม โทร. 0 2272 9529-30 โทรสาร 0 2617 3324 หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร 1161 (RD Intelligence Center)
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39316
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 การดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง การประชุมชี้แจงกำกับการดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 8 จังหวัด (ครั้งที่ 1) ณ จังหวัดกาญจนบุรี นายอำพันธุ์เวฬุตันติรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้รับผิดชอบกำกับการดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภาคกลาง25จังหวัดเป็นประธานการประชุมชี้แจงกำกับการดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง(ครั้งที่1)จำนวน8จังหวัดได้แก่จังหวัดกาญจนบุรีสุพรรณบุรีราชบุรีเพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์สมุทรสาครสมุทรสงครามนครปฐมและได้ถ่ายทอดสดการประชุมไปยังจังหวัดสมุทรสาครณห้องประชุมแควใหญ่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับการประชุมครั้งนี้มีนายธิติโลหะปิยะพรรณผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษเกษตรและสหกรณ์จังหวัด8จังหวัดพร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบการชี้แจงแนวนโยบายของกระทรวงเกษตรฯการหารือแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะและรับทราบปัญหาข้อจำกัดของการดำเนินงานที่ผ่านมาใน4ประเด็นได้แก่1)งานตามนโยบาย/โครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์2)แนวทางการบริหารจัดการองค์กร3)เป้าหมายการพัฒนาภาคการเกษตรตามศักยภาพ/ความเหมาะสมของพื้นที่และ4)การบูรณาการ/การบริหารจัดการทรัพยากรภายในจังหวัด/ระหว่างจังหวัดเพื่อให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัดและระดับอำเภอเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาระดับภาคและระดับประเทศต่อไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39303
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-มท.1 ลงพื้นที่มอบนโยบายผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มท.1 ลงพื้นที่มอบนโยบายผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ มท.1 ลงพื้นที่มอบนโยบายผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 15-18 ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดพะเยาในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมรับมอบนโยบาย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ท่านกมล เชียงวงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง จึงขอเป็นกำลังใจให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในจังหวัดพะเยา ทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ของท่านในการมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติราชการเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเน้นย้ำมาตรการสำคัญเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการป้องกันการลักลอบเข้าออกตามแนวชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) บูรณาการหน่วยงานด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยและเข้มงวดในการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน โดยกำหนดแผนปฏิบัติที่ชัดเจนพร้อมปรับแผนให้สอดคล้องสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพและกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด สำหรับพื้นที่ตอนใน ให้ประสานตำรวจภูธร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดและจุดคัดกรองในพื้นที่ และกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ร่วมกับประชาชน สอดส่องดูแลไม่ให้มีการลักลอบเข้าพื้นที่ โดยหากพบการกระทำผิดต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องมีการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น แรงงาน สาธารณสุข ฯลฯ เพื่อสั่งการให้มีการตรวจตรา ควบคุม และติดตามผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วย และในส่วนของโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปในระดับพื้นที่ เช่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดำเนินการบริหารราชการให้เป็นไปตามที่กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด และขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานในพื้นที่ตามข้อสั่งการของทุกกระทรวง และในกรณีมีการออกคำสั่งทางปกครองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ ต้องสร้างความรับรู้เข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และในด้านการบริหารงบประมาณ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และขอเน้นย้ำว่าผู้บริหารระดับสูงไม่มีนโยบายในการสั่งการนอกเหนือจากหนังสือสั่งการและนโยบายที่ได้มอบให้ไปโดยเด็ดขาด จากนั้น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดี ได้ซักซ้อมความเข้าใจและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการลงทะเบียนโครงการเราชนะเพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และส่งเสริมการลงทะเบียนร้านค้าเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การขับเคลื่อนการกำจัดผักตบชวาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนอย่างต่อเนื่อง การจัดทำฐานข้อมูลน้ำบาดาลในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และสุดท้าย ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความรับรู้กับประชาชนในการปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความร่วมมือของประชาชนร่วมกับภาครัฐในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39292
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-โครงการเราชนะ เพิ่มจุดลงทะเบียนเป็น 3 ธนาคาร
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการเราชนะ เพิ่มจุดลงทะเบียนเป็น 3 ธนาคาร วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 Your browser does not support the audio element. ต่อจากนี้ไป ขอเชิญรับฟังไทยคู่ฟ้า ครับ โครงการเราชนะ เปิดจุดลงทะเบียนเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต โดยสามารถนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดไปลงทะเบียนได้ใน 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ – 5 มี.ค.64 เพื่อลดความแออัดและประหยัดเวลาในการรอคอยของประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีกว่า 800 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยตรวจสอบรายชื่อจุดลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงไทยเพื่อให้ทุกคนได้เข้าร่วมโครงการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม “รวมไทยสร้างชาติ” กับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39298
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 ติดเชื้อไวรัส COVID-19
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตรวจพนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารกะบ่าย) เพศชาย จำนวน 1 คน มีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขสมก. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามแนวทางปฏิบัติการป้องกัน ขสมก. ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ได้บูรณาการร่วมกันในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 บริเวณตลาดสุชาติและอาคารพาณิชย์โดยรอบอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตรวจพนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารกะบ่าย) เพศชาย จำนวน 1 คน มีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ โดยขณะเข้ารับการตรวจ พนักงานไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แจ้งผลการตรวจแก่พนักงานขับรถโดยสารคนดังกล่าวว่าได้รับการติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ หลังจากทราบผล ขสมก. ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวจากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ดังต่อไปนี้ 1. ขสมก. ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID -19 (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี 2. ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 - 12 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานผู้ติดเชื้อไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานได้มาปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 34 หมายเลข 1 - 40063 ผลการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งรถออกจากอู่รังสิต เวลา 13.45 น. ถึงหัวลำโพง เวลา 15.00 น. และกลับถึงอู่รังสิต เวลา 19.28 น. ปรากฏว่าพนักงานมีอาการไข้ ปวดหัว และปวดเมื่อยร่างกาย นายท่าจึงให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกเรือนแพทย์ และกลับไปพักผ่อนที่บ้าน 3. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 34 หมายเลข 1 - 40063 ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้งเมื่อพนักงานขับรถนำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ ขสมก. ได้พักการใช้งานรถโดยสารคันดังกล่าว เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถโดยสาร 4. ขสมก. ได้ตรวจสอบว่าพนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่กับพนักงานเก็บค่าโดยสารคนใดบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าวหยุดงานไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ขสมก. ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39285
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ความคืบหน้าการเปิดจุดรับลงทะเบียนเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ความคืบหน้าการเปิดจุดรับลงทะเบียนเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ความคืบหน้าการเปิดจุดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะเพิ่มเติมวันแรก นอกเหนือจากการลงทะเบียนที่สาขาและจุดบริการเคลื่อนที่ของธ.กรุงไทย 1,894 แห่ง ซึ่ง ก.คลังเพิ่มจุดรับลงทะเบียนจนปัจจุบันมีจุดรับลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 3,500 แห่ง นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดจุดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะ (โครงการฯ) เพิ่มเติมวันแรก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเองหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้) นอกเหนือจากการลงทะเบียนที่สาขาและจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,894 แห่ง ซึ่งกระทรวงการคลังได้เพิ่มจุดรับลงทะเบียนจนปัจจุบันมีจุดรับลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 3,500 แห่ง โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่สาขาหรือจุดบริการของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ รวมถึงหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยขณะนี้ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวนมากกว่า 651,632 คน โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่า กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2564 จะทราบผลการคัดกรองคุณสมบัติในวันที่ 4 มีนาคม 2564 และจะได้รับวงเงินสิทธิ์ครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2564 และกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2564 จะทราบผลการคัดกรองคุณสมบัติในวันที่ 15 มีนาคม 2564 และจะได้รับวงเงินสิทธิ์ครั้งแรกในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ปิดรับลงทะเบียนโครงการฯ ของกลุ่มประชาชนทั่วไปทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาแล้ว สำหรับปุ่ม “ลงทะเบียนกลุ่มพิเศษ” ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว เปิดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานข้างต้นอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมโครงการฯ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันไปแล้ว จำนวนมากกว่า 22,761.2 ล้านบาท สำหรับประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เป็นผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ ผ่านแถบ (Banner) โครงการ “เราชนะ” ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว จำนวนมากกว่า 14.4 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันไปแล้ว จำนวนมากกว่า 15,762.4 ล้านบาท จึงมีผู้ใช้สิทธิ์โครงการฯ รวมแล้วมากกว่า 28.1 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้วมากกว่า 38,524.6 ล้านบาท ผ่านผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 1.01 ล้านกิจการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3250 3423 3424 3425 3427 3429 3430 3431 และ 3444 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1122
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39321
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 ติดเชื้อไวรัส COVID-19
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้แจ้งให้เขตการเดินรถที่ 1 ทราบว่า ตรวจพบพนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) เพศชาย จำนวน 1 คน คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)​ กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขสมก. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ขสมก. ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้นำรถพระราชทานเข้ามาตรวจเชิงรุก เพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 ชุดที่ 2 ให้กับพนักงานองค์การ จำนวน 600 คน ณ อู่รังสิต เขตการเดินรถที่ 1 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้แจ้งให้เขตการเดินรถที่ 1 ทราบว่า ตรวจพบพนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) เพศชาย จำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเปรมปรีด์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ติดเชื้อโรคดังกล่าว จึงให้พนักงานรออยู่ที่บ้าน เพื่อให้รถพยาบาลนำไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.30 น. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ดังต่อไปนี้ 1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี 2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 11 - 19 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานได้ลากิจไปติดต่อราชการที่ศาลธัญบุรี และเดินทางไปพบญาติที่หมู่บ้านพฤกษา เขตดอนเมือง วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 44105 ตั้งแต่เวลา 13.00 - 20.05 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 44105 ตั้งแต่เวลา 11.00 - 18.40 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 45094 ตั้งแต่เวลา 11.40 - 19.40 น. หลังเลิกงานได้เดินทางไปซื้อของที่ตลาด 200 ปี รังสิต และกลับที่พักอาศัย วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานผู้ติดเชื้อได้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 45010 ตั้งแต่เวลา 11.30 - 19.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 45010 ตั้งแต่เวลา 12.20 - 21.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่18 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 หลังจากนั้น ได้ปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 45010 ตั้งแต่เวลา 12.20 - 21.10 น. หลังเลิกงานได้เดินทางไปซื้อของที่ตลาด 200 ปี รังสิต และกลับที่พักอาศัย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 หมายเลข 1 - 45010 ตั้งแต่เวลา 12.20 - 21.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ว่า พนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถนำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 จำนวน 3 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสารหมายเลข 1 ข 44105 หมายเลข 1 - 45094 และหมายเลข 1 - 45010 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถโดยสาร 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 3 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39287
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ดีอีเอส สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิริยาภรณ์ ประจำปี 2563 หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ดีอีเอส สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิริยาภรณ์ ประจำปี 2563 หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดีอีเอส สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิริยาภรณ์ ประจำปี 2563 หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายและชั้นต่ำกว่าสายสะพาย หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติและเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมี ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 112 ราย แบ่งเป็นชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก 1 ราย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ 11 ราย ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก 40 ราย และชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย 58 ราย และชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย 2 ราย ณ ห้อง Auditorium บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. นับเป็นความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ *****************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39320
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ.แนะจัดระเบียบตลาดป้องกันโควิด เพิ่มระบบถ่ายเทอากาศ
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สธ.แนะจัดระเบียบตลาดป้องกันโควิด เพิ่มระบบถ่ายเทอากาศ กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ลดลง เหลือวันละต่ำกว่าร้อยราย ควบคุมการระบาดได้ดี ห่วงตลาดใหญ่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดง่าย แนะจัดระบบถ่ายเทอากาศ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ลดลง เหลือวันละต่ำกว่าร้อยราย ควบคุมการระบาดได้ดี ห่วงตลาดใหญ่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดง่าย แนะจัดระบบถ่ายเทอากาศ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เผยผลตรวจเชิงรุกแรงงานต่างด้าวเขตสุขภาพที่ 5 พบการติดเชื้อใน 4 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่สมุทรสาคร ส่วนคนขับรถขนส่งติดเชื้อ พบไปรับปูมาขายจากเมียนมา สัมผัสเสี่ยงสูงรายเดียว วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 89 รายมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 59 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 14 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศเข้ารับการกักตัว 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม รักษาหายเพิ่ม 76 ราย ส่งผลให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 21,267 ราย หายป่วยสะสม 20,184 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 1,060 ราย ทั้งนี้ การติดเชื้อรายใหม่ของแต่ละวันเริ่มมีจำนวนต่ำกว่า 100 รายถือว่าค่อนข้างทรงตัวและควบคุมการระบาดได้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์พบว่า จากสัปดาห์ที่ 5 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5,181 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจนโดยสัปดาห์ที่ 6 พบผู้ติดเชื้อ 1,271 ราย และสัปดาห์นี้ 2 วันมีการติดเชื้อ 181 ราย “ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง คือ ตลาดที่มีขนาดใหญ่ อากาศถ่ายเทน้อย มีความหนาแน่นของผู้ค้า จัดเก็บข้าวของไม่เป็นจัดระเบียบ ขาดพัดลมที่จะช่วยให้อากาศถ่ายเท มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน มีชุมชนหนาแน่นโดยรอบบริเวณ จะต้องมีการสำรวจความเสี่ยงและเฝ้าระวังในกลุ่มดังกล่าว" นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ในเขตสุขภาพที่ 5 มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกแรงงานต่างด้าวใน 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร นครปฐม เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จำนวน129,436 ราย พบการติดเชื้อ 13,152 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.16 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาครตรวจ 107,342 รายพบติดเชื้อมากที่สุด 13,147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.25,นครปฐม ตรวจ 8,562 ราย พบติดเชื้อ 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04,เพชรบุรี ตรวจ 3,313 ราย พบติดเชื้อ 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 และสมุทรสงคราม ตรวจ 2,038 รายพบติดเชื้อ 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 ส่วนจังหวัดอื่นยังไม่พบรายการติดเชื้อ สำหรับพื้นที่ชายแดนยังเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่มีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดความคืบหน้ากรณีพบชายไทยอายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่งสินค้าติดโควิด 19 อาศัยอยู่กับภรรยาที่อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จากการสอบสวนโรคพบว่า เดินทางไป-กลับ จ.สมุทรปราการ - อ.แม่สอด จ.ตาก และข้ามไปเมียนมาในช่วงวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์,วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์,วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ และวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ เพื่อรับปูจากบริเวณเซฟโซนที่กำหนดกลับมาขาย โดยมีการสัมผัสใกล้ชิดคนส่งของเมียนมาที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้วันที่ 5 กุมภาพันธ์ มีการไปรับกุ้งที่โกดังซอยร่มเกล้ามาขาย ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลแม่สอดราม ผลพบเชื้อ วันที่18 กุมภาพันธ์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขับรถส่วนตัว ทำให้ความเสี่ยงแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่ำ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย คือ ภรรยาที่อาศัยด้วยกัน และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 4 ราย ************************ 22 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39324
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงเกษตรฯ เปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น (นบต.) รุ่น 44 ย้ำนโยบาย ดร.เฉลิมชัย สู่การปฏิบัติจริง
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงเกษตรฯ เปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น (นบต.) รุ่น 44 ย้ำนโยบาย ดร.เฉลิมชัย สู่การปฏิบัติจริง กระทรวงเกษตรฯ เปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น (นบต.) รุ่น 44 ย้ำนโยบาย ดร.เฉลิมชัย สู่การปฏิบัติจริง ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหาร การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น (นบต.) รุ่นที่ 44 ผ่านโปรแกรม ZOOM cloud Meetings ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2564 พร้อมบรรยายพิเศษ “บทบาทหน้าที่นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น” โดยมีนายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันเกษตราธิการ และผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวม 75 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเน้นย้ำแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ในการนำนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติจริง มีการทำงานที่เน้นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และการเชื่อมโยงตลาด เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเร่งการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการเข้าถึงเกษตรกรโดยตรงให้มากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้เกี่ยวกับข้อดีและประโยชน์จากโครงการและมาตรการสำคัญๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบให้แก่เกษตรกรและประชาชน อนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การอบรมดังกล่าวจึงจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับต้น (นบต.) มีทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการปฏิบัติงานของตนเองและผู้ร่วมงานและนำไปปรับใช้ เพื่อการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ และนำนโยบายของกระทรวงฯ ไปสู่การปฏิบัติได้จริงในระดับพื้นที่
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39300
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.วธ.เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.วธ.เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รมว.วธ.เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๘ กระทรวงวัฒนธรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39318
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ. เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ศูนย์กลางความร่วมมือด้านกัญชา กัญชง
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สธ. เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ศูนย์กลางความร่วมมือด้านกัญชา กัญชง กระทรวงสาธารณสุข เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านกัญชา กัญชง ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้อง รวดเร็ว แก่ประชาชนและสาธารณะ ตามหลักวิชาการด้านการแพทย์ วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ พร้อมมอบนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ปี 2564 นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายกัญชา กัญชง ทางการแพทย์จนสามารถปลดล็อคให้ บางส่วนของกัญชา กัญชง ออกจากการควบคุมยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย กว่า 50,000 ราย จากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 300 กลุ่ม เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาผลิตเป็นน้ำมันกัญชา และส่วนผสมของยากัญชาแผนไทย เพื่อรักษาในกลุ่มโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคมะเร็ง, นอนไม่หลับ, ปวดเรื้อรัง เป็นต้น มีระบบการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยากัญชา เพื่อสร้างหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนการใช้และขึ้นทะเบียนยากัญชาในอนาคต นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เร่งพิจารณายากัญชาเข้าสู่รายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะสร้างให้เกิดอุปสงค์ที่ยั่งยืน เกิดการปลูก การผลิต รวมถึงต่อยอดให้เกิดการศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นต้น นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การผลักดันนโนบายกัญชาทางการแพทย์ ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เกิดการพัฒนาตั้งแต่ ต้นทาง คือสายพันธุ์กัญชากัญชงที่มีคุณภาพ กลางทาง คือ การผลิตและจำลองภาพพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการของตลาด และปลายทาง คือ การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ สำหรับการเปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์เพื่อเป็นหน่วยงานหลัก และศูนย์กลางความร่วมมือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภายนอก ในการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงทางการแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ที่ถูกต้อง รวดเร็ว แก่ประชาชนและสาธารณะ ตามหลักวิชาการด้านการแพทย์ที่เหมาะสม สำหรับกิจกรรมในวันนี้ได้รับความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 10 แห่ง และเครือข่าย 6 แห่ง ประกอบด้วยนิทรรศการ ผลการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ ของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข การเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชา กัญชง จากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ “การนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฎหมายใหม่” รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผู้สนใจ *************************** 22 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39301
รัฐบาลไทย-กระทรวงแรงงานฝึกอบรม ฟรี ปั้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงแรงงานฝึกอบรม ฟรี ปั้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดโครงการของขวัญปีใหม่จากใจกระทรวงแรงงาน (ฝึกฟรี มีทักษะ ชนะอุบัติภัย ใส่ใจแรงงาน) หลักสูตร “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร” หวังลดการประสบอันตรายและโรคเนื่องจากการทำงานในโรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธีเปิดโครงการของขวัญปีใหม่จากใจกระทรวงแรงงาน ภายใต้แนวคิด ฝึกฟรี มีทักษะ ชนะอุบัติภัย ใส่ใจแรงงาน หลักสูตร “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายพงศธร กาญจนจิตรา รองผู้ว่าราชการ จังหวัดปทุมธานี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรม โดยกล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายที่มุ่งหวังพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นพลังสำคัญ ในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นและเป็นการแบ่งเบาภาระลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายให้กับสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) โดยมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานกับหน่วยฝึกอบรมเอกชนจัดฝึกอบรมโดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ จำนวน 10,000 คน อันจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้านนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เพอร์เฟคเซฟตี้เทรนนิ่ง แอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยฝึกอบรมใน 205 หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้ความร่วมมือ ในการมอบของขวัญปีใหม่ 2564 ของกระทรวงแรงงาน “ รักจากใจ แรงงานไทย สุขใจถ้วนหน้า ” โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตร “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร” หลักสูตรละ 60 คน รวม 120 คน โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ ระยะเวลาการฝึกอบรมรวม 12 ชั่วโมง เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะสามารถทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานประกอบกิจการได้ตามที่กฎหมายกำหนด และนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงานลงหรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้เข้ารับการอบรม เพื่อนร่วมงาน สถานประกอบกิจการและประเทศสืบไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39293
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-“อนุทิน” ยืนยัน ไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีจะฉีดซิโนแวค ย้ำการฉีดวัคซีนทุกเข็ม พิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 “อนุทิน” ยืนยัน ไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีจะฉีดซิโนแวค ย้ำการฉีดวัคซีนทุกเข็ม พิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์ “อนุทิน” ยืนยัน ไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีจะฉีดซิโนแวค ย้ำการฉีดวัคซีนทุกเข็ม พิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์ ด้านกรมควบคุมโรค ยืนยันวัคซีนซิโนแวค ฉีดได้เฉพาะอายุ 18-59 ปี หญิงตั้งครรภ์-มีประวัติแพ้วัคซีน “ห้ามฉีด” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกรณีการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรก ว่า ต้องขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่แสดงเจตนารมณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยการอาสาที่จะฉีดวัคซีนเป็นเข็มแรก แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการทั้งหมด ขึ้นกับมาตรการความปลอดภัยและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้แตกต่างกัน “ในกรณีของท่านนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยพูดว่าท่านจะฉีดวัคซีนของซิโนแวค แต่ท่านแค่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะฉีดเข็มแรก เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีนเท่านั้น ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ไม่มียกเว้น” นายอนุทิน ย้ำ ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค การให้วัคซีนต้องคำนึงถึงมาตรการที่ผู้ผลิตวัคซีนแต่ละบริษัทกำหนด ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน เรามีคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีนพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก ที่เข้ามาช่วยกำหนดเกณฑ์ต่างๆในการฉีดวัคซีนทุกเข็ม ให้มีความปลอดภัยสูงสุด รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า สำหรับวัคซีนซึ่งจะเข้ามาในวันที่ 24 ก.พ. 2564 นี้ เป็นวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ซึ่งมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการฉีดอยู่แล้ว ประกอบด้วย อายุ ซึ่งซิโนแวค กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับวัคซีนต้องมีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี ไม่สามารถฉีดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือมากกว่า 59 ปี ได้ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยที่เพียงพอมารองรับ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดไม่ให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่เคยแพ้วัคซีนมาก่อนอีกด้วย *************************** 22 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39312
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กบข. จัดส่งใบแจ้งยอดเงินประจำปี 2563 ให้สมาชิกทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มช่องทางรับใบแจ้งยอดออนไลน์แบบครบวงจร
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กบข. จัดส่งใบแจ้งยอดเงินประจำปี 2563 ให้สมาชิกทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มช่องทางรับใบแจ้งยอดออนไลน์แบบครบวงจร กบข. จัดส่งใบแจ้งยอดเงิน ประจำปี 2563 ให้สมาชิกแล้วทั่วประเทศ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานการยื่นลดหย่อนภาษีพร้อมเปิดให้บริการดาวน์โหลดใบแจ้งยอดเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ได้จัดส่งเอกสารใบแจ้งยอดเงินสมาชิกประจำปี 2563 ให้กับสมาชิกทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ทั้งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Statement) และรูปแบบเอกสารผ่านหน่วยงานต้นสังกัด โดยในปีนี้ กบข. ได้พัฒนารูปแบบใบแจ้งยอดเงินประจำปี 2563 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการแสดงยอดเงินสะสมของสมาชิก และเงินที่รัฐสมทบ พร้อมผลตอบแทนที่ กบข. บริหารให้ และส่วนที่สองเป็นข้อมูลยอดเงินสะสมที่สมาชิกนำส่งในระหว่างปี 2563 เพื่อนำไปประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กบข. ยังได้เพิ่มช่องทางการรับใบแจ้งยอดเงินแบบครบวงจร ทั้งในรูปแบบเอกสารและออนไลน์ให้สมาชิกสะดวกยิ่งขึ้น โดยสมาชิกสามารถเลือกรับใบแจ้งยอดเงินได้ทั้งรูปแบบเอกสาร ซึ่งจะจัดส่งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของสมาชิก หรือ เลือกรับใบแจ้งยอดเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะจัดส่งไปทางอีเมลของสมาชิกตามข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงสามารถดาวน์โหลดได้ด้วยตนเอง ผ่าน 3 ช่องทางออนไลน์ ดังนี้ 1. My GPF Application เข้าผ่านสมาร์ทโฟน ที่เมนู “บัญชีของฉัน” เลือกเมนู “ดาวน์โหลด/e-Statement” และเลือก “ขอสำเนาใบแจ้งยอดเงิน” 2. My GPF Website เข้าผ่านคอมพิวเตอร์ที่เว็บไซต์ http://mygpf.gpf.or.th ที่เมนู “บัญชีของฉัน” และเลือก “ขอสำเนาใบแจ้งยอด” และ 3. LINE กบข. @gpfcommunity เข้าผ่านสมาร์ทโฟน ที่เมนู “ดาวน์โหลดใบแจ้งยอดเงิน” ในเมนูหน้าแชท Line กบข. ซึ่งสมาชิกจะได้รับใบแจ้งยอดเงินเป็นไฟล์สกุล pdf ที่มีรหัสผ่าน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลสมาชิกมากยิ่งขึ้น ดร. ศรีกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ใบแจ้งยอดเงินประจำปีเป็นเอกสารสำคัญ สมาชิกควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทั้งยอดเงิน และข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หน่วยงานของตนเอง และปรับแก้ให้เป็นปัจจุบัน โดยสมาชิกสามารถนำใบแจ้งยอดเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีประจำปีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 แต่หากยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพากร และผ่านแอปพลิเคชัน Rd smart tax สมาชิกจะสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งหากสมาชิกรีบยื่นภาษีก็จะทำให้ได้รับเงินคืนภาษีเร็ว และสามารถนำเงินดังกล่าวไปบริหารให้งอกเงยต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กบข. หรือ Line GPF Community และที่ GPF Contact Center โทร. 1179 เกี่ยวกับ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1.16 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2564) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน : ฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กร: รวิวรรณ ทิวาเจริญ (พลอย) 0-2636-1000 ต่อ 264 , raviwan@gpf.or.th
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39302
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ศบค. ปรับพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด เหลือเพียง จ.สมุทรสาคร เตรียมผ่อนคลายมาตรการในจังหวัดต่าง ๆเพิ่มเติม
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ศบค. ปรับพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด เหลือเพียง จ.สมุทรสาคร เตรียมผ่อนคลายมาตรการในจังหวัดต่าง ๆเพิ่มเติม ศบค. ปรับพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด เหลือเพียง จ.สมุทรสาคร เตรียมผ่อนคลายมาตรการในจังหวัดต่าง ๆเพิ่มเติม วันนี้ (22 ก.พ. 64) เวลา 15.30 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยต่อสื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564 โดยที่ประชุมพิจารณาปรับกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งยังเหลือเพียงจังหวัดสมุทรสาครที่ยังเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาเจ็ทสกีและแบดมินตันเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการอีกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดยังต้องปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันวัคซีนโควิด-19 จะถึงประเทศไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมประมาณ 2 – 3 วัน เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนการต่อไป ...................... กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39319
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 ติดเชื้อไวรัส COVID-19
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19 เรื่อง พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้แจ้งให้เขตการเดินรถที่ 1 ทราบว่า ตรวจพบพนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย A3 (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) เพศหญิง จำนวน 1 คน คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)​ กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขสมก. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ขสมก. ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีได้นำรถพระราชทานเข้ามาตรวจเชิงรุก เพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับพนักงานองค์การ จำนวน 600 คน ณ อู่รังสิต เขตการเดินรถที่ 1 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้แจ้งให้เขตการเดินรถที่ 1 ทราบว่า ตรวจพบพนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย A3 (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) เพศหญิง จำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านกฤษณา 1 ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี ติดเชื้อโรคดังกล่าว จึงให้พนักงานรออยู่ที่บ้าน เพื่อให้รถพยาบาลนำไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30 น. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19 ดังต่อไปนี้ 1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี 2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 11 - 18 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 95 ก หมายเลข 1 - 50119ตั้งแต่เวลา 13.30 - 16.30 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1 - 70257ตั้งแต่เวลา 13.15 - 20.35 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305ตั้งแต่เวลา 13.40 - 21.55 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305ตั้งแต่เวลา 14.20 - 22.40 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305ตั้งแต่เวลา 13.30 - 22.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานผู้ติดเชื้อได้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305ตั้งแต่เวลา 14.15 - 22.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 หลังจากนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305 ตั้งแต่เวลา 13.30 - 21.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถนำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70%จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสาร จำนวน 3 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสารธรรดา สาย 95 ก หมายเลข 1 - 50119 รถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1 - 70257 และรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 - 70305 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึงอู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 3 คนปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานขับรถโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39286
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดทองบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมกำกับติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร และถ่ายทอดนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้เล็งเห็นปัญหาของยาเสพติดเป็นปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ และเห็นควรให้แก้ไขอย่างจริงจังโดยภาครัฐต้องร่วมมือกับชุมชนจึงจะประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายสุนทร ชื่นศิริ ผอ.ปปส.กทม. นายแพทย์สมชาย ตรีทิพย์สถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมร่วมรับฟังรายงานสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ พร้อมมอบสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม สำนักงาน ป.ป.ส. ให้แก่ชุมชน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การแก้ปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ทั้งการบำบัดฟื้นฟูและเยียวยา โดยมีกองทุนแม่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานทุนประเดิมเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นมหันตภัยร้ายทำลายสุขภาพ ทำลายระบบเศรษฐกิจ สังคม และเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรม ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมยังได้ให้กำลังใจภาคีเครือข่าย ซึ่งร่วมกันเปิดเวทีแก้ไขปัญหายาเสพติด นับเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโครงการจิตอาสาพระราชทานขึ้น เพื่อเป็นการรวมความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยทุกคนในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ ให้มีความเจริญ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างถาวร เช่น การเฝ้าระวังชุมชนของตนเองให้ปลอดยาเสพติด
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39322
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ออมสินปิดลงทะเบียนสินเชื่อ "SMEs มีที่ มีเงิน" เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ชั่วคราว หลังมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,500 ราย เต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ออมสินปิดลงทะเบียนสินเชื่อ "SMEs มีที่ มีเงิน" เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ชั่วคราว หลังมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,500 ราย เต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 นั้น โดยมอบหมาย ธ.ออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น โดยมอบหมายธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนยื่นกู้ทางเว็บไชต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดลงทะเบียนไม่นานก็มีผู้แจ้งความประสงค์ยื่นกู้แล้วกว่า 1,500 ราย ขณะนี้เต็มวงเงินแล้ว ธนาคารจึงขอปิดระบบรับลงทะเบียนไว้ก่อน โดยการลงทะเบียนนี้ เป็นเพียงการแจ้งความประสงค์เพื่อจองวงเงินขอกู้เท่านั้น จากนี้ธนาคารขอเวลาพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ตามหลักเกณฑ์โครงการ ที่ต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา รวมถึงพิจารณาคุณภาพของหลักประกัน เป็นต้น
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39288
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-“กอช. ชวนอาชีพอิสระ วางแผนออมเงินตั้งแต่ต้นปี ผ่านแอป กอช. โปรแกรมคำนวณบำนาญ เพื่อรู้ยอดบำนาญในอนาคต”
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 “กอช. ชวนอาชีพอิสระ วางแผนออมเงินตั้งแต่ต้นปี ผ่านแอป กอช. โปรแกรมคำนวณบำนาญ เพื่อรู้ยอดบำนาญในอนาคต” กอช.ชวนอาชีพอิสระวางแผนออมเงินตั้งแต่ต้นปี ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. “โปรแกรมคำนวณบำนาญ” เพียงระบุอายุเริ่มออม และจำนวนเงินที่จะส่งออมสะสมหรือยอดเงินบำนาญที่ต้องการ แล้วกดปุ่มเริ่มคำนวณ เพื่อช่วยสมาชิกวางแผนออมเงินสะสมกับ กอช. กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ชวนอาชีพอิสระ วางแผนออมเงินตั้งแต่ต้นปี ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. “โปรแกรมคำนวณบำนาญ” เพียงระบุอายุที่เริ่มออม และจำนวนเงินที่จะส่งออมสะสมหรือยอดเงินบำนาญที่ต้องการ แล้วกดปุ่มเริ่มคำนวณ เพื่อช่วยสมาชิกวางแผนออมเงินสะสมกับ กอช. และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช. ชวนอาชีพอิสระ วางแผนออมเงินตั้งแต่ต้นปี ด้วยการคำนวณเงินบำนาญที่ต้องการ โดยเข้า แอปพลิเคชัน “กอช.” เลือก “โปรแกรมคำนวณบำนาญ” ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการคำนวณบำนาญได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ คำนวณบำนาญจาก “ยอดเงินที่ต้องการ” และคำนวณบำนาญจาก “ยอดเงินบำนาญที่ต้องการได้รับ” ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ ผู้ใช้ต้องระบุอายุที่เริ่มส่งเงินออมสะสม ระบุวิธีส่งเงินออมสะสมเป็นรายเดือน หรือ รายปี แล้วระบุยอดเงินที่ส่งออมสะสม หรือ ระบุยอดเงินบำนาญที่ต้องการได้รับ ตามรูปแบบที่เลือกคำนวณ แล้วกดปุ่มเริ่มคำนวณ โปรแกรมจะคำนวณผลลัพธ์ เงินออมรวมกับเงินที่รัฐสมทบและผลประโยชน์โดยประมาณทั้งหมดแล้ว เพื่อให้ผู้คำนวณได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งยังช่วยให้สมาชิกสามารถวางแผนการส่งเงินออมสะสมเพื่อให้ได้รับเงินบำนาญหลังอายุ 60 ปี ตามจำนวนเงินที่ต้องการได้ด้วยตนเอง เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิกได้ที่ แอปพลิเคชัน “กอช.” หรือ หน่วยรับสมัครสมาชิกใกล้บ้านท่าน อาทิ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา รวมทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติม และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000 “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ”
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39291
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน วันนี้ (22 ก.พ.64) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต่อที่ประชุมในเรื่องการทำงานเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ว่า จะต้องหาเป้าหมายของประชาชนที่จะช่วยเหลือ โดยให้จัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับที่มีความพร้อมอยู่แล้ว 2. ระดับที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในเรื่องของงบประมาณ แผนงาน และโครงการ 3. ระดับที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องใดเลย ซึ่งต้องหาแนวทางทำให้ทั้ง 3 ระดับนี้สามารถอยู่ได้ อยู่ได้ดีขึ้น และยั่งยืน รวมทั้งหาแนวทางจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ให้ถึงผู้รับประโยชน์ ซึ่งหน่วยปฏิบัติระดับจังหวัดและท้องถิ่นต้องลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลของประชาชนทุกระดับเป็น Big Data อย่างถูกต้อง โดยขอให้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ กอ.รมน. ได้ร่วมทำงานประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดูแลประชาชนที่ต้องการรับความช่วยเหลือด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมไปกับหาทางช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ที่โดยภาพรวมแล้วขณะนี้ประชาชนภาคการเกษตรได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ปรับเปลี่ยนการบริหารต่าง ๆ รวมทั้งมีการทำวิสาหกิจชุมชนที่ดีขึ้น ซึ่งมีผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากพอสมควรและสามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นได้ ดังนั้น ต้องหาทางนำคนที่ประสบความสำเร็จเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วย นอกจากนี้ ในการพัฒนาคนทุกช่วงวัยนั้น นอกจากการมองจัดแบ่งคนเป็นกลุ่ม ๆแล้ว จะต้องนำเรื่อง “วัย” มาเป็นตัวกำหนดด้วย เช่น เรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม เพราะเป็นความสำคัญตั้งต้นในเรื่องการผลิตคน โดยให้พิจารณาว่าจะดูแลแต่ละช่วงวัยอย่างไร ให้แต่ละคนได้หาพรสวรรค์ของตัวเองให้เจอ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการเลือกศึกษาต่อในอนาคตได้อย่างเหมาะสม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกกิจกรรมที่จะขับเคลื่อนตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Big Rock ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จะต้องมีความชัดเจนว่าแผนงาน/โครงการจะเกิดประโยชน์อย่างไร จะต้องชี้แจงได้ ทั้งนี้ ในการทำงานทุกเรื่อง ทั้งการทำงานตามฟังก์ชั่น หรือการทำงานปฏิรูป จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ นำเป้าหมายเป็นตัวกำหนด ให้หาวิธีการดูแลคนทุกช่วงวัยแล้วยกระดับให้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นปัญหากับงบประมาณของประเทศ ดังนั้น จึงขอให้หาเป้าหมายให้เจอในแต่ละระดับ แล้วนำกิจกรรม Big Rock ลงไปขับเคลื่อน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ระวังเรื่องการใช้งบประมาณ ขอให้เป็นโครงการที่อยู่ในกรอบแผนการปฏิรูปประเทศ และต้องประสานเรื่องการใช้งบประมาณให้ได้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ด้วยหลักการของรัฐบาลที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไปแล้วนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ และสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพราะทั้งสามแผนจะขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้าสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และเห็นชอบในหลักการของแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 62 กิจกรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39313
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นฤมล เตรียมบุกสุพรรณ สานฝันปั้นอาชีพกลุ่มเปราะบาง
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นฤมล เตรียมบุกสุพรรณ สานฝันปั้นอาชีพกลุ่มเปราะบาง รมช.แรงงาน เตรียมลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี สร้างทักษะอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทั้งกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาท ปรับเปลี่ยนอาชีพ ตลอดจนวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตินี้ได้ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงออกมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาอาชีพให้แก่แรงงานทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยปรับรูปแบบตามความเหมาะสม เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือด้านการฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติม สามารถสร้างอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รมช.แรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ กลุ่มสตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ได้เข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว “กพร. ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาอาชีพให้กับแรงงานทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ก็จะได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อรับฟังเสียงจากพี่น้องประชาชนถึงความต้องการพัฒนาทักษะอาชีพให้ตรงกับความต้องการ และก่อให้เกิดประโยชน์ให้แต่ละพื้นที่อย่างสูงสุดต่อไป” รมช. แรงงานกล่าวท้ายสุด
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39305
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สอน. จับมือ ซีแพค รับซื้อใบและยอดอ้อย ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 พร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สอน. จับมือ ซีแพค รับซื้อใบและยอดอ้อย ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 พร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย สอน. จับมือ ซีแพค รับซื้อใบและยอดอ้อย ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 พร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ณ ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ภายใต้โครงการดังกล่าวจะดำเนินการรับซื้อใบและยอดอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน และลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่ โดยจะนำเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยไปเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษจากการเผาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หรือ PM 2.5 และควันที่เกิดจากการเผาอ้อย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดย ซีแพค ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG จะเข้ามารับซื้อเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการทำไร่อ้อย เช่น ยอดและใบอ้อย เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ให้มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง ได้แก่ อำเภอท่าหลวง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้สามารถส่งโรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่ โดย ซีแพค ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG จะดำเนินการรับซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200 - 1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และดำเนินการขนส่งใบอ้อยที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนแล้วและนำไปใช้งาน นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวปิดท้ายว่า บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ เข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 093 542 4594
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39294
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายอาซิม อิฟติคาร์ อาห์หมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ ๒๒กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔เวลา ๑๐.๐๐น. ณ ห้องรับรองประจำกระทรวงยุติธรรม (ห้อง ๓-๐๑) ชั้น ๓ อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายอาซิม อิฟติคาร์ อาห์หมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขัง และความร่วมมือในการโอนตัวนักโทษ ภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ว่าด้วยความร่วมมือในการโอนตัวผู้กระทำผิดและการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา โดยการหารือข้อราชการในครั้งนี้นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และปากีสถานให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39314
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดกอบชัยฯ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรม
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดกอบชัยฯ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรม ปลัดกอบชัยฯ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรม วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 09.00 น. นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียอุตสาหกรรม ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมร่วมกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างครบวงจร โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม #กระทรวงอุตสาหกรรม #การจัดการสิ่งแวดล้อม #prmoi
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39323
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดวธ.มอบนโยบายผู้บริหาร-วัฒนธรรมจังหวัดใหม่ เร่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมช่วยเหลือเครือข่ายช่วงโควิด-19
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดวธ.มอบนโยบายผู้บริหาร-วัฒนธรรมจังหวัดใหม่ เร่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมช่วยเหลือเครือข่ายช่วงโควิด-19 ปลัดวธ.มอบนโยบายผู้บริหาร-วัฒนธรรมจังหวัดใหม่ เร่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมช่วยเหลือเครือข่ายช่วงโควิด-19 นางยุพาทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวในพิธีเปิดโครงการปฐมนิเทศผู้บริหารงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผู้บริหารที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ว่าขอให้ผู้บริหารสป.วธ.และวัฒนธรรมจังหวัดใหม่ เร่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานวัฒนธรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน เชื่อมโยงงานวัฒนธรรมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้ช่วยกันดูแลเครือข่ายทางวัฒนธรรมในช่วงเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการทำงานร่วมกัน การยกย่องให้เกิดกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ได้ฝากให้ผู้บริหารมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ทำงานโดยสุจริต บริหารองค์กร เครือข่ายทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่มาปรับใช้กับการทำงานวัฒนธรรม สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอดสิ่งเก่าๆที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ ขยายผลจนเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ ผู้บริหารสป.วธ.และวัฒนธรรมจังหวัดใหม่ที่เข้าร่วมการปฐมนิเทศครั้งนี้ มีจำนวน 8 ราย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรมที่ 42/2564 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.) ผู้บริหารหน่วยงานสังกัดวธ.และวัฒนธรรมจังหวัด (วธจ.) ได้แก่ 1.นางสาวอุรุษยา อินทรสุขศรี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี กองการต่างประเทศ สป.วธ. เป็นผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สป.วธ. 2.นายวินัย วรวัตร์ ผู้อำนวยการกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สป.วธ.เป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป.วธ. 3.นางกฤษณา สิทธิราช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.)ลพบุรีเป็นวธจ.ลพบุรี 4.นางบุญชู สาดี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวจ.สุโขทัย เป็นวธจ.สุโขทัย 5.นางประสพสุข กันภัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กลุ่มวางแผนและพัฒนาระบบการตรวจราชการ กองตรวจราชการ สป.วธ.เป็นวธจ.ตาก 6.สิบเอกหญิงกรวรรณ สุ่มมาตย์นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวจ.พะเยาเป็นวธจ.สกลนคร 7.นางสุวิภา ปุณณะเวส นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวจ.พระนครศรีอยุธยาเป็นวธจ.สระแก้ว ขณะเดียวกันได้ลงนามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ 112/2564 เรื่องรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายราเมศ ลิ่มสกุล นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นวธจ.อำนาจเจริญ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39308
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-​‘รมช.มนัญญา’ รับฟังปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ลดความเดือดร้อน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ​‘รมช.มนัญญา’ รับฟังปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ลดความเดือดร้อน ​‘รมช.มนัญญา’ รับฟังปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ลดความเดือดร้อน รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อนุญาตให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านแสงอรุณ จำกัด และตัวแทนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าพบ ณ ห้องประชุม 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับฟังปัญหาของสมาชิกจากผลกระทบร่างกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนถือใช้ ซึ่งในรายละเอียดของกฎกระทรวงมีบางประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ โดยการหารือร่วมกันในวันนี้ เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการถือใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่ ตลอดจนต้องดำเนินการด้วยความถูกต้องภายใต้ผลประโยนช์ของสมาชิก และความมั่นคงของสหกรณ์อย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงให้สมาชิกได้มีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องกฎระเบียบปลีกย่อยที่สหกรณ์อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน อาทิ เกณฑ์การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งสหกรณ์สามารถตั้งค่าได้เองตามอาชีพเพื่อความเหมาะสม เป็นกฎระเบียบของแต่ละสหกรณ์นั้นๆ ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการเกษตรจำนวนมาก จึงต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเดือดร้อนต่อไป นอกจากนี้ เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อบรมให้สมาชิกสหกรณ์มีความเข้าใจเพื่อประโยชน์แก่ตัวสมาชิก และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงได้ทันที
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39304
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทย
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทย วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 Your browser does not support the audio element. ต่อจากนี้ไป ขอเชิญรับฟังไทยคู่ฟ้า ครับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อใช้เองภายในประเทศ ว่าขณะนี้ทั้งมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยของรัฐ เช่น สถาบันวัคซีน และองค์การเภสัชกรรม ได้เร่งศึกษาวิจัยจนได้วัคซีนต้นแบบที่มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อย เก็บรักษาง่าย สามารถเก็บในความเย็น 2-8 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิตู้เย็นปกติได้ และใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากว่า 10 ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองใช้ในมนุษย์ได้ในเดือน มี.ค.64 และจดทะเบียนกับ อ.ย. ได้ภายในปี 2565 โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้อย่างน้อย 25 – 30 ล้านโดสต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง ​ “รวมไทยสร้างชาติ” กับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39296
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ เปิดจุดบริการลงทะเบียน “เราชนะ” สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ เปิดจุดบริการลงทะเบียน “เราชนะ” สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ตามที่ ครม.มีการอนุมัติมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ไม่เคยใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ไม่เคยใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีสามาร์ทโฟนและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เดิมได้กำหนดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 และจากการประชุมเพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือในการลงทะเบียนโครงการเราชนะเพิ่มเติม แก่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีมติขยายระยะเวลารับลงทะเบียนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 “กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) เปิดจุดบริการลงทะเบียนโครงการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ณ สถานที่ตั้งของสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในวัน เวลาราชการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนและเพิ่มจุดบริการให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว อีกทั้งเป็นการลดความแออัดของผู้รับบริการ ที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักงานคลังจังหวัดได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่และเจ้าหน้าที่สำหรับการให้บริการรับลงทะเบียน และอธิบดีกรมบัญชีกลางมีความห่วงใยและเน้นย้ำให้คลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39309
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-​นายกรัฐมนตรีปฏิเสธความสนใจการเมือง ย้ำเน้นแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมเข้าร่วมรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกที่จะถึงไทย 24 ก.พ. นี้
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ​นายกรัฐมนตรีปฏิเสธความสนใจการเมือง ย้ำเน้นแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมเข้าร่วมรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกที่จะถึงไทย 24 ก.พ. นี้ ​นายกรัฐมนตรีปฏิเสธความสนใจการเมือง ย้ำเน้นแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมเข้าร่วมรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกที่จะถึงไทย 24 ก.พ. นี้ วันนี้ (22 ก.พ. 64) เวลา 12.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมอภิปรายในสภาฯ ที่ผ่านมา ได้รับข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์มาดำเนินการติดตาม แก้ไข และสอบสวน รวมทั้งขอความร่วมมือในการติดตามการทำงานของรัฐบาล ลดการนำเสนอข่าวที่สร้างความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมย้ำไม่ให้ความสนใจประเด็นการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดคือการแก้ไขความเดือดร้อนและตอบรับความต้องการของประชาชน ขณะที่การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายด้วย นายกรัฐมนตรียังยืนยันที่จะเข้ารับวัคซีนที่จะเข้ามาในวันที่ 24 นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ซึ่งวัคซีนที่จะเข้ามาแต่ละประเภทจะมีความเหมาะสมกับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว พร้อมฝากให้ทุกคนดูแลตนเอง ไม่ทำให้ตนเองเป็นผู้ที่ได้รับความเสี่ยง และไม่สนับสนุนกิจกรรมใดๆ ที่ไม่มีมาตรการป้องกันความเสี่ยง ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ ................................ กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39311
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดเกษตรฯ เผยความก้าวหน้า “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดเกษตรฯ เผยความก้าวหน้า “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลัดเกษตรฯ เผยความก้าวหน้า “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ในรายการ “เกษตรบอกข่าว” ผลการรับสมัครเป็นไปตามเป้า พร้อมจ้างงานทันที 1 มี.ค. นี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ในรายการ “เกษตรบอกข่าว” ซึ่งออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 9.00 น. ทางเฟซบุ๊กกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่จุดเรียนรู้ในรูปแบบหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตาบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ และเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสาหรับทำการเกษตรตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้วยระบบและวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ต่อยอด เพิ่มรายได้ “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาพื้นที่จุดเรียนรู้ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่สร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร โดยโครงการนี้จะสนับสนุนการขุดบ่อเก็บกักน้ำในพื้นที่เกษตรกร สนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร ทำการเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ มุ่งเป้าหมายดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด 4,009 ตำบล ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 48,000 ราย จำแนกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. พัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรตำบลละ 2 ราย ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ราย รวมจำนวน 32,000 ราย และ 2. การจ้างงานตำบลละไม่น้อยกว่า 1 คน แต่ไม่เกิน 25 คน รวมจำนวน 16,000 ราย ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งสถานะปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564) มีเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว จำนวน 20,583 ราย ส่วนผลการรับสมัครผู้จ้างงาน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 22,095 ราย แต่ตามมติ ครม. ต้องเป็นไปตามสัดส่วน เกษตรกร 2 ราย ต่อ จ้างงาน 1 ราย โดยมีการจ้างงานแล้ว 9,200 ราย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะมีการจ้างงานเพิ่มอีกหลังจากการรับสมัครเกษตรกรเสร็จสิ้น ซึ่งจะสามารถจ้างงานเพิ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป” ปลัดเกษตรฯ กล่าว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสรรงบประมาณในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมให้จังหวัดแล้ว และเริ่มมีการฝึกอบรมตามกระบวนการเรียนรู้ครั้งที่ 1 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนโครงการฯ โดยมอบหมายกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการสำรวจออกแบบสระเก็บกักน้ำของเกษตรกร และได้จัดสรรงบประมาณลงพื้นที่แล้ว เพื่อขุดบ่อให้แก่เกษตรกรในรอบแรกจำนวน 2,005 ตำบล โดยมีกลุ่มเกษตรกร 950 ตำบล ที่สามารถดำเนินการขุดได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิต พืช สัตว์ ประมง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ได้ดำเนินการจัดทำเมนูทางเลือกตามความเหมาะสมของพื้นที่ ตามแผนการผลิตและความต้องการของเกษตรกร ภายหลังขุดสระเก็บกักน้ำและปรับปรุงดินเรียบร้อยแล้ว โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย.
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39295
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กรมทางหลวงชนบทเปิดใช้ถนนผังเมืองรวมเมืองนครพนม สนับสนุนการขนส่งและการท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจชายแดนไทย - สปป.ลาว
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กรมทางหลวงชนบทเปิดใช้ถนนผังเมืองรวมเมืองนครพนม สนับสนุนการขนส่งและการท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจชายแดนไทย - สปป.ลาว กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (ถนนพนมนาคราช) แล้วเสร็จ สอดรับกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขง เขตชายแดนเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม (ถนนพนมนาคราช) เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต แก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งลักษณะการก่อสร้างประกอบด้วย 1. ถนนสาย ง เป็นการก่อสร้างถนนตัดใหม่ สายทางแยกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณหน้าหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และไปบรรจบกับถนนเฟื่องนครและถนนนิตโย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22) โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ ไหล่ทางกว้าง 2 เมตร ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตลอดสายทาง มีทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าบริเวณชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพาน 1 แห่ง ระยะทางรวม 3.774 กิโลเมตร 2. ถนนสาย ค3 และ ค4 เป็นการก่อสร้างสายทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 240 (ถนนเลี่ยงเมืองนครพนม) มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณ กม.ที่ 5+864 และไปตัดกับถนนสาย ง ต่อเนื่องไปเชื่อมกับถนนเทศาประดิษฐ์ จุดสิ้นสุดโครงการไปบรรจบกับถนนสุนทรวิจิตร หรือถนนชยางกูร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212) ระยะทางรวม 2.134 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ - ส่วนที่ 1 ก่อสร้างถนนใหม่ เป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ไหล่ทางกว้าง 2 เมตร เกาะกลางแบบทาสีตีเส้น ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 1.223 กิโลเมตร - ส่วนที่ 2 ก่อสร้างบนถนนเทศาประดิษฐ์ รูปแบบการก่อสร้างมีทั้งช่วงที่รื้อผิวจราจรเดิมแล้วก่อสร้างผิวจราจรใหม่ และช่วงที่ใช้ผิวจราจรเดิมปูผิวแอสฟัลท์คอนกรีตทับบนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ ก่อสร้างทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมปรับปรุงทางแยก ติดตั้งสัญญาณ ไฟจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 0.911 กิโลเมตร ปัจจุบันถนนสายดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 256.995 ล้านบาท
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39315
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-"พุทธิพงษ์" หนุน ดีป้า ใช้ดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 "พุทธิพงษ์" หนุน ดีป้า ใช้ดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ "พุทธิพงษ์" หนุน ดีป้า ใช้ดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ "พุทธิพงษ์" หนุน ดีป้า ใช้ดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ พร้อมเผย 3 ปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจประเทศกว่า 21,000 ล้านบาท นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งสำนักงานเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้พัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 21,000 ล้านบาท ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนากำลังคนและเพิ่มศักยภาพบุคลากรดิจิทัลของประเทศ ทั้ง Reskill และ Upskill และการเพิ่มทักษะใหม่ด้านดิจิทัลสำหรับวัยเรียนและผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (New skill) ผ่าน Digital Platform พร้อมกันนี้ได้เปิดหลักสูตรสร้างผู้บริหารขององค์กรรัฐและเอกชน กว่า 500 ราย, ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data ภาครัฐ (Train the Trainer) กว่า 3,000 ราย, การยกระดับคุณภาพและความเชี่ยวชาญกำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล กว่า 60,000 ราย, สร้างความตระหนัก ด้าน Cyber Security และกฎหมาย กว่า 7,500 ราย, การพัฒนาทักษะ Cybersecurity ขั้นสูงเพื่อเข้าสู่สายงาน White Hackers กว่า 200 ราย, สร้างกำลังคนด้านดิจิทัลในสาขาขาดแคลนร่วมกับภาคอุตสาหกรรม 23 ราย, พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งแห่งศตวรรษที่ 21 (Coding School Champion) กว่า 100 โรงเรียน, เยาวชนทั่วประเทศ ด้าน Coding และ Stem ไม่ต่ำกว่า 17,000 ราย/ปี, บุคลากรทางการศึกษา กว่า 4,000 ราย นำร่องให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิต สร้างมูลค่าการลงทุนราว 2,300 ล้านบาท รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป กว่า 3 ล้านราย เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ "จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ผ่าน digital platform ได้สะดวกและตลอดเวลา ทำให้มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในการสร้างงานสร้างอาชีพ นำไปสู่การต่อยอด หรือ ริเริ่มธุรกิจบริการด้านดิจิทัล สร้างการแข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหารองค์กรรัฐและเอกชน เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,250 ล้านบาท (ข้อมูลผลการสำรวจและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (Impact) จากการดำเนินงานโครงการสำคัญของ สศด. โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)" นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจดิจิทัล และผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สนับสนุนผู้ประกอบการ หาบแร่แผงลอย เกษตรกร ชุมชน ประชาชน ได้เข้าถึงและได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจาก Digital Startup ไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดโครงการ Drone University เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle - UAV) หรือ Drone นำไปสู่การเกิดสถาบันด้าน Drone เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้พัฒนายิ่งขึ้นต่อไป ****************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39317
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-เปิดลงทะเบียน โครงการ ม.33 เรารักกัน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดลงทะเบียน โครงการ ม.33 เรารักกัน วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 Your browser does not support the audio element. ต่อจากนี้ไป ขอเชิญรับฟังไทยคู่ฟ้า ครับ วันนี้เป็นวันแรกที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพื่อรับวงเงินช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 4,000 บาท ซึ่งจะทยอยโอนเงินให้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. และสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายใต้โครงการเราชนะได้ถึงวันที่ 31 พ.ค.64 โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการคือ เป็นผู้ประกันตน ม.33 ของระบบประกันสังคม มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะ และมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ - 7 มี.ค.64 ผ่านทางเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com “รวมไทยสร้างชาติ” กับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39297
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-บีโอไอลงนามเอ็มโอยูเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร ลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกนักลงทุน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 บีโอไอลงนามเอ็มโอยูเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร ลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกนักลงทุน บีโอไอและกรมสรรพากรลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลนักลงทุนร่วมกัน ยกระดับบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลด้วยข้อมูลชุดเดียวใช้ได้สองหน่วยงาน มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ ลดความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนด้านเอกสาร เพิ่มประสิทธิภาพการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่นักลงทุน นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเปิดเผยว่าบีโอไอได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมสรรพากรเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เป็นการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระแก่นักลงทุน ที่ต้องกรอกแบบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการผ่านระบบe–Monitoringให้ไม่ต้องกรอกข้อมูลและจัดส่งเอกสารที่ซ้ำซ้อนกันให้แก่ทั้งสองหน่วยงาน นอกจากนี้การเชื่อมโยงข้อมูลครั้งนี้จะช่วยให้การดำเนินการด้านการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบe–Taxของบีโอไอเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นชุดเดียวกับกรมสรรพากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนในการขอใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล และแสดงถึงธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจโดยการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวของทั้งสองหน่วยงานจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่1เมษายน2564เป็นต้นไป “ความร่วมมือกับกรมสรรพากรครั้งนี้จะช่วยลดขั้นตอนการส่งข้อมูลของนักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริม ให้กรอกเพียงครั้งเดียว อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริม ให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา บีโอไอมุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการนำระบบการขอใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (e-Tax) มาใช้ตั้งแต่ปี2559เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งแต่ละปีมีการยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์มากกว่า4,000บริษัทและเป็นระบบที่ทำให้บีโอไอได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทพัฒนาบริการ ระดับดี ประจำปี2562” นางสาวดวงใจกล่าว นายเอกนิตินิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า“ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่าง บีโอไอกับกรมสรรพากรที่จะร่วมบูรณาการด้านการให้บริการภาครัฐ พร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้อง ภายใต้กลยุทธ์Digital Transformationการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวกช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อนของขั้นตอนการนำส่งข้อมูลด้านเอกสาร ป้องกันข้อผิดพลาดในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามบัตรส่งเสริมการลงทุน” การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสองหน่วยงาน ยังจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลไปศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปด้วย ************************************************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39299
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ไขความเดือดร้อนประชาชน
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ไขความเดือดร้อนประชาชน นายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ไขความเดือดร้อนประชาชน วันนี้ (22 ก.พ. 64) เวลา 11.50 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่มีความจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินการคลัง แผนงบประมาณระยะปานกลาง ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและโครงสร้างที่ระบุไว้ทุกประการ ขณะเดียวกันต้องเร่งชี้แจ้งให้ประชาชนทราบถึงความจำเป็นในการดำเนินการของรัฐบาลทั้ง 2 ลักษณะ คือ จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) และจากบนลงล่าง (Top-down) เน้นสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ให้สามารถใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้โดยเร็วที่สุด ที่ประชุมได้รับฟังความคิดเห็นจากสภาเกษตรกร หอการค้าอุตสาหกรรม ที่ได้หารือเกี่ยวกับการเกษตรของเศรษฐกิจ BCG ที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ พร้อมทั้งเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ตอบสนองประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องเกิดความเชื่อมโยงแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งในส่วนของงบประมาณและแผนงานโครงการด้วย ................................ กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39310
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดเกษตรฯ กำชับกรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำ จับมือการประปานครหลวงสู้ความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบต่อประชาชน
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดเกษตรฯ กำชับกรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำ จับมือการประปานครหลวงสู้ความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบต่อประชาชน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างฤดูแล้ง ปี 2563/2564 โดยมีนายวชิรวิทย์ โพธิ์วิจิตร ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษ ปลัดเกษตรฯ กำชับกรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำ จับมือการประปานครหลวงสู้ความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบต่อประชาชน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างฤดูแล้ง ปี 2563/2564 โดยมีนายวชิรวิทย์ โพธิ์วิจิตร ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ค่าความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้กำชับให้กรมชลประทานวางมาตรการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า งดสูบน้ำเข้าพื้นระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง ส่วนโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้จัดทำรายงานการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำและควบคุมค่าความเค็มต่อไป ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำจะควบคุมการเปิด - ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้น - ลงของน้ำทะเลอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง พร้อมขอความร่วมมือจากการประปานครหลวง ปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำ water hammer operation เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหากเกิดกรณีวิกฤติ จะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนหนึ่งลงมาควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งด้วย โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.พ. 64) เวลา 07.00 น. วัดค่าความเค็มได้ 0.31 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2564 ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและไม้ผล-ไม้ยืนต้นเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะนำไปผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุมการรับน้ำ เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38823
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 กุมภาพันธ์ 2564
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference http://www.thaigov.go.th (โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง) วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ) 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 5. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกระทรวงแรงงานซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วย ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระทะไฟฟ้าก้นตื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ร่าง กฎกระทรวงกำหนดตู้น้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดเตาอบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ 8. เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) เศรษฐกิจ - สังคม 9. เรื่อง แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) 10. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี 11. เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 - 2565) 12. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2562 13. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ไตรมาสที่ 1) 14. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 15. เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 16. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 17. เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 18. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ครั้งที่ 2/2563 และครั้งที่ 5/2563 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 19. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) 20. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ” ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 21. เรื่อง แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) 22. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 23. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 2/2564 24. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2564 25. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ต่างประเทศ 26. เรื่อง การขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุม Steering Group Meeting of OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) 27. เรื่อง ขอความเห็นชอบท่าทีของฝ่ายไทยต่อการเสนอขอภาคยานุวัติสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาในภูมิภาคอาเซียนของสาธารณรัฐคาซัคสถานและสาธารณรัฐอินเดีย 28. เรื่อง การเตรียมการด้านงบประมาณสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2564 29. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล 30. เรื่อง การขยายระยะเวลาความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินภายใต้โครงการ Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN แต่งตั้ง 31. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) 32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) 33. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ******************* สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ กำหนดให้มีกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง โดยเรียกมาตรการใหม่นี้ว่า “การปรับเป็นพินัย” ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำความผิด ต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด โดยการปรับนั้นมิใช่เป็นโทษปรับทางอาญา รวมทั้งไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ การนำการปรับเป็นพินัยมาใช้แทนโทษปรับทางปกครอง เพื่อให้ระบบการลงโทษปรับในกฎหมายมีมาตรฐานเดียวกัน 1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด 2. กำหนดบทนิยามคำว่า “ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย 3. ค่าปรับเป็นพินัย คือ เงินค่าปรับที่ต้องชำระให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรงและโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่กระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง 4. กำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนดเท่านั้น ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง 5. กำหนดหลักการพิจารณาความผิดทางพินัย โดยกำหนดให้นำบทบัญญัติในภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ 1 บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป เฉพาะหมวด 2 การใช้กฎหมายอาญา หมวด 4 ความรับผิดในทางอาญา หมวด 5 การพยายามกระทำความผิด และหมวด 6 ตัวการและผู้สนับสนุนแห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่การปรับเป็นพินัยโดยอนุโลม 6. กำหนดหลักการพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับฐานะของผู้กระทำความผิด โดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำผิดทางพินัย และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดด้วย โดยจะให้ผ่อนชำระเป็นรายงวดก็ได้ 7. กำหนดให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ในกรณีผู้กระทำความผิดไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระค่าปรับได้ 8. กรณีที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดเพราะเหตุแห่งความยากจนหรือเพราะความจำเป็น ศาลจะกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดหรือจะว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ปรับเป็นพินัยเลย ก็ได้ 9. กำหนดให้ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่มิได้กำหนดให้มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด และเมื่อมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ 10. ในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป 11. กำหนดให้ศาลจังหวัดเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย และกำหนดให้วิธีพิจารณาคดีเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา รวมทั้งกำหนดให้ผู้กระทำความผิดมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นและคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด 12. กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบ 13. กำหนดบทบัญญัติการเปลี่ยนโทษปรับทางปกครองและโทษอาญาเป็นการปรับเป็นพินัย ดังนี้ 13.1 การเปลี่ยนโทษทางปกครองเป็นโทษปรับเป็นพินัย กำหนดให้เปลี่ยนโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นความผิดทางพินัยทั้งหมด แต่ไม่รวมถึงโทษปรับทางปกครองที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และการปรับที่เป็นมาตรการในการบังคับทางปกครอง 13.2 การเปลี่ยนโทษทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว แบ่งออกเป็น 1) กฎหมายที่ให้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ 2) ในกรณีที่กฎหมายที่หน่วยงานยังไม่พร้อมให้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยนั้น ได้กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเมื่อหน่วยงานนั้นมีความพร้อม 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ คค. เสนอว่า 1. ปัจจุบันได้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2554 โดยกำหนดลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งแผ่นป้ายทะเบียนจะแบ่งออกเป็นสองบรรทัด บรรทัดที่หนึ่งประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง และหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก บรรทัดที่สองเป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทยและหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน 2. ลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถและสีของแผ่นป้ายทะเบียนกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมทางทะเบียน เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องมีลักษณะที่สามารถมองเห็นและจดจำได้ง่ายและสามารถแยกแยะประเภทของรถตามสีของแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งลักษณะและสีของแผ่นป้ายทะเบียนจะแสดงถึงประเภทรถที่จดทะเบียนว่าเป็นรถประเภทใด เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือเป็นรถยนต์สาธารณะแสดงถึงจังหวัดที่จดทะเบียน รวมถึงอาจแสดงถึงสถานะของบุคคลผู้เป็นเจ้าของรถ เช่น เป็นคณะผู้แทนทางการทูตองค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น 3. นอกจากประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลทางทะเบียนและการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถและสีของแผ่นป้ายทะเบียนส่วนหนึ่งยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะการเพิ่มมูลค่าของหมายเลขทะเบียน เช่น ลักษณะของแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นนิยมของประชาชนที่สามารถกำหนดเป็นรูปภาพอธิบายหรือมองเห็นความหมายในภาพที่ปรากฏจริง (Graphic) หากเป็นหมวดอักษรซ้ำ เช่น กก ราคาประมูลหมายเลขทะเบียนจะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ ซึ่งสามารถ นำรายได้เข้าสู่กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อนำไปใช้เป็นทุนสนับสนุนและส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอันเกิดจากการใช้รถใช้ถนน 4. จากการศึกษาข้อมูลลักษณะแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนรถของประเทศสหรัฐอเมริกาและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลักษณะของแผ่นป้ายดังกล่าวประชาชนสามารถลงทะเบียนร้องขอให้ภาครัฐกำหนดลักษณะเป็นชื่อเฉพาะ โดยการลงทะเบียนและออกประกาศให้ผู้สนใจทราบ ก่อนนำออกเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ซึ่งก็จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเกิดประโยชน์ต่อทางราชการในการนำรายได้ดังกล่าวมาจัดทำบริการสาธารณะโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินซึ่งมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอ 5. โดยที่ปัจจุบันลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถและสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง หมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก และตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่จดทะเบียน ใช้สำหรับควบคุมกำกับดูแลทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของ ตรวจสอบเมื่อมีอุบัติเหตุหรือตรวจสอบการใช้รถในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจราจรและความผิดทางอาญา ซึ่งนอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ควรก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการด้วยการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำลักษณะแผ่นป้ายดังกล่าวและหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่นิยมหรือเป็นที่ต้องการของประชาชนออกเปิดประมูลเป็นการทั่วไป นำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนใช้สำหรับแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนโดยไม่ใช้เงินงบประมาณของทางราชการ ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้ลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนมีตัวอักษรมากกว่าสองตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขได้ โดยไม่ทำให้ประโยชน์ในการตรวจสอบดังกล่าวลดน้อยลง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ) มาเพื่อดำเนินการ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน ในกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2554 ดังนี้ 1. แผ่นป้ายแบ่งออกเป็นสองบรรทัด บรรทัดที่หนึ่งประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง และหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก บรรทัดที่สองเป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทย หมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน 2. กำหนดเพิ่มเติมให้แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน บรรทัดที่หนึ่งนอกจากประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สองและหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก บรรทัดที่สองเป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่จดทะเบียนแล้ว บรรทัดที่หนึ่งอาจประกอบด้วยตัวอักษรมากกว่าสองตัวหรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขก็ได้ และตามด้วยหมายเลขทะเบียนไม่เกินหนึ่งหลัก ทั้งนี้ การกำหนดตัวอักษรมากกว่าสองตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลข ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด 3. ให้ตัวอักษรมากกว่าสองตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลข ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นตัวอักษรประจำหมวด 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ สาระสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ว่านายเทพไท เสนพงศ์ ต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (4) “เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงแก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่น” (กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557) โดยพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ทำให้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 96 (2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (4) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายเทพไท เสนพงศ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) โดยมีผลนับแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเทพไท เสนพงศ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 82 วรรคสอง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 บัญญัติให้ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 27 มกราคม 2564 (ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2564) โดยต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งและประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประมาณการวันจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2564 นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 อนุมัติแทนคณะรัฐมนตรีในเรื่อง การตราร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการอันจำกัด ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อไปแล้ว 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ กษ. เสนอว่า 1. โดยที่มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติและยกเว้นค่าธรรมเนียม และต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 กำหนดค่าธรรมเนียมคำขออนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์ ซากสัตว์ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ซากสัตว์เข้ามาใน ออกนอก และนำผ่านราชอาณาจักร กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ซากสัตว์เข้ามาใน ออกนอก และนำผ่านราชอาณาจักร 2. กฎกระทรวงตามข้อ 1 ได้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้ 2.1 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร แพะ แกะ ตัวละ 250 บาท 2.2 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ตัวละ 200 บาท 2.3 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ประเภทซากสัตว์ เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ กิโลกรัมละ 7 บาท โดยเฉพาะกรณีของจิ้งหรีดที่หากมีการส่งออก ผู้ประกอบการต้อง เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กิโลกรัมละ 7 บาท ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคจิ้งหรีดกันมากขึ้น เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น ความต้องการบริโภคจิ้งหรีดจึงเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ หากมีการส่งออกในปริมาณมากและมีต้นทุนการผลิตต่ำ 2.4 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักร (1) สุนัข แมว ตัวละ 250 บาท (2) ไก่ เป็ด ห่าน และสัตว์ปีกชนิดอื่น ตัวละ 25 บาท (3) ไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ฟองละ 5 บาท 2.5 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักร กิโลกรัมละ 2 บาท 2.6 ค่าที่พักซากสัตว์ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร กิโลกรัมละ 5 บาท 3. โดยที่ค่าธรรมเนียมการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและส่งออกของผู้ประกอบการเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้น สมควรแก้ไขการกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการ ปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกด้านปศุสัตว์กับต่างประเทศ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ เข้ามาในราชอาณาจักร ตัวละ 25 บาท (เดิมตัวละ 250 บาท) 2. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ ออกนอกราชอาณาจักร ตัวละ20 บาท (เดิมตัวละ 200 บาท) 3. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 3 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท) 4. กำหนดค่าที่พักซากสัตว์ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 2 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท) 5. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภท ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ที่นำออกนอกราชอาณาจักรโดยผ่านด่านศุลกากรบูเก๊ะตา 6. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยานประเภทสุนัข แมว ไก่ เป็ด ห่าน สัตว์ปีกชนิดอื่น หรือไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ เฉพาะกรณีที่สัตว์นั้นยังอยู่ในเขตปลอดอากร จนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง 7. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยาน กรณีที่ไม่มีการเปิดตรวจตู้สินค้าหรือแบ่งถ่ายโอนสินค้า และยังอยู่ในเขตปลอดอากรจนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง 5. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกระทรวงแรงงานซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกระทรวงแรงงานซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี 1. กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษข้าราชการ รง. ชาย ประกอบด้วย หมวกทรงหม้อตาลสีน้ำเงินแกมดำ เสื้อคอพับสีน้ำเงินแกมดำ กางเกงขายาวสีน้ำเงินแกมดำ เข็มขัดด้ายถักสีน้ำเงินแกมดำ และรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าหุ้มข้อ 2. กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษข้าราชการ รง. หญิง ประกอบด้วย หมวกพับปีกสีน้ำเงินแกมดำ เสื้อคอพับสีน้ำเงินแกมดำ กางเกงขายาวสีน้ำเงินแกมดำ หรือกระโปรงสีน้ำเงินแกมดำ เข็มขัดด้ายถักสีน้ำเงินแกมดำ และรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าหุ้มข้อ 3. กำหนดลักษณะอินทรธนู ป้ายชื่อ และตำแหน่ง 4. กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษข้าราชการ รง. จะแต่งในโอกาสใดให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดให้มีหรือเขียนรูปตัวอย่างพิเศษขึ้นไว้เป็นมาตรฐาน 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1529 – 2561 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5822 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ความปลอดภัยของเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานที่มีลักษณะคล้ายกัน ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับเครื่องปั๊มความร้อนไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องลดความชื้น และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระทะไฟฟ้าก้นตื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้น้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดเตาอบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดกระทะไฟฟ้าก้นตื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้น้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดเตาอบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระทะไฟฟ้าก้นตื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของกระทะไฟฟ้าก้นตื้น ค่าประสิทธิภาพพลังงานอยู่ในช่วง ร้อยละ 78 ถึง ร้อยละ 85 ตามกำลังไฟฟ้า (วัตต์) 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้น้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของตู้ที่ผู้ผลิตกำหนด ตู้น้ำเย็นบริโภค และตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภค ค่าประสิทธิภาพพลังงานอยู่ในช่วง 0.16 ถึง 0.10 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน และ 1.20 ถึง 0.80 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตาอบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของเตาอบไฟฟ้า ค่าประสิทธิภาพพลังงานอยู่ในช่วง 0.4 ถึง 1.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ตามขนาดความจุของเตาอบไฟฟ้าที่ผู้ผลิตระบุ (ตั้งแต่ 12 ลิตร ถึงมากกว่า 65 ลิตร) 8. เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้ 1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) 2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ในการประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป 3. ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ แพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอว่า ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 20 มกราคม 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. เห็นควรเสนอให้มีการปรับถ้อยคำเพื่อให้สอดรับกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับถ้อยคำในส่วนของเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติในตอนท้ายของเหตุผลบรรทัดที่ 2 จากล่าง ดังนี้ “รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” 2. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถนำมาใช้บังคับได้บางส่วน จึงเห็นควรให้แพทยสภามีการปรับปรุงข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของมาตรา 301 และมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ แพทยสภาควรประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 305 (5) 3. หลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 (5) ที่ สธ. จะประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือกำหนดมาตรการการบริการและการสื่อสารที่ชัดเจน โดยให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่งจัดให้มีบริการปรึกษาทางเลือกและแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง การยุติหรือไม่ยุติการตั้งครรภ์ ระบบการส่งต่อ และการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่มารับบริการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก 4. สธ. ควรกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอย่างปลอดภัย ให้มีความชัดเจนและรอบด้านตามมาตรา 301 และมาตรา 305 โดยจัดให้มีศูนย์บริการในโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการนี้อย่างกว้างขวาง และจัดให้มีสายด่วนให้บริการข้อมูลเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 5. ระบบการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะขอรับการปรึกษาทางเลือก และการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และการจัดสวัสดิการสังคมได้ด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่ให้การปรึกษาทางเลือก หมายรวมถึงองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ด้วย 6. รัฐบาลควรดำเนินการโดยองค์รวมซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอด การเลี้ยงดูทารกให้เติบโตและได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 7. มาตรา 301 ไม่เอาผิดกับหญิงซึ่งทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หญิงจึงอาจทำให้ตนเองแท้งลูกด้วยวิธีการใด ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ อันอาจเป็นช่องทางให้มีการซื้อยาที่ผิดกฎหมายมาใช้เองหรือทำแท้งเถื่อน ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงสมควรกำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาที่ผิดกฎหมายและดำเนินการกับหมอเถื่อนหรือคลินิกเถื่อนอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้หญิงเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพเพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย และควรมีการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย 8. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ไม่พร้อมด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันอย่างแข็งขันด้วยการดูแลเอาใจใส่บุคคลในครอบครัว และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้านในสถานศึกษา จัดให้มี การคุมกำเนิดอย่างจริงจังและทั่วถึง 9. รัฐบาลควรกำหนดให้มีการจัดทำรายงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทุกปีตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอต่อคณะกรรมการที่ สธ. จะจัดตั้งขึ้นตามคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย 10. คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคณะ ควรมีการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เศรษฐกิจ - สังคม 9. เรื่อง แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 เพื่อยกเลิกการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology: InFinIT) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กค. รายงานว่า 1. กค. ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบัน InFinIT เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในภาคการเงิน (FinTech Startups) และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานระหว่างสถาบันการเงินภาครัฐ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินผ่านการจัดตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งพบว่า ปัจจุบันการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทยถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยการผลักดันของภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน สรุปได้ ดังนี้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการที่สำคัญ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) ภาครัฐ - พัฒนาและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม FinTech ดังนี้ (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน (ดำเนินการโดย กค.) ได้แก่ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เช่น บริการพร้อมเพย์ (Promptpay) การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้เงินสด ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Payment ของภาครัฐ เพื่อการรับเงิน ชำระเงิน และนำส่งเงินของหน่วยงานภาครัฐ และระบบฐานข้อมูล และระบบการรับจ่ายเงินเพื่อสวัสดิการสังคม (2) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identification Platform) รวมทั้งพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 [ดำเนินการโดย กค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง] (3) กำหนดกรอบนโยบายหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริการ FinTechสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ตลอดจนผลักดันให้มี กระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และร่วมกับสถาบันการเงินจัดกิจกรรมพัฒนา FinTech Startups เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง [ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)] 2) สถาบันการเงินของรัฐ - พัฒนาศูนย์นวัตกรรมของสถาบันการเงินของรัฐที่มีรูปแบบเหมือน InFinIT ดังนี้ (1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง (Krungthai Innovation Lab) เพื่อเป็นศูนย์กลางแนวหน้าในการขับเคลื่อน FinTech ของภาคอุตสาหกรรมและดำเนินการสนับสนุนโครงการภาครัฐ เช่น National e-Payment Digital Identification Platform เป็นต้น และจัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงผลักดันโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลได้ เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นต้น (2) ธนาคารออมสินมีแนวทางการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม (Innovation Lab) ให้เป็นศูนย์การสร้างสรรค์และพัฒนา FinTech สำหรับผลิตภัณฑ์บริการและช่องทางการให้บริการ รวมถึงการสนับสนุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับ FinTech Startups ที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการรูปแบบบริการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ มีแผนการจัดตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ “Innovation Club by GSB Startups” ร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมบุคลากรที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์และดำเนินธุรกิจโดยใช้ FinTech เป็นเครื่องมือ - สถาบันการเงินของรัฐ 8 แห่ง* รวมตัวเป็นสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สมาคมฯ) เพื่อสนับสนุนและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสมาชิก รวมถึงสร้างความพร้อมและความร่วมมือระหว่างสมาชิกทางด้านการเงินการธนาคาร ซึ่งสมาคมฯ สามารถเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech Ecosystem) ของประเทศไทยได้ 3) ภาคเอกชน - ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนา FinTech Startups โดยการรวมตัวกันของภาคเอกชนในการจักตั้งสมาคมฟินเทคประเทศไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ - พัฒนาศูนย์ส่งเสริม FinTech ของตัวเอง เพื่อส่งเสริมและร่วมเป็นพันธมิตรกับ FinTech Startups เช่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม True Digital เป็นต้น * หมายเหตุ : สถาบันการเงินของรัฐ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2. จากการดำเนินการของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทย (ตามข้อ 1) ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรม FinTech ได้แล้ว ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของรัฐ ลดระยะเวลา และลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินการในเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทย กค. เห็นควรทบทวนแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech โดยยกเลิกโครงการจัดตั้งสถาบัน InFinIT และยกเลิกการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบัน InFinIT ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ (4 กันยายน 2561) 10. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอดังนี้ 1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 [เรื่อง การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2561 – 2563 (3 ปี)] จากเดิมประจำปี พ.ศ. 2561 – 2563 เป็นประจำปี พ.ศ. 2561 – 2564 รายละเอียดนอกเหนือจากนี้คงเดิมทุกประการ 2. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 [เรื่อง การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2564 – 2568 (5 ปี)] จากเดิมประจำปี พ.ศ. 2564 – 2568 เป็นประจำปี พ.ศ. 2565 – 2569 รายละเอียดนอกเหนือจากนี้คงเดิมทุกประการ สาระสำคัญของเรื่อง กก. รายงานว่า 1. ผลการจัดการแข่งขันฯ ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2562 มีดังนี้ รายการ โมโต จีพี จำนวนผู้ชม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1. รายการ โมโต จีพี ประจำปี พ.ศ. 2561 สนามที่ 15 รายการ “PTT Thailand Grand Prix 2018” ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2561 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ 222,535 คน 3,053 ล้านบาท 2. รายการ โมโต จีพี ประจำปี พ.ศ. 2562 สนามที่ 15 รายการ “PTT Thailand Grand Prix 2019” ระหว่างวันที่ 4 – 6 ตุลาคม 2562 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ 226,655 คน 3,457 ล้านบาท 2. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกและในประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2562 – 2563 (2 ปี) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบให้เลื่อนการจัดการแข่งขันฯ ประจำปี พ.ศ. 2563 ออกไปก่อน โดยได้มอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้จัดการแข่งขันฯ ดำเนินการประสานงานหารือกับบริษัท ดอร์น่า สปอร์ต จำกัด (บริษัทฯ) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขันฯ ต่อมา บริษัทฯ มีหนังสือถึง กกท. ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เพื่อแจ้งเลื่อนการจัดการแข่งขันฯ ประจำปี พ.ศ. 2563 จากเดิม ระหว่างวันที่ 20 - 22 มีนคม 2563 เป็น ระหว่างวันที่ 2 - 4 ตุลาคม 2563 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ 3. บริษัทฯ มีหนังสือถึง กกท. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ได้เสนอให้ กกท. พิจารณาดำเนินการจัดการแข่งขันฯ ระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤศจิกายน 2563 หากไม่สามารถดำเนินการจัดการแข่งขันในปี พ.ศ. 2563 ได้ บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอในการต่อสัญญาเพิ่มอีก 1 ปี (จัดในปี พ.ศ. 2564) โดย กกท. ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 จากปี พ.ศ. 2563 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา1 4. กกท. ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ลงวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงกำหนดการในการเลื่อนการแข่งขันจากเดิม พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายใน 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 (เดือนมกราคม - มีนาคม) ประกอบกับสภาพอากาศภายในประเทศไทยในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส จะส่งผลต่อสุขภาพของนักกีฬา รวมไปถึงสถานการณ์ในการจำหน่ายบัตรเข้าชมซึ่งมียอดจำหน่ายลดลง จึงระบุได้ว่าเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ไม่เหมาะกับการจัดการแข่งขันภายในประเทศไทย กกท. ขอกำหนดปฏิทินการแข่งขันฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) เป็นต้นไป ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ให้พิจารณาทบทวนการยกเว้นค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม ร้อยละ 3 เนื่องจากหากต้องจ่ายเพิ่มเติม กกท. ต้องดำเนินการยื่นเรื่องขอแก้ไขเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้ง กกท. ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ว่า บริษัทฯ มีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยยินดีขยายสัญญาการแข่งขันฯ และเลื่อนกำหนดการจัดการแข่งขันฯ จากเดิม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เป็น พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) พร้อมนี้ จะไม่มีการเพิ่มค่าธรรมเนียมสัญญาร้อยละ 3 และยอมรับข้อตกลงในการเลื่อนกำหนดการต่อสัญญาจากเดิม พ.ศ. 2564 - 2568 (ค.ศ. 2021 - 2025) เป็น พ.ศ. 2565 – 2569 (ค.ศ. 2022 – 2026) 5. ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการโมโต จีพี ประจำปี 2562 – 2563 (2 ปี) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 มีมติ ดังนี้ 5.1 เห็นชอบในการขยายสัญญาการแข่งขันฯ จากเดิม ปี พ.ศ. 2561 - 2563 (ค.ศ. 2018 - 2020) เป็นปี พ.ศ. 2561 – 2564 (ค.ศ. 2018 - 2021) โดยรายละเอียดในการดำเนินการคงเดิม และพิจารณาเห็นชอบให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหตุผลในการขอขยายสัญญาการจัดการแข่งขันฯ 5.2 เห็นชอบให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 [เรื่อง การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2564 - 2568 (5 ปี)] จากเดิม ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2568 (ค.ศ. 2021 - 2025) เป็นระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2569 (ค.ศ. 2022 - 2026) 6. กกท. ได้หารือร่วมกับอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ณ สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) โดยอัยการสูงสุดให้ความเห็น ดังนี้ 6.1 การเลื่อนสัญญาการแข่งขันฯ จากเดิม ประจำปี พ.ศ. 2563 เป็นปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 หาก กกท. มีความจำเป็นต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันฯ จากเดิม พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2564 จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบเหตุผลในการขอเลื่อนการจัดการแข่งขันฯ 6.2 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 หาก กกท. มีความจำเป็นต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันฯ จากเดิม พ.ศ. 2564 – 2568 เป็นปี พ.ศ. 2565 – 2569 จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบเห็นผลในการขอขยายเวลาการจัดการแข่งขันฯ ภายใต้เงื่อนไขเดิมทุกประการ สำหรับสัญญาที่ กกท. ต้องทำร่วมกับบริษัทฯ เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) นั้น ขอให้ กกท. ยึดสัญญาเดิมที่เคยผ่านการตรวจจาก อส. ทั้งนี้ ให้ปรับเปลี่ยนเฉพาะ วัน เดือน ปี ค่าลิขสิทธิ์การแข่งขัน และรายชื่อผู้ลงนามในสัญญา 7. บริษัทฯ ได้กำหนดตารางการแข่งขันของประเทศไทย ณ เดือนตุลาคม 2564 และได้กำหนดให้มีการลงนามสัญญาสำหรับการจัดการแข่งขันฯ ในปี พ.ศ. 2564 ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากการเตรียมการจัดการแข่งขันฯ มีภารกิจ ขั้นตอน และระยะเวลาที่ต้องดำเนินการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2564 _______________ 1ข้อผูกพันที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาฉบับนี้ ระบุว่า ผู้จัดการแข่งขัน (กกท.) ต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินให้แก่บริษัทฯ เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นเงิน 7,500,000 ยูโร และปี พ.ศ. 2562 และปี พ.ศ. 2563 จะปรับขึ้นเป็นรายปี ในทุกปีที่อัตราร้อยละ 3 และการชำระเงินใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษีส่วนเพิ่ม หรือใบแทนภาษี ภาษีครัวเรือน ภาษีศุลกากร อากร ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย หรืออื่น ๆ ซึ่งรวมถึงกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งบริษัทฯ ได้พิจารณาตามความเหมาะสมว่าอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพของผู้เข้าแข่งขัน และทีมงานของบริษัทฯ หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใด ๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงนี้ จะต้องชำระโดยผู้จัดการแข่งขันเต็มจำนวนโดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 11. เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 - 2565) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 – 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง วธ. รายงานว่า 1. วธ. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้ดำเนินการทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2560 - 2564 ตามการจำแนกระดับของแผนตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และได้ปรับปรุงนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็น “แผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 - 2565)” ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และมีมติให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ แล้ว โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น (1) ควรปรับปรุงวิสัยทัศน์ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งระบบและการกำหนดเป้าหมายในการนำทุนทางวัฒนธรรมของไทยมาพัฒนาต่อยอดและปรับให้เหมาะสม (2) ควรกำหนดแผนการดำเนินการในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (3) ควรส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมร่วมสมัยให้มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ (4) ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยภาครัฐควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการต่อยอดทุนทางศิลปวัฒนธรรมและสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้เพิ่มมากขึ้น (5) ควรให้ความสำคัญกับการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยให้เกิดเป็น Creative Culture และ (6) ควรมีการติดตามและประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ ในช่วงที่ผ่านมา และกำหนดตัวชี้วัดให้สามารถบ่งชี้ถึงผลลัพธ์จากการดำเนินงาน รวมทั้งขอบเขตการวัดผลที่ชัดเจน เป็นต้น 2. วธ. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ โดยคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ แล้ว 3. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ ประเด็น สาระสำคัญ 1. วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นศูนย์บูรณาการการเรียนรู้และความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งระบบ เพื่อต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. พันธกิจ 2.1 พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล 2.2 ส่งเสริมพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ 2.3 สนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2.4 บูรณาการความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศให้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยมีบทบาทในเวทีโลก 3. วัตถุประสงค์ 3.1 เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ตระหนักถึงคุณค่างานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 3.2 เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการส่งเสริมครอบคลุมทุกมิติ และให้กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมในทุกระดับ ทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ตลอดจนถึงระดับนานาชาติ 3.3 เพื่อยกระดับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย 3.4 เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยไปทั่วโลกเป็นการส่งเสริมทัศนะเชิงบวกต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าใจและการยอมรับภาพลักษณ์ และความนิยมไทยในสากลด้วยอำนาจแบบนุ่มนวลของไทย 4. เป้าหมาย ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจ สร้างพลังทางสังคม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) ดังนี้ 4.1 อัตราการขยายตัวของมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม 4.2 ระบบฐานข้อมูลเทคโนโยดิจิทัลด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ 4.3 ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเป็นรูปธรรม 5. ตัวชี้วัดหลัก 5.1 การนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 5.2 เปิดให้บริการหอศิลป์แห่งชาติที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค จำนวน 1 แห่ง 5.3 เปิดให้บริการ Big Data ระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรม จำนวน 1 ระบบ 5.4 จำนวนภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 6.1 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 6.2 คนทุกช่วงวัยมีความรู้ความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสามารถต่อยอดพัฒนา ภูมิปัญญาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาทักษะสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 6.3 พื้นที่และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม 6.4 การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยใน การขับเคลื่อนและทำงานร่วมกัน เกิดผลลัพธ์ตอบสนองต่อเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม 4. ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตัวอย่างกิจกรรม/โครงการที่จะดำเนินการ และกรอบวงเงินงบประมาณจากงบดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ วงเงินงบประมาณ (ล้านบาท) ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 37 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โครงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เป็นต้น 619.69 2,071.91 658.04 2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ประกอบด้วย 34 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว โครงการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลก และโครงการศูนย์สร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย เป็นต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กรมศิลปากร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นต้น 510.16 2,151.16 754.64 3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ สังคม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 42 โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาด โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย เป็นต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมการพัฒนาชุมชน วธ. (กรมการศาสนา) เป็นต้น 2,043.52 2,390.07 2,184.96 4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศบนฐานมรดกทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 17 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมและนำความเป็นไทยสู่สากล โครงการเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปะร่วมสมัย โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) วธ. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นต้น 5,346.11 5,453.25 5,382.54 รวมทั้งสิ้น 8,519.48 12,066.39 8,980.08 29,565.95 5. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้ ประเด็น สาระสำคัญ 1. กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน มีหน่วยงานหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย (2) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ (3) คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 2. แนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการฯ กับแผนบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ (1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการฯ แปลงแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการระยะ 5 ปี และรายปีของหน่วยงานนั้น ๆ (2) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (3) ประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานในระดับโครงการ (4) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานภาพรวม และการบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด และ (5) ดำเนินการติดตามตรวจสอบ และประเมินผล ด้วยระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) 3. แนวทางการติดตามและประเมินผล เพื่อติดตามความก้าวหน้า รวมทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ โดยมี แนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ (1) กลไกในระดับนโยบายมีแนวทางในการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (2) พัฒนากลไกในการติดตามและประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด การประเมินตัวชี้วัด ความสำเร็จของการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ จัดทำรายงานประจำปี (3) ใช้กระบวนการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทุกระดับ และ (5) รายงานผลการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างต่อเนื่อง 12. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2562 2. ให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน และกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด 3. ให้หน่วยงานของรัฐที่หารือต่อคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นเดียวกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ว่า “...เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น” ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง สคก. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 1.1 การให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ แก่หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการระดับกรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวม 12 เรื่อง ดังนี้ หน่วยงานที่ขอหารือ เรื่องที่ขอหารือ 1) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ปัจจุบัน : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรณีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 2) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การมีสภาพร้ายแรงหรือข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา 3) กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนำพระราชบัญญัติฯ ไปใช้บังคับกับการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้า เศษพลาสติกตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 4) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มาตรการบังคับทางปกครองในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 5) กรมสรรพากร สถานะและการมีผลใช้บังคับของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 6) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง เป็นผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 7) องค์การบริหารส่วนตำบลยางซ้าย การใช้มาตรการบังคับทางปกครองในระหว่างที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน 8) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตำหนัก ระยะเวลาการใช้มาตรการบังคับทางปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 9) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ การบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินที่ยังไม่เป็นที่สุด 10) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถานะของคำสั่งประธานกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดอุดรธานีที่ให้พนักงานส่วนตำบลไปปฏิบัติหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นในเขตจังหวัด 11) ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้บังคับต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง 12) องค์การบริหารส่วนตำบลศิลา การนับระยะเวลาในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลศิลา 1.2 การจัดทำกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎกระทรวงการมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง พ.ศ. 2562 2) กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 และ 3) กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำหนดค่าปรับบังคับการ พ.ศ. 2562 2. ผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2.1 การดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามที่ให้ สคก. ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติราชการทางปกครองให้เป็นไปโดยมีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปี 2562 สรุปการดำเนินงานได้ ดังนี้ (1) ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับพระราชบัญญัติฯ พร้อมทั้งทำการศึกษาและวิเคราะห์หลักกฎหมายปกครองของต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาในการปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้จัดทำให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (2) จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง และบรรยายกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในหลักสูตรที่ สคก. จัดขึ้น รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในการจัดวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนทั่วไปด้วย (3) ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของ สคก. ไปอบรมหลักกฎหมายปกครองอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมและอบรมหลักสูตรของสถาบันการปกครองชั้นสูงแห่งชาติฝรั่งเศส จำนวน 4 คน 2.2 การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ในการบังคับทางปกครอง ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติฯ และได้จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ใหม่ในการบังคับทางปกครอง ทั้งที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 และที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยได้จัดทำข้อมูลในรูปแบบของอินโฟกราฟิก (infographic) เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สคก. 3. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ สาเหตุประการหนึ่งของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ เนื่องจากการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้เองโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลตามหลักเกณฑ์เดิมไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความเชี่ยวชาญในการดำเนินการสืบหาทรัพย์สิน การยึด การอายัดทรัพย์สิน และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองซึ่งผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี หรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐยังไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการบังคับทางปกครอง นอกจากนี้ ในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่ง สคก. ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในช่องทางต่าง ๆ แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนั้น คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ดังนี้ 3.1 ให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน และกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด 3.2 ให้หน่วยงานของรัฐที่หารือต่อคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นเดียวกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ว่า “...เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น” 13. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ไตรมาสที่ 1) คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ไตรมาสที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 หมวด 7 การประเมินผลและการรายงาน ที่บัญญัติให้มีการจัดวางระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จยบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวัดผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณในกรณีที่การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณใดไม่ได้ตามเป้าหมายหรือตัวชี้วัดที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการ สงป. จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากหน่วยรับงบประมาณไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ สงป. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการตามที่เห็นสมควร) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไตรมาสที่ 1 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,285,962.48 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 942,707,43 ล้านบาท และก่อหนี้แล้ว 1,028,434.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.69 และ 31.30 ตามลำดับ สำหรับงบประมาณรายจ่ายกรณีไม่รวมงบกลาง มีผลการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท งบประมาณ (ไม่รวม งบกลาง) ผลการ เบิกจ่าย/ ก่อหนี้ เป้าหมาย การใช้จ่ายงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี สูง/ต่ำกว่า เป้าหมาย (ร้อยละ) แผน การใช้จ่ายงบประมาณ สูง/ต่ำกว่า แผน (ร้อยละ) (ภาพรวม 2,671,346.23 ล้านบาท) เบิกจ่าย 814,685.28 (ร้อยละ 30.50) 854,830.79 (ร้อยละ 32.00) -1.50 821,975.74 (ร้อยละ 30.77) -0.27 ก่อหนี้ 900,412.06 (ร้อยละ 33.71) 854,830.79 (ร้อยละ 32.00) 1.71 821,975.74 (ร้อยละ 30.77) 2.94 รายจ่ายประจำ (2,083,973.70 ล้านบาท) เบิกจ่าย 741,579.94 (ร้อยละ 35.58) 750,230.53 (ร้อยละ 36.00) -0.42 706,728.91 (ร้อยละ 33.91) 1.67 ก่อหนี้ 754,705.64 (ร้อยละ 36.21) 750,230.53 (ร้อยละ 36.00) 0.21 706,728.91 (ร้อยละ 33.91) 2.30 รายจ่ายลงทุน (587,372.53 ล้านบาท) เบิกจ่าย 73,105.35 (ร้อยละ 12.45) 117,474.51 (ร้อยละ 20.00) -7.55 115,246.83 (ร้อยละ 19.62) -7.17 ก่อหนี้ 145,706.42 (ร้อยละ 24.81) 117,474.51 (ร้อยละ 20.00) 4.81 115,246.83 (ร้อยละ 19.62) 5.19 2. ผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไตรมาสที่ 1 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ (ไม่รวมงบกลาง) สรุปได้ ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท ยุทธศาสตร์/รายการ ผลการ เบิกจ่าย/ ก่อหนี้ เป้าหมาย การใช้จ่ายงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี สูง/ต่ำกว่า เป้าหมาย (ร้อยละ) แผน การใช้จ่ายงบประมาณ สูง/ต่ำกว่า แผน (ร้อยละ) (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (399,469.71 ล้านบาท) เบิกจ่าย 76,136.22 (ร้อยละ 19.60) 127,830.31 (ร้อยละ 32.00) -12.40 110,469.49 (ร้อยละ 27.65) -8.05 ก่อหนี้ 91,181.47 (ร้อยละ 22.83) 127,830.31 (ร้อยละ 32.00) -9.17 110,469.49 (ร้อยละ 27.65) -4.83 (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (394,588.45 ล้านบาท) เบิกจ่าย 117,430.25 (ร้อยละ 29.76) 126,268.30 (ร้อยละ 32.00) -2.24 134,847.64 (ร้อยละ 34.17) -4.41 ก่อหนี้ 156,023.58 (ร้อยละ 39.54) 126,268.30 (ร้อยละ 32.00) 7.54 134,847.64 (ร้อยละ 34.17) 5.37 (3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (579,388.33 ล้านบาท) เบิกจ่าย 152,734.59 (ร้อยละ 26.36) 185,404.26 (ร้อยละ 32.00) -5.64 144,718.92 (ร้อยละ 24.98) 1.38 ก่อหนี้ 161,423.90 (ร้อยละ 27.86) 185,404.26 (ร้อยละ 32.00) -4.14 144,718.92 (ร้อยละ 24.98) 2.88 (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (724,132.94 ล้านบาท) เบิกจ่าย 242,270.42 (ร้อยละ 33.46) 231,722.54 (ร้อยละ 32.00) 1.46 197,067.47 (ร้อยละ 27.21) 6.25 ก่อหนี้ 244,825.78 (ร้อยละ 33.81) 231,722.54 (ร้อยละ 32.00) 1.81 197,067.47 (ร้อยละ 27.21) 6.60 (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (116,031.68 ล้านบาท) เบิกจ่าย 16,768.86 (ร้อยละ 14.45) 37,130.14 (ร้อยละ 32.00) -17.55 26,357.72 (ร้อยละ 22.71) -8.26 ก่อหนี้ 32,502.52 (ร้อยละ 28.01) 37,130.14 (ร้อยละ 32.00) -3.99 26,357.72 (ร้อยละ 22.71) 5.30 (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (164,280.81 ล้านบาท) เบิกจ่าย 41,324.50 (ร้อยละ 25.15) 52,569.86 (ร้อยละ 32.00) -6.85 47,146.28 (ร้อยละ 28.70) -3.55 ก่อหนี้ 46,434.36 (ร้อยละ 28.27) 52,569.86 (ร้อยละ 32.00) -3.73 47,146.28 (ร้อยละ 28.70) -0.43 (7) รายการค่าการดำเนินการภาครัฐ (293,454.32 ล้านบาท) เบิกจ่าย/ก่อหนี้ 168,020.44 (ร้อยละ 57.26) 93,905.38 (ร้อยละ 32.00) 25.26 161,368.23 (ร้อยละ 54.99) 2.27 3. ปัญหาและอุปสรรค 3.1 หน่วยรับงบประมาณดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผนเนื่องจากในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พศ. 2563 หน่วยรับงบประมาณบางส่วนได้จัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-GP) และเตรียมการดำเนินการงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ในลำดับถัดมา รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน 3.2 หน่วยรับงบประมาณบางส่วนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า เนื่องจากมีการปรับปรุงและแก้ไขร่างขอบเขตของงาน (TOR) หลายครั้ง รวมถึงกรณีที่หน่วยรับงบประมาณจัดสรรเงินไปยังสำนักงานในภูมิภาคล่าช้าหลังจากการได้รับการจัดสรรเงินจาก สงป. 3.3 รายจ่ายหน่วยลงทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การสำรวจออกแบบและจัดทำรูปแบบรายการ การจัดทำ TOR และการกำหนดราคากลาง บางรายการมีการประกาศประกวดราคาแล้วแต่ประสบปัญหา จึงต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ในส่วนจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนด เนื่องจากต้องอาศัยบุคลากรจากหน่วยงานในภูมิภาคซึ่งมีความรู้เฉพาะทางในการพิจารณาแบบรูปรายการหรือการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ 3.4 กรณีรายการผูกพันใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 32 รายการ มี 24 รายการที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่าง TOR การกำหนดราคากลาง การแก้ไขปรับปรุงแบบรูปรายการให้เหมาะสมกับการใช้งาน และอยู่ระหว่างหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุความจำเป็นทางด้านลักษณะงาน ด้านความมั่นคง จึงเป็นสาเหตุให้การดำเนินการล่าช้า 4. สงป. มีข้อเสนอแนะ เช่น 4.1 หน่วยรับงบประมาณควรเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายและหรือแผนที่กำหนดไว้ และควรให้ความสำคัญกับความพร้อมของโครงการก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งพิจารณากำหนดทิศทางหรือแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป (New Normal) เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์และก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 4.2 หน่วยรับงบประมาณควรเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนรายการปีเดียว เห็นสมควรก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จสิ้นทุกรายการภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากการระบาดของโควิด-19 และ สงป. จะได้นำผลการเบิกจ่ายและการก่อหนี้ผูกพันมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ด้วย 4.3 หัวหน้าส่วนราชการควรกำกับดูแลรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขโดยเคร่งครัด เนื่องจากในปัจจุบันยังพบว่ามีหน่วยรับงบประมาณดำเนินการไม่ครบถ้วน 14. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 (แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2ฯ พ.ศ. 2563) และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง พม. รายงานว่า 1. แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) เป็นแผนแม่บทระยะยาวที่ใช้เป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทย เนื่องจากจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อสภาพทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยแผนผู้สูงอายุแห่งชาติดังกล่าวได้ปรับปรุงมาแล้ว 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งต่อมา พม. (กรมกิจการผู้สูงอายุ) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว โดยมีความเห็นเพิ่มเติมให้มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ เช่น ควรปรับปรุงดัชนีชี้วัดในภาพรวมให้สามารถวัดได้ง่าย ปรับปรุงดัชนีหลักประกันรายได้เพื่อวัยสูงอายุให้ครอบคลุมในมิติเรื่องความเพียงพอทางการเงิน เพิ่มดัชนีด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น/ชุมชนทั้งด้านสุขภาพ สวัสดิการ และการเงิน เป็นต้น และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 2. ต่อมา พม. (กรมกิจการผู้สูงอายุ) ได้ปรับปรุงดัชนีชี้วัดแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามมติสภาพัฒนาฯ และได้ปรับชื่อแผนเป็นแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2ฯ พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ได้เห็นชอบด้วยแล้ว 3. แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2ฯ พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้ 3.1 วัตถุประสงค์ (1) เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้และมีหลักประกันที่มั่นคง (2) เพื่อสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยตระหนักถึงผู้สูงอายุในฐานะบุคคลที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมและส่งเสริมให้คงคุณค่าไว้ให้นานที่สุด (3) เพื่อให้ประชากรทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการ และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ (4) เพื่อให้ประชาชน ครอบครัวและชุมชน ท้องถิ่น องค์กรภาครัฐและเอกชน ตระหนักและมีส่วนร่วมในภารกิจด้านผู้สูงอายุ (5) เพื่อให้มีกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุ 3.2 แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2ฯ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาตร์ 18 มาตรการ และดัชนีรวม 60 ดัชนี สรุปได้ ดังนี้ ยุทธศาสตร์และมาตรการที่สำคัญ ดัชนีที่สำคัญและค่าเป้าหมายในปี พ.ศ. 2565 เช่น ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ (3 มาตรการ) (1) หลักประกันด้านรายได้เพื่อวัยสูงอายุ เช่น ขยายหลักประกันชราภาพให้ครอบคลุมถ้วนหน้า ส่งเสริมและสร้างวินัยการออมทุกช่วงวัย เป็นต้น - อัตราครอบคลุมการประกันยามชราภาพภาคสมัครใจกับภาคบังคับในประชากรอายุ 30 – 59 ปี ร้อยละ 80 - อัตราเงินออมภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง - สัดส่วนของประชากรอายุ 25 – 59 ปี ที่มีการออมเพียงพอเพื่อวัยสูงอายุ ร้อยละ 60 (เพิ่มดัชนีตามมติสภาพัฒนาฯ) (2) การให้การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาการจัดบริการการศึกษาและการเรียนรู้ต่อเนื่อง รณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ เป็นต้น - สัดส่วนประชากรอายุ 18 – 59 ปี ที่มีความรู้ด้านวงจรชีวิต กระบวนการชรา และความรู้ดานการเตรียมการเพื่อวัยผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 - มีรายวิชาเลือกหรือกิจกรรมดูแลสุขภาพและพฤติกรรมอนามัยเพื่อการเป็นผู้สูงอายุในอนาคตในสถานศึกษาในระบบ (3) การปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนทุกวัย เป็นต้น สัดส่วนทัศนคติทางบวกต่อผู้สูงอายุในประชากรอายุ 18 – 59 ปี ร้อยละ 90 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ (6 มาตรการ) (1) ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และดูแลตนเองเบื้องต้น เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบที่หลากหลาย เป็นต้น - สัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ร้อยละ 50 (2) ส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ เช่น ส่งเสริมการจัดตั้งและดำเนินงานชมรมผู้สูงอายุและเครือข่าย เป็นต้น - สัดส่วนของชุมชนที่มีชมรมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง - สัดส่วนชมรมผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอในรอบ 1 ปี (อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 3 เดือน หรือ 4 ครั้งต่อปี) - สัดส่วนของงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่น/กรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยาที่ใช้สำหรับกิจกรรมด้านผู้สูงอายุหรือเพื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (3) ส่งเสริมด้านการทำงานและการหารายได้ของผู้สูงอายุ เช่น การทำงานทั้งเต็มเวลาและไม่เต็มเวลาทั้งในระบบและนอกระบบ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อจัดทำกิจกรรมเสริมรายได้ โดยให้ผู้สูงอายุสามารถมีส่วนร่วม เป็นต้น - สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่พึงพอใจสถานะการเงินของตนเอง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 - ร้อยละ 75 ของผู้สูงอายุมีความพร้อมด้านสุขภาพ ต้องการทำงานแต่ไม่มีงานทำ (เพิ่มดัชนีตามมติสภาพัฒนาฯ) (4) สนับสนุนผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ เช่น ประกาศเกียรติคุณผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ส่งเสริมให้เกิดคลังปัญญากลางของผู้สูงอายุเพื่อรวบรวมภูมิปัญญาในสังคม เป็นต้น - จำนวนองค์กรที่มีการประกาศเกียรติคุณผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (5) ส่งเสริมสนับสนุนสื่อทุกประเภทให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้และสามารถเข้าถึงข่าวสารและสื่อ เช่น ส่งเสริมการผลิต การเข้าถึงสื่อและการเผยแพร่ข่าวสารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น - สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้สูงอายุผ่านสื่อในระยะ 1 เดือน ร้อยละ 80 - สัดส่วนของรายการที่ออกอากาศเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ผ่านสื่อสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (6) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ให้ความรู้แก่ครอบครัวและผู้สูงอายุในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการในวัยสูงอายุ กำหนดมาตรการแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้าง/ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น - สัดส่วนของผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ (4 มาตรการ) (1) คุ้มครองรายได้ เช่น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับสวัสดิการด้านรายได้พื้นฐานที่รัฐจัดให้ การจัดตั้งกองทุนในชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น - สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับรายได้ที่รัฐจัดให้เป็นรายเดือน ร้อยละ 95 - สัดส่วนของชุมชนที่มีกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ ร้อยละ 60 (2) หลักประกันด้านสุขภาพ เช่น พัฒนาและส่งเสริมระบบประกันสุขภาพที่มีคุณภาพเพื่อผู้สูงอายุทุกคน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างทั่วถึง เป็นต้น - สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่ใช้ระบบประกันสุขภาพในการเจ็บป่วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 - สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีร้อยละ 90 (3) ด้านครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง เช่น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัวให้นานที่สุด ส่งเสริมสมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแลให้มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น - สัดส่วนประชากรสูงอายุที่อยู่กับครอบครัวมากกว่าร้อยละ 90 - สัดส่วนผู้ดูแลที่มีความรู้ในการดูแล (โภชนาการ การแก้ไขปัญหาเวลาเจ็บป่วยเฉียบพลัน) ต่อผู้ดูแลทั้งหมดของผู้สูงอายุที่ออกจากบ้านไม่ได้ ร้อยละ 95 (4) ระบบบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน เช่น ปรับปรุงบริการสาธารณะทุกระบบให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทางศาสนา องค์กรเอกชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์มีส่วนร่วมในการดูแลจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุโดยกระบวนการประชาคม เป็นต้น - สัดส่วนของผู้สูงอายุที่พึงพอใจต่อระบบบริการสาธารณะทุกระบบ ร้อยละ 80 - สัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดงบประมาณและ/หรือกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุร้อยละ 95 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุอย่างบูรณาการระดับชาติ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ (2 มาตรการ) (1) การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุอย่างบูรณาการระดับชาติ เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็ง กผส. ให้สามารถผลัดดันนโยบายและภารกิจที่สำคัญด้านผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติ พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในระดับจังหวัดและท้องถิ่น เป็นต้น - ทุกหน่วยงานหลักด้านผู้สูงอายุรายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุม กผส. อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี - มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในระดับจังหวัดและท้องถิ่นทุกจังหวัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนการผลิตหรือฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่างเพียงพอและมีมาตรฐาน เป็นต้น - จำนวนของบุคลากรด้านผู้สูงอายุที่ได้รับการผลิตหรือฝึกอบรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการประมวล พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (3 มาตรการ) (1) สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุสำหรับการกำหนดนโยบายและการพัฒนาการบริการหรือการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ - จำนวนโครงการและ/หรืองบประมาณของการศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) ดำเนินการให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 2 ที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง - แผนผู้สูงอายุแห่งชาติได้รับการติดตาม และประเมินผลได้มาตรฐานอย่างน้อยทุก 5 ปี (3) พัฒนาระบบข้อมูลทางด้านผู้สูงอายุให้ถูกต้องและทันสมัย โดยมีระบบฐานข้อมูลที่สำคัญด้านผู้สูงอายุที่ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น - มีฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุที่สำคัญทุกปีและมีการปรับปรุงฐานข้อมูลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ดัชนีรวมของยุทธศาสตร์ - อายุคาดหวัง* ที่ดูแลตนเองได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง - สัดส่วนอายุคาดหวังที่ยังดูแลตนเองได้** ต่ออายุคาดหวังมีสัดส่วนไม่ลดลง - ดัชนีวัดความสุขของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง - ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายเหตุ : *อายุคาดหวัง หมายถึง จำนวนเฉลี่ยของประชากรที่คาดหวังว่าจะมีชีวิตต่อไปได้ **อายุคาดหวังที่ยังดูแลตัวเองได้ หมายถึง จำนวนปีเฉลี่ยของประชากรที่คาดหวังว่าจะอยู่ในสถานที่ทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขลักษณะส่วนตัว ประกอบด้วย การรับประทานอาหาร การทำความสะอาดบนใบหน้า การเคลื่อนย้ายจากนอนมานั่ง การเข้าใช้ห้องสุขา การสวมใส่เสื้อผ้า และการอาบน้ำ 15. เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ 2. มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนในเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้รับความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอว่า 1. เดิมคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 331/2560 ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ นักวิชาการ องค์กรประชาสังคม สำนักเทศกิจกรุงเทพมหานคร กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย 2) กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยมีความเห็นและเสนอแนะเพิ่มเติมว่าการแก้ไขปัญหาต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำมาหากินหาเช้ากินค่ำของชาวบ้านและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของที่หรือทางสาธารณะ และควรมีมาตรการกำกับดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง และคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 เห็นชอบให้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรุงเทพมหานคร และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ประกอบกับได้มีการยุบเลิกสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะกรรมการฯ ในขณะนั้น โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2561 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จึงไม่ได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 2. ต่อมาได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็น คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนแก่สำนักงาน ป.ย.ป. และให้รายงานผลการดำเนินการในแต่ละเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป 3. คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ได้พิจารณาปรึกษาหารือประเด็นการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างนัยสำคัญและสามารถดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผลการพิจารณาที่ได้ดำเนินการศึกษาภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 331/2560 ตามข้อ 1. 4. คณะกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องนี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังสามารถดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งอาจกำหนดให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนได้อีกด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าควรเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ และให้รับประเด็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางด่วนไปพิจารณาด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบ สำนักงาน ป.ย.ป. จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ สาระสำคัญของเรื่อง ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. สภาพปัญหา ปัจจุบันมีเสียงสะท้อนจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า การดำเนินการตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในการไม่ให้มีหาบเร่แผงลอยที่กระทบทางเท้าและการลดจุดผ่อนผันลง โดยจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่แต่ละจุด อาทิ การดึงดูดนักท่องเที่ยว และไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ 2. ข้อเสนอแนะ แบ่งออกได้เป็นข้อเสนอระยะสั้นและข้อเสนอระยะยาว ดังนี้ (1) ในระยะสั้น เห็นควรให้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการและแผนการจัดการในที่หรือทางสาธารณะที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (2) ในระยะยาว เห็นควรดำเนินการ ดังนี้ (2.1) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดจุดผ่อนผันที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ประโยชน์ในที่หรือทางสาธารณะ โดยมีการคำนึงถึงปัจจัยดังนี้ (ก) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความกว้างของที่หรือทางสาธารณะ การไม่กีดขวางการจราจร และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเกินสมควร (ข) ความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยมีกลไกการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย (ค) เป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือพื้นที่สร้างเศรษฐกิจในการทำมาหากินของผู้ประกอบอาชีพรายย่อย โดยคำนึงถึงลักษณะของพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว (2.2) ให้มีคณะกรรมการเพื่อทำผังการใช้ที่หรือทางสาธารณะและบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในระดับกรุงเทพมหานครและในระดับเขต เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบาย การใช้พื้นที่การกำกับดูแลผู้ประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียน (2.3) กำหนดให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการใช้ที่หรือทางสาธารณะให้แก่รัฐ เนื่องจากเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการใช้ที่หรือทางสาธารณะ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณในการจัดการบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคได้ตามความเหมาะสม (2.4) ให้กรุงเทพมหานครจัดมาตรการส่งเสริม โดยให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในที่หรือทางสาธารณะที่นำมาใช้ประโยชน์ และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม 3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ สร้างความสมดุลระหว่างการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้ที่หรือทางสาธารณะ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนในเรื่องนี มีดังนี้ ลำดับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่ฯ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ 1. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะและการให้ใบอนุญาต (มาตรา 43 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 58) 2. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือจำหน่ายสินค้าในสถานสาธารณะ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร (มาตรา 19 มาตรา 20) 3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กรุงเทพมหานครในเรื่อง การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การผังเมือง การดูแลรักษาที่สาธารณะ (มาตรา 89) 4. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดห้ามกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 16. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะรัฐนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563-2564 ตามที่ ยธ. เสนอแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รวม 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.1 มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเน้นพัฒนาความร่วมมือเชิงรุกในทุกมิติ เพื่อกดดันและยุติบทบาทแหล่งผลิตภายนอกประเทศ ตลอดจนสร้างความร่วมมือเพื่อสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การผลิต เปิดปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ภายใต้แผนปฏิบัติการรวมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (ปี 2562-2565) ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย สามารถยึดยาบ้า 486,719,430 เม็ด กัญชา 18,518.379 กิโลกรัม ไอซ์ 37,502.02 กิโลกรัม เฮโรอีน 3,525.29 กิโลกรัม ฝิ่น 5,635 กิโลกรัม เอ็กซ์ตาซี 2,086,395 เม็ด สารตั้งต้น 15,070 กิโลกรัม เคมีภัณฑ์ 1,114,737.87 กิโลกรัม และกาเฟอีน 14,295.68 กิโลกรัม ลดศักยภาพการผลิตยาบ้าได้ถึง 200.14 ล้านเม็ด ซึ่งเป็นการลดทอนยาเสพติดมิให้ถูกลำเลียงข้ามชายแดนมายังประเทศไทย หรือไปยังประเทศต่าง ๆ 1.2 มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง เพื่อยกระดับการสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในช่องทางตามแนวชายแดนใน 15 จังหวัด 40 อำเภอ 19 ช่องทาง ทางท่าอากาศยานนานาชาติ และทางท่าเรือ ส่งผลให้สามารถสกัดกั้นยาบ้าไม่ให้เข้าประเทศและพื้นที่ตอนในซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 70.28 เมื่อเทียบกับการจับกุมทั่วประเทศ และสกัดกั้นไอซ์ คิดเป็นร้อยละ 72.84 เมื่อเทียบกับการจับกุมทั่วประเทศ และปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติด โดยมุ่งเน้นทำลายกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายซึ่งสามารถจับกุมคดียาเสพติดในภาพรวม 324,552 คดี ผู้ต้องหา 338,560 คน ในจำนวนนี้ เป็นการจับกุมคดียาเสพติดในฐานความผิดคดีสำคัญ (ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองเพื่อจำหน่าย) จำนวน 94,237 คดี คิดเป็นร้อยละ 29.03 เมื่อเทียบกับการจับกุมทั่วประเทศ สามารถยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดรวม 1,853 ราย อายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 2,107.75 ล้านบาท (มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 790.57 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,317.18 ล้านบาท) 1.3 มาตรการป้องกันยาเสพติด ได้แก่ 1.3.1 แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดนโดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการดำเนินการเสริมสร้างความเข็มแข็งในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดน ทั้งหมดตามเป้าหมาย 1,140 หมู่บ้าน/ชุมชน จากข้อมูลเปรียบเทียบผลการประเมินสถานะปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่า สถานะปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (เดือนเมษายน - กันยายน 2562) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (เดือนเมษายน - กันยายน) สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดนได้ จำนวน 736 หมู่บ้านชุมชน คิดเป็นร้อยละ 64.56 โดยสามารถคงสถานะปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่มีปัญหายาเสพติดได้ 560 หมู่บ้าน/ชุมชน และลดปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด ได้ 176 หมู่บ้าน/ชุมชน 1.3.2 แนวทางการป้องกันยาเสพติด มุ่งเน้นการลดอุปสงค์ เพื่อนำไปสู่การลดความต้องการยาเสพติดภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน มิให้เป็นเป้าหมายของขบวนการค้ายาเสพติด เน้นสร้างการรับรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อลดผู้เสพรายใหม่ โดยสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มทั่วไปได้ 53,020,143 ราย จากเป้าหมาย 33,500,000 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 158.26 รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง ช่วงอายุระหว่าง 15 - 24 ปี 5,611,904 ราย จากเป้าหมาย 4,850,570 ราย คิดเป็นร้อยละ 115.70 1.3.3 แนวทางการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงาน และกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก และควบคุมปัจจัยเสี่ยงส่งผลให้สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย ผลดำเนินการสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้ 5,456 ตำบล/เขต จากเป้าหมาย 7,305 ตำบล/เขต คิดเป็นร้อยละ 74.68 1.4 มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด เน้นการดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าถึงการบำบัดรักษาและการลดอันตรายหรือผลกระทบจากยาเสพติด และได้พัฒนาแนวทางการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาผู้ใช้ยาเสพติด (Community - based Treatment and Care : CBTx) พัฒนาศักยภาพครอบครัวให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลภายหลังการบำบัด พัฒนาแนวทางการติดตามการช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้ามามีบทบาทในการติดตาม ดูแล และ/เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องร่วมกับชุดตำบลพัฒนานโยบายยาเสพติดแนวใหม่ เช่น การจัดให้มีคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในระบบศาล 25 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแก้ไขฟื้นฟูจิตใจ ปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น และป้องกันการกระทำผิดซ้ำ พัฒนาศักยภาพศูนย์บริการลดอันตรายจากยาเสพติดภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าถึงได้ยาก และการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด ส่งผลให้สามารถนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในทุกระบบ 190,394 ราย ให้บริการเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด 35,083 ราย ติดตามดูแลผู้ผ่านบำบัด 193,003 ราย และให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 3,030 ราย 1.5. มาตรการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ 1.5.1 แนวทางกิจการพิเศษ ประกอบด้วย 1) การควบคุมและใช้ประโยชน์จากยาเสพติด ได้แก่ 1) พัฒนาพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ส่งผลให้มีการกำหนดพื้นที่นำร่องเสพพืชกระท่อมตามวิถีชุมชน โดยไม่มีความผิดตามนโยบาย Legalization ในช่วงแรก 135 หมู่บ้าน/ชุมชนใน 10 จังหวัด 2) ขับเคลื่อนการดำเนินการกัญชง โดยในปี พ.ศ. 2563 มีพื้นที่ขออนุญาตปลูกกัญชง เพื่อวิจัย ใช้สอยในครัวเรือน และผลิตเมล็ดพันธุ์ (Hemp) รวม 601 ไร่ 156 ตารางเมตร (เฉพาะหน่วยงานของรัฐ) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 131 ไร่ เชียงราย 94 ไร่ ตาก 376 ไร่ และปทุมธานี 156 ตารางเมตร 3) การขับเคลื่อนนโยบายกัญชา เน้นพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์การวิจัย และเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วย โดยมีการขออนุญาตนำของกลางกัญชาที่มีการจับยึดได้ให้หน่วยงานนำไปศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์ ส่งผลให้มีการสนับสนุนของกลางกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัย 13 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 3,866 กิโลกรัม 2) การขับเคลื่อนแผนพื้นที่พิเศษ ตามแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เฉพาะ ดังนี้ 1) แผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ แบบเบ็ดเสร็จ พ.ศ. 2562 - 2565 เน้นแก้ไขเชิงโครงสร้างมีพื้นที่เป้าหมายในทุกมิติ 47 แห่ง ดำเนินการแล้ว 43 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.49 สามารถสกัดกั้นยาเสพติด และจับกุมผู้ต้องหาได้ 513 ราย ของกลางยาบ้า 74.59 ล้านเม็ด ไอซ์ 1,391 กิโลกรัม เฮโรอีน 52.60 กิโลกรัม และฝิ่น 89.72 กิโลกรัม ดำเนินการสืบสวน ปราบปรามและยึดทรัพย์เครือข่ายการค้ายาเสพติด/สืบสวนทางการเงิน 6 เครือข่ายสำคัญ และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 4 ราย 2) แผนปฏิบัติการด้านการสกัดกั้นยาเสพติดภาคเหนือตอนล่าง ปี 2563 เน้นสกัดกั้นยาเสพติดจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและพื้นที่ชายแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนใน และสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านตามแนวชายแดน มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำด่านตรวจ/จุดตรวจ ครอบคลุมเป้าหมาย 20 แห่ง มีผลการจับกุมคดียาเสพติดตามด่านตรวจ/จุดตรวจชายแดน จำนวน 912 คดี ผู้ต้องหา 943 ราย ของกลาง ไอซ์ จำนวน 2.42 กิโลกรัม ยาบ้า 8,671,047 เม็ด และกัญชา 241.04 กิโลกรัม เสริมสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ภายใต้โครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 6,009 มีหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด 5,995 แห่ง ซึ่งหมู่บ้าน/ชุมชนดังกล่าว มีการรายงานสถานการณ์ยาเสพติดผ่านระบบ QR Code (1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) 5,838 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 97.38 และมีการดำเนินกิจกรรมที่ได้รับงบประมาณ 5,775 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 96.33 ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาผู้เสพ/ผู้ค้า ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 พบผู้เสพ 8,479 ราย ผู้ค้า 1,420 ราย ดำเนินการต่อผู้เสพแล้ว 1,763 ราย และดำเนินการต่อผู้ค้าแล้ว 322 ราย 3) แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560 - 2564 เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้สามารถสร้างชุมชนเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผลการดำเนินงานครบตามเป้าหมาย 2,145 หมู่บ้าน/ชุมชน มีสมาชิกครัวเรือนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 143,433 ครัวเรือน และมวลชนญาลันนันบารูรวมทั้งสิ้น 12,600 คน การสกัดกั้นและการปราบปรามยาเสพติด สามารถจับกุมคดียาเสพติด 14,801 คดี ผู้ต้องหา 15,718 คน ของกลาง ยาบ้า 6,924,930 เม็ด กัญชา 130.40 กิโลกรัม กระท่อม (ใบ/กาก) 10,936.38 กิโลกรัม ไอซ์ 2,207.97 กิโลกรัม เฮโรอีน 57.37 กิโลกรัม มีการดำเนินการป้องกันยาเสพติดในสถาบันการศึกษา 3,456 แห่ง (เป้าหมาย 3,385 แห่ง) และการดำเนินการในสถาบันปอเนาะ 71 แห่ง และตาดีกา 42 แห่ง (เป้าหมาย 361 แห่ง) การบำบัดรักษา สามารถนำผู้เสพเข้าบำบัดฟื้นฟู 6,078 คน (ระบบสมัครใจ 3,424 คน ระบบบังคับบำบัด 2,069 คน ระบบต้องโทษ 586 คน) การติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถติดตามผู้ผ่านการบำบัด 8,589 ราย และให้การช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 812 ราย 1.5.2 แนวทางการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ เช่น การบูรณาการงบประมาณโดยจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อน การบูรณาการในการกำกับติดตาม และการวางระบบรายงาน เพื่อพัฒนาประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และเอกภาพการบริหารจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) เป็นกลไกบูรณาการการปฏิบัติในระดับนโยบาย ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.จ./กทม.) เป็นกลไกบูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่ระดับจังหวัดและพื้นที่กรุงเทพมหานครศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ/เขต (ศป.ปส.อ./ข.) เพื่อเป็นกลไกบูรณาการการปฏิบัติ ในพื้นที่ระดับอำเภอและเขต และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเทศบาลนคร/เมือง/ตำบล/องค์การบริหารส่วนตำบล/เมืองพัทยา (ศป.ปส.อปท.) เป็นกลไกบูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งมีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งรัด กำกับ ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2. ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงาน พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ร้อยละ 93 และมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ร้อยละ 91 17. เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ให้มีมติเห็นชอบมาตรการฯ ดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ปัญหา มาตรการแก้ไข 1. สถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์และงบประมาณในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำกัด ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กรมการปกครอง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและนำไปจัดการอย่างถูกต้อง จัดทำระบบการติดตามตรวจสอบและรายงานผลเพื่อกำกับดูแลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการจัดการ อย่างถูกต้อง โดยให้มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และสถานที่ในการดำเนินการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 2. การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีอย่างจำกัด 1. ให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเฝ้าระวัง การปนเปื้อนมลพิษและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 3. ไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1. ใช้กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตราย จากชุมชน พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 2. ให้กรมอนามัยออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเตรียมความพร้อมของหลักกณฑ์/สุขลักษณะของสถานประกอบกิจการถอดแยกและวิธีการถอดแยกอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระยะเวลดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน 3. ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผลักดันให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และให้หน่วยงาน กำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานประกอบกิจการถอดแยกฯ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 4. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เพื่อให้มีระบบการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน 5. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จัดทำโครงการนำร่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน 4. การสนับสนุนด้านงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และการลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างจำกัด ให้สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม ด้านการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์ และลดการใช้สารอันตรายในขยะอิเล็กทรอนิกส์ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน 2. การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัญหา มาตรการแก้ไข 1. มีการลักลอบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ (428 รายการ) โดยออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 2. ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเงื่อนไขการนำเข้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เพื่อควบคุมชนิดและปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 2. ข้อจำกัดในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้ 2.1 มีการออกใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปริมาณมากเกินศักยภาพการรองรับของโรงงานและเจ้าหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบมีจำนวนไม่เพียงพอในการตรวจสอบโรงงาน 2.2 มีข้อจำกัดในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าสินค้าทุกตู้ทำให้เกิดการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดเข้ามาในประเทศ 2.3 ไม่มีระบบการตรวจสอบเส้นทางการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากท่าเรือถึงโรงงานรับกำจัดตามที่แสดงในใบขออนุญาต ให้กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดให้มี ระบบการตรวจสอบตู้บรรทุกสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมายหรือการสำแดงเท็จ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน 3. การปนเปื้อนจากการประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์สู่สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 1. ให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดจกการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 18. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ครั้งที่ 2/2563 และครั้งที่ 5/2563 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ 2563 และครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เรื่อง/การดำเนินการ มติ กก.วล. 1. การประชุม กก.วล. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เรื่อง การยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 1.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกข้อบังคับต่าง ๆ ได้แก่ (1) ข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ห้ามเดินรถในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จากวงแหวนรัชดาภิเษกขยายเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก และ (2) ข้อบังคับหรือระเบียบตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อห้ามรถบรรรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของ กทม. ในวันคี่ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนวันคู่ให้เข้ามาได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด 1.2 กรมการขนส่งทางบกตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสารทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ใน 50 เขตของ กทม. 1.3 กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากพบว่า ไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด สั่งให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ 1.4 กทม. แก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามให้ระงับการก่อสร้างและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง 1.5 จังหวัดต่าง ๆ (ยกเว้น 9 จังหวัดภาคเหนือ) ออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมการเผาขยะมูลฝอย หญ้า พืชไร่ พืชสวน ตอซังข้าว หรือสิ่งอื่นใด และเข้มงวดในการควบคุมยานพาหนะใช้งานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง - ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง” และบังคับใช้ กฎหมายที่อยู่ในอำนาจ อย่างเข้มงวด - ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็น Single command - ให้หน่วยงานต่าง ๆ สร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับ ประชาชน - ให้ ทส. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะ ทางอากาศเสนอประธานกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา ลงนาม 2. การประชุม กก.วล. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม. และปริมณฑล พื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาหมอกควัน 2.1 ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม. และปริมณฑล ดังนี้ 2.1.1 มาตการเพิ่มเติม ระยะเร่งด่วน (ปี 2563) เช่น สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ/รถยนต์ไฟฟ้า หรือทางเลือกอื่น ที่ไม่ก่อมลพิษ ตรวจจับรถยนต์ที่ไม่ได้ติดตั้งหรือมีการถอด Catalytic Converter หรือ DPF และให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานจากบ้าน สำหรับระยะกลาง-ระยะยาว (ปี 2563 -2567) ได้แก่ (1) ภาคคมนาคมขนส่ง (เช่น กำหนดค่าปรับและบทลงโทษกรณีที่มี การถอด DPF ออกจากรถยนต์สร้างระบบ Citizen Watch ให้ประชาชนรายงานป้ายทะเบียนของรถควันดำและพิจารณาการเข้าน้ำมันที่มีมาตรฐานยูโร 5 จากต่างประเทศมาใช้ในระยะสั้น) (2) ภาคการเกษตรและการเผาในที่โล่ง (เช่น ห้ามเผาในพื้นที่ เขตชุมชนเด็ดขาดและมีบทลงโทษกับผู้ก่อมลพิษทางอากศ) (3) ภาคอุตสาหกรรม (เช่น รายงานข้อมูลการระบาย การปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเพิ่มมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรมและตึกสูงใน กทม. ที่ใช้ Boiler) (4) ด้านการเงินการคลัง (ลดหย่อนภาษีหน้ากากอนามัยเครื่องฟอกอากาศ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสนับสนุนการลดภาษีให้กับสถานประกอบการที่ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ) (5) ด้านการศึกษาวิจัย (ศึกษาการใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างง่ายสำหรับรายงานข้อมูลให้กับประขาขน) และ (6) ด้านสาธารณสุขและอนามัย (เช่น สำรองหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ และส่งสริมให้โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน) 2.1.2 การสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกและร่วมมือในการลดฝุ่นละออง 2.1.3 นโยบายสาธารณะ ดำเนินมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชน 2.2 ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในภาคเหนือ 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาหมอกควัน โดยให้ดำเนินการตามนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือปี 2563 ส่วนมาตรการและแนวทางที่เสนอเพิ่มเติมสรุปได้ ดังนี้ 2.2.1 มาตรการเพิ่มเติม ระยะเร่งด่วน (2563) เช่น วางแผนการจัดการเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ และการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า สำหรับระยะกลาง-ระยะยาว (ปี 2563-2567) เช่น (1) ภาคการเกษตรและการเผาในที่โล่ง (เช่น ส่งเสริมให้มีตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงแทนการเผา และเพิ่มส่วนต่างราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้และอ้อยสด) (2) ด้านการเผาในที่โล่งในพื้นที่ป่าไม้และชุมชน (เช่น ให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ ส่งเสริมงานวิจัยพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และมาตรการห้ามเผาควรทำควบคู่กับการจัดระเบียบการเผา) และ (3) ด้านการเงินการคลัง (พิจารณายกเว้นภาษีสำหรับเงินที่บริจาคให้กับเจ้าหน้าที่และจิตอาสาในการดับไฟป่า) 2.2.2 ให้สื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้เกิดความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง 2.2.3 ดำเนินมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น การทำเกษตรปลอดการเผา และสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรปลอดการเผา - ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัด การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”* - เห็นชอบข้อเสนอเพิ่มเติม แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม. และปริมณฑล ภาคเหนือ 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหา หมอกควันและให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป - ให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรื่องนโยบายสาธารณะ ต่อไป [หมายเหตุ : * ทส. ชี้แจงข้อมูล เพิ่มเติมว่า การเร่งรัดดำเนินการ ในเรื่องต่าง ๆ มุ่งให้เป็นไปตาม แผนปฏิบัติการฯ ที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นกรอบดำเนินการในภาพรวม สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในพื้นที่วิกฤต โดย ทส. จะดำเนินการ ตามร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563) และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่างแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2563) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ] 3. การประชุม กก.วล. ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เรื่อง การเสริมสร้างการรับรู้เรื่องฝุ่นละออง PM2.5 สู่สาธารณะ 3.1 แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤต ปี 2563-2564 ประกอบด้วย (1) การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากการจราจร (2) การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรมและการแก้ไขปัญหาจากการเผาในที่โล่ง และ (3) ข้อเสนอด้านกฎหมายในการรับมือวิกฤตฝุ่นละออง ทั้งนี้ การดำเนินการในช่วงวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ โดยระดับที่ 1-3 ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ส่วนระดับที่ 4 (ค่า PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ให้เสนอ กก.วล. พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 3.2 ข้อเสนอด้านการสื่อสารสร้างการรับรู้เรื่อง PM2.5 ต่อสาธารณชน เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความข้าใจเรื่องฝุ่นละออง PM2s ต่อสาธารณะ ประกอบด้วย (1) แผนการประชาสัมพันธ์และสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเน้นฝุ่นละออง PM2.5 และ (2) กลไกการขับเคลื่อนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เช่น การมีศูนย์ข้อมูลฝุ่นละออง PM2.5 และการสร้างช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ภายใต้ กก.วล. เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน - เห็นชอบข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองฯ และข้อเสนอด้านสื่อสารสร้างการรับรู้ฯ 19. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) กำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ จัดให้มีการรวบรวมข้อมูลการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในแต่ละกลุ่ม จัดทำช่องทางดิจิทัลเพื่อมาส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในวงกว้าง และกำหนดให้มีขั้นตอนการดำเนินการและบทบาทของหน่วยงาน/องค์กร 2) จัดให้มีการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และคำนึงถึงการบูรณาการกับนโยบายและมาตรการอื่น 3) ควรมีสวัสดิการของรัฐสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส และสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนและส่งเสริมการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และให้มีองค์กรการเงินชุมชน และส่งเสริมการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน 4) ควรกำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินเป็นหลักสูตรวิชาบังคับในระบบการศึกษา 2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) พิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ 1) กำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ จัดให้มีการรวบรวมข้อมูลการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในแต่ละกลุ่ม จัดทำช่องทางดิจิทัลเพื่อมาส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในวงกว้างและกำหนดให้มีขั้นตอนการดำเนินการและบทบาทของหน่วยงาน/องค์กร เช่น จัดทำแผนแม่บทในการสร้างความรอบรู้ทางการเงินให้กับคนไทยอย่างเหมาะสมกับกลุ่มคนและช่วงวัย - สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทยในระดับวาระแห่งชาติแล้ว สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เช่น ในการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของคนไทย เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและสามารถวางแผนดำเนินการที่เหมาะสม การมีช่องทางดิจิทัลให้ประชาชนวงกว้าง เช่น เว็บไซต์ความรู้การเงินสำหรับคนไทย การมีแผนแม่บทการให้ความรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีตัวชี้วัดที่วัดประสิทธิผลได้ชัดเจนและมีหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งแนวทางตามข้อเสนอแนะดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย พ.ศ. 2560 - 2564 คปภ. ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ร่างแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ คปภ. โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย และ ธปท. ได้มีการจัดทำรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2561 ตามกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นทางการแล้ว 2) จัดให้มีการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น เช่น การตั้งเป้าให้มีการขยายผลการเรียนการสอนความรอบรู้ทางการเงินลงไปในระดับที่อายุน้อยลง และขยายกลุ่มเป้าหมายของการยกระดับความรู้ และคำนึงถึงการบูรณาการกับนโยบายและมาตรการอื่น 3) ควรมีสวัสดิการของรัฐสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส และสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และให้มีองค์กรการเงินชุมชน เนื่องจากเป็นหน่วยงานใกล้ชิดประชาชนแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การปลูกต้นไม้มูลค่าสูงระยะยาว - กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนไทย โดยจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่สามารถสั่งการ กำกับดูแล และติดตามผลการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินได้อย่างบูรณาการ ครอบคลุมภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่ง กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ โดย กค. ได้มีคำสั่งที่ 818/2563 ลงวันที่ 10 เมษายน 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐทั้งในและนอกสังกัด กค. หน่วยงานกำกับดูแลสาขาการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ กค. จะได้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ มาพิจารณาในรายละเอียดกับหน่วยงานในคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนไทยต่อไป 4) ควรกำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินเป็นหลักสูตรวิชาบังคับในระบบการศึกษา - ศธ. ได้บรรจุเรื่องความรอบรู้ทางการเงินไว้ในหลักสูตรพื้นฐาน/บังคับของระบบการศึกษาไทยแล้ว โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ภายใต้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ 20. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ” ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ” ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ” มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ทั้ง 9 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (2) การนิรโทษกรรม (3) กระบวนการยุติธรรม (4) การรักษาบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์ (5) ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ (6) ข้อสังเกตด้านการเยียวยา (7) การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ (8) ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ และ (9) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม ทั้งนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาและเพื่อให้บ้านเมืองเกิดบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์ 2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่างในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง ยธ. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1. โดยมีข้อเสนอแนะและมาตรการดำเนินการ ดังนี้ 1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันมีกระบวนการเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สำหรับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนนั้น จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีกฎหมายที่สามารถจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน และต้องกำหนดกรอบระยะเวลาการจัดตั้งให้ชัดเจน โดยเทียบเคียงกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน นอกจากนี้ เรื่องการยุบสภาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเสร็จแล้ว เห็นว่า เป็นดุลยพินิจและอำนาจของนายกรัฐมนตรีซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2) การนิรโทษกรรม ที่ประชุมเห็นว่า ผู้ที่หนีคดีไปต่างประเทศจะต้องกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน จึงสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการนิรโทษกรรมได้และให้นำมาใช้กับทุกคดี รวมทั้งได้เสนอหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มี 4 ข้อ ดังนี้ 2.1) นิรโทษกรรมจากการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่รวมคดีอาชญากรรมร้ายแรง คดีเกี่ยวกับการคอรัปชัน และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 2.2) นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่ว่าคดีจะตัดสินเสร็จหรืออยู่ระหว่างการต่อสู้ในขั้นตอนใดก็ตาม 2.3) ไม่ตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการหรือหนีคดีไป สามารถใช้สิทธิได้ แต่ต้องกลับสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน 2.4) มีคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้นมาตัดสิน แยกแยะ ออกกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายลำดับรองว่าอะไรเข้าข่าย ไม่เข้าข่าย เช่น อะไรที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ที่ประชุมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมสำหรับบุคคลที่หนีคดี ซึ่งอาจขัดกับหลักการพิจารณาคดีของกระบวนการยุติธรรม สมควรนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ร่วมกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง อำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายและลดปัญหาความขัดแย้ง โดยอาจนำมาตรการหรือศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย ซึ่งอาจกำหนดกลไกพิเศษสำหรับคนที่หลบหนีคดี และต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ ทั้งนี้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ควรดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเพียงการชะลอปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และอาจกระทบต่อบรรยากาศของการสร้างความปรองดองได้ และควรยกเว้นคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริต 3) กระบวนการยุติธรรม การนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องยากและมีความซับซ้อนเนื่องจากไม่มีกรอบหรือรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งหากสังคมยังไม่มีความเข้าใจ หรือยอมรับแนวความคิดที่จะปรองดองและสมานฉันท์แล้ว การนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้อาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่อาจเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ บนพื้นฐานว่าจะจดจำหรือลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดหรือเน้นเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีวิธีการ ดังนี้ 3.1) การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3.2) การนิรโทษกรรมอาจเป็นผลมาจากการต่อรองระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ หรือบางกรณีได้รับการยกเว้นการลงโทษด้วยการยอมรับว่าได้กระทำความผิดลงไป 3.3) คณะกรรมการค้นหาความจริงมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเปิดเผยให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือสังคมได้ทราบรายละเอียดเหตุการณ์อย่างถูกต้อง และเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้แสดงออก 3.4) โครงการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และทรัพย์สินผ่านโครงการหรือการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการกล่าวคำขอโทษจากคู่ขัดแย้งอย่างเป็นทางการ 3.5) การระลึกถึงผู้ได้รับผลกระทบเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมยอมรับ ตระหนักรู้ และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในศีลธรรมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก โดยอาจอยู่ในรูปของพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์แห่งความทรงจำ 3.6) การปฏิรูปสถาบัน เป็นกระบวนการปฏิรูปสถาบัน หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กองทัพทหาร ตำรวจ สื่อสารมวลชน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้หน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวใช้รูปแบบเดิมในการปฏิบัติที่อาจนำความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง ที่ประชุมเห็นว่า การนำหลักการของกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังคงมีความสำคัญ โดยต้องพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสม บรรยากาศภาพรวมของสังคมและประชาชนต้องมีความรู้สึกในการปรองดอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับที่จะยุติเรื่องในการดำเนินการ ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดบรรยากาศเหล่านั้น จะนำไปสู่กลไกการปรับแก้ไขกฎหมายหรือเพิ่มเติมกลไกเพื่อให้สามารถใช้บังคับตามหลักการดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการที่มาเสริมการดำเนินการในส่วนนี้ได้ 4) การรักษาบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์ และสื่อ โดยให้รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะสื่อมวลชนและประชาชนควรร่วมกันบริหารความขัดแย้งอย่างสันติวิธี อันจะทำให้สังคมก้าวผ่านความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองได้ ส่วนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อทุกแขนงจะต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน โดยไม่เสนอข้อมูลเท็จ บิดเบือน หรือถ้อยคำในการปลุกเร้าหรือปลุกระดมมวลชนให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันมีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และเห็นควรให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาบังคับใช้โดยเร็ว 5) การเยียวยา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยกระบวนการที่นำมาใช้ จะต้องมีการตกผลึก มีความชัดเจนและพิจารณาถึงความละเอียดรอบคอบ ครบถ้วน และรอบด้าน ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น 6) การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ เป็นกระบวนการค้นหาความจริง โดยจะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจ ตระหนัก และยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของกระบวนการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เมื่อความจริงปรากฏและได้ข้อยุติจะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบและดำเนินการขอโทษในท้ายที่สุด 7) กองทัพ ปัจจุบันภารกิจบางประการอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่การปฏิบัติภารกิจอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย มีความโปร่งใส มีความเป็นกลาง และไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยศึกษาบทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความเป็นกลางทางการเมืองและการปฏิบัติภารกิจทางทหารกับในส่วนที่อาจไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้เป็นอย่างดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเมืองในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม การลดความหวาดระแวงระหว่างกัน การเห็นอกเห็นใจกัน และการอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ทุกคนต้องเคารพและใช้บังคับไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยเจ้าหน้าที่และประชาชนต้องร่วมกันหาทางออกให้ได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือไปสนับสนุนมวลชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเด็ดขาด 8) การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม เห็นว่า สามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด โดยการแสดงออกไม่ควรกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ที่ประชุมจึงเห็นว่า การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ตามข้อ 4) - ข้อ 8) เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและไม่สามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ทันที โดยในหลักการสามารถนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม การนำหลักการดังกล่าวมาใช้จะต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับบรรยากาศ ซึ่งประเด็นต่าง ๆ มีความละเอียดอ่อน ควรดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลไกทางกฎหมายจะต้องพิจารณาให้รอบด้านและมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย เพื่อให้สามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ควรถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้มีความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ต่อไป 21. เรื่อง แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์1 (Thailand Artificial Intelligence Ethics Guideline) และเห็นชอบให้หน่วยงานราชการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนา ส่งเสริม และนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องและมีจริยธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ ดศ. รับความเห็นของ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป _________________________________ 1 ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) คือเทคโนโลยีเป็นความรู้ ความฉลาดที่สร้างขึ้นจากสิ่งไม่มีชีวิต รวบรวมและจัดใส่ข้อมูลซอฟต์แวร์หลากหลายระบบและพัฒนาให้สามารถคิดและทำงานในด้านต่าง ๆ คล้ายกับมนุษย์ ทั้งในด้านการตัดสินใจ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ อาทิ ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ ผู้ช่วยอัจฉริยะในสมาร์ทโฟน หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ช่วยงาน เป็นต้น สาระสำคัญของเรื่อง ดศ. รายงานว่า 1. คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) และควรเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป 2. แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) แบ่งออกเป็น 3 บท ดังนี้ 2.1 บทที่ 1 หลักการและเหตุผลการปฏิบัติตามจริยธรรม ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่ องค์ประกอบ รายละเอียดโดยสังเขป ด้านที่ 1 ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Competitiveness and Sustainability Development) AI สามารถถูกสร้าง พัฒนา และใช้งานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ในหลายด้าน แต่ก็อาจเป็นภัยคุกคามได้เช่นกัน ดังนั้น การใช้งาน AI ควรเป็นไปเพื่อสร้างประโยชน์และส่งเสริมการแข่งขันที่สร้างสรรค์และเป็นธรรม และควรเป็นหลักการที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต้องคำนึงเสมอ ด้านที่ 2 ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล (Laws Ethics and International Standards) ผลลัพธ์จากการตัดสินใจ AI อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายและจริยธรรมที่สังคมหนึ่ง ๆ ถือปฏิบัติ ดังนั้น AI จึงควรถูกพัฒนาและใช้งานให้สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล โดยต้องเคารพความเป็นส่วนตัว สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน และควรใช้หลักการมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ ด้านที่ 3 ความโปร่งใส และภาระความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) ผลลัพธ์จากการตัดสินใจ AI อาจส่งผลกระทบกับผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับร้ายแรง ดังนั้น AI จึงควรถูกพัฒนาและใช้งานด้วยความโปร่งใส สามารถอธิบายและคาดการณ์ได้ รวมถึงสามารถตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ ด้านที่ 4 ความมั่นคงปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว (Security and Privacy) ในหลายครั้งข้อมูลจาก AI มีความอ่อนไหว เป็นความลับหรือเป็นข้อมูลส่วนตัว และอาจถูกเข้าถึงโดยผู้ไม่ประสงค์ดี ดังนั้นการออกแบบและพัฒนา AI ควรคำนึงถึงหลักการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการป้องกันข้อมูล รวมทั้งควรมีกลไกให้มนุษย์สามารถแทรกแซงการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ด้านที่ 5 ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม (Fairness) ผลลัพธ์จากการตัดสินใจ AI อาจมีความไม่เป็นธรรม หากชุดข้อมูลที่ได้ถูกนำมาใช้ในการสอน ทดสอบ และพิสูจน์ มีความเอนเอียง ดังนั้น การพัฒนาและออกแบบ AI จึงควรคำนึงถึงความหลากหลายก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในสังคมและสามารถพิสูจน์ถึงความเป็นธรรมของระบบได้ ด้านที่ 6 ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ผลลัพธ์จากการตัดสินใจ AI ที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบได้ ดังนั้น การควบคุมกระบวนการวิจัย ออกแบบ และพัฒนาระบบ AI ให้สามารถคาดการณ์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลผ่านกระบวนการรับผลสะท้อนกลับ (Feedback) จากผู้ใช้งาน เพื่อให้ระบบสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือแก่ผู้ใช้ได้ 2.2 บทที่ 2 การมีจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Ethics Case Study) เป็นการกล่าวถึงกรณีศึกษาของภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งได้นำจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์มาใช้เป็นแนวทางในการวิจัย ออกแบบ พัฒนา และให้บริการ รวมทั้งพิจารณาถึงขอบเขตความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้เห็นถึงประโยชน์และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยมีกรณีตัวอย่างของบริษัทเอกชนในประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 2 แห่ง สรุปสาระสำคัญของกรณีศึกษาได้ ดังนี้ กรณีศึกษา ประเด็นศึกษา ความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติจริยธรรม AI บริษัท วายอิง จำกัด ใช้ AI ตัดสินใจร่วมกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนาระบบการค้นหาข้อมูลเม็ดยาด้วยเทคโนโลยีวิเคราะห์และจดจำรูปภาพยาอัจริยะบนมือถือ “Phamasafe” เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจสอบยาที่ไม่ทราบชื่อ ซึ่งอาจเกิดจากฉลากชำรุด เสียหายหรือทิ้งไปแล้ว เพื่อให้สามารถระบุชื่อยาได้ถูกต้อง และสามารถให้คำแนะนำในการใช้ยาที่ถูกต้องปลอดภัยได้ 1) ดำเนินงานในรูปแบบทางธุรกิจที่มีการแข่งขัน มีแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน 2) คำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและพึงระวัง อาทิ เรื่องยาและการโฆษณา มีการนำข้อมูล Feedback จากบุคลากรทางการแพทย์มาปรับปรุงฐานข้อมูล ไม่มีการส่งเสริมตัวยาใดเป็นพิเศษ บริษัท SERTIS จำกัด ดำเนินการพัฒนาหรือให้บริการผลิตภัณฑ์อย่างมีความเท่าเทียม ไม่เอนเอียง หรือผิดต่อหลักการจริยธรรมและกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” เพื่อมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว สังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่เบี่ยงเบนจากที่เป็นอยู่ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงาน (AI Ethic Board) เพื่อพิจารณาขอบเขตการทำงานของระบบ AI 1) มีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการพัฒนาหรือให้บริการผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีความเท่าเทียมไม่เอนเอียงหรือผิดต่อหลักจริยธรรมและกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ 2) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาขอบเขตของ AI ในแง่จริยธรรมและความเหมาะสมต่อการพัฒนาของบริษัท 2.3 บทที่ 3 กรอบแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Framework) มีรายละเอียด ดังนี้ 2.3.1 ตัวแบบหลักของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Core Model) แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 องค์ประกอบที่ 2 องค์ประกอบที่ 3 ผู้กำหนดระเบียบ กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Regulator/Policy) เช่น ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน ผู้จัดการโครงการมีงานรวมทั้งหมด 6 ด้าน อาทิ การกำหนด AI Ethics Framework การแข่งขันในระดับภูมิภาค การบริหารความเสี่ยง องค์กรวิจัยหรือนักวิจัย/บริษัทที่ออกแบบและการพัฒนาระบบ/ผู้ให้บริการระบบปัญญาประดิษฐ์กับผู้ใช้งาน (Researcher/ Developer/Service Provider) งานรวมทั้งหมด 28 ด้าน อาทิ การออกแบบระบบการจัดการ การจัดการกลยุทธ์ การจัดการนวัตกรรม การจัดการทรัพยากรบุคคลสำหรับ AI Ethics ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (User) ผู้ตระหนักการใช้ประโยชน์จาก AI มีงานรวมทั้งหมด 5 ด้าน อาทิ การให้การศึกษาและสร้างการตระหนักรู้ การประเมินความน่าเชื่อถือของ AI 2.3.2 วิธีการปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ องค์กรควรจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Ethics Board) โดยมีองค์ประกอบทั้งจากผู้ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบจากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นคณะทำงานในการกำกับดูแลและกำหนดเป้าหมายระดับการปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการในภาพรวม โดยวิธีการปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเป้าหมายตามหลักการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ทั้ง 6 ด้าน ขั้นตอนที่ 2 พิจารณากิจกรรมเพื่อปฏิบัติตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ขั้นตอนที่ 3 ปฏิบัติและติดตามตัวชี้วัด - กำหนดบทบาท (Role) ตามตัวแบบหลักของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ - กำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทั้ง 6 ด้าน ตามความเหมาะสมของทรัพยากรองค์กร ระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรและความสามารถในการปฏิบัติตาม - นำข้อมูลที่กำหนดเป็นเป้าหมายฯ (ตามขั้นตอนที่ 1) มาพิจารณาความเหมาะสมและจัดทำเป็นบัญชีกิจกรรม (Activities Lists) - กำหนดรายละเอียดและออกแบบการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย - กำหนดขอบเขตและคำนิยามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์อย่างรอบด้าน - ดำเนินการปฏิบัติตามแนวทางกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ (ตามขั้นตอนที่ 2) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อจัดหาและนำมาให้บริการแก่ประชาชนในอนาคต - ติดตามผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดเพื่อนำมาวิเคราะห์หาผลกระทบในเชิงบวกและลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติฯ - เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ข้อทักท้วง ข้อแนะนำต่าง ๆ (Feedback) 22. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 279,782,374 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 34 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นทวีปยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ทวีปแอฟริกาจำนวน 7 ประเทศทวีปเอเชียจำนวน 13 ประเทศ และประเทศแถบโอเชียเนีย 1 ประเทศ โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกของทวีปเอเชียที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรค คือ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้นที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้ 1. การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง 2. ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน 3. การลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ติดตัวมากับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโรครวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มีจำนวน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงตามหลักการทางระบาดวิทยาแล้วพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงถึงสูงมากได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ 43 จังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเข้มงวด สาระสำคัญ 1. โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยาที่รักษาโรค และเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละ 100 แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรค จนถึงขั้นหมดอาชีพ และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานาน จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาส ในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี 2. มาตรการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท รักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยในการนำเข้าทั้งสุกรมีชีวิตและซากสุกร ทั้งนี้ หากพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกร รายละเอียดดังนี้ 2.1 กรณีต้องมีการทำลายสุกรเพื่อการควบคุมโรคจะมีมูลค่าความเสียหาย ดังนี้ ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย เป็นเกษตรกร รายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงสุกรขุน 2,246,332 ตัว สุกรพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกสุกร 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงสุกรขุน 5,746,265 ตัว สุกรพันธุ์ 683,998 ตัว และลูกสุกร 1,532,035 ตัว หากเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย จะต้องมีการทำลายสุกรเกิดการสูญเสีย ดังนี้ 1) กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 5,133,886,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 11,544,610,200 บาท รวม 16,678,497,000 บาท 2) กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 8,556,478,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 19,236,245,500 บาท รวม 27,792,723,500 บาท 3) กรณีเกิดโรคร้อยละ 80 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 13,690,364,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 30,777,992,800 บาท รวม 44,468,357,600 บาท 4) กรณีเกิดโรคร้อยละ 100 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 17,112,956,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 38,472,491,000 บาท รวม 55,585,447,000 บาท 2.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 1) โดนระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูปเป็นมูลค่าปีละ 6,000 ล้านบาท 2) สูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นมูลค่าปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท 3) ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50 4) ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,500 ล้านบาท ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50 5) ผลกระทบด้านราคาสุกรขุนมีชีวิตภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ทำให้ราคาลดลง ดังนี้ - ราคาลดลงกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 22,000 ล้านบาท - ราคาลดลงกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 44,000 ล้านบาท - ราคาลดลงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 66,000 ล้านบาท 2.3 ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน 3. ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่มีการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในการนำเข้าทั้งสุกรมีชีวิตและซากสุกรเพิ่มมากขึ้น ดังข้อมูลการส่งออกสุกรของประเทศไทยปี พ.ศ. 2563 ( 1 มกราคม ถึง 14 ธันวาคม 2563) ประเทศไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตจำนวนมากกว่า 2.3 ล้านตัว มูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกเนื้อสุกรสดและเนื้อสุกรแปรรูป มีปริมาณมากกว่า 54,000 ตัน โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับการส่งออกเนื้อสุกรสด และประเทศญี่ปุ่นสำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแปรรูป ซึ่งการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและแนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4. การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่ในอัตราร้อยละ 15 ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยใช้วิธี Spatial Multi – criteria Decision Analysis พบว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง คือ จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด 27 จังหวัด จำนวน 108 อำเภอ จำนวนเกษตรกรประมาณ 43,230 ราย จำนวนสุกรประมาณ 517,188 ตัว ดังนั้นการลดความเสี่ยงที่ร้อยละ 15 คิดเป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 6,485 ราย จำนวนสุกรประมาณ 77,578 ตัว การดำเนินการลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 กำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์สามในสี่ของราคาสัตว์ หรือซากสัตว์ ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ 23. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 2/2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด - 19) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 ดังนี้ สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ 1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ ดังนี้ 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 101,433,090 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 120 จาก 217 ประเทศทั่วโลก 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2563 -29 มกราคม 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 12,786 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 4,458 คน คัดกรองเชิงรุก 7,664 คน มาจากต่างประเทศ 664 คน) หายป่วยแล้ว 7,456 ราย กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,428 ราย และอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 3,886 ราย ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 802 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 89 ราย การคัดกรองเชิงรุก 692 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการ 21 ราย 3) สรุปสถานการณ์โรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ของประเทศไทยในภาพรวม พบว่าจังหวัดต่าง ๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและควบคุมเป็นอย่างดี ยกเว้น จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังพบผู้ติดเชื้อในสถานที่ทำงานและจากงานเลี้ยงต่าง ๆ ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศมาเลเซียและเมียนมา จึงต้องคงระดับการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดตามพื้นที่ชายแดนของประเทศ 2. ความคืบหน้าการจัดหาและการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้า ดังนี้ 1) แนวทางดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาในประเทศไทย การทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ และการจัดซื้อจัดหาวัคซีนนำมาใช้ในประเทศ 2) การจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทย ร้อยละ 50 (ประชากร 33,000,000 คน) ปี 2564 ประกอบด้วย (1) บริษัท AstraZeneca จำกัด จำนวน 26,000,000 โดส ดำเนินการจองเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564 (2) ผู้ผลิตรายอื่น ได้แก่ บริษัท Sinovac Biotech จำกัด จำนวน 2,000,000 โดส และจองซื้อเพิ่มจากบริษัท AstraZeneca จำกัด จำนวน 35,000,000 โดส (3) โครงการ COVAX อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและการเจรจาต่อรอง 3) กลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีวัคซีนปริมาณจำกัดดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด (ก.พ.-เม.ย. 2564) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัวตามเกณฑ์ 6 โรคที่กำหนด ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ระยะที่ 2 มีวัคซีนมากขึ้นขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (พ.ค. - ธ.ค.2564) สำหรับกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด - 19 ผู้ประกอบอาชีพด้านขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน และผู้เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ ระยะที่ 3 มีวัคซีนเพียงพอ (ม.ค. 2565 เป็นต้นไป) สำหรับประชาชนทั่วไป 4) กลไกการดำเนินงานบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ปี 2564 ได้แก่ คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติซึ่งมีองค์ประกอบครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อสังเกตที่ประชุม เห็นควรเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป และควรพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ อาทิ กลุ่มนักการทูตและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงาน ดังนี้ 1) การสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้กวดขันและบูรณาการการปฏิบัติของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเพิ่มความถี่ ทั้งการเฝ้าตรวจและการลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนวางเครื่องกีดขวางตามช่องทาง/ท่าข้ามที่สำคัญ และเครื่องมือพิเศษทุกระบบในการเฝ้าตรวจพื้นที่ 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ตามแนวชายแดน ประกอบด้วย การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนทางบกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกด้าน และการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดสายตรวจร่วมตามเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสถานที่ซึ่งอาจเป็นแหล่งพักพิงผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยผลการปฏิบัติยอดจับกุมในภาพรวมเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดการจับกุม จำนวน 1,564 คน และในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 1,889 คน ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังสิ้นสุดการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนผู้ที่พยายามลักลอบข้ามแดนจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการภายในประเทศ 3) การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด เช่น การจัดจุดตรวจ ชุดสายตรวจ และชุดตรวจกิจการ เพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคมสำคัญซึ่งเป็นรอยต่อ และจุดตรวจย่อยตามเส้นทางรอง/พื้นที่เสี่ยง การควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตลอดจนกวดขันจับกุมกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย และป้องกันมิให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค 4) การสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ การจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุน เพื่อควบคุมพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและการเดินทางเข้าออกจังหวัด การจัดล่ามภาษาเมียนมา ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร สนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณทางการช่าง รวมทั้งเตียงนอนและเครื่องนอน จำนวน 3,000 ชุด เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดรถยนต์บรรทุกขนย้ายผู้ป่วย ตลอดจนสนับสนุนการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ 4. การดำเนินการให้เป็นไปตามข้ออนุมัติของนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19ที่ประชุมรับทราบรายงาน ดังนี้ 1) การผ่อนคลายเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาภายใต้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โควิด - 19 มีหลักการสำคัญในการพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ (1) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากต่างประเทศต้องกักกันตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน (2) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด - 19 (3) ผู้จัดกิจกรรมต้องจำกัดพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ (4) ทุกกิจกรรมยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีผู้เข้าชม เว้นแต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง และ (5) เน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 อาทิ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจล ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการ ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ หมอชนะ ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ได้แก่ (1) การแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยลีก (31 มกราคม – เมษายน 2564) (2) การแข่งขันวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก (13 กุมภาพันธ์ - 11 เมษายน 2564) (3) การแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย และประเภทนานาชาติ (กุมภาพันธ์ - พฤศจิกายน 2564) (4) การประกวด Miss Grand International 2020 (1 - 28 มีนาคม 2564) (5) การแข่งขันกอล์ฟ LPGA พื้นที่จังหวัดชลบุรี (3 - 9 พฤษภาคม 2564) 2) การจัดทำสถานกักกันตัวรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine : OQ) ในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยดำเนินการปรับปรุงและใช้พื้นที่โรงนอน เพื่อรองรับบุคคลที่ลักลอบเข้าประเทศ แรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย และสามารถพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลสนามต่อไปได้ รวมจำนวน 14 แห่ง สามารถรองรับการกักตัวได้ 84,000 คน 5. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวปฏิบัติในการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์และแนวปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ดังนี้ 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร (1) ปิดสถานที่และเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายกับสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกมส์ ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต การประชุมงานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดงานแสดงสินค้า สถานีขนส่งสาธารณะ (2) เปิดสถานที่ โดยเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ ได้แก่ - ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและกำกับการเว้นระยะห่าง - ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดดื่มสุราในร้าน - ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น. - ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ - สถานประกอบการ โรงแรม กำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน 2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ - ปิดสถานบริการ สถานประกอบการคล้าย ผับ บาร์ คาราโอเกะ ปิดสถานที่/ซื้ออาหารนำไปรับประทานที่อื่น - ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. งดดื่มสุราในร้าน (ซื้อกลับได้) - การจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน(On site, Online, On air) งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทุกพื้นที่เปิดการเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด - การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ (เน้นกำกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ ก่อนและหลังร่วมกิจกรรม) จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุราและงดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ - ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ - ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม จัดนิทรรศการ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร /คน - แรงงานต่างด้าว จำกัดการเดินทางและเคลื่อนย้าย และใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ ในกรณีมีความจำเป็นในการเดินทางและเคลื่อนย้ายเพื่อทำงานและเป็นไปตามสัญญาที่ได้จัดทำไว้ ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด - บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด - สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด ปิดสถานที่ งดให้บริการนอกสถานที่ - สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด - สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย ให้แข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม สามารถฝึกซ้อมได้และมีการป้องกันโรคส่วนบุคคล 3) พื้นที่ควบคุม 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด ตาก นครนายก นครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง - สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ (เน้นการเว้นระยะห่าง) ไม่เกิน 23.00 น. จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ได้ไม่เกิน 23.00 น. แสดงดนตรีได้ งดการเต้นรำ - ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ได้ไม่เกิน 23.00 น. - การจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม เปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติและกำกับมาตรการป้องกันโควิด – 19 จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน ในสถานที่ กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือ โรงเรียน ตำรวจตระเวนชายแดน ทุกพื้นที่เปิดการเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด - การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ (เน้นกำกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ ก่อนและหลังร่วมกิจกรรม) จำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 300 คน แสดงดนตรีได้ งดการเต้นรำ - ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด งดจัดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ - คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด - สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดบริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด - สถานที่ออกกำลังกาย - ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด - บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด 4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร นครราชสีมา นครสวรรค์ นราธิวาส บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ ยะลา ระนอง สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี - สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ไม่เกิน 24.00 น. - ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ไม่เกิน 24.00 น. - ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำกัดจำนวน ผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก - คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด - สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดให้บริการได้ โดยจำกัดใช้บริการ - สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด - สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด - บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด 5) พื้นที่เฝ้าระวัง 35 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี - สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดบริการได้ จำกัดเวลา ตามที่กฎหมายกำหนด จำหน่าย/ดื่มสุราในร้านตามที่กฎหมายกำหนด แสดงดนตรีได้ เต้นรำได้ เน้นการเว้นระยะห่าง - ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) เปิดบริการได้ จำกัดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ - คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด - สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดให้บริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด - สถานที่ออกกำลังกายในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด - บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด ข้อสังเกตและมติที่ประชุม 1. เห็นชอบในการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถกำหนด มาตรการที่เข้มงวดมากกว่าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนดกรณีหากต้องการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับเขต/อำเภอ ให้เสนอขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 2. เห็นควรให้บังคับใช้แนวปฏิบัติในการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ ระบาดของโรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ ในระหว่างวันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และสามารถทบทวนปรับปรุงระยะเวลาหรือยกเลิกได้ตลอดเวลา 3. เห็นควรให้พิจารณาการผ่อนปรนหรือยกเลิกการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดเพื่อควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ได้รับการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาตามบริบทและสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 1. ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการเพื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกของรัฐสภาที่จะช่วยใน การแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเน้นการชี้แจงผลงานที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยมีข้อมูลข้อเท็จจริงและรายละเอียดประกอบการชี้แจงด้วย 2. ให้ กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ประชาสัมพันธ์และให้ประชาชนทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคโควิด - 19 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 เป็นต้น 3. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคง และหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการกวดขันและเฝ้าระวังตามพื้นที่ชายแดนทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่น เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจการประกอบกิจการ และกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย โดยหากมีการฝ่าฝืนขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น 4. ให้ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย ความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ การจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและนำไปสู่การผลิตได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาวัคซีนจากใบยาสูบ และการวิจัยวัคซีน ชนิด mRNA เป็นต้น รวมทั้งติดตามสถานการณ์วัคซีนในต่างประเทศและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติมด้วย 5. ให้ คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดทำแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 26,000,000 โดส ของบริษัท AstraZeneca และซิโนแวคโดยให้จัดรายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย จำนวน และระยะเวลาให้ชัดเจน 2) จัดทำแผนการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ประกอบด้วย สถานที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด - 19 เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น และการบริหารจัดการขนย้ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อดำเนินการแจกจ่าย โดยให้ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ในการเตรียมการขนส่งไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 6. ให้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแอปพลิเคชันติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 และให้ติดตามแนวทางการรับรองผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19จากต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางต่อไป 7. ให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำรวจการจัดทำแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และอื่น ๆ ทั้งนี้ ให้ทุกกระทรวงรายงานผลการดำเนินการของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป 8. ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลและประสานงานให้การจัดกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งให้มีการเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 คือ D - M - H - T - T (D = Distancing, M = Mask Wearing, H = Hand Washing,T = emperature Check, T = Thaichana/Morchana) 9. ให้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนงานการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ของสถานศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และให้ขอความร่วมมือจากองค์กรที่รับผิดชอบด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) พิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อให้การเรียนการสอนในระบบ Online ของสถานศึกษาต่าง ๆ เกิดความต่อเนื่องและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน รวมถึงให้ขอความร่วมมือสถานศึกษาเอกชน พิจารณาลดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 24. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ได้พิจารณาความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ และผลการดำเนินการการจัดทำข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐ เพื่อขอใช้เงินกู้สำหรับแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินโครงการเราชนะ ในส่วนของขอบเขตผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่มีลักษณะเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เร่งปรับปรุงสาระสำคัญของโครงการฯ ในระบบ eMENSCR ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2. รับทราบผลการจัดทำข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐเพื่อขอใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการขยายระยะเวลาการจัดทำข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐ (เพิ่มเติม) ในส่วนขององค์กรภาคประชาชน จากเดิมสิ้นสุดภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงการคลัง (กค.) โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ในส่วนของขอบเขตผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่มีลักษณะเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) ที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้จ่ายได้อยู่เดิม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ 1) เป็นผู้ประกอบการร้านธงฟ้าฯ หรือ 2) เป็นผู้ประกอบการประเภทร้านค้าในโครงการคนละครึ่ง หรือ 3) เป็นผู้ประกอบการประเภทบริการสัญชาติไทย ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 3.1) เป็นผู้ประกอบการประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือ (2) เป็นผู้ประกอบการของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือ (3) เป็นผู้ประกอบการของวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3.2) มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่ตรวจสอบได้ เช่น สามล้อถีบ เป็นต้น 3.3) ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 3.4) ไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ 3.5) ไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 4) เป็นผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะสัญชาติไทยที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 4.1) เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นิติบุคคล 4.2) เป็นผู้ประกอบการประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (TAXI METER) รถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รถยนต์สามล้อสาธารณะ รถสองแถวรับจ้าง และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย 4.3) ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 4.4) ไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ 4.5) ไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 5) เป็นผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะมวลชน ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ รถโดยสารประจำทางสาธารณะ และเรือโดยสารสาธารณะ ที่ลงทะเบียนและผ่านกระบวนการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยตรงกับธนาคารกรุงไทยฯ นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ช่วยเหลือภาระค่าของชีพ จึงเห็นควรกำหนดไม่ให้มีการใช้สิทธิ์ตามโครงการเราชนะในการซื้อสินค้าอันมิใช่สินค้าจำเป็นเพื่อการดำรงชีพเพิ่มเติม ได้แก่สินค้าประเภททองคำ รวมถึงร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนการขายทอดตลาดและค้าของเก่าประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงินหรืออัญมณี 25. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอดังนี้ 1. รับทราบรายละเอียดการดำเนินงานจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองซื้อล่วงหน้า (AstraZeneca) ในส่วนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,741,336,000 บาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ในส่วนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวข้อง โดยขอให้กรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน/โครงการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญ 1. กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรคได้จัดทำโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) กรอบวงเงินทั้งสิ้น 6,216.25 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 12 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโด๊ส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2. ภายใต้โครงการดังกล่าว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการ ชำระเงินร้อยละ 40 ของมูลค่าวัคซีนรวม เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จและมีการส่งมอบวัคซีน โดยแบ่งชำระ 5 งวด ๆ ละ 3 เดือน และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบริหารจัดการ และการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ มีกรอบวงเงินรวม จำนวน 3,670.29 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีนส่วนที่เหลือ 40% ของราคาวัคซีนทั้งหมด วงเงิน จำนวน 1,575.60 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน จำนวน 110.29 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,685.89 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการวัคซีนและค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกกับการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 1,984.40 ล้านบาท 3. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 ของบริษัท AstraZeneca Thailand เป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่สามารถนำหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศ อย. เรื่อง การอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค (Conditional Approval for Emergency Use of Medicinal Products) ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงดำเนินการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID – 19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 ข้อ 6 โดยวัคซีนล๊อตแรก จำนวน 50,000 โด๊ส จะส่งมอบให้ไทยภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ และจะดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 ต่อไป 4. ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้โครงการข้างต้น วงเงิน 3,670.29 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการในส่วนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การเตรียมการจัดซื้อวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีนสำหรับให้บริการกับประชาชนไทยได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด 5. สำนักงบประมาณได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,741,336,000 บาท ต่างประเทศ 26. เรื่อง การขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุม Steering Group Meeting of OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุม Steering Group Meeting (SGM) of OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ไปจนถึงสิ้นสุดการประชุม SEARP Ministerial Conference ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 และให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม OECD Southeast Asia (SEA) Regional Forum ในปี 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยที่การดำรงตำแหน่งประธานร่วมของประเทศไทยในการประชุม SGM of OECD SEARP วาระปี 2561 – 2563 ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และการประชุมต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไป สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ดังนั้น OECD จึงมีหนังสือทาบทามขอให้ประเทศไทยพิจารณาขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานร่วมออกไปจนถึงการส่งมอบตำแหน่งประธานร่วมในระหว่างการประชุม SEARP Ministerial Conference ซึ่งคาดว่าจะจัดในปี 2565 เพื่อสานต่อแผนงานที่ประเทศไทยกับ OECD ได้วางไว้ โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม OECD SEA Regional Forum ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ “Human Capital Development” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ในอาเซียน ซึ่งเดิมกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม 2563 แต่ได้เลื่อนการจัดงานดังกล่าวออกไปเป็น ปี 2564 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยจะมีการจัดประชุมในรูปแบบ hybrid และอาจมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุม SGM of OECD SEARP จะเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับ OECD และประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสผลักดันความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยกับประเทศสมาชิก OECD รวมถึงเป็นการปูทางสู่การเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในอนาคต 27. เรื่อง ขอความเห็นชอบท่าทีของฝ่ายไทยต่อการเสนอขอภาคยานุวัติสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาในภูมิภาคอาเซียนของสาธารณรัฐคาซัคสถานและสาธารณรัฐอินเดีย คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อท่าทีของประเทศไทย (ไทย) ที่จะพิจารณาร่วมสนับสนุนฉันทามติให้สาธารณรัฐคาซัคสถาน (คาซัคสถาน) และสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาในภูมิภาคอาเซียน พ.ศ. 2547 (Treaty on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters 2004) (สนธิสัญญาฯ) ในการประชุมของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของผู้ประสานงานกลางด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา (Senior Officials’ Meeting of the Central Authorities on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters : SOM-MLAT) และในการประชุมของที่ประชุมอัยการสูงสุด/รัฐมนตรีของผู้ประสานงานกลางด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา (ASEAN Ministers/Attorneys-General Meeting of the Central Authorities on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters: AMAG-MLAT) ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ โดยมีเหตุผลประเด็นสำคัญดังนี้ ประเด็น กรณีคาซัคสถาน กรณีอินเดีย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาฯ กับคาซัคสถาน ดังนั้น การภาคยานุวัติเป็นภาคีของคาซัคสถาน จะทำให้ไทยและคาซัคสถานมีพันธกรณีระหว่างประเทศต่อกันด้านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญาตามสนธิสัญญาดังกล่าวและจะเป็นประโยชน์ในการร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ไทยและอินเดียมีสนธิสัญญาระหว่างกันในลักษณะดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากข้อ 30 (2) ของสนธิสัญญาฯ พ.ศ. 47 ระบุว่า หากไทยไม่ให้ความยินยอมแล้ว อินเดียก็ไม่อาจภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ได้ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสในการขยายขอบเขตความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้ง จะเป็นก้าวแรกในการขยายความร่วมมือทางอาญาของอาเซียนไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ไทยในระยะยาว การขอความร่วมมือในเรื่องทางอาญา ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเคยมีการรับคำร้องขอหรือการส่งคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาระหว่างกัน ปรากฏข้อมูลการรับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาจากอินเดีย จำนวน 39 เรื่อง และปรากฏข้อมูลการส่งคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาไปยังอินเดีย จำนวน 8 เรื่อง 28. เรื่อง การเตรียมการด้านงบประมาณสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เห็นชอบกรอบวงเงินและรายละเอียดคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 275.02 ล้านบาท สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2565 ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นประธานบิมสเทค 1. การใช้โอกาสการเป็นประธานบิมสเทคของไทยอย่างเต็มที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม การเชื่อมโยงทางการค้าและการผลิตเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตระหว่างภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพประชาชนไทยกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผ่านการเผยแพร่แนวคิด Bio-Circular-Green Economy (BCG) Model 2. การเล่นบทบาท “ผู้เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน” มีความสำคัญต่อการต่างประเทศของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ในภูมิภาค เช่น ส่งเสริมให้อินเดียมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคและส่งเสริมให้เมียนมามีปฏิสัมพันธ์และเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างมีเสรีภาพ ตลอดจนการรักษาดุลยภาพของอิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจเพื่อส่งเสริมความมั่นของประเทศในระยะยาวโดยการมีบทบาทกำหนดบริหารจัดการและจัดลำดับความสำคัญในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อไทยตั้งแต่ขั้นต้น 3. การเป็นเจ้าภาพการประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมระดับผู้นำ เป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงาน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยให้รักษาความโดดเด่นและมีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ 29. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น (Phnom Penh Declaration Towards a More Sustainable, Inclusive and resilient ASEAN Tourism) รวมทั้งร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (The 24th meeting of ASEAN Tourism Ministers , Joint media Statement) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 20 (the 20th Meeting of ASEAN Plus Three (China, japan and Republic of Korea) Tourism Ministers และร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8 (Eighth Meeting of ASEAN-India Tourism Ministers, Joint Media Statement) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างปฏิญญาและร่างแถลงข่าวร่วมดังกล่าว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และให้ร่วมรับรองร่างปฏิญญาและร่างแถลงข่าวร่วมดังกล่าว โดยไม่มีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 4 - 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ 2564 โดยการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนจะให้การรับรองร่างปฏิญญาพนมเปญ มุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงร่างแถลงข่าวร่วม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (2) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 และ (3) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8 2. ร่างปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น (Phnom Penh Declaration towards a More Sustainable, Inclusive and Resilient ASEAN Tourism) มีสาระสำคัญ ดังนี้ รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์สำหรับการท่องเที่ยวอาเซียนที่จะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายของอาเซียน อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล เพื่อที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียน ภายในปี 2568 ตามที่ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 - 2568 (ASEAN Tourism Strategic Plan 2016 - 2025) โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อเริ่มต้นและสร้างการท่องเที่ยวของอาเซียนที่ปลอดภัยใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ตลอดจนการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในการสนับสนุนการดำเนินแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับปฏิญญาปากเซว่าด้วยแผนแม่บทสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มนิเวศและระเบียงการท่องเที่ยวอาเซียน (Pakse Declaration on ASEAN Roadmap for Strategic Development of Ecotourism Clusters and Tourism Corridors) ที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกัน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 3. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (Joint Media Statement of the 24th Meeting of ASEAN Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้ รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปี 2563 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รัฐมนตรีได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2559 - 2568 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางเชิงกลยุทธ์ของความร่วมมือในอนาคตของภาคการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่นยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามลำดับความสำคัญของแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Tourism Ministers on Strengthening Cooperation to Revitalise ASEAN Tourism) และได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัวโครงการศึกษาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และข้อเสนอแนะด้านนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับแผนฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน และรับทราบว่า อาเซียนกำลังพัฒนาแนวทางด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสำหรับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และจะได้ข้อสรุปภายในปี 2564 รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ทั้ง 7 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2559 - 2568 และยินดีต่อการปรับปรุงแผนกลยุทธ์การตลาดท่องเที่ยวอาเซียน ให้ครอบคลุมระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 - 2568) และสนับสนุนให้คณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวอาเซียนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด และเพื่อยกระดับการพิจารณาของกลุ่มเป้าหมายและตลาดให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มเป้าหมายและตลาดสำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในวันหยุด (Holiday Destination) โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี 2568 รัฐมนตรีได้อนุมัติข้อริเริ่มของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียน เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของเรือสำราญอาเซียน” (ASEAN Cruise Economic Impacts and Destination Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดและประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วม และผลกระทบจากอุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเศรษฐกิจและชุมชนในประชาคมอาเซียน รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทั้ง 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ยกระดับชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว 2) ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยโดยให้ความสำคัญในการปกป้องและการจัดการแหล่งมรดกเป็นอันดับแรก และ 3) เพิ่มการตอบสนองต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยินดีที่ได้ทราบถึงการพัฒนาคู่มือรายชื่อเมืองอารยสถาปัตย์ (Directory for Universal Design City) ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้สำหรับคนทั้งมวล รัฐมนตรีจึงเห็นพ้องที่จะขยายการเป็นประธานอาเซียนด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชาไปถึงเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้กัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Forum: ATF) ในปี 2564 4. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 20 (Joint Media Statement of the 20th Meeting of ASEAN Plus Three (China, Japan and Republic of Korea) Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้ รัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการสำหรับการบรรเทาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการโดยประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางเชิงกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม โดยมุ่งเน้นไปที่ความพยายามในการฟื้นฟูและการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และได้ให้การรับรองแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ปี 2564 - 2568 ซึ่งมุ่งเน้น การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมถึงบทบาทสำคัญของศูนย์อาเซียน - จีน ศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่น และศูนย์อาเซียน - เกาหลี ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิกบวกสามตลอดปี 2563 โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ 5. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8 (Joint Media Statement of the 8th Meeting of ASEAN - India Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้ รัฐมนตรีแสดงความเห็นใจต่อการเสียชีวิตและการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการร่วมแรงร่วมใจในการบรรเทาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อภาคการท่องเที่ยว โดยการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) เห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ภายใต้กรอบการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและอินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวด้วยความพยายามและกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้น รัฐมนตรีได้รับทราบการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่จัดขึ้นผ่านกิจกรรมในปี 2563 มีดังนี้ (1) แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และ/หรือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (2) แบ่งปันทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการศึกษาการท่องเที่ยวและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ (3) ติดต่อสื่อสารในภาวะวิกฤต เพื่อปกป้องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กรการท่องเที่ยว และ/หรือ สถานที่ท่องเที่ยว ผ่านการจัดตั้งคณะสื่อสารในภาวะวิกฤตอาเซียน - อินเดีย (4) แลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติและยุทธศาสตร์การพัฒนาโอกาสในการลงทุนและข้อมูลทางเศรษฐกิจ 30. เรื่อง การขยายระยะเวลาความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินภายใต้โครงการ Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินภายใต้โครงการ Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในหนังสือตอบรับดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายอาเซียน และให้กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งความเห็นชอบของประเทศไทยต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ สาระสำคัญ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีหนังสือถึงคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา แจ้งเรื่องการขยายระยะเวลาความตกลงให้มีการสนับสนุนทางการเงินภายใต้โครงการ Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN โดยไม่เพิ่มเงินสนับสนุน (no-cost extension) มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ในการประชุม SUPA Project Committee เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่สามารถดำเนินโครงการที่วางแผนไว้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 ตามที่ความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินกำหนดไว้เดิม จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีกสองปีจนถึงเดือนธันวาคม 2566 โดยไม่เพิ่มเงินสนับสนุน 2. ASEAN Task Force on Peatlands และคณะกรรมการภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะสาขาของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความเห็นชอบต่อการขยายระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ตามลำดับ 3. สำนักเลขาธิการอาเซียนได้ยกร่างหนังสือตอบจากเลขาธิการอาเซียนถึงฝ่ายสหภาพยุโรป ซึ่งจะถือเป็นหนังสือสัญญา และขอรับความเห็นชอบผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียนของประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อ (1) การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ SUPA โดยไม่เพิ่มเงินสนับสนุน และ (2) การให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบฝ่ายสหภาพยุโรปในนามอาเซียน ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแจ้งความเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2564 แต่งตั้ง 31. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอการแต่งตั้งโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) เนื่องจาก รง. มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารของกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้งานด้านการสื่อสารองค์กร การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บทบาท ภารกิจ และการดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ยกเลิกคำสั่งเดิมที่แต่งตั้งนางเธียรรัตน์ นะวะมะรัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นรองโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) [คำสั่ง รง. ที่ 131/2563 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกระทรวงแรงงานและรองโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ลงวันที่ 5 มีนาคม 2563] 2. แต่งตั้งนายประทีป ทรงลำยอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ซึ่ง รง. ได้มีคำสั่ง รง. ที่ 21/2564 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ลงวันที่ 8 มกราคม 2564 ด้วยแล้ว 32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางกาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) กลุ่มงานการแพทย์ กลุ่มบริการทางการแพทย์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 33. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายดิสทัต คำประกอบเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง .............. (โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38803
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงแรงงาน จับมือ กระทรวงสาธารณสุข ดันต่างด้าวทำประกันสุขภาพ ตรวจพบโควิดรักษาตามสิทธิทันที
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงแรงงาน จับมือ กระทรวงสาธารณสุข ดันต่างด้าวทำประกันสุขภาพ ตรวจพบโควิดรักษาตามสิทธิทันที กระทรวงแรงงาน หารือ กระทรวงสาธารณสุข เร่งปรับขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพ โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของสาธารณสุข และซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี เมื่อตรวจพบโรคสามารถรับการรักษาตามสิทธิทันที นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับประชาชนคนไทย กำชับกระทรวงแรงงานบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรองรับแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก และแรงงานต่างด้าวที่ต้องการทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทย ป้องกันการเป็นภาระนายจ้าง และถูกทิ้งหากตรวจพบโควิด-19 โดยไม่มีค่ารักษาพยาบาล “นายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว สามารถนำแรงงานต่างด้าวในความดูแล เข้าตรวจคัดกรองโควิด – 19 ณ สถานพยาบาลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศเป็นห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ มีจำนวนทั้งสิ้น 260 แห่ง กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 96 แห่ง แบ่งเป็น ภาครัฐ 39 แห่ง เอกชน 57 แห่ง ในต่างจังหวัด 164 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 132 แห่ง เอกชน 32 แห่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อให้การดูแลด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นไปด้วยดีตามนโยบายรัฐบาล กรมการจัดหางาน จึงปรับขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในส่วนการดำเนินการตรวจสุขภาพ ซื้อประกันสุขภาพ และตรวจคัดกรองโควิด – 19 และดำเนินการดังนี้ ให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้างที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว ใช้บัญชีรายชื่อฯที่พิมพ์จากระบบออนไลน์เป็นหลักฐาน เพื่อนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 พร้อมซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี มีค่าใช้จ่าย 3,200 บาท และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ทั้งนี้หากมีเหตุให้ไม่สามารถตรวจโรคต้องห้ามได้ทันพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564 พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางาน ออกใบอนุญาตทำงาน เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองผลว่าไม่เป็นโรคโควิด - 19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 “สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบสถานพยาบาลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1010 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ของแต่ละโรงพยาบาล อาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจเช็กกับทางโรงพยาบาลอีกครั้งก่อนใช้บริการ กรณีสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38812
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะสำหรับประชาชนทั่วไป
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะสำหรับประชาชนทั่วไป ความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com โดย ณ วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 18.00 น. มีประชาชนลงทะเบียนแล้วมากกว่า 8.05 ล้านคน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com โดย ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 18.00 น. มีประชาชนลงทะเบียนแล้วมากกว่า 8.05 ล้านคน โดยประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วสามารถตรวจสอบสถานะการได้รับสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน และใช้วงเงินสิทธิ์ในโครงการเราชนะได้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่า สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ได้รับข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนสถานะ “ลงทะเบียนไม่สำเร็จ” อาจเกิดจากความผิดพลาดในการกรอกเลขประจำตัวประชาชน เลขรหัสหลังบัตรประชาชน (Laser ID) ชื่อ ชื่อกลาง (ถ้ามี) นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด โดยผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จสามารถลงทะเบียนใหม่ผ่านทาง www.เราชนะ.com ได้ทันทีหลังจากได้รับ SMS แจ้งเตือนจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเราชนะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3250 3423 3424 3425 3427 3429 3430 3431 และ 3444 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1144
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38805
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 2/2564
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 2/2564 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 2/2564 เพื่อพิจารณาพื้นที่เป้าหมายและตัวชี้วัดภายใต้(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ. 2564-2580) โดยมีนายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.2 ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38809
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ.ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด 19 ในโรงงานขนาดใหญ่ สมุทรสาคร
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สธ.ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด 19 ในโรงงานขนาดใหญ่ สมุทรสาคร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด 19 ในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง จังหวัดสมุทรสาคร อาศัยความร่วมมือสถานประกอบการจัดระบบที่พัก ขนส่งพนักงาน โรงงานเดินหน้าต่อได้ ส่วนโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตรวจหาเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง พร้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ใช้กลยุทธ์Bubble and Seal ควบคุมโควิด 19 ในโรงงานขนาดใหญ่7 แห่ง จังหวัดสมุทรสาคร อาศัยความร่วมมือสถานประกอบการจัดระบบที่พัก ขนส่งพนักงาน โรงงานเดินหน้าต่อได้ ส่วนโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตรวจหาเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง พร้อมให้โรงงานเข้มการป้องกันโรค วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) ที่จ.สมุทรสาคร นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยนายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามและร่วมวางแผนแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบจุดเสี่ยงสำคัญการติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในโรงงานเป็นหลัก จึงต้องบริหารจัดการโดยใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการองค์กร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal)เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ (มีพนักงานมากกว่า 500 คน) เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้ นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสถานประกอบการ เรื่องลักษณะที่พัก การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันพนักงานในสถานที่ทำงาน และมาตรการของโรงงานในการกำกับดูแล พบมี 7 โรงงานที่เข้าเกณฑ์ที่จะดำเนินการตามหลักการBubble and Seal มีพนักงานรวม 50,083 คน ขณะนี้ 3 โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีที่พักให้กับพนักงาน จะประสานหาแนวทางและปรับรูปแบบที่เหมาะสมให้สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังคงใช้หลักการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้ทำงานต่อได้ สำหรับหลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) คือSeal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เอื้อต่อการใช้มาตรการ คาดว่าใช้เวลา 28 วันจะสามารถควบคุมโรคได้ ส่วนBubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า ขอความร่วมมือเจ้าของโรงงานนำพนักงานมาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงานเข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน ส่วนเรื่องการปิดโรงงานจะดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย นอกจากพบว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อและไม่สามารถควบคุมโรคได้จะประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อออกคำสั่งต่อไป *******************************2 กุมภาพันธ์ 2564 *******************************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38829
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนของไทยมีการเตรียมการไว้เพื่ อกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามความสำคัญสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนของไทยมีการเตรียมการไว้เพื่ อกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามความสำคัญสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนของไทยมีการเตรียมการไว้เพื่อกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามความสำคัญสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ นพ.นครเปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ตอบข้อสงสัยกรณีการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนของไทย สรุปได้ ดังนี้ 1. เหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างเหมาะสม ขณะที่แผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีความล่าช้าเกินไปหรือไม่นั้น : ตอบ ความพยายามและดำเนินการในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เริ่มในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563 ภายหลังจากที่ได้เห็นเงื่อนไขต่าง ๆ จากทั้งผู้ผลิตวัคซีน และ COVAX ในลักษณะเป็นการจองวัคซีนล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองวัคซีนเฟส 3 ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีกลไกการจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขในการจ่ายเงินก่อนโดยที่มีโอกาสไม่ได้รับวัคซีนหากการวิจัยล้มเหลว สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการประสานขอคำปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ก็ได้รับข้อแนะนำและหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่าไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ได้ จึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เพื่อให้สามารถดำเนินการจองวัคซีนล่วงหน้าได้ตามกฎหมายที่มี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/239/T_0017.PDF ทั้งนี้ แผนการฉีดวัคซีนได้มีการเตรียมการไว้เพื่อการกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ สำหรับการจัดซื้อวัคซีนเป็นการพิจารณาตามคุณลักษณะของวัคซีน ได้แก่ รูปแบบการวิจัย พัฒนา การผลิตของวัคซีน ผลการวิจัย ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการส่งมอบการบริหารจัดการวัคซีนที่ต้องใช้ในวงกว้าง การจัดเก็บ การขนส่ง และความชำนาญของบุคลากรที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน รวมทั้งประโยชน์ระยะยาวที่มีผลต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ เช่น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เราสามารถต่อยอดการวิจัยพัฒนาในประเทศได้ต่อไป 2. เหตุใดรัฐบาลจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนจากหลายบริษัท แต่เน้นซื้อเพียง 2 บริษัท คือบริษัท แอสตราเซเนกา และซิโนแวคเท่านั้น : ตอบ การจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าเป็นการแบกรับความเสี่ยง ซึ่งการจองซื้อวัคซีนแอสตราเซนเนกาเป็นบริษัทแรกได้นั้น เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประกาศผลวัคซีนของ 3 บริษัทในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน (Pfizer, Moderna และ AstraZeneca) ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่จะทยอยประกาศผลสำเร็จในการวิจัย โดยที่เราจะมีข้อมูลพิจารณาการจองซื้อวัคซีนที่ประเทศไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งในเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผลในการป้องกัน การบริหารจัดการวัคซีนบางชนิดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษและอาจเป็นภาระต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว 3.การคัดเลือกบริษัทเอกชนที่รัฐบาลจะให้เงินงบประมาณสนับสนุน มีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร ตอบ: สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีการประเมินศักยภาพผู้ผลิตวัคซีนในประเทศทุกแห่ง และมีอนุกรรมการวิชาการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนก่อนให้กรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบ และในส่วนงบประมาณตาม พรก.ฯ เงินกู้ สภาพัฒน์ ฯ ก็จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองก่อนการเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนในขณะนี้ จำนวน 63 ล้านโด๊ส ครอบคลุมประชากร 31.5 ล้านคน และจะสามารถจัดหาได้เพิ่มเติมอีกจนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ 4.หากบริษัท แอสตรา เซเนกา ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการเช่นไรต่อไป ตอบ: การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้และกำลังดำเนินการอยู่บนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่แอสตรา เซเนกาสามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีอยู่ทั่วโลกเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย 5. เหตุใดจึงไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีน แทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ต้องทำโรงงานวัคซีนฯ ให้พร้อมก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน กว่าจะผลิตวัคซีนได้จริง ตอบ: องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ได้ และ SBS ไม่ได้รอการทำโรงงานวัคซีนให้พร้อม เวลาที่รอนี้คือการผลิตจริงตามมารตฐาน AZ ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ ธค.63 เพื่อการขึ้นทะเบียนโดย อย. ไทย 6. เหตุใดจึงให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (ที่มีผลขาดทุน 581 ล้านบาท) ผูกขาดในการผลิตวัคซีนในประเทศไทยเพียงรายเดียวแล้วจะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลาหรือไม่ ตอบ: AZ เป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการ โดยพิจารณาจากความสามารถและศักยภาพของทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของเค้า ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม 7. บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลงทุนผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัทแอสตรา เซเนกา อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแต่เหตุใดวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับ จึงมีราคาสูงเท่ากับราคาที่บริษัทแอสตรา เซเนกา ขายให้กับประเทศที่ไม่ได้ลงทุนร่วม ตอบ: AZ เป็นผู้กำหนดราคา ที่พิจารณาจากต้นทุนการวิจัย การผลิต และยึดนโยบายราคาเดียวในทุกประเทศที่อยู่ใน Supply Chain ที่จะผลิตโดย SBS ประเทศไทยได้ประโยชน์มากอยู่แล้วในการได้เทคโนโลยีการผลิตที่จะมีอยู่ในประเทศไทยไปตลอด ส่วนเมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว สิทธิบัตรวัคซีนจะเป็นของบริษัทเอกชนทั้งหมดหรือไม่นั้น สิทธิบัตรเป็นของ AZ เราซื้อวัคซีนจาก AZ ขณะที่เทคโนโลยีที่ได้จะเป็นความรู้สำหรับการพัฒนาวัคซีนของเราเองในประเทศที่เราต้องมาดำเนินการเอง สำหรับกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ ผลข้างเคียงจากวัคซีนเกิดขึ้นได้จากทุกวัคซีน ไม่ใช่จากวัคซีนโควิค19 การพิจารณาอย่างรอบคอบจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องดูจากข้อมูลการวิจัยอย่างครบถ้วนมากที่สุด และมีหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยตั้งแต่ อย. กรมวิทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะดำเนินการอย่างรอบคอบตามมาตรฐานการให้วัคซีนที่ดี ------------
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38826
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรรพสามิตชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สรรพสามิตชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ตามที่สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมรวมตัวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต 2 ประเด็น นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมรวมตัวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต 2 ประเด็น ดังนี้ 1. ขอให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้าน กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 157 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะสุราเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสุรา หรือเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 เฉพาะกรณีผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น” วัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งถ้าหากให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุได้อย่างอิสระนอกโรงอุตสาหกรรมซึ่งอาจมิได้มีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค อาจทำให้เบียร์สดดังกล่าวเกิดปัญหาการปนเปื้อนรวมถึงคุณภาพของเบียร์สดอาจจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะ ดังนั้นการอนุญาตให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุเบียร์สดได้อย่างอิสระอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน 2. ขอให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตเป็นงวดๆ ให้แก่ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า การอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีเป็นงวดๆ จะเกิดความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บภาษีในภายหลัง เนื่องจากมีการนำสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษีออกไปจำหน่าย ส่งผลให้การควบคุม ติดตามสินค้าดังกล่าวให้มาชำระภาษีจะดำเนินการได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบริโภคต่าง ๆ รวมถึงคราฟท์เบียร์ด้วย ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ให้อำนาจ กรมศุลกากรในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้านำเข้าแทนกรมสรรพสามิต และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 54 (2) บัญญัติว่า “ในกรณีสินค้าที่นำเข้าให้ผู้นำเข้า ยื่นแบบรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร” ซึ่งเป็นการชำระภาษีในคราวเดียวกับอากรศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต โทร/โทรสาร 0 2241 4778
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38817
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดวธ.ตรวจแถวกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดวธ.ตรวจแถวกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ปลัดวธ.ตรวจแถวกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจแถวกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน โดยมีนายวินัย วรวัตร์ ผู้อำนวยการกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีฯ บรรจุใหม่ เข้าร่วม ณ บริเวณเสาธง อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38821
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดโครงการจิตอาสาพัฒนา “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดโครงการจิตอาสาพัฒนา “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณปากคลองตลาด แสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี ระหว่างส่วนราชการ และประชาชน พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม /ส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสา จำนวนกว่า500 นาย ที่ปฏิบัติงานโครงการจิตอาสา”เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ร่วมพัฒนา ทำความสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณตลาดยอดพิมาน และพื้นที่ปากคลองตลาด โดยการเก็บขยะ ฉีดล้างถนน ขุดลอกรางและท่อระบายน้ำ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความเรียบร้อย สวยงาม รวมถึงเป็นการลดการสะสมของเชื้อโรคสร้างสุขอนามัยที่ดี ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ละลอกใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตพระนคร ได้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือ และยานพาหนะต่างๆสนับสนุน นับเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แสดงออกถึงพลังความรัก ความสามัคคี ของทุกภาคส่วนบริเวณโดยรอบพื้นที่ศาลาว่าการกลาโหม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38819
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.มท. ประชุมร่วม รมว.กค. ชี้แจงรายละเอียด “โครงการเราชนะ” เน้นย้ำ สร้างความรับรู้และเข้าใจที่ถูกต้องให้พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.มท. ประชุมร่วม รมว.กค. ชี้แจงรายละเอียด “โครงการเราชนะ” เน้นย้ำ สร้างความรับรู้และเข้าใจที่ถูกต้องให้พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รมว.มท. ประชุมร่วม รมว.กค. ชี้แจงรายละเอียด “โครงการเราชนะ” เน้นย้ำ สร้างความรับรู้และเข้าใจที่ถูกต้องให้พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานร่วมการประชุมมอบแนวทางการดำเนินงานและชี้แจงรายละเอียด “โครงการเราชนะ” โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) และระบบ DOPA Channel ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง นายอำเภอ ผู้บริหารสาขา บมจ.ธนาคารกรุงไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยร่วมกันชี้แจง “โครงการเราชนะ” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 และ 26 ม.ค. 64 อนุมัติและรับทราบโครงการเราชนะ มีกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 31.1 ล้านคน โดยโอนเงินเข้าระบบจำนวน 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 พ.ค. 64 ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะช่วยเหลือประชาชน และเป็นการเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการร้านค้าประเภทต่าง ๆ โดยลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.64 ที่ผ่านมา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า “โครงการเราชนะ” ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานราก ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บมจ.ธนาคารกรุงไทยสาขาในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เร่งประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ อย่างทั่วถึง ทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ในการยืนยันการประกอบกิจการ ทั้งร้านค้าที่เคยให้มีการยืนยันในโครงการคนละครึ่ง ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาด้านขนส่งสาธารณะ และผู้ประกอบการประเภทบริการกลุ่มที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของภาครัฐ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ ทั่วประเทศ ในการออกหน่วยเคลื่อนที่รับลงทะเบียนผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่โปร่งใส เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนการดำเนินโครงการเราชนะอีกด้วย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ขอให้นายอำเภอประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้โครงการฯ ผ่านทุกกลไกและทุกช่องทางสื่อสาร ทั้งหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านหรือการประชุมในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนคณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับลูกจ้างเหมาบริการโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมสนับสนุนการอำนวยความสะดวกและปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย รวมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นอกจากนี้ ให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง รับเรื่องร้องเรียนการดำเนินโครงการเราชนะตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยด้วย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ขอให้ท้องถิ่นจังหวัดประสานผู้บริหารและบุคลากรในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสนับสนุนในการให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกการเข้าร่วมโครงการฯ ให้กับผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยในท้องถิ่น ที่ไม่มีแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ในการยืนยันตัวตนการเป็นผู้ประกอบการ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโอทอป จำนวนกว่า 90,000 ราย เข้าร่วมโครงการฯ กรมการพัฒนาชุมชนจะได้ประสานกับกระทรวงการคลังในการแยกประเภทผลิตภัณฑ์โอทอป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวก เป็นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนของผู้ประกอบการโอทอปให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ “โครงการเราชนะ” และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงโครงการฯ ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่และเป็นการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38825
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ.เผยปูพรมค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง เข้มป้องกันโควิด 19 ตามแนวชายแดน
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สธ.เผยปูพรมค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง เข้มป้องกันโควิด 19 ตามแนวชายแดน กระทรวงสาธารณสุขเผย ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ต่อเนื่อง พร้อมเข้มมาตรการควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดน ด้าน จ.มหาสารคาม ควบคุมสถานการณ์ได้ กระทรวงสาธารณสุขเผย ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ต่อเนื่อง พร้อมเข้มมาตรการควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดน ด้าน จ.มหาสารคาม ควบคุมสถานการณ์ได้ บ่ายวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่836 รายเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 819 ราย มาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมการระบาดระลอกใหม่(วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 2 กุมภาพันธ์ 2564) 16,217 ราย หายป่วย 9,277 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 6,921 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 75 ปี ไม่มีอาการ มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้าซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว และรายที่สอง เป็นชายไทย อายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายระยะสุดท้าย ประวัติเคยปลูกถ่าย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับ จ.สมุทรสาคร ยังมีการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน ชุมชน ตลาดและพื้นที่เสี่ยง อ.เมือง อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว ระหว่างวันที่ 25-30 มกราคม 2564 จำนวน 54,750 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3,107 ราย และยังพบผู้ติดเชื้อแรงงานต่างด้าวมาขอรับบริการที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่ต้องรอการตรวจเชิงรุก เมื่อสงสัยหรือมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด 19 สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้เลย ส่วนพื้นที่ จ.มหาสารคาม วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ข้อมูลผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่ 27 มกราคม- 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ติดเชื้อ 17 ราย ตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 325 ราย และกักกันสังเกตอาการ อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคได้ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสนาม หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อที่ จ.ยะลา เป็นชายไทย อายุ 33 ปี เป็นผู้พ้นโทษจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาทางด่านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ส่งรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นตัวอย่างของความร่วมมือดำเนินงานอย่างเข้มข้นตามแนวชายแดนของหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้เดินทางกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย และผู้ที่มีญาติอยู่ตามแนวชายแดน ขอให้เดินทางกลับอย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน เพื่อให้คนในประเทศปลอดภัยจากโควิด 19 ********************* 2 กุมภาพันธ์ 2564 ******************************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38827
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รมว.สุริยะ ให้ประธาน JETRO Bangkok และคณะของJCC เข้าพบ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รมว.สุริยะ ให้ประธาน JETRO Bangkok และคณะของJCC เข้าพบ รมว.สุริยะ ให้ประธาน JETRO Bangkok และคณะของJCC เข้าพบ เพื่อรายงานแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง พ.ศ.2563 วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) เข้าพบ เพื่อรายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง พ.ศ.2563 โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร สปอ.
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38822
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-‘รมช.ประภัตร’ ผลักดันเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดส่งออก
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ‘รมช.ประภัตร’ ผลักดันเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดส่งออก ‘รมช.ประภัตร’ ผลักดันเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดส่งออก ดึงทีมวิจัย ม.นเรศวร นำนวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์แบบครบวงจรส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร สร้างรายได้ สู้ภัยแล้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับ นายประภัตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในการนำผลงานวิจัย "นวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและสัตว์แบบครบวงจร ด้วยระบบ Modern insect faming และ Zero-waste process" มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งมี ผศ.ดร.ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เป็นหัวหน้าแผนงาน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้สู้ภัยแล้ง โดยต้องการผลักดันให้มีโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการค้าและการส่งออก เริ่มโครงการนำร่อง ณ จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาการขาดแคลนรายได้ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อผลิตจิ้งหรีดที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ “กระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนด้านการอบรมให้ความรู้ จัดสรรอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารเลี้ยงจิ้งหรีดต้นทุนต่ำ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการประกันราคา ซึ่งเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรมีความพร้อมด้านทีมผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยเชิงพาณิชย์และมีศักยภาพในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ จากโครงการวิจัยฯ ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน มีความสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว จึงมีแนวคิดผลักดันให้นำผลงานวิจัยไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารจากโครงการวิจัยในการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากจิ้งหรีดโดยเฉพาะผงโปรตีนคุณภาพสูง และเป็นกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ” นายประภัตร กล่าว โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยและร่วมหารือกับผู้บริหารและคณาจารย์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยด้านเกษตรและอาหารมาใช้ประโยชน์และสามารถต่อยอดสู่เกษตรกร เช่น การลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สำหรับปลาน้ำจืด การส่งเสริมการปลูกพริก เป็นต้น พร้อมกับเยี่ยมชมเครื่องจักรที่ใช้ในการแปรรูปจิ้งหรีดและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ณ อาคารศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38806
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัด ก.อุตสาหกรรม ร่วมหารือ ปลัด ก.พลังงาน วางแนวทางการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัด ก.อุตสาหกรรม ร่วมหารือ ปลัด ก.พลังงาน วางแนวทางการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ปลัด ก.อุตสาหกรรม ร่วมหารือ ปลัด ก.พลังงาน วางแนวทางการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานร่วมการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้หารือเพื่อเตรียมการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และยังได้หารือในเรื่องสถานการณ์และทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เตรียมการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป โดยมี นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38811
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-บีโอไอรับมอบหน้ากากอนามัย พร้อมส่งต่อให้ รพ. พระนั่งเกล้าฯ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 บีโอไอรับมอบหน้ากากอนามัย พร้อมส่งต่อให้ รพ. พระนั่งเกล้าฯ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รับมอบหน้ากากอนามัย N95 และหน้ากากอนามัยจาก Mr. Tetsu Shiozaki ประธานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัทมินีแบมิตซูมิ ประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ส่งต่อหน้ากากอนามัยN95 ให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ณ สำนักงานบีโอไอ เมื่อเร็วๆนี้
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38813
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ดีอีเอส จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดเก็บข้อมูลของรัฐ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ดีอีเอส จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดเก็บข้อมูลของรัฐ ดีอีเอส จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดเก็บข้อมูลของรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นายภูเวียง ประคำมินทร์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประธานเปิดการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่ในความครอบครองของรัฐ พร้อมบรรยาย หัวข้อ แนวทางการดำเนินการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (data governance for government) ได้แก่ วงจรชีวิตข้อมูล กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โครงสร้างและผู้รับผิดชอบ, การจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (open data) ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลลงบนเว็บไซต์ data.go.th การจัดทำรายการชุดข้อมูล การนำข้อมูลลงบนระบบ SafeDrive ตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ณ ห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ ชั้น 6 กระทรวงดิจิทัลฯ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจฯ กระทรวงฯจะจัดให้แก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่รุ่นอื่นๆเพิ่มเติม ****************
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38818
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-EXIM BANK ชี้แจงสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า และการค้าการลงทุนไทย-เมียนมา
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 EXIM BANK ชี้แจงสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า และการค้าการลงทุนไทย-เมียนมา EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพบว่ายังไม่มีลูกค้า EXIM BANK ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของเมียนมา นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพบว่ายังไม่มีลูกค้า EXIM BANK ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของเมียนมา นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ ทั้งจากสาเหตุทางการค้าและการเมือง รวมทั้งบริการประกันความเสี่ยงการลงทุน (Investment Insurance) คุ้มครองความเสี่ยงทางการเมือง กรณีโครงการลงทุนได้รับความเสียหายจากการดำเนินนโยบาย กฎระเบียบ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาลในประเทศที่เข้าไปลงทุน จนมีผลกระทบในทางลบต่อโครงการและความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของนักลงทุน ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยและเมียนมามีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 6,593 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปเมียนมา 3,798 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเมียนมา 2,795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมียนมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 17 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 1.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ในปี 2563 ที่ผ่านมามูลค่าส่งออกของไทยไปเมียนมาหดตัว 13% เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้การค้าชายแดนมีอุปสรรคในการขนส่งสินค้าและความต้องการบริโภคของเมียนมาชะลอตัวลง “EXIM BANK โดยสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมา จะติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อประเมินผลกระทบในระยะสั้นและระยะถัดไปต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเมียนมา และช่วยเหลือดูแลด้านการเงิน รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้ลูกค้าและผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพื่อผ่อนคลายผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน” นางวรรธนา กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 4120-4 https://bit.ly/2L99dHR
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38814
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัดวธ.เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ปลัดวธ.เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปลัดวธ.เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษฎา คงคะจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร และข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมชั้น ๘ กระทรวงวัฒนธรรม
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38820
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ช่วยเหลือสหกรณ์แท็กซี่
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ช่วยเหลือสหกรณ์แท็กซี่ รมช.มนัญญา รับหนังสือให้พิจารณาแนวทางแก้ไขเยียวยาฟื้นฟูอาชีพแท็กซี่ พร้อมมอบกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ นางสาวมนัญญาไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาตให้ชมรมแท็กซี่มีจินตนาการเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือให้พิจารณาแนวทางแก้ไขเยียวยาฟื้นฟูอาชีพแท็กซี่ณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยชมรมแท็กซี่ดังกล่าวได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนโครงการกองทุนฟื้นฟูแท็กซี่เพื่อจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นกองทุนให้สหกรณ์กู้ยืม อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือโดยในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19ซึ่งจะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ที่อยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเชิญสหกรณ์แท็กซี่มาหารือและหาแนวทางช่วยเหลือกรณีเงินกู้ฉุกเฉินโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นางสาวมนัญญาไทยเศรษฐ์)จะช่วยดูเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆและสำหรับโครงการกองทุนฟื้นฟูแท็กซี่นั้นได้มอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้คำแนะนำในการเขียนโครงการการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสนอของบประมาณจากภาครัฐต่อไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38830
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกรัฐมนตรีย้ำไทยยึดหลักการอาเซียน วอนสื่อมวลชนเสนอข่าวประเทศเพื่อนบ้านด้วยความระมัดระวัง
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีย้ำไทยยึดหลักการอาเซียน วอนสื่อมวลชนเสนอข่าวประเทศเพื่อนบ้านด้วยความระมัดระวัง นายกรัฐมนตรีย้ำไทยยึดหลักการอาเซียน วอนสื่อมวลชนเสนอข่าวประเทศเพื่อนบ้านด้วยความระมัดระวัง วันนี้ (2 ก.พ. 64) เวลา 13.30 น. ณ โถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวม ยืนยันประเทศไทยยึดหลักการของอาเซียน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาในทุกมิติ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ร่วมหารือทยอยดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังตกหล่นตามลำดับ สำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานเพื่อเจรจาพูดคุยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และปกป้องการลงทุนของประเทศไทยด้วย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนถึงการเรียกเก็บค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาพิจารณาลดค่าเทอมและคืนเงินแก่ผู้ปกครอง ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดที่ไม่มีความจำเป็นในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นายกรัฐมนตรียังแสดงความเห็นใจกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยขออย่าตื่นตระหนก ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ระงับการเรียกคืนดังกล่าว และหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป นายกรัฐมนตรีย้ำว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นกลไกของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการเช่นเดียวกันกับในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นของทหารหรือของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนซื้อดอกป๊อปปี้ เนื่องในวันทหารผ่านศึก (3 ก.พ. 64) เพื่อช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการนำรายได้ไปดูแลทหารและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนช่วยกันอดทน เข้มแข็ง เสียสละ และรับผิดชอบร่วมกันในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการตรวจสอบคัดกรองในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด ซึ่งได้มีการผ่อนคลายหลายมาตรการด้วยกันแต่ขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุดเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการเรื่องวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องจำนวนวัคซีนที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับวัคซีน และแผนการฉีดวัคซีน ซึ่งคำนวณจากกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากทั่วโลกขณะนี้ได้มีการรับรองวัคซีนเพียง 2 ประเภทและจะมีการทยอยดำเนินการต่อไปตามลำดับความเร่งด่วน .................. กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38824
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-“รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2563 ดีกว่าปี 2562 และคาดปี 2564 จะเบิกจ่ายกว่า 3 แสนล้านบาท”
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 “รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2563 ดีกว่าปี 2562 และคาดปี 2564 จะเบิกจ่ายกว่า 3 แสนล้านบาท” การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง สำหรับปี 2563 ที่สิ้นสุดการดำเนินงานแล้ว ในเดือนธันวาคม 2563 รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจำนวน 253,822 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของกรอบลงทุนทั้งปี นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง สำหรับปี 2563 ที่สิ้นสุดการดำเนินงานแล้ว ในเดือนธันวาคม 2563 รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจำนวน 253,822 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของกรอบลงทุนทั้งปี สูงกว่าปี 2562 ที่มีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 78 ของกรอบลงทุนทั้งปี ซึ่งประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - เดือนกันยายน 2563) 34 แห่ง มีผลเบิกจ่ายจริง 100,783 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนธันวาคม 2563) 10 แห่ง มีผลเบิกจ่ายจริง 153,039 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมโครงการที่มีการเบิกจ่ายล่าช้าอย่างต่อเนื่อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) (โครงการรถไฟ -ความเร็วสูงฯ) โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สายสีแดง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก รัฐวิสาหกิจจะมีผลเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งปีที่ร้อยละ 93 นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2564 รัฐวิสาหกิจมีกรอบลงทุน 307,963 ล้านบาท โดยเป็นกรอบลงทุนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ(ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนกันยายน 2564) 34 แห่ง จำนวน 178,559 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนธันวาคม 2564) 10 แห่ง จำนวน 129,404 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องจากปี 2563 โดยเฉพาะโครงการในสาขาคมนาคมขนส่งที่เริ่มลงนามในสัญญาได้เมื่อปลายปี 2563 เช่น งานโยธาสัญญาต่างๆ ของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 -เดือนธันวาคม 2563) มีผลการเบิกจ่ายสะสม 60,799 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับมาตรการการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 จะมีการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐในภาพรวม โดยคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน นอกจากนี้ สคร. จะกำกับการเบิกจ่ายงบลงทุนโดยจะมีการประชุมหารือกับกระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และมีปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38815