1
stringlengths 13
42
⌀ | 2
stringlengths 14
40
⌀ | 3
stringlengths 14
43
| 4
stringlengths 14
40
⌀ |
---|---|---|---|
เห็นพี่น้องสององค์ล้วนทรงโฉม | งามประโลมหลากจิตคิดฉงน | ทอดสมอรอราเภตรายนต์ | ทั้งสามคนขึ้นเดินบนเนินทราย |
เข้ามาใกล้ไทรทองสองกษัตริย์ | โสมนัสถามไถ่ดังใจหมาย | ว่าดูรามาณพทั้งสองนาย | เจ้าเพื่อนชายชื่อไรไปไหนมา |
หรือเดินดงหลงทางมาต่างบ้าน | จงแจ้งการณ์ให้เราฟังที่กังขา | แม้นไม่มี่พี่น้องญาติกา | เราจะพาไปไว้เรือนเป็นเพื่อนกัน ฯ |
พระฟังความถามทักเห็นรักใคร่ | จึงขานไขความจริงทุกสิ่งสรรพ์ | เราชื่ออภัยมณีศรีสุวรรณ | เป็นพงศ์พันธุ์จักรพรรดิสวัสดี |
ไปร่ำเรียนวิชาที่อาจารย์ | ตำบลบ้านจันตคามพนาศรี | อันตัวเรานี้ชำนาญการดนตรี | น้องเรานี้ก็ชำนาญการศัสตรา |
พระบิตุเรศขับไล่มิให้อยู่ | ว่าเรียนรู้ต่ำชาติวาสนา | เราพี่น้องสองคนจึงซนมา | หวังจะหาแห่งครูผู้ชำนาญ |
ด้วยจะใคร่ไต่ถามตามสงสัย | วิชาใดจึงจะดีให้วิตถาร | ที่สมศักดิ์จักรพรรดิพิสดาร | จะคิดอ่านเรียนร่ำเอาตำรา |
อันตัวเจ้าเผ่าพราหมณ์สามมาณพ | ได้มาพบกันวันนี้ดีหนักหนา | ท่านทั้งสามนามใดไปไหนมา | จงเมตตาบอกเล่าให้เข้าใจ ฯ |
ดรุณพราหมณ์สามคนได้แจ้งอรรถ | ว่ากษัตริย์สุริย์วงศ์ไม่สงสัย | ประณตนั่งบังคมขออภัย | พระอย่าได้ถือความข้าสามคน |
ซึ่งพระองค์สงสัยจึงไต่ถาม | จะทูลความให้แจ้งแห่งนุสนธิ์ | ข้าชื่อวิเชียรโมราเจ้าสานน | ทั้งสามคนคู่ชีวิตเป็นมิตรกัน |
แสวงหาตั้งเพียรเพื่อเรียนรู้ | ได้เป็นคู่ศึกษาวิชาขยัน | ได้รู้เรียกลมฝนคือคนนั้น | ข้าแข็งขันยิงธนูสู้ไพริน |
ยิงออกไปได้ทีละเจ็ดลูก | จะให้ถูกตรงไหนก็ได้สิ้น | คนนั้นผูกเรือยนต์แล่นบนดิน | อยู่บ้านอินทคามทั้งสามคน |
ซึ่งองค์พระอนุชาเรียนอาวุธ | เข้ายงยุทธ์ข้าก็เห็นจะเป็นผล | แต่ดนตรีนี้ดูไม่ชอบกล | ข้าแสนสนเท่ห์ในน้ำใจจริง |
ดนตรีมีคุณที่ข้อไหน | หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง | ยังสงสัยในจิตคิดประวิง | จงแจ้งจริงให้กระจ่างสว่างใจ ฯ |
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม | จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข | อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป | ย้อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ |
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช | จตุบาทกลางป่าพนาสินฑ์ | แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน | ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา |
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ | อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา | ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ | จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง |
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้ | เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง | พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง | สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ ฯ |
ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย | ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย | ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย | จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย |
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม | ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย | แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย | ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน |
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง | สำเนียงเพียงการเวกกังวานหวาน | หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล | ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป |
ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่ | ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับใหล | พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ | เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทราย ฯ |
จะกล่าวถึงนางอสุรีผีเสื้อน้ำ | อยู่ท้องถ้ำวังวนชลสาย | ได้เป็นใหญ่ในพวกปีศาจพราย | สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา |
ตะวันเย็นขึ้นมาเล่นทะเลกว้าง | เที่ยวอยู่กลางวารินกินมัจฉา | ฉวยฉนากลากฟัดกัดกุมภา | เป็นภักษานางมารสำราญใจ |
แล้วเล่นน้ำดำโดดโลดทะลึ่ง | เสียงโผงผึงเผ่นโผนโจนไถล | เข้าใกล้ฝั่งวังวนข้างต้นไทร | พอนางได้ยินเสียงสำเนียงดัง |
วิเวกแว่ววังเวงด้วยเพลงปี่ | ป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง | เสน่หาอาวรณ์อ่อนกำลัง | เข้าเกยฝั่งหาดทรายสบายใจ |
แล้วลุกขึ้นเท้าแขนแหงนชะแง้ | ชำเลืองแลหลากจิตคิดสงสัย | เห็นพระองค์ทรงโฉมประโลมใจ | นั่งเป่าปี่อยู่ใต้พระไทรทอง |
ทั้งทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น | เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง | ถ้าแม้นได้กันกับกูเป็นคู่ครอง | จะประคองกอดแอบไว้แนบเนื้อ |
น้อยหรือแก้มซ้ายขวาก็น่าจูบ | ช่างสมรูปนี่กระไรวิไลเหลือ | ทั้งลมปากเป่าปี่ไม่มีเครือ | นางผีเสื้อตาดูทั้งหูฟัง |
ยิ่งปั่นป่วนรวนเรเสน่ห์รัก | สุดจะหักวิญญาณ์เหมือนบ้าหลัง | อุตลุดผุดทะลึ่งขึ้นตึงตัง | โดยกำลังโลดโผนโจนกระโจม |
ชุลุมนหมุนกลมดังลมพัด | กอดกระหวัดอุ้มองค์พระทรงโฉม | กลับกระโดดลงน้ำเสียงต้ำโครม | กระทุ่มโถมถีบดำไปถ้ำทอง |
ครั้งถึงแท่นแผ่นผาศิลาลาด | แสนสวาทเปรมปรีดิ์ไม่มีสอง | ค่อยวางองค์ลงบนเตียงเคียงประคอง | ทำกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยยินดี ฯ |
แสนสงสารพระอภัยใจจะขาด | กลัวอำนาจนางยักขินีศรี | สลบล้มมิได้สมประฤๅดี | อยู่บนที่แผ่นผาศิลาลาย ฯ |
อสุรีผีเสื้อแสนสวาท | เห็นภูวนาถนิ่งไปก็ใจหาย | เออพ่อคุณทูนหัวผัวข้าตาย | ราพณ์ร้ายลูบต้องประคององค์ |
เห็นอุ่นอยู่รู้ว่าสลบหลับ | ยังไม่ดับชนม์ชีพเป็นผุยผง | พ่อทูนหัวกลัวน้องนี้มั่นคง | ด้วยรูปทรงอัปลักษณ์เป็นยักษ์มาร |
จำจะแสร้งแปลงร่างเป็นนางมนุษย์ | ให้ผาดผุดทรวดทรงส่งสัณฐาน | เห็นพระองค์ทรงโฉมประโลมลาน | จะเกี้ยวพานรักใคร่ดังใจจง |
แล้วอ่านเวทเพศยักษ์ก็สูญหาย | สกนธ์กายดังกินนรนวลหง | เอาธารามาชโลมพระโฉมยง | เข้าแอบองค์นวดฟั้นคั้นประคอง ฯ |
พระพลิกฟื้นตื่นสมประดีได้ | ในฤทัยหมกมุ่นให้ขุ่นหมอง | แลเขม้นเห็นนางนวลละออง | เคียงประคองอยู่บนแท่นแผ่นศิลา |
นิ่งพินิจพิศดูรู้ว่ายักษ์ | ด้วยแววจักษุหายทั้งซ้ายขวา | ยิ่งชิงชังคั่งแค้นแน่นอุรา | จะใคร่ด่าให้ระยำด้วยคำพาล |
แล้วคิดกลับดับเดือดให้เหือดหาย | จึงอุบายวิงวอนด้วยอ่อนหวาน | นี่แน่นางอสุรีขินีมาร | ไม่ต้องการที่จะแกล้งมาแปลงกาย |
จะขอถามตามตรงจงประจักษ์ | เจ้าเป็นยักษ์อยู่ในวนชลสาย | อันตัวเราเป็นมนุษย์บุรุษชาย | เจ้าคิดร้ายลักพาเอามาไย |
เข้าอิงแอบแนบข้างอยู่อย่างนี้ | หรือว่ามีข้อประสงค์ที่ตรงไหน | มนุษย์ยักษ์รักกันด้วยอันใด | ผิดวิสัยที่จะอยู่เป็นคู่ควร ฯ |
อสุรีผีเสื้อสดับเสียง | เพราะสำเนียงเสนาะในฤทัยหวน | ทำเสแสร้งใส่จริตกระบิดกระบวน | ละมุนม้วนเมียงหมอบแล้วยอบตัว |
อันน้องนี้ไร้คู่ที่สู่สม | เป็นสาวพรหมจารีไม่มีผัว | ถึงเป็นยักษ์ยังไม่มีราคีมัว | พระมากลัวผู้หญิงด้วยสิ่งใด |
แม่เจ้าเอ๋ยคิดมาน่าหัวร่อ | เห็นเขาง้อแล้วยิ่งว่าไม่ปราศรัย | พลางแกล้งทำสะบัดสะบิ้งทิ้งสไบ | ร้อนเหมือนใจจะขาดประหลาดนัก |
แล้วแกล้งทำสำออยพูดอ้อยอิ่ง | เข้าแอบอิงเอนทับลงกับตัก | ยิ่งถอยหนีก็ยิ่งตามด้วยความรัก | ยิ่งพลิกผลักก็ยิ่งแอบแนบอุรา ฯ |
พระสุดแสนแค้นเคืองรำคาญจิต | มิได้คิดอินังชังน้ำหน้า | ถีบจนพลัดจากแท่นแผ่นศิลา | แล้วเดือดด่าว่าอีกาลีลาม |
เขาเบือนเบื่อเหลือเกลียดขี้เกียจตอบ | ยังขืนปลอบปลุกปล้ำอีส่ำสาม | ทำแสนแง่แสนงอนฉะอ้อนความ | แพศยาบ้ากามกวนอารมณ์ |
ถึงมาตรแม้นม้วยมุดสุดชีวาตม์ | อย่าหมายมาดว่ากูจะสู่สม | สัญชาติยักษ์ไม่สมัครสมาคม | แล้วทุดถ่มน้ำลายไม่ไยดี ฯ |
อีนางยักษ์กลับปลอบไม่ตอบโกรธ | พระจงโปรดเกล้าน้องอย่าหมองศรี | ข้าหมายเหมือนภัสดาถึงด่าตี | ก็ตามทีเถิดเมียไม่เสียใจ |
จนผู้หญิงอิงแอบแนบถนอม | กระไรหม่อมจะตั้งปึ่งไปถึงไหน | ช่างไม่คิดขวยเก้อเอออะไร | ทำบ้าใบ้เบือนหนีไปทีเดียว |
มาร่วมเรียงเคียงข้างอยู่อย่างนี้ | ยังว่ามีน้ำใจจะไม่เกี่ยว | น่าอดสูผู้หญิงเสียจริงเจียว | พลางกลมเกลียวกอดรัดกษัตรา ฯ |
พระเหวี่ยงวัดขัดใจมิให้ต้อง | จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยสองพระหัตถา | มันดื้อด้านทานทนพ้นปัญญา | จึงแกล้งว่าวิงวอนให้อ่อนใจ |
อะไรเจ้าเฝ้ากวนกันจู้จี้ | ข้าจะหนีหน่ายนางไปข้างไหน | ขอพักนอนเสียสักหน่อยถอยออกไป | สบายใจจึงค่อยมาพูดจากัน |
แล้วเอนองค์ลงบนแท่นแสนระทด | โศกกำสรดซบทรงกันแสงศัลย์ | โอ้สงสารป่านฉะนี้ศรีสุวรรณ | อยู่ด้วยกันหลัดหลัดมาพลัดพราย |
พอตื่นขึ้นยามเย็นไม่เห็นพี่ | จะโศกีโหยหาน่าใจหาย | ได้เห็นแต่เจ้าพราหมณ์ทั้งสามนาย | เขาผันผายลับตาจะอาวรณ์ |
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นกันพี่น้อง | มาเที่ยวท่องบุกเดินเนินสิงขร | อียักษ์ลักพี่ลงมาในสาคร | จะทุกข์ร้อนว้าเหว่อยู่เอกา |
พระนึกนึกแล้วสะอึกสะอื้นไห้ | ชลเนตรหลั่งไหลทั้งซ้ายขวา | ซบพระพักตร์อยู่บนแท่นแผ่นศิลา | ทรงโศกากำสรดระทดใจ ฯ |
อีนางยักษ์ฟังสะอื้นค่อยชื่นจิต | สำคัญคิดแว่วว่าพระปราศรัย | เข้าอิงแอบแนบองค์พระทรงชัย | เห็นเธอไม่ผินผันจำนรรจา |
คิดว่าหลับกลับปลุกขึ้นโลมลูบ | ประจงจูบปรางซ้ายแล้วย้ายขวา | ค่อยยกหัตถ์ภูวนาถพาดอุรา | ในกามาปั่นป่วนให้ยวนยี |
เห็นทรงศักดิ์ผลักพลิกทำหยิกเย้า | มาลูบคลำทำเขาแล้วเบือนหนี | จะกอดไว้ไม่วางเหมือนอย่างนี้ | แค้นหนักหนาฟ้าผี่เถอะดื้อดึง ฯ |
พระแค้นคำซ้ำด่าอีหน้าด้าน | ใครจะร่านเหมือนเช่นนี้ไม่มีถึง | น่าอดสูกูได้ทำไมมึง | มาเคล้าคลึงโลมลูบจูบผู้ชาย |
ทั้งเหม็นสาบเหม็นสางเหมือนอย่างศพ | ไม่น่าคบน่ารักยักษ์ฉิบหาย | มายั่วเย้าเฝ้าเบียดเกลียดจะตาย | ไม่มีอายมีเจ็บเท่าเล็บมือ ฯ |
อีนางยักษ์ควักค้อนแล้วย้อนว่า | ส่วนร่ำด่ากระนั้นได้เขาไม่ถือ | ทีขอจูบแต่พอถูกจมูกเครือ | ยิ่งอึงอื้อบ่นว่าเป็นน่าชัง |
เมื่ออยู่สองต่อสองในห้องหับ | จะบังคับมิให้ใครกลุ้มใจมั่ง | ถึงโกรธขึ้งอย่างไรก็ไม่ฟัง | พลางเข้านั่งแอบข้างไม่ห่างกาย ฯ |
พระสุดแสนแค้นเคืองรำคาญจิต | เป็นสุดคิดสุดที่จะหนีหาย | ให้อักอ่วนป่วนใจไม่สบาย | มันกอดก่ายเซ้าซี้พิรี้พิไร |
จะยั่งยืนขืนขัดตัดสวาท | ไม่สังวาสเชยชิดพิสมัย | ก็จะสะบักสะบอมตรอมฤทัย | ต้องแข็งใจกินเกลือด้วยเหลือทน |
จึงบัญชาว่านี่แน่นางยักษ์ | จะร่วมรักกันก็เห็นไม่เป็นผล | อันเชื้อชาติอสุรินทร์ย่อมกินคน | มาแปดปนเป็นมิตรเราคิดกลัว |
ไปข้างหน้าถ้าเคืองน้ำใจเจ้า | จะกินเราเสียไม่คิดว่าเป็นผัว | แม้นให้สัตย์ปฏิญาณสาบานตัว | ให้หายกลัวแล้วจะอยู่เป็นคู่ครอง ฯ |
อียักษ์ฟังดังผ่านวิมานสวรรค์ | เกษมสันต์นบนอบตอบสนอง | แม้นเคลือบแคลงแหนงในพระทัยปอง | จงฟังน้องจะให้สัตย์ปฏิญาณ |
แม้นโว้เว้เนรคุณพระทูนหัว | อันเป็นผัวเพื่อนรักสมัครสมาน | ขอทุกเทพเทวัญจงบันดาล | ประหารผลาญชีวาตม์ให้ขาดรอน |
จนสุดสิ้นดินฟ้าสุธาทวีป | ไม่สิ้นชีพก็ไม่เสื่อมสโมสร | พอให้สัตย์เสร็จคำทำฉะอ้อน | ระทวยอ่อนเอนทับลงกับเพลา ฯ |
พระฟังคำจำจิตพิศวาส | ฝืนอารมณ์สมพาสทั้งโศกเศร้า | การโลกีย์ดีชั่วย่อมมัวเมา | เหมือนอดข้าวกินมันกันเสบียง |
เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด | กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง | กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง | ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด |
กุลาโคลงไม่สู้คล่องกะพล่องกะแพล่ง | ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด | จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด | ประกบติดตกผางลงกลางดิน |
สมพาสยักษ์รักร่วมภิรมย์สม | เหมือนเด็ดดอกหญ้าดมพอได้กลิ่น | เป็นวิสัยในภพธรณินทร์ | ไม่สุดสิ้นสิ่งเสน่ห์ประเวณี ฯ |
นางผีเสื้อเมื่อได้ประสมสอง | ดังจะล่องลอยฟ้าในราศี | ประคองคอยปรนนิบัติเข้าพัดวี | อยู่ข้างที่แผ่นผาศิลาลาย |
ครั้นรุ่งรางนางไปในไพรสณฑ์ | เที่ยวเก็บผลพฤกษามาถวาย | จะนั่งนอนผ่อนตามความสบาย | นิมิตกายรูปร่างสำอางตา ฯ |
จะกล่าวถึงอนุชานิทราสนิท | พระอาทิตย์ยอแสงแฝงพฤกษา | น้ำค้างพรมลมพัดกระพือมา | เสนาะเสียงสกุณาสนั่นไพร |
ทะเลลึกเลื่อนลั่นสนั่นคลื่น | ผวาตื่นหวาดหวั่นฤทัยไหว | ไม่เห็นพี่ที่พุ่มพฤกษาไทร | ประหลาดใจปลุกพราหมณ์ทั้งสามนาย |
พระเชษฐาข้าไปข้างไหนเล่า | เมื่อกี้เป่าปี่เล่นไม่เห็นหาย | ที่ก็เตียนเลี่ยนลาดล้วนหาดทราย | จะแฝงกายที่ไหนก็ไม่มี |
สามมาณพนิ่งคิดผิดประหลาด | หรือภูวนาถนึกอางขนางหนี | จะทอดทิ้งน้องไว้ก็ใช่ที | เหตุจะมีสักสิ่งนึกกริ่งใจ |
แล้วพากันย่างย่องมองเขม้น | ก็พอเห็นรอยเท้าที่ยาวใหญ่ | มายั้งหยุดสุดสิ้นเพียงต้นไทร | แล้วกลับไปหายลงในคงคา |
อันรอยนี้มิใช่รอยมนุษย์ | ต่างวิมุติหมางจิตคิดกังขา | หรือยักษีผีเสื้อแกล้งมารยา | มาลักพาภูวไนยเอาไปกิน |
ศรีสุวรรณเห็นจริงก็ใจหาย | ระทวยกายลงกับท่าชลาสินธุ์ | พระเนตรนองนัยนาดั่งวาริน | กันแสงสิ้นเสือกซบสลบไป ฯ |
ทั้งสามพราหมณ์เข้าประคองพระน้องนาถ | เห็นอนาถนิ่งแน่เข้าแก้ไข | ร้องเรียกพลางทางแสนสงสารใจ | ก็ร่ำไรเรียกหน่อกษัตรา ฯ |
ศรีสุวรรณฟื้นองค์ดำรงนั่ง | สุชลหลั่งคลอเนตรถึงเชษฐา | โอ้สงสารป่านฉะนี้พระพี่ยา | ไปลับตาตายเป็นไม่เห็นกัน |
เป็นเพื่อนสุขทุกข์โศกวิโยคยาก | ตั้งแต่จากกรุงไกรไอศวรรย์ | ระหกระเหินเดินป่าพนาวัน | กินเผือกมันต่างข้าวทุกเช้าเย็น |
อยู่ด้วยกันหลัดหลัดมาพลัดพราก | แต่แสนยากแล้วมิหนำมาซ้ำเข็ญ | นึกนึกแล้วก็น่าน้ำตากระเด็น | จะอยู่เป็นคนไปทำไมมี |
สะอื้นอ้อนข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | วรพักตร์ผุดผ่องก็หมองศรี | กันแสงทรงโศกศัลย์พันทวี | อยู่กับที่หาดทรายชายคงคา ฯ |
ทั้งสามพราหมณ์เข้าประคองแล้วร้องไห้ | น้ำตาไหลพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา | ต่างนบนอบปลอบหน่อกษัตรา | อย่าโศกาตรอมนักจงหักใจ |
อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก | สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย | ซึ่งเกิดเหตุเชษฐาเธอหายไป | ก็ยังไม่รู้เห็นว่าเป็นตาย |
ควรจะคิดติดตามแสวงหา | แล่นนาวาไปในวนชลสาย | แม้นพระพี่มิม้วยชีวาวาย | ก็ดีร้ายจะได้พบประสบกัน |
ข้าทั้งสามก็จะตามเสด็จด้วย | ผิดชอบช่วยไปกว่าจะอาสัญ | จงดับทรงโศกาอย่าจาบัลย์ | จะเนิ่นวันเสียเปล่าไม่เข้ายา ฯ |
พระฟังสามพราหมณ์ปลอบก็ชอบจิต | แสนสนิทยิ่งกว่าญาติวงศา | ค่อยมีแรงแข็งขืนกลืนน้ำตา | จึงบัญชาชมพราหมณ์ทั้งสามคน |
ถึงมาตรแม้นเป็นเพื่อนก็เหมือนพี่ | ด้วยน้องนี้ก็ยังเยาว์เฉาฉงน | พี่ช่วยคิดติดตามเมื่อยามจน | พระคุณล้นล้ำลบภพไตร |
แต่ทะเลลึกกว้างถึงอย่างนี้ | ไม่รู้ที่จะตามติดไปทิศไหน | จะผ่อนปรนบนบานประการใด | จึงจะได้แจ้งจิตในกิจจา ฯ |
เจ้าสานนคนฉลาดเฉลยตอบ | พ่อคิดชอบอย่างนี้ดีหนักหนา | พี่ได้ครูรู้เรียนตำรามา | จะจับยามสามตาให้แน่นอน |
แล้วนับนิ้วนิ่งนั่งตั้งสติ | ตามลัทธิเรียนรู้ที่ครูสอน | ทั้งลมจันทกาลาพยากรณ์ | เห็นแน่นอนแม่นยำแล้วทำนาย |
อย่าครวญคร่ำรำพึงถึงพระพี่ | มีสตรีพาไปดังใจหมาย | เขาอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่สบาย | พอเคราะห์คลายเห็นจะพบประสบกัน |